posttoday

เปิดบ้านพักทูตโปรตุเกส อายุ 170 ปี สวยงามสไตล์โคโลเนียล

05 กรกฎาคม 2561

ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 500 ปีการทำสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรกระหว่างโปรตุเกสและสยาม

เรื่อง : วราภรณ์  ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข
 
ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 500 ปีการทำสนธิสัญญาทางการค้าและไมตรีฉบับแรกระหว่างโปรตุเกสและสยาม ฯพณฯ ฟรานซิสโก วาซ แพตโต เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย จึงอนุญาตให้สัมภาษณ์พิเศษ พร้อมเปิดบ้านพักริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอายุเก่าแก่อายุ 170 ปี ที่เคยถูกใช้เป็นศูนย์กลางการค้าขายไทย-โปรตุเกส ตลอดจนสถานที่ราชการ และในอดีตมีห้องขังอยู่ด้วย ที่ปัจจุบันดัดแปลงให้กลายเป็นที่พักงดงามภูมิฐาน ทันสมัย
 
“โปรตุเกสเป็นประเทศเล็กๆ แต่เมื่อครั้งอดีตบรรพบุรุษของเราจำนวน 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศออกเดินทางไปรอบโลก ข้ามผ่านท้องทะเลและมหาสมุทรโดยนั่งมาในเรือลำเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ลำที่คิดค้นและพัฒนาด้วยตัวเอง ออกจากประเทศซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันตกสุดของยุโรป เดินทางสู่ราชอาณาจักรในดินแดนฝั่งตะวันออก ที่ไม่เคยมีใครมาเยือน
 
ความยิ่งใหญ่ของการเป็นประเทศแรกที่เชื่อมต่อโลกอย่างแท้จริงนี้ ทำให้ภาษาโปรตุเกสถูกใช้เป็นภาษากลางทางการทูตยาวนานหลายศตวรรษ เช่น ในประเทศสยามเมื่อครั้งอดีตด้วยเช่นกัน” ท่านทูตเล่าถึงความกล้าหาญของบรรพบุรุษชาวโปรตุเกสด้วยความภาคภูมิใจ
 
จากนั้นท่านทูตฟรานซิสโก ได้พาชมบ้านพักและเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แฝงไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 1820 ในยุครัตนโกสินทร์ ที่ดินผืนนี้รัชกาลที่ 2 ได้พระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้สมเด็จพระราชินีมาเรียแห่งโปรตุเกส เพื่อใช้เป็นท่าเรือสำหรับค้าขายและที่พักของกงสุลโปรตุเกส ปัจจุบันคือที่ตั้งของโกดัง ที่ปรับให้กลายเป็นสำนักงานของสถานทูตโปรตุเกสและทำเนียบทูต ซึ่งทำเนียบทูตหลังแรกเป็นอาคารที่สร้างด้วยไม้ไผ่ บริเวณใกล้ๆ มีชุมชนชาวโปรตุเกสตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆ มีโบสถ์กาลวาริอุเป็นชุมชนโปรตุเกสเล็กๆ

เปิดบ้านพักทูตโปรตุเกส อายุ 170 ปี สวยงามสไตล์โคโลเนียล

 
สำหรับทำเนียบทูตหลังนี้สร้างในช่วงกลางปี 1860 เป็นอาคารทรงโคโลเนียลแบบโปรตุเกสผสมกับความเป็นไทย เดิมทีวัสดุที่ใช้ก่อสร้างทั้งหมดส่งตรงมาจากโปรตุเกส แต่เรือที่ขนส่งล่มระหว่างทาง จึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุท้องถิ่นของไทยแทน
 
หากเดินเข้ามาในบริเวณสถานทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย เมื่อประตูรั้วเปิด มองไปด้านซ้ายจะเห็นสำนักงานของสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสอยู่ภายในอาคารปูนสองชั้นสีเหลืองอ่อนที่ดูมิดชิด การตกแต่งภายในดูทันสมัยเพราะตกแต่งใหม่เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานี่เอง เพราะในอดีตตึกหลังนี้เคยถูกทิ้งร้าง สถานทูตจึงเชิญวิศวกรและสถาปนิกชาวโปรตุเกสมาดัดแปลงโกดังโครงไม้อายุกว่าร้อยปีหลังนี้ ให้กลายเป็นสำนักงานดูทันสมัย และย้ายสำนักงานของสถานทูตจากชั้นล่างของทำเนียบทูตมาอยู่ที่นี่
 
จากอาคารสำนักงานไปยังทำเนียบทูต จุดแรกที่เดินผ่านคือ สวนโปรตุเกส ซึ่งเป็นพื้นที่ของสถานทูตแต่ให้โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน เช่าบางส่วน ท่านทูตพาเดินมาที่ด้านหน้าบ้านพักเป็นสนามหญ้าริมแม่น้ำ มุมหนึ่งเป็นที่ตั้งของศาลาซึ่งบูรณะเสร็จแล้ว ท่านทูตบอกว่าเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบโปรตุเกสกับช่างไม้จากเชียงใหม่ สถานที่แห่งนี้เอาไว้ใช้จัดเลี้ยงรับรองในยามค่ำคืน

เปิดบ้านพักทูตโปรตุเกส อายุ 170 ปี สวยงามสไตล์โคโลเนียล

 
ท่านทูตพาเดินเข้ามาในบ้านพักส่วนตัวด้านหลังสวนมองเข้าไปลึกด้านใน เป็นห้องซึ่งเดิมเคยเป็นคุกชั้นใต้ดิน เพราะยุคก่อนหากคนโปรตุเกสที่เดินทางมากับเรือทำผิด ท่านทูตในยุคอดีตจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าต้องติดคุกก็จะขังไว้ชั้นใต้ดิน แล้วค่อยส่งใส่เรือส่งกลับไปโปรตุเกส แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้ว
 
เดินเข้ามาในห้องด้านขวาลึกเข้าไป ห้องนี้คือห้องที่ใช้เลี้ยงรับรองแขก มีชุดรับแขกตั้งเรียงรายอยู่หลายชุด ฝาผนังตกแต่งภาพวาดโบราณมีทั้งผลงานของศิลปินชาวโปรตุเกสและศิลปินไทยประดับอยู่
 
ชั้นบนของบ้านพัก ซึ่งตรงบันไดมีประตูไม้โบราณเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยาตั้งประดับอยู่ หากจะขึ้นไปชั้น 2 ต้องเดินขึ้นบันได ซึ่งมีชั้นพักมีโต๊ะตั้งประดับรูปภาพโบราณสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสเมื่อครั้งอดีต ขึ้นไปด้านบนจะมีทางแยกไปห้องด้านซ้ายกับด้านขวา ที่แต่ละห้องไม่มีพื้นที่ส่วนตัว เพราะเชื่อมถึงกันหมด มีบันไดเป็นศูนย์กลางของบ้านที่เชื่อมถึงทุกส่วน เป็นโครงสร้างบ้านแบบเก่าเหมือนวังของยุโรป

เปิดบ้านพักทูตโปรตุเกส อายุ 170 ปี สวยงามสไตล์โคโลเนียล

 
เมื่อขึ้นไปด้านบนจะพบกับห้องนั่งเล่นอยู่ด้านขวามือ ห้องด้านซ้ายเป็นห้องกินข้าวขนาดใหญ่ ซึ่งในห้องอาหารขนาดใหญ่นี้มีภาพวาดของศิลปินผู้มีชื่อเสียงอย่างสมบูรณ์ หอมเทียนทอง ประดับอยู่ 2 รูป ด้านหลังห้องกินข้าวเป็นห้องครัว ส่วนด้านหลังของชั้นสองก่อนจะถึงห้องนอนส่วนตัวแบ่งเป็นห้องครัวเล็กๆ มีชั้นหนังสือกิจกรรมยามว่างของท่านทูตบรรจุอยู่เต็มตู้หนังสือ  
 
บริเวณสุดท้ายที่ท่านทูตพาเยี่ยมชมคือ ระเบียงใหญ่ที่หันออกเห็นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมุมนี้เองปัจจุบันกลายเป็นมุมโปรดที่ท่านทูตชอบมานั่งกินข้าวเช้าและนั่งจิบชายามเย็น
 
ตลอด 170 ปีที่ผ่านมาบ้านหลังนี้ผ่านการปรับปรุงตกแต่งใหม่อย่างสม่ำเสมอ เช่น รื้อกระจกที่เคยติดบริเวณระเบียงออก เปลี่ยนเป็นบานเฟี้ยมเพื่อให้ลมธรรมชาติพัดผ่านแทนการใช้เครื่องปรับอากาศ รวมถึงปรับปรุงพื้นไม้ ประตูไม้ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ด้วย ห้องโปรดของท่านทูตห้องนี้จึงมีความเป็นธรรมชาติค่อนข้างสูง สามารถมองเห็นวิวริมแม่น้ำเจ้าพระยายามพระอาทิตย์ตกดินงดงาม

เปิดบ้านพักทูตโปรตุเกส อายุ 170 ปี สวยงามสไตล์โคโลเนียล

 
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่ได้อยู่ในบ้านที่เต็มด้วยประวัติศาสตร์หลังนี้ ท่านทูตตอบว่า ที่นี่เป็นเหมือนอนุสาวรีย์ เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เราจะดูแลมันอย่างดีที่สุด
 
“ผมพยายามไม่เปลี่ยนแปลงมัน ไม่ใช่เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เรา แต่เพราะมันคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยด้วย”