posttoday

กินให้ห่างไกล โรคหัวใจ

04 กรกฎาคม 2561

การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากกรณีเมาแล้วขับและขับรถโดยประมาทแล้ว

เรื่อง วรธาร ภาพ รอยเตอร์ส

การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากกรณีเมาแล้วขับและขับรถโดยประมาทแล้ว ปัญหาด้านสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่และทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบการมองเห็น เช่น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว จอประสาทตาเสื่อม ทำให้ขับรถเวลากลางคืนเห็นไม่ชัด โรคทางสมองที่ยังเป็นไม่มาก มีอาการหลงลืม ขับรถหลังทางในบางครั้ง การตัดสินช้าสมาธิไม่ดี โรคระบบประสาทอย่างเช่น ลมชัก และอีกหลายโรครวมโรคหัวใจด้วย

เฉพาะโรคหัวใจมีคนที่ประสบอุบัติเหตุเพราะโรคดังกล่าวเกิดขึ้นให้เห็นบ่อย กล่าวคือเวลาที่ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการกำเริบ โดยอาจเกิดจากอาการที่เป็นหนักอยู่แล้ว หรือมีสิ่งเร้าทำให้อาการกำเริบหนักขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน เช่น สภาวะเครียดจากการทำงานก่อนหน้านี้ อารมณ์ไม่ดีจากเหตุการณ์บนท้องถนน หรือสาเหตุอื่นๆ จนทำให้เกิดอาการกำเริบจนควบคุมพวงมาลัย คันเร่ง และเบรกได้ไม่ปกติดังเดิม หากเกิดแน่นหน้าอกขึ้นในขณะขับรถก็ยากที่ใครจะช่วยเหลือได้ทัน

โรคหัวใจเป็นโรคที่อันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่าย คนที่เป็นโรคนี้จึงต้องดูแลและใส่ใจสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ ทางที่ดีที่ทุกคนเลือกได้คืออย่าเป็นเลยดีกว่า เพราะโรคนี้ก็เกิดมาจากพฤติกรรมของคนนั่นเอง หนึ่งในนั้นคือการรับประทานอาหาร

พัชรา ภูษาทอง นักกำหนดอาหาร โรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าวว่า ในฐานะนักกำหนดอาหารทราบดีว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ ปัจจัยหนึ่งคือเรื่องอาหารการกิน 
กินอย่างไรให้หัวใจแข็งแรง ในกรณีที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ แนะนำให้กินอาหารครบ 5 หมู่ และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควรหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ดูภาวะไขมัน กลูโคสในเลือด ควบคุมโรคเรื้อรังไม่ติดต่อที่เป็นอยู่ให้ได้ผลดีไว้ก่อน เช่น โรคเบาหวาน ความดันสูง ไขมันสูง โรคอ้วน

“ควรกินไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เรียกว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีประโยชน์คือ ช่วยลดไขมันตัวร้าย และช่วยเพิ่มไขมันตัวดี ไขมันไม่อิ่มตัวมีอยู่ในอาหารหลายประเภท เช่น ปลา โดยเฉพาะปลาทะเล ควรกินอย่างน้อย 2 ครั้ง/สัปดาห์ ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาซาร์ดีน มีไขมันโอเมก้า 3 จะช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดแดง ซึ่งเป็นอาการเริ่มต้นสู่การเป็นโรคหัวใจ และหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันจากสัตว์ น้ำมันจากการทอดซ้ำ ซึ่งจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างเป็นไขมันทรานส์ได้ เช่นเดียวกับไขมันกลุ่มเนย มาการีน ในอุตสาหกรรมเบเกอรี่”

สำหรับการรับประทานอาหารให้หัวใจแข็งแรงนั้นพัชราแนะนำให้บริโภคน้ำมันจากถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดพืชที่มีกรดอัลฟาลิโนเลนิกสูง เช่น วอลนัต น้ำมันคาโนลา และน้ำมันถั่วเหลือง แต่ก็ต้องไม่กินมากเกินไปเพราะให้พลังงานสูง อาจทำให้อ้วนได้ ควรกินผัก ผลไม้ หลากหลาย ได้ทั้งสารแอนตี้ออกซิแดนต์ป้องกันการอักเสบของหลอดเลือดแดง และยังได้เส้นใยช่วยให้ขัดขวางการดูดซึมไขมันช่วยระบบขับถ่าย

“ผลไม้ที่แนะนำ เช่น อะโวคาโด ประกอบด้วย ไขมันไม่อิ่มตัว Monounsaturated Fatty Acid และวิตามินอี มีโปรตีนสูงกว่าผลไม้ชนิดอื่น ที่สำคัญคาร์โบไฮเดรตต่ำ ดีสำหรับผู้เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก อาหารที่เป็นมิตรกับหัวใจยังมีอีกหลายอย่าง หากให้ความสำคัญกับอาหารสุขภาพก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและยังส่งผลให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรงอีกด้วย” นักกำหนดอาหารโรงพยาบาลพญาไท 3 กล่าว

โรคหัวใจอันตรายแค่ไหนใครก็รู้ ฉะนั้นควรหันมาใส่ใจสุขภาพให้ดีอยู่เสมอ พยายามละพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตบางอย่างที่อาจนำพาโรคมาให้ ส่วนใครที่มีปัญหาสุขภาพต้องการความรู้ หรือคำแนะนำสามารถโทรปรึกษาได้ที่พญาไทคอลเซ็นเตอร์ 1772