posttoday

กิตติ มั่นกตัญญู ความสุขที่ยั่งยืนตามวิถีชาวสวนนนท์

01 กรกฎาคม 2561

แรกเริ่ม กิตติ มั่นกตัญญู ก็เหมือนคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันที่มีรูปแบบชีวิต

เรื่อง ภาดนุ 

แรกเริ่ม กิตติ มั่นกตัญญู ก็เหมือนคนในเจเนอเรชั่นเดียวกันที่มีรูปแบบชีวิต ว่าเบื้องต้นจะต้องเรียนจบปริญญาตรี แล้วต้องเข้าทำงานในบริษัทสักแห่งหนึ่ง แต่ไปๆ มาๆ พอเรียนจบจริงๆ เขาก็กลายมาเป็นเกษตรกรชาวสวนทุเรียนใน จ.นนทบุรี แบบเต็มตัวยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

“เดิมทีแล้วผมเรียนปริญญาตรีภาคค่ำทางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่เมื่อเรียนจบผมกลับไม่ได้ใช้ความรู้ที่มีทำงานเหมือนคนทั่วไป หลังจากที่เรียนจบผมก็พบรักกับภรรยา แล้วบังเอิญว่าครอบครัวของเธอเป็นเจ้าของสวนใน จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นการทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกทั้ง ทุเรียน มังคุด ส้มโอ มะพร้าว และอื่นๆ บนที่ดินประมาณ 16 ไร่ไปพร้อมกัน

ที่จริงแล้วผมไม่เคยมีความรู้ด้านการเกษตรมาก่อนเลย แต่พอเข้ามาช่วยครอบครัวภรรยาทำงานจริงๆ ผมก็ต้องอาศัยการเรียนรู้ต่อยอดไปเรื่อยๆ โดยมีพ่อตา (จ.ส.อ.สมพงษ์ สกุลดิษฐ) เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร นอกจากช่วยพ่อตาทำสวนแล้ว ส่วนหนึ่งผมก็ได้เช่าที่ดินเพื่อทำสวนของตัวเองไปพร้อมกัน โดยปลูกส้มเขียวหวานไว้สำหรับตอนกิ่งขายโดยเฉพาะ (ปี 2543-2554) ซึ่งลูกค้าก็มักจะมาซื้อกิ่งไปปลูกอีกที ส่วนใหญ่คนที่ซื้อกิ่งส้มเขียวหวานจะมาจาก ต.รังสิต จ.ปทุมธานี และ จ.กำแพงเพชร ซึ่งระหว่างนั้นผมก็ช่วยพ่อตาทำสวนทุเรียนไปด้วย”

กิตติ เล่าย้อนว่า เขาเริ่มทำสวนมาตั้งแต่ปี 2534 และได้คลุกคลีอยู่กับชีวิตชาวสวนเมืองนนท์เรื่อยมา จนเริ่มซึมซับความรักในการทำสวนมาเรื่อยๆ โดยมีพ่อตาเป็นผู้ถ่ายทอดและคอยให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการทำสวนทุกอย่าง

“จำได้ว่าตอนที่เรียนจบ พ่อตาผมพูดว่า ถ้าอยากจะเป็นนายตัวเองก็ให้มาเรียนรู้การทำสวนกับท่าน แต่ถ้าอยากจะเป็นลูกจ้างเขาก็ให้ไปทำงานบริษัท คือก่อนเรียนปริญญาตรีผมเคยทำงานเป็นลูกจ้างคือเป็นผู้ช่วยกุ๊กมาก่อน แล้วรู้สึกว่ามันไม่ใช่แนวทางในการดำเนินชีวิต ดังนั้นพอเรียนจบผมจึงตัดสินใจเข้ามาทำสวนกับพ่อตาซะเลย ทั้งที่แรกเริ่มนั้นตัวเองไม่เคยชอบเรื่องการเกษตรมาก่อน ตั้งแต่เริ่มทำสวนมาจนถึงตอนนี้ มารู้ตัวอีกทีก็เข้าสู่ปีที่ 27 แล้ว เรียกว่าทำยาวนานจนรักอาชีพนี้และมีความสุขกับการทำสวน

ตอนที่เข้ามาช่วยพ่อตา ที่สวน ‘สกุลดิษฐ’ ของเราปลุกทุเรียนอยู่แล้ว แต่ก็เริ่มขยับขยายพื้นที่ทำสวนไปยังที่ดินที่พ่อตาผมซื้อไว้ที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเคยเป็นท้องนามาก่อน แต่เราได้ปรับสภาพพื้นที่นาโดยการยกร่องให้เป็นสวนผลไม้แบบผสมผสาน เพราะพื้นที่สวนเมืองนนท์ที่ทำอยู่นั้นไม่สามารถขยับขยายได้มากกว่านี้แล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีความเป็นเมืองมากขึ้น พื้นที่เกษตรจึงเริ่มลดลงตามลำดับ

แต่อุปสรรคก็คือการทำสวนที่สุพรรณฯ ก็ดูแลยาก เพราะอยู่ไกลจากบ้าน โชคดีว่าช่วงนั้นเป็นจังหวะที่ถนนนครอินทร์ได้ตัดผ่านสวนเราที่เมืองนนท์พอดี โดยตัดตรงจากถนนติวานนท์ ยาวข้ามสะพานพระราม 5 ไปจนสุดถนนกาญจนาภิเษก จึงทำให้สวนของเราอยู่ในพื้นที่ของความเจริญ และยังสามารถทำการเกษตรได้มาจนถึงทุกวันนี้”

กิตติ บอกว่า ที่ผ่านมาทุเรียนและมังคุดที่สวนจะให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ส่วนผลไม้อื่นๆ ก็ทยอยออกลูกตามฤดูกาล เขาก็ทำสวนตอนกิ่งส้มเขียวหวานขาย และช่วยพ่อตาทำสวนทุเรียนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2554 ก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่บางส่วนของกรุงเทพฯ และปริมณฑล สวนสกุลดิษฐจึงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

“น้ำท่วมครั้งนั้นส่งผลกระทบให้ต้นทุเรียนและผลไม้อื่นๆ ตายหมด เนื่องจากน้ำท่วมขังอยู่เป็นเดือนๆ ตอนนั้นต้นทุเรียนที่ถูกน้ำท่วมอายุเฉลี่ยแล้ว 20 ปี เรียกว่าเสียหายทั้งหมด เพราะทุเรียนนั้นใช้เวลาปลูกหลายปีกว่าจะให้ผลผลิต เช่น ถ้าเป็นพันธุ์หนักอย่างหมอนทองจะใช้เวลา 5-7 ปี แต่ถ้าพันธุ์เบาอื่นๆ ก็จะใช้เวลา 4-5 ปี ซึ่งตอนที่น้ำท่วม ที่สวนเรามีทั้งพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และพันธุ์พื้นเมืองต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่นนท์จะเป็นสวนโบราณแบบมีท้องร่อง รากของต้นทุเรียนจึงไม่ได้หยั่งลึกมากนัก

เรามาเริ่มฟื้นฟูทุเรียนกันใหม่ในปี 2555 ปัจจุบันนี้ก็ 6 ปีเต็มแล้ว แต่ทุเรียนก็ยังไม่ค่อยให้ผลผลิตมากนัก มีปีละไม่กี่ลูก คิดว่าปีหน้าน่าจะให้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่าน นอกจากปลูกทุเรียนแล้วเรายังปลูกพืชแซม เช่น มังคุด ส้มโอ กล้วย และผลไม้อื่นๆ ด้วย

แต่ในระหว่างที่ปลูกมา ก็ประสบปัญหาวิกฤตน้ำเค็มหนุนในปี 2557 อีกครั้ง ตอนนั้นน้ำทะเลหนุนสูง น้ำเหนือมีน้อย จึงทำให้น้ำกร่อยจากแม่น้ำเจ้าพระยาแพร่มาตามลำคลองแล้วเข้ามาในสวน ซึ่งทำให้ต้นทุเรียนตายจำนวนมาก เพราะทุเรียนจะไม่ชอบน้ำกร่อย แต่ถ้าเป็นส้มโอแล้วจะสามารถทนน้ำกร่อยได้ ตอนนั้นเมื่อต้นทุเรียนตายก็ต้องปลูกทดแทนกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งมันต้องใช้ระยะเวลาและการเอาใจใส่จริงๆ กว่าทุเรียนจะให้ผลผลิตได้ สำหรับมังคุดจะใช้เวลาปลูกจนกระทั่งให้ผลผลิตคือ 5-7 ปี ส่วนส้มโอจะเร็วหน่อยปลูกแค่ 2 ปีก็จะเริ่มให้ผลผลิตแล้ว”

กิตติ เสริมว่า ไม้ผลแต่ละชนิดจะมีความแข็งแรงทนทานของราก หรือการอ่อนไหวต่อน้ำกร่อยแตกต่างกันไป ฉะนั้นการเป็นชาวสวนจึงต้องมีความรู้และต้องคอยดูแลใส่ใจไม้ผลที่ปลูกไว้อย่างทั่วถึง

กิตติ มั่นกตัญญู ความสุขที่ยั่งยืนตามวิถีชาวสวนนนท์

“ถ้าพูดถึงในเวลาปกติที่ไม่เจอน้ำท่วมหรือเจออุปสรรคใดๆ การทำสวนสำหรับชาวเมืองนนท์แล้ว ถือว่าเป็นอาชีพที่ดี มีรายได้ที่คุ้มค่าความเหนื่อยยากและความลำบาก ยิ่งถ้าทุเรียนให้ผลผลิตเต็มที่ก็จะยิ่งคุ้มค่าการรอคอย แต่ทุกวันนี้พื้นที่สวนในเมืองนนท์ก็เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นที่ชาวสวนยังทำสวนและอยู่กันได้ เพราะด้วยใจรักและเป็นอาชีพที่พวกเขาเลือกกันแล้วจริงๆ การทำงานทุกอย่างล้วนเหนื่อยคนละแบบ แต่การเป็นชาวสวนหรือเจ้าของสวน มันสามารถเลือกเวลาพักผ่อนหรือเวลาทำงานได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของเราเอง

อย่างผมนอกจากลงมือด้วยตัวเองแล้ว บางอย่างก็อาจจะต้องจ้างคนอื่นด้วย เช่น การตัดหญ้า เพราะที่สวนของเราจะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเลย คือจะใช้เครื่องตัดหญ้าอย่างเดียว แล้วใช้มีดดายหญ้าเก็บความเรียบร้อยอีกที ผมว่าความสุขของผมก็คือการบริหารจัดการสวนทุเรียน และการบริหารจัดการเวลาของตัวเองและครอบครัวได้นี่แหละ”

ระหว่างที่ทำสวนไปด้วยนั้น ในปี 2554 ที่น้ำท่วม กิตติก็เริ่มเรียนปริญญาโทไปด้วย โดยเรียนสาขาวิชาการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสวนของตัวเองได้เป็นอย่างดี

“ผมเรียนปริญญาโทอยู่ 2 ปี โดยเรียนแบบทางไกล จนสามารถเรียนจบมาได้ ก่อนจบก็มีการสัมมนาและอบรมแบบเข้มข้น รวมทั้งมีการทำวิทยานิพนธ์ โดยผมเลือกทำหัวข้อ ‘โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียนนนท์ ตาม
พระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี’ จึงต้องมีการศึกษาหาข้อมูล และต้องปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษา พร้อมทั้งนำข้อมูลของ อบจ.นนทบุรี หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี และสำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี มาศึกษา ทำแบบสอบถาม ลงเก็บข้อมูลกับเกษตรกรในพื้นที่ แล้วจึงนำมาวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค เพื่อเก็บข้อมูลมาทำเป็นรูปเล่มวิทยานิพนธ์

กิตติ มั่นกตัญญู ความสุขที่ยั่งยืนตามวิถีชาวสวนนนท์

เมื่อเรียนจบปริญญาโท ผมก็มีโอกาสได้รับเชิญให้ไปเป็นวิทยากรที่ มสธ.และสถานที่ต่างๆ บ้างนอกจากนี้ที่สวนของผมยังเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ ซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย นั่นคือ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ประจำ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยปัจจุบันผมรับหน้าที่เป็นประธานของศูนย์เรียนรู้นี้อยู่ด้วยครับ

ที่สำนักงานเกษตรอำเภอบางกรวย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นความสำคัญในการตั้งศูนย์เรียนรู้ เพราะเล็งเห็นว่า จ.นนทบุรี ซึ่งมีทั้งหมด 6 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บางกรวย อ.บางใหญ่ อ.บางบัวทอง อ.ปากเกร็ด และ อ.ไทรน้อย เป็นพื้นที่ที่ต้องมีศูนย์เรียนรู้ ซึ่งก็เหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องมีเช่นกัน 

หน้าที่โดยตรงของผมก็คือ การอบรมเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังให้คำแนะนำกับบุคคลที่สนใจอีกด้วย โดยจะมีตารางวัน เวลา ในการอบรมตามแผนของสำนักงานเกษตรอำเภอบางกรวย ทั้งนี้แต่ละ ศพก.จะอยู่ในวาระทั้งสิ้น 5 ปี”

กิตติ ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันนี้ครอบครัวเขาไม่ได้ทำเกษตรแบบผสมผสานเพียงอย่างเดียว แต่ยังเลี้ยงไก่และเลี้ยงปลา ดำเนินรอยตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นสำคัญตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นี่จึงถือว่าเป็นชีวิตติดธรรมชาติที่มีความสุขที่สุดสำหรับเขา

“ปัจจุบันนี้สวนสกุลดิษฐได้รับการคัดเลือกจาก จ.นนทบุรี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และในอนาคตผมมีความคิดว่า อยากจะเปิดตลาดนัดชุมชนเล็กๆ ขึ้นภายในสวน ซึ่งตอนนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมอยู่ สำหรับผมแล้วความสุขที่ได้จากการเป็นชาวสวนเมืองนนท์ก็คือ แม้จะเหนื่อยกาย แต่ก็เป็นการเหนื่อยแบบมีความสุข เพราะเมื่อไม้ผลทุกชนิดที่เราลงมือปลูกเริ่มออกดอกออกผล ก็จะทำให้เรามีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ที่สำคัญมันเป็นอาชีพของเรา ที่ต้องมีใจรัก มีความตั้งใจ และต้องเอาใจใส่ พูดง่ายๆ คือการทำสวนนั้นทุกอย่างจะต้องสัมพันธ์กัน แล้วคุณจะพบความสุขที่ยั่งยืนตามวิถีชีวิตชาวสวนอย่างที่คุณเป็น”…Fanpage FB : สวนทุเรียนลุงสมพงษ์ สกุลดิษฐ