posttoday

แก้ พรบ.สงฆ์ ให้การปกครองสงฆ์เป็นพระราชอำนาจ

01 กรกฎาคม 2561

คณะสงฆ์และชาวพุทธเตรียมใจรับ พ.ร.บ.สงฆ์ใหม่ ที่ ครม.รับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.เพราะชาวพุทธทั้งพระและฆราวาส

โดย...สมาน สุดโต

คณะสงฆ์และชาวพุทธเตรียมใจรับ พ.ร.บ.สงฆ์ใหม่ ที่ ครม.รับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.เพราะชาวพุทธทั้งพระและฆราวาส พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ดังที่พระพุทธพจน์ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ราชูนํ อนุวตฺติตุํ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้คล้อยตามพระราชา ทั้งนี้เนื้อหาที่แก้คือการถวายคืนพระราชอำนาจการปกครองสงฆ์แก่พระมหากษัตริย์ 

คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้เวลา 7 วัน เปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องถวายคืนพระราชอำนาจ ในการแต่งตั้งและถอดถอน กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)-เจ้าคณะใหญ่-เจ้าคณะภาค โดยมีนายกรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมา สุวพันธ์ุ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ามีผู้เสนอความคิดเห็น 200 ราย ในขณะที่กรรมการกฤษฎีกาก็จะไปปรับแก้ถ้อยคำที่เป็นข้อกังวลของประชาชนในหลายประเด็น เช่น ที่ห่วงว่าจะเป็นการเพิ่มพระราชภาระแก่พระมหากษัตริย์ กฤษฎีกาว่ามิได้เพิ่มแต่เป็นโบราณราชประเพณี ส่วนการที่ให้นายกฯ ที่เป็นนักการเมืองเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น เป็นไปตามบทบัญญัติที่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ                      

แต่กฤษฎีกาไม่ชี้แจงข้อกังวลว่า นายกฯ จะมีวิธีการเลือกผู้เหมาะสมขึ้นทูลเกล้าฯ อย่างไร หรือถ้านายกฯ นับถือศาสนาอื่นจะทำอย่างไร ในประเด็นนี้จึงมีผู้เสนอให้ตั้งกรรมการสรรหา เพื่อความเหมาะสมและจำกัดอำนาจนายกฯ ที่จะเป็นศูนย์อำนาจของคณะสงฆ์ ต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ตามข้อความที่คณะกรรมการกฤษฎีกาขอความเห็นประชาชน จะพบว่าคณะสงฆ์ทุกระดับ นับแต่สมเด็จพระสังฆราช เป็นต้นไป หมดหน้าที่และอำนาจในการปกครองตนเอง ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานแด่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อ พ.ศ. 2454 เพื่อให้พระสงฆ์ปกครองกันเอง จากนั้นมีวิวัฒนาการโดยลำดับ เช่น เมื่อสยามเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย ในรัชกาลที่ 7 มีการเคลื่อนไหวให้เปลี่ยน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ รศ. 121 ที่ผูกขาดอำนาจ จนถึงรัชกาลที่ 8 จึงประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ที่กระจายอำนาจเหมือนการปกครองทางโลก ที่มี สังฆสภา สังฆนายก สังฆมนตรี โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขสงฆ์

แต่ พ.ร.บ.ที่กระจายอำนาจมาสิ้นสุดในยุคเผด็จการทหาร ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ เมื่อนำ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ รศ. 121 มาปัดฝุ่น แปลงร่างมาเป็น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 การที่เป็นเช่นนี้เพราะปัญหาความอิจฉาริษยาในวงการสงฆ์ จนเกิดความขัดแย้งใหญ่โต เมื่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่ คือ พระพิมลธรรม (อาจ) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง พระศาสนโศภณ (ปลอด) เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส และเจ้าคณะภาค 7-8-9 (ธรรมยุต) ถูกกล่าวหาว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา (สังฆนายก) จึงถูกให้ออกจากเจ้าอาวาส และถูกถอดสมณศักดิ์ และถูกจองจำที่สันติบาลในที่สุด

คณะสงฆ์ปกครองกันเอง ตามอำนาจที่มีใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แม้ว่าจะเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์ที่ มส. แต่ก็มีปัญหาตามธรรมชาติ เมื่อกรรมการโดยตำแหน่ง ชราภาพก็มี อาพาธก็มาก หรือกรรมการที่แต่งตั้งทำงานได้ไม่เต็มที่ (เพราะมาจากระบบอุปถัมภ์) จนกระทั่งเกิดปัญหาเรื่องวัดพระธรรมกาย ปัญหารถยนต์หรูแต่โบราณของวัดปากน้ำ ซึ่งแก้กันไม่ได้จนเกิดทางตัน จนกระทั่งวันที่ 6 ม.ค. 2560 ได้แก้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 บางมาตรา เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจแก่พระมหากษัตริย์ ในการตั้งสมเด็จพระสังฆราช จึงแก้ทางตันได้ ต่อมาก็เกิดปัญหาเงินทอน พระเถระที่เป็นกรรมการ มส. 3 รูป ถูกกล่าวว่าหาทุจริต ฟอกเงิน (หลวง) ถูกจับ ถูกสึก ถูกขังในเรือนจำ และรูปหนึ่งหนีไปขอลี้ภัยถึงเยอรมนี

การแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ใน พ.ศ. 2561 เพื่อถวายคืนพระราชอำนาจ โดยมีนายกฯ รับสนองพระบรมราชโองการ ส่งผลให้การปกครองคณะสงฆ์อยู่ในพระราชอำนาจ ดังที่เป็นมาแล้วในอดีต

จิรํ ติฏฺฐตุ พุทฺธสาสนํ. ขอพระพุทธศาสนาจงจีรัง ยั่งยืนตลอดกาลนาน เทอญ