posttoday

‘ปวดไหล่’ อย่าชะล่าใจ... ปล่อยเรื้อรัง

30 มิถุนายน 2561

ปวดไหล่ อาจไม่ใช่อาการธรรมดา ไหล่ หรือบ่า (Shoulder)

เรื่อง : โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

ปวดไหล่ อาจไม่ใช่อาการธรรมดา ไหล่ หรือบ่า (Shoulder) เป็นส่วนประกอบของร่างกายมนุษย์ที่อยู่บริเวณข้อต่อไหล่ ซึ่งประกอบด้วยกระดูกต้นแขนประกอบกับกระดูกสะบัก

ไหล่ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกไหปลาร้า (Clavicle) กระดูกสะบัก (Scapula) และกระดูกต้นแขน (Humerus) ร่วมกับกล้ามเนื้อ เอ็น และเอ็นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง

ข้อต่อระหว่างกระดูกต่างๆ เหล่านี้ประกอบกันเป็นข้อต่อไหล่ ไหล่เป็นโครงสร้างที่มีความยืดหยุ่นเพื่อให้แขนและมือสามารถการเคลื่อนที่ได้อย่างมาก และยังมีความแข็งแรงมากเพื่อใช้ในการออกแรงยกของดันและดึง

จากหน้าที่การทำงานของไหล่ดังกล่าวทำให้ไหล่เป็นบริเวณที่คนมักบาดเจ็บหรือปวดล้าอยู่สม่ำเสมอ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลในเอกสารทางการแพทย์ที่ชื่อ “ปวดไหล่” แจกจ่ายกับคนทั่วไปว่า ข้อไหล่ เป็นข้อที่สามารถเคลื่อนไหวได้ทุกทิศทาง และมีความคล่องตัวมาก ทำให้คนเราสามารถใช้แขนและมือในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่

ดังนั้น ถ้ามีอาการปวดไหล่เกิดขึ้น ควรจำประวัติการเจ็บปวดด้วย เช่น ลักษณะอาการปวด เจ็บปวดทันที หรือค่อยๆ เจ็บ ช่วงเวลาในการเจ็บปวด ตำแหน่งที่เจ็บ กิจกรรมใดที่ทำให้ปวดมากขึ้นเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคและการรักษาให้ง่ายมากขึ้น

อาการปวดไหล่เกิดจากสาเหตุคือ 1.การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 2.การใช้ข้อไหล่อย่างไม่เหมาะสม ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้ออักเสบหรือฉีกขาด บางครั้งอาจมีแคลเซียมมาเกาะบริเวณเส้นเอ็นที่อักเสบ 3.โรคข้ออักเสบที่มีข้อไหล่อักเสบร่วมด้วย เช่น โรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ เป็นต้น 4.ถุงนํ้าข้อไหล่อักเสบ 5.การเสื่อมตามธรรมชาติของกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และปัญหาข้อไหล่ติดแข็ง ซึ่งพบในผู้สูงอายุ 6.เป็นผลของอาการปวดร้าวจากการอักเสบของอวัยวะบริเวณใกล้เคียง และ 7.การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อวัณโรค เพราะระวังเอ็นกล้ามเนื้อรอบหัวไหล่ฉีกขาด แบบไม่สามารถซ่อมแซมได้

ข้อมูลจาก นพ.ประกาศิต ชนะสิทธิ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เวชศาสตร์การกีฬาและโรคข้อไหล่ โรงพยาบาลเวชธานี แจกแจงว่า อาการปวดไหล่ นับเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หากมีอาการเรื้อรังไม่ควรชะล่าใจ เพราะอาจเป็นปัญหาใหญ่กว่าที่คิด

สาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากภาวะเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ฉีกขาด แบบไม่สามารถซ่อมแซมได้ ฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติจึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที ก่อนความรุนแรงของอาการจะทวีจนยากเกินรักษา

ข้อไหล่สามารถเคลื่อนไหว หรือบิดหมุนได้หลายทิศทาง โดยมีกล้ามเนื้อชุดหนึ่งหุ้มรอบอยู่ เรียกว่า Rotator Cuff Muscle ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 4 มัด ได้แก่ Supraspinatus / Infraspinatus / Subscapularis และ Teres Minor ซึ่งกล้ามเนื้อแต่ละมัดจะทำงานสอดประสานกันในการเคลื่อนไหว และขณะเดียวกันยังทำหน้าที่รักษาความมั่นคงของข้อไหล่ ไม่ให้เกิดภาวะข้อไหล่เคลื่อนหลุดอีกด้วย

การปวดไหล่อาจเป็นสัญญาณเตือนกล้ามเนื้อฉีกขาด นพ.ประกาศิต บอกว่าหากมีอาการผิดปกติของข้อไหล่ เช่น ปวดไหล่ อ่อนแรง ยกแขนไม่ขึ้น อาจเป็นสัญญาณของภาวะการฉีกขาดของกลุ่มกล้ามเนื้อดังกล่าว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาเช่น ข้อไหล่ติดแข็ง หรือข้อเสื่อมอันเนื่องมาจากเส้นเอ็นข้อไหล่ฉีกขาดเรื้อรัง (Cuff Tear Arthropathy)

อีกทั้งยังทำให้ขนาดของการฉีกขาดขยายขึ้นเรื่อยๆ และคุณภาพความแข็งแรงของเส้นเอ็นจะเสื่อมถอยลงจนกลายเป็นภาวะ Massive Irreparable Rotator Cuff Tear (MRCT) ซึ่งยากต่อการรักษา

นพ.ประกาศิต ขยายความว่า แม้รักษายากแต่รักษาได้ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ที่ฉีกขาดรุนแรงจะไม่สามารถซ่อมแซมได้ แต่ปัจจุบันมีวิธีการรักษาด้วยเทคนิคใหม่ เรียกว่าการผ่าตัด “Superior Capsular Reconstruction : SCR” ซึ่งประสบผลสำเร็จในการรักษากว่า 90% และได้รับการยอมรับจากศัลยแพทย์ทั่วโลก

การผ่าตัดเทคนิคนี้ จะนำแผ่นเส้นเอ็นบริเวณด้านข้างของต้นขาผู้ป่วยมาใช้ทดแทนและเสริมสร้างความแข็งแรงของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ และใช้วิธีการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งมีข้อดีคือ “แผลเล็ก เจ็บน้อยฟื้นตัวเร็ว” ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดจะมีอาการปวดลดลง ขยับข้อไหล่ได้ดีขึ้น และมีกำลังกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม นพ.ประกาศิต ฝากทิ้งท้ายไว้ว่าหากมีอาการปวดไหล่ ในเบื้องต้นสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น พักการใช้งานไหล่ ประคบ หรือรับประทานยาแก้ปวด แต่หากอาการยังไม่ทุเลา ควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางด้าน เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และวางแผนในการรักษาต่อไป