posttoday

ธุรกิจบุญ ในห้วงศรัทธาชาวพุทธ ถูกสั่นคลอน

25 มิถุนายน 2561

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าทุกครั้งที่เกิดข่าวคราวของพระสงฆ์ในทางเสื่อมเสีย

เรื่อง : วรธาร ทัดแก้ว ภาพ : บุญนำพา-แสงแห่งศรัทธา

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าทุกครั้งที่เกิดข่าวคราวของพระสงฆ์ในทางเสื่อมเสีย สิ่งหนึ่งที่มักเกิดภาวะกระเพื่อมไหวตามมาคือปฏิกิริยาของชาวพุทธจำนวนไม่น้อยที่ได้แสดงความเห็นและความรู้สึกออกมาหลากหลาย ทั้งในแง่ลบต่อพระสงฆ์เอง บางทีก็ลามไปถึงวัด และในเชิงกระตุ้นให้คนหันมาใส่ใจพระพุทธศาสนามากขึ้น

ในสังคมโซเชียลค่อนข้างเห็นชัด บางคนพออ่านข่าวพระ จากความเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนาก็กลับมาเป็นความรู้สึกต่อต้าน หรือไม่ศรัทธาเหมือนเก่า บางคนเกิดภาวะชะงัก ลังเล หรือกังวลในการทำบุญกับพระสงฆ์ และมีมุมมองในการทำบุญเปลี่ยนไป จากเคยทำบุญกับพระและวัด ก็เปลี่ยนไปทำบุญกับโรงพยาบาล กับเด็ก คนพิการ เป็นต้น

ถ้าภาวการณ์เป็นแบบนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการทำบุญ ไม่ว่าจะเป็นร้านสังฆภัณฑ์ หรือบริษัทรับจัดงานบุญ อันเป็นธุรกิจที่มาแรงและมีการแข่งขันสูงในตลาดจึงน่าติดตามอย่างยิ่ง วันนี้ แมกซ์ โพสต์ทูเดย์ จึงไปสอบถามคนทำธุรกิจบุญว่าพวกเขาได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหนจากข่าวทางลบในวงการพระสงฆ์ไทยในเวลานี้ที่ยังคงสั่นคลอนศรัทธาชาวพุทธต่อไป โดยเฉพาะเกี่ยวกับกรณีเงินทอนวัด รวมถึงกรณีอื่นๆ ที่มีสิทธิเกิดขึ้นได้กับพระสงฆ์ เช่น พระมั่วกับสีกา พระยุ่งกับยาเสพติด เป็นต้น

ธุรกิจบุญ ในห้วงศรัทธาชาวพุทธ ถูกสั่นคลอน

เศรษฐกิจไม่ดี-ข่าวลบพระทำร้านสังฆภัณฑ์ซบเซา

สกล แสงมาลี เจ้าของห้างสรรพสินค้าสังฆภัณฑ์ แสงแห่งศรัทธา และให้บริการรับจัดงานบุญครบวงจร เล่าสถานการณ์ของร้านสังฆภัณฑ์ให้ฟังว่า ถ้าย้อนเวลาไป 10 ปี ธุรกิจสังฆภัณฑ์ขายดีมาก คนทำบุญยิ้มแย้มแจ่มใส แต่พอเศรษฐกิจไม่เป็นใจตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เรื่อยมาเจอเหตุการณ์ทางการเมือง จนถึงวันนี้เศรษฐกิจก็ยังไม่ดี ทั้งถูกซ้ำเติมด้วยข่าวพระต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบชัดเจน

“ตอนเศรษฐกิจดีคนเดินซื้อของที่ห้างผมเยอะ แต่ละคนที่มาหน้าตาแจ่มใสเบิกบานทั้งนั้น ขายของดีมาก เด็กยกของแทบไม่ทัน ปีแรกๆ ลูกค้าซื้อเทียนต้นใหญ่ๆ 9 คู่ ถวาย 9 วัด ปีถัดมาเทียนเลือกต้นรอง พอเศรษฐกิจไม่ดี ไม่ใช่ 9 คู่แล้ว ซื้อแค่คู่เดียว สังฆทานเคยซื้อ 9 ชุดใหญ่ก็สั่งชุดย่อม เมื่อก่อนยอดซื้อสมมติ 100% แต่วันนี้หายไป 70% ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจไม่ดีเป็นปัจจัยหลัก ยิ่งมาเจอข่าวพระที่ตีข่าวทุกวันไม่จบไม่สิ้น ย่อมกระเทือนจิตใจคนทำอยู่บ้าง ทำบุญวัดไหนก็ต้องคิดแหละ”

สกล ยอมรับว่า ธุรกิจร้านสังฆภัณฑ์ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นร้านสังฆภัณฑ์ย่านเสาชิงช้า หรือที่ไหนค่อนข้างซบเซา ไม่ได้หวือหวาเหมือนในช่วงเศรษฐกิจดี แต่เชื่อว่าถ้าวันใดที่เศรษฐกิจดีขึ้น คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น ข่าวพระสงฆ์เงียบสงบลง และไม่เกิดเรื่องเสื่อมเสียที่ใหญ่โต เมื่อนั้นธุรกิจสังฆภัณฑ์ รวมทั้งธุรกิจอื่นก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

ด้าน เกียรติพงษ์ มณีวรรณ เจ้าของร้านกาสาวพัสตร์เครื่องบวช ทั้งค้าปลีก ค้าส่ง และรับเปิดร้านสังฆภัณฑ์ทั่วประเทศ กลับมองว่าข่าวอื้อฉาวในวงการสงฆ์ในเวลานี้ไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของทำบุญสำหรับชาวพุทธแต่อย่างใด แต่กลับให้
น้ำหนักไปที่เรื่องของเศรษฐกิจไม่ดีมากกว่า ทำให้เงินในกระเป๋าของคนมีน้อย ผู้คนจึงไม่ซื้อของ

“ขอพูดตรงๆ ในฐานะคนค้าขาย ชั่วโมงนี้ต้องบอกว่าไม่ใช่เฉพาะร้านสังฆภัณฑ์นะครับที่เจอปัญหา แต่เกือบทุกธุรกิจ ลองให้เศรษฐกิจดีเมื่อไรผมว่าคนหันมาทำบุญมากเหมือนเดิมอยู่แล้ว แต่ปีนี้ยอดลูกค้าที่ติดต่อมาเปิดร้านสังฆภัณฑ์กับผมประมาณ 10 ราย ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ชะลอไว้หมด ตั้งแต่ก่อนจะเกิดข่าวเงินทอนพระอีก แต่ถึงจะเกิดเรื่องไม่ดีในวงการพระปัญหาธุรกิจผมก็ยังโอเคอยู่ เพราะผมทำธุรกิจแบบดำรงชีพ คืออยู่ได้ เลี้ยงครอบครัวได้ ไม่ได้หวังร่ำรวย สังฆภัณฑ์ก็ยังขายได้เรื่อยๆ ครับ”

ธุรกิจบุญ ในห้วงศรัทธาชาวพุทธ ถูกสั่นคลอน

ธุรกิจรับจัดงานบุญยังเวิร์ก

เห็นได้ชัดว่าเกือบ 10 ปีมานี้ ธุรกิจรับจัดงานบุญแบบครบวงจรเป็นธุรกิจที่มาแรงและมีการแข่งขันกันสูงในเรื่องของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในช่วง 5-6 ปีมานี้ มีบริษัทรับจัดงานบุญเกิดขึ้นเยอะ ปัจจุบันธุรกิจนี้ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวพุทธเป็นอย่างดี และผู้ประกอบการแต่ละรายก็มักจะมีลูกค้าประจำของตัวเอง

สรสิช เนตรนิล ผู้ก่อตั้ง บริษัท บุญนำพา (ประเทศไทย) รับจัดงานบุญทุกอย่างแบบครบวงจร อาทิ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญครบรอบวันเกิด ครบรอบบริษัท งานแต่งงาน ฯลฯ ให้ข้อมูลว่า ข่าวฉาวของพระสงฆ์บางรูปในห้วงเวลาที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบกับธุรกิจรับจัดงานบุญของบริษัท บุญนำพา แต่อย่างใด ตั้งแต่เปิดบริษัทมาในปี 2557 สองปีแรกธุรกิจเติบโต 100% และมีความมั่นคงมาเรื่อยๆ ปัจจุบันงานมีเข้ามาตลอดจนไม่ได้รู้สึกถึงความซบเซาแต่อย่างใด

“แต่ละเดือนผมมีลิมิตในการรับงาน ถัวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100 งาน เรียกว่างานมีทุกวันครับ เพราะงานบุญมีหลากหลายอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญครบรอบบริษัท เปิดโรงงาน เปิดบริษัท ทำบุญวันเกิด ครบรอบวันแต่งงาน หรือทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ แต่ยังมีงานอีกมากมาย ทั้งพิธีพุทธและพิธีพราหมณ์ เรามีบริการหมด แต่ลูกค้าต้องโทรมาติดต่อล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือนครับ”

สรสิช มองว่า การที่ธุรกิจรับจัดงานบุญไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวลบของพระสงฆ์และธุรกิจยังไปได้ดีนั้น เพราะลูกค้าแยกแยะได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวบุคคล และยังเชื่อว่ามีพระปฏิบัติดีอีกมากมาย จึงทำบุญด้วยความสบายใจและรู้สึกดีที่ได้ทำ อีกอย่างการทำบุญที่มีการนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์นั้นก็เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเขา ครอบครัว และบริษัทเจริญรุ่งเรืองและมีความสุข

ขณะที่ “สกล” เจ้าของห้างสังฆภัณฑ์แสงแห่งศรัทธาที่รับจัดงานบุญครบวงจรมาเป็นเวลา 10 กว่าปี กล่าวว่า ธุรกิจรับจัดงานบุญของบริษัทยังไปได้ดีเช่นกัน มีงานเข้ามาตลอด ส่วนใหญ่มีลูกค้าประจำทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีข่าวเสียหายเกี่ยวกับพระสงฆ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอยู่บ้าง แต่ลึกๆ แล้วคนไทยก็ยังทำบุญกันอยู่ตามกำลังของตัวเอง

ธุรกิจบุญ ในห้วงศรัทธาชาวพุทธ ถูกสั่นคลอน

ชาวพุทธอย่าอ่อนไหวง่าย ศรัทธาต้องมั่นคง

เจ้าของห้างสังฆภัณฑ์แสงแห่งศรัทธา ยอมรับว่า ทุกครั้งที่เกิดข่าวไม่ดีขึ้นในวงการพระสงฆ์ แน่นอนย่อมทำให้ความศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อพระสงฆ์ในบางคนนั้นลดน้อยถอยลงบ้าง เช่น บางคนอาจเอ่ยปากจะไม่ทำบุญกับพระสงฆ์ หรือกับวัดอีกต่อไป และเลือกที่จะทำบุญกับโรงพยาบาลหรือกับเด็กยากจนดีกว่า เพื่อความสบายใจไม่ต้องกังวลว่าเงินถวายวัดจะไปอยู่ในกระเป๋าส่วนตัวพระ หรือถวายพระแล้วพระจะนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม

“จริงๆ แล้วคนเราไม่ว่าจะเป็นอะไร ตำรวจ ทหาร ครู นักการเมือง ฯลฯ ย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดีปนกันอยู่ ในวงการพระสงฆ์เช่นกัน พระไม่ดีก็มี แต่มีน้อย พระดีมีมาก จึงอยากให้ชาวพุทธแยกแยะให้ออก ใช้ปัญญาพิจารณาให้มาก อยากฝากว่า เวลามีข่าวไม่ดีกับพระบางรูป อย่าเหมารวมว่าพระท่านไม่ดีทั้งหมด ถ้าคิดอย่างนั้นไม่ยุติธรรมกับท่านเลย อย่าลืมว่าการทำความดีความชั่วเป็นเรื่องของแต่ละคน ถ้าเหมารวมก็คงเป็นทุกองค์กร

ผมอยากให้ทุกคนหนักแน่น อย่าอ่อนไหวง่าย สำหรับผมยังคงทำบุญทุกวันด้วยการใส่บาตร และยังทำอีกหลายอย่าง เช่น ที่ห้างมีสถานที่ปฏิบัติธรรม สามารถจุคนได้ 200-300 คน ในวันเสาร์ผมจะจัดปฏิบัติธรรม เลี้ยงข้าวปลาอาหารฟรี นอกจากนี้ยังเปิดเป็นค่ายคุณธรรมให้เด็กนักเรียนโรงเรียนต่างๆ มาอบรมด้วย”

ขณะที่ เกียรติพงษ์ เจ้าของร้านกาสาวพัสตร์เครื่องบวช ที่เชื่อว่าข่าวลบของพระสงฆ์ไม่ส่งผลต่อการทำบุญของชาวพุทธ พร้อมให้ความเห็นเกี่ยวกับคนที่บอกว่าจะเลิกทำบุญกับพระและกับวัดว่า ต้องยอมรับว่าการทำบุญเป็นเรื่องของศรัทธาแต่ละคน เราไม่ว่ากัน ในคนที่ยังลังเลสงสัยไม่ได้มั่นคงลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาศรัทธาก็อาจเปราะบางและมีทัศนคติต่อพระสงฆ์ในทางลบที่ง่ายขึ้น แต่ในคนที่มีศรัทธามั่นคงและปฏิบัติตนตามแบบชาวพุทธจริง เช่น ทำบุญ ใส่บาตร รักษาศีล ปฏิบัติธรรม หรือจิตใจมาทางศาสนาอยู่แล้ว ศรัทธาของเขาย่อมไม่หวั่นไหว

“ต้องยอมรับว่าเรื่องพระไม่ดีทำผิดวินัยสงฆ์มีมาแต่สมัยพุทธเจ้าแล้ว มิใช่เพิ่งเกิด ถ้าคนศึกษาพระพุทธศาสนาแบบลึกซึ้ง เรื่องแบบนี้ไม่มีผลอะไรต่อศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาแน่นอน พระสงฆ์คือหนึ่งในสี่ของศาสนทายาท (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) เพราะฉะนั้นพระไม่ดีไม่กี่รูปจะไปล้มทั้งองค์กรไม่ได้ 

คนที่บอกว่าพระไม่ดีต่อไปไม่นับถือแล้วผมว่าไม่ใช่แล้ว คนพูดลักษณะนี้ผมมองว่าในทางปฏิบัติของเขาในแต่ละวันอาจไม่ได้สนใจเรื่องเข้าวัดทำบุญทำกุศล หรือไม่ได้ใช้หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนามาพัฒนาจิตใจตัวเอง จึงไม่แปลกที่เวลาเกิดข่าวไม่ดีเกี่ยวกับพระจึงเกิดความไม่ชอบใจ หรือได้ตอกย้ำให้เขาไม่ศรัทธา เนื่องจากว่าไม่มีพื้นฐานทางศาสนาที่ดีพอนั่นเอง”

ท้ายสุด เกียรติพงษ์ ยังยืนยันว่า ข่าวเสื่อมเสียของพระสงฆ์ในเวลานี้ไม่มีผลต่อศรัทธาในการทำบุญของชาวพุทธแน่นอน หรือถ้ามีก็ถือว่าน้อยนิด แต่ที่ส่งผลจริงๆ ก็คือปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีมากกว่า และเชื่อว่าถ้าเศรษฐกิจดีเมื่อไรคนไทยก็จะคงทำบุญมากเหมือนเดิม