posttoday

ใต้ฝุ่น(ที่เหลือเชื่อ) เพทาย จิรคงพิพัฒน์

24 มิถุนายน 2561

โกลาบ จัน นามปากกาของ เพทาย จิรคงพิพัฒน์ หรือ แพรว นักเขียนวัย 30 ปี “ใต้ฝุ่น”

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

โกลาบ จัน นามปากกาของ เพทาย จิรคงพิพัฒน์ หรือ แพรว นักเขียนวัย 30 ปี “ใต้ฝุ่น” ของเธอสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศปีแรก 2560 ของ ARC Award (อาร์ค อวอร์ด) หรือนายอินทร์อะวอร์ดเดิม เรื่องราวของเธอและเรื่องราวของเมย์ มิลเลอร์ คอลัมนิสต์ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่ประสบเหตุระเบิดกลางนครมุมไบแล้วตื่นขึ้นมากลายเป็น “มัรยัม” สาวใช้ในบ้านเจ้านายสุดหล่อผู้ลึกลับ ณ กรุงคาบูล อัฟกานิสถานนั้น บอกได้แต่เพียงว่า อัศจรรย์พอๆ กัน

นอกจากจะเป็นผู้คว้ารางวัลอาร์ค อวอร์ดคนแรก แพรวยังป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เซลล์ประสาทไขสันหลังเสื่อมจากพันธุกรรม เรียกตามชนิดของโรคว่า โรคเอสเอ็มเอ (Spiner Muscular Atrophy-SMA) ปัจจุบันเธอไม่สามารถเดินได้ ไม่สามารถนั่งได้ ไม่แม้กระทั่งหยิบปากกาหรือขยับมือ ไม่ผิดหากจะบอกว่า การเขียนของเธอคือสิ่งที่เรียกได้ว่าเหลือเชื่อ

แพรวโตขึ้นพร้อมกับความจริงที่เจ็บปวดของผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ในที่สุดกล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะลีบลงและไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ จบชั้น ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เธอหนีเข้าไปอยู่ในโลกของเกมและการอ่าน สิ่งที่อ่านมีตั้งแต่การ์ตูนญี่ปุ่น นิยายเกาหลี นวนิยายผู้ใหญ่ นักเขียนที่ชอบมีโสภาค สุวรรณ ว.วินิจฉัยกุล และวรรณวรรธน์ รวมทั้งรอมแพง ที่อ่านมาก่อนบุพเพสันนิวาสจะดัง

ถึงจุดหนึ่งแพรวกลับออกมาเผชิญความจริง เนื่องจากภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก ที่สำคัญคือความรู้สึกด้อยค่าไร้ประโยชน์ ที่ทำร้ายตัวตนของเธออย่างที่สุด ลึกๆ ลงไปแพรวโหยหาความภาคภูมิใจ แต่อะไรล่ะที่ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจะทำให้ตัวเองภูมิใจได้

“ไม่อยากเป็นคนไร้ค่า จึงเริ่มพิมพ์งานเขียน ถ่ายทอดโลกที่ตัวเองสร้างขึ้น ไม่มีประสบการณ์ใดๆ นอกจากความตั้งใจ”

ใต้ฝุ่น(ที่เหลือเชื่อ) เพทาย จิรคงพิพัฒน์

นิยายเรื่องแรกเริ่มเขียนในปี 2551 หญิงสาวใช้วิธีพิมพ์คอมพิวเตอร์อย่างช้าๆ ด้วยการใช้สันนิ้วก้อยมือซ้ายพิมพ์ ส่วนมือขวาก็คลิกเมาส์แป้นพิมพ์ที่เรียกขึ้นมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ (On Screen Keyboard) ใช้เวลา 1 ปี นิยายเรื่องแรกก็พิมพ์เสร็จ

ไม่มีสำนักพิมพ์ใดตอบรับ ระหว่างนี้ยังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่อาการปางตาย ขณะนั้นอยู่ในช่วงกลางปี 2554 หลังออกจากโรงพยาบาลพบตัวเองว่า ไม่สามารถพิมพ์คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ได้อีก เป็นจังหวะเดียวกับที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งติดต่อมา

“โทรไปขอเวลากับบรรณาธิการ วางหูโทรศัพท์ลงแล้วร้องไห้ เพราะเราทำอะไรไม่ได้เลยในตอนนั้น สิ่งที่ทำได้คือทำใจยอมรับ”

ทว่าที่สุด ทั้งๆ ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและนอนอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ (วันละ 20 ชั่วโมง) รวมทั้งเหลือเพียงนิ้วชี้ข้างขวาเพียงนิ้วเดียวที่เคลื่อนไหวได้ แพรวใช้วิธี(นอน)พิมพ์เรื่องราวลงในสมุดบันทึก (แอพพลิเคชั่นหนึ่งบนหน้าจอ) เมื่อสิ้นสุดหน้าก็คัดลอกข้อความที่พิมพ์แล้วส่งจากมือถือเข้าอีเมลตัวเอง ตกเย็นจึงจะเปิดคอมพิวเตอร์ คัดลอกข้อความจากอีเมลมาแปะใส่เวิร์ด

“แพรวคิดขั้นตอนพวกนี้ขึ้นมาเองเลยนะ ภูมิใจมาก ฮ่าๆๆๆ”

รางวัลของการค้นหาวิธีพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้คือ ช่องทางติดต่อกับโลกภายนอก สังคมใหม่เพื่อนใหม่และกำลังใจมากมาย รวมทั้งเพื่อนเก่าก็ติดตามมาเจอกันในโลกคู่ขนาน ยิ่งกว่านั้นคือ การได้ทำงานเขียนหนังสือ แพรวประสบความสำเร็จไม่น้อยจากการเป็นนักเขียนนิยายรักดราม่า รู้หรือไม่ว่าหนังสือของเธอตีพิมพ์รวมเล่มถึง 18 เล่มแล้ว

ปัจจุบันเป็นนักเขียนอิสระ เขียนงานให้กับสำนักพิมพ์อมรินทร์ แจ่มใส พิมพ์คำและแฮปปี้บานาน่า รวมทั้งทำหนังสือทำมือที่มีนักอ่านติดตามมากที่สุดคนหนึ่ง งานเขียนของเธอยังมีในชื่อภาพิมลและพิมลภา ส่วนโกลาบ จัน “โกลาบ” หมายถึงดอกกุหลาบในภาษาอัฟกัน ส่วนจัน (jann) เป็นคำลงท้ายต่อชื่อเพื่อแสดงความรักหรือเมตตา

สุดท้ายแพรวอยากขอบคุณสำหรับข้อมูล ความอดทนและมิตรภาพจากผู้สร้างอินสตาแกรม @afghanhistory ขอบคุณอักบาร์จานผู้สร้างอินสตาแกรม @afghanistan.af ผู้เป็นทั้งมิตร ที่ปรึกษาและแรงบันดาลใจให้กับการเขียนหนังสือเล่มนี้ของเธอ กระทั่งใต้ฝุ่นสำเร็จลุล่วงและคว้ารางวัลที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มที่สุดในชีวิต