posttoday

เพียงวัวขยับปาก สะเทือนถึงห้วงบรรยากาศโลก

19 มิถุนายน 2561

กระแสลดการใช้ถุงพลาสติกกำลังถูกพูดถึงอย่างหนักในตอนนี้ หลังมีสัตว์น้ำจำนวนมากกินและใช้ชีวิตอยู่กับขยะพลาสติกในมหาสมุทร

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

กระแสลดการใช้ถุงพลาสติกกำลังถูกพูดถึงอย่างหนักในตอนนี้ หลังมีสัตว์น้ำจำนวนมากกินและใช้ชีวิตอยู่กับขยะพลาสติกในมหาสมุทร ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก ในขณะเดียวกัน ภาคการเกษตรทั่วโลกก็นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากแก๊สที่ถูกผลิตขึ้นจากสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่าง วัว ควาย แพะ แกะ สามารถผลิตแก๊สเรือนกระจกออกสู่ห้วงบรรยากาศ และส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกมากถึงร้อยละ 30

ความที่การเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของประเทศไทยและเป็นอาชีพของประชากรส่วนใหญ่ นักวิจัยไทยจึงคิดหาวิธีลดการผลิตแก๊สจากวัว ควาย แพะ และแกะ โดยได้คิดค้นวิจัย “สูตรอาหารสัตว์” ที่สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนการหมักและการย่อยอาหารในกระเพาะของสัตว์เคี้ยวเอื้องให้เกิดแก๊สมีเทนลดลง วัวโตเต็มวัยสามารถผลิตแก๊สมีเทนได้ 200 ลิตรต่อวันผ่านการเรอ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการค้นพบสูตรอาหารดังกล่าว และน่าตื่นเต้นกว่าเมื่อทราบว่า สูตรอาหารที่ดูเป็นสุดยอดวิทยาศาสตร์นั้นมีส่วนประกอบสำคัญเป็นเปลือกมังคุด เงาะ มันสำปะหลัง และใบย่านาง ซึ่งเป็นพืชพื้นบ้านแต่สามารถแก้ปัญหาระดับโลก

ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กล่าวว่า แก๊สเรือนกระจกประกอบด้วย 3 ตัวหลัก ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สมีเทน และแก๊สไนตรัสออกไซด์ ภาคการเกษตรนับเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมที่ผลิตแก๊สเรือนกระจกออกสู่ห้วงบรรยากาศ โดยในภาคการเกษตรประกอบไปด้วยการเพาะปลูกและการผลิตสัตว์ การผลิตสัตว์สามารถแยกย่อยเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และสัตว์ไม่เคี้ยวเอื้อง เช่น หมู ไก่ ซึ่งสัตว์ที่ผลิตแก๊สมีเทนสูงและส่งผลกระทบต่อห้วงบรรยากาศอย่างมากคือ สัตว์เคี้ยวเอื้อง

เพียงวัวขยับปาก สะเทือนถึงห้วงบรรยากาศโลก ศ.ดร.เมธา วรรณพัฒน์

ดร.เมธา อธิบายว่า เนื่องจากในกระเพาะหมักของสัตว์เคี้ยวเอื้องมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยอาหาร โดยเฉพาะอาหารหยาบทั้งหญ้า ฟาง ยอดอ้อย ต้นข้าวโพด ฯลฯ หากพวกมันได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมจะทำให้เกิดกระบวนการหมักอย่างดีและสามารถนำพลังงานไปใช้ผลิตเนื้อและน้ำนมได้ แต่หากได้รับอาหารที่ไม่ดีก็จะทำให้กระบวนการหมักเกิดแก๊สมีเทนสูงขึ้น และเมื่อในกระเพาะสัตว์มีแก๊สมีเทนสูงขึ้น มันก็จะเรอออกมา ฉะนั้นนักวิชาการอาหารสัตว์หรือแม้กระทั่งเกษตรกรจะสามารถช่วยลดอัตราการปล่อยแก๊สมีเทนออกไปสู่ห้วงบรรยากาศได้ด้วยกระบวนการจัดการอาหารสัตว์ให้มีประสิทธิภาพ

ดร.เมธาและทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นกลุ่มแรกๆ ของโลกที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การใช้แหล่งอาหารธรรมชาติที่ช่วยลดแก๊สมีเทนจากวัวได้สำเร็จ โดยค้นพบว่า เปลือกมังคุด เปลือกเงาะ ปลีกล้วย ใบย่านาง เมื่อนำไปผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ จะได้สูตรอาหารอัดเม็ดที่ใช้ผสมในอาหารของวัว ช่วยไปปรับเปลี่ยนกระบวนการหมักทำให้วัวผลิตแก๊สมีเทนลดลงประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับการได้รับอาหารปกติ และยังคงประสิทธิภาพการผลิตเนื้อและน้ำนมเหมือนเดิม

“ปัจจุบันภาคการเกษตรทั่วโลกพยายามเลิกใช้ยาปฏิชีวนะและสารเคมีในการผลิตสัตว์ ในยุโรปได้แบนการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ไปแล้ว รวมทั้งผู้บริโภคเองก็เลือกบริโภคเนื้อสัตว์และน้ำนมจากสัตว์ที่เลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เทรนด์การใช้อาหารสัตว์ที่ไม่มีสารเคมีกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก” ดร.เมธา กล่าวเพิ่มเติม

เปลือกมังคุดเป็นแหล่งอาหารชนิดแรกที่ถูกค้นพบมากกว่า 10 ปีแล้ว แต่การวิจัยไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะในปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัยสูตรอาหารที่ดีที่สุดและหาส่วนประกอบทางธรรมชาติที่ดีที่สุดในการนำมาใช้ทดแทนสารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการหมักและลดแก๊สมีเทนในสัตว์เคี้ยวเอื้องต่อไป

เพียงวัวขยับปาก สะเทือนถึงห้วงบรรยากาศโลก

“ตอนนี้เรากำลังผสมสูตรใหม่เพื่อปรับให้เหมาะกับจุลินทรีย์และแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะหมัก ให้จุลินทรีย์กลุ่มนี้ผลิตกรดไขมันในเนื้อและน้ำนมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะกรดซีแอลเอ (CLA-Conjugated Linoleic Acid) ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ลดความดัน และลดน้ำตาล เมื่อคนบริโภคเข้าไปก็จะได้รับกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวที่เป็นประโยชน์มากขึ้น” ผู้ทรงคุณวุฒิสภา มทร.อีสาน กล่าวถึงการวิจัยล่าสุดที่จะพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมอาหาร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการผลิตสัตว์ในประเทศไทยยังมีการให้อาหารสัตว์ที่ไม่เหมาะสม ยกตัวอย่าง เกษตรกรยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่าการใช้อาหารข้นเสริมในระดับสูงจะทำให้วัวมีน้ำนมเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นไปตามนั้นเสมอไป เพราะหากให้วัวบริโภคอาหารข้นเสริมมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการหมัก สูญเสียความสมดุล และทำให้เกิดภาวะความเป็นกรดในกระเพาะหมัก ทำให้วัวผลิตน้ำนมได้น้อยลงและมีปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงเกษตรกรมักเข้าใจว่า ไม่สามารถใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารเสริมหรือมันสำปะหลังมีคุณภาพไม่ดีเท่าข้าวโพดก็ถือเป็นความเข้าใจผิด เพราะจากการวิจัยชี้ชัดว่า มันสำปะหลังมีประโยชน์ต่อวัวมากกว่าข้าวโพด

นอกจากนี้ เกษตรกรไทยยังประสบปัญหาการหาแหล่งอาหารหยาบ เช่น หญ้า ที่ไม่สมบูรณ์และไม่มีคุณภาพตลอดปี ทว่ามีการวิจัยที่น่าสนใจว่า หญ้าหวานหรือหญ้าเนเปียร์แคระมหาสารคาม พันธุ์หญ้าที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมากใน จ.มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ พบมีคุณค่าเหมาะสมกับเป็นอาหารหยาบของสัตว์ จึงจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำหญ้าชนิดนี้ไปใช้เลี้ยงสัตว์ได้

เพียงวัวขยับปาก สะเทือนถึงห้วงบรรยากาศโลก

ที่ผ่านมา ดร.เมธาและทีมวิจัยได้มีการจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรสูตรอาหารต่างๆ ที่วิจัยสำเร็จไปแล้วประมาณ 10 สูตร แต่กระนั้นนักวิจัยมีหน้าที่วิจัย มิใช่ส่งเสริม จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมปศุสัตว์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย และกลุ่มสหกรณ์ต่างๆ ที่จะนำความรู้และการวิจัยเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรทั้งรายใหญ่และรายย่อย

“สิ่งที่เราทำอยู่เป็นผลงานวิจัยที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเนื้อ น้ำนม และการลดแก๊สมีเทน ส่วนเกษตรกรรายย่อยก็สามารถทำสูตรอาหารง่ายๆ ขึ้นเองได้ยกตัวอย่าง นำเปลือกมังคุดไปบด ตากให้แห้ง และนำไปผสมโรยในอาหารข้นของวัวในปริมาณเล็กน้อยและพอเหมาะกับน้ำหนักก็สามารถใช้ได้”

นอกจากนี้ วิธีการปรับเปลี่ยนอาหารสัตว์ให้เป็นอาหารอินทรีย์เพื่อลดแก๊สมีเทนยังเป็นวิธีที่ไม่มีสารตกค้างในตัวสัตว์ ต้นทุนต่ำกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะหรือการฉีดวัคซีน ผู้บริโภครู้สึกสบายใจที่จะบริโภคเนื้อและน้ำนมจากสัตว์ที่กินอาหารอินทรีย์ และนับเป็นวิธีที่มีศักยภาพมากกว่าวิธีอื่นๆ ในขณะนี้ด้วย

เพียงวัวขยับปาก สะเทือนถึงห้วงบรรยากาศโลก

“ในขณะเดียวกัน เราก็อยากเห็นการต่อยอดหรือการขยายผลจากงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์และเชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น เราพร้อมที่จะพูดคุยและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เพราะในตอนนี้กลุ่มนักวิจัยและกลุ่มภาคอุตสาหกรรมยังไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดคุยกันมากนัก ซึ่งหากมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้กันแล้วมันจะเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ต่อผู้ผลิตทุกๆ ระดับลงไปสู่เกษตรกร และส่งผลกระทบในวงกว้างไปสู่สภาพแวดล้อมและภาวะโลกร้อนจากแก๊สเรือนกระจกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้”

10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประชากรโคเนื้อประมาณ 9.1 ล้านตัว ประชากรโคนมประมาณ 4.6 แสนตัว และประชากรควายประมาณ 1.3 ล้านตัว ปัจจุบันกรมปศุสัตว์เผยสถิติปี 2560 ออกมาว่า ประเทศไทยมีประชากรโคเนื้อ 4.8 ล้านตัว โคนม 5.8 แสนตัว และควายมีจำนวนลดลงเหลือประมาณ 1 ล้านกว่าตัว ซึ่งแม้ว่าจะมีการผลิตโคนมมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าน้ำนมจำนวนมาก อุตสาหกรรมผลิตสัตว์จึงน่าจับตามองเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้อีกมากตามความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งปัจจัยหลักขั้นพื้นฐานอย่างอาหารสัตว์ จึงเป็นสิ่งสำคัญตามไปที่ต้องเติมเต็มให้ได้และต้องมีคุณภาพ

“นวัตกรรมอาหารสัตว์เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องศึกษาวิจัย และต้องถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อสร้างกระบวนการผลิตสัตว์มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ดร.เมธา กล่าวทิ้งท้าย

จากการคาดการณ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า พบว่า ทั่วโลกจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงมากขึ้นถึง 9,000 ล้านคน ทำให้อาหารโดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อและนมกลายเป็นอาหารที่มีความต้องการอย่างมากในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการบริโภค และการปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจของชุมชนโลกที่จะไปสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น ทำให้คนมีเงินบริโภคอาหารโปรตีนสูงแทนอาหารที่ให้พลังงานมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นการผลิตสัตว์จึงยิ่งทวีความสำคัญ แต่ก็น่าเป็นห่วงเช่นกันถ้าต้นน้ำอย่างอาหารสัตว์ไม่ช่วยให้ปลายทางเป็นมิตรกับโลกที่กำลังร้อนระอุใบนี้