posttoday

ชวีหยวน ขุนนางรักชาติกับบ๊ะจ่างทิ้งน้ำ

17 มิถุนายน 2561

ถ้าจะมีเทศกาลไหนของจีนที่เหมาะกับการรณรงค์งดใช้พลาสติก เทศกาลนั้นน่าจะเป็นเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง

โดย...นิธิพันธ์ วิประวิทย์

ถ้าจะมีเทศกาลไหนของจีนที่เหมาะกับการรณรงค์งดใช้พลาสติก เทศกาลนั้นน่าจะเป็นเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง

บ๊ะจ่างที่เราคุ้นเคยมีวัตถุดิบหลักเป็นข้าวเหนียวผัด ผสมกับถั่วลิสงต้ม เม็ดบัว กุ้งแห้ง เห็ดหอม เนื้อหมู พร้อมเครื่องจิปาถะหลากหลาย 

แพ็กเกจจิ้งบ๊ะจ่างที่แท้ทรูต้องห่อด้วยใบไผ่เป็นก้อนสามเหลี่ยมมุมแหลม และถ้าจะได้บรรยากาศดั้งเดิมต้องมัดด้วยเชือกกล้วย เมื่อทิ้งปลายเชือกไว้ยาวหน่อยจะสามารถห้อยหิ้วกลับบ้านได้ไม่ง้อถุง เมื่อโยนบ๊ะจ่างลงแม่น้ำ ปลาใหญ่กินเข้าไปก็ไม่น่าจะอันตราย

ว่าแต่ จะบ้าเอาบ๊ะจ่างทิ้งน้ำไปทำไม...บ๊ะจ่างบ้านๆ ที่ทำอย่างถูกอนามัย หากเก็บเข้าช่องฟรีซในตู้เย็นไว้จะสามารถเก็บกินได้ข้ามปี บ๊ะจ่างจึงเป็นภูมิปัญญาของการถนอมอาหาร และยังรักษาสิ่งแวดล้อม

ต้นตำนานบ๊ะจ่างผูกพันลึกซึ้งกับขุนนางชื่อ ชวีหยวน ช่วงก่อน ค.ศ. 339-278 ในยุคจ้านกว๋อ ยุคแห่งความขัดแย้งระหว่างแคว้นทั้ง 7

ช่วงนั้นมี 3 ใน 7 แคว้น ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นใหญ่ แคว้นฉินกองทัพเข้มแข็งเกรียงไกร แคว้นฉีร่ำรวย แคว้นฉู่อาณาเขตกว้างขวาง ชวีหยวนเป็นขุนนางในแคว้นฉู่

ระยะแรกฉู่หวยหวาง - กษัตริย์แคว้นฉู่ก็ชอบช่วงใช้ชวีหยวน เพราะเขาเป็นขุนนางที่สัตย์ซื่อ 

เนื่องจากแคว้นฉินมีท่าทีรุกราน ชวีหยวนจึงเสนอให้ฉู่ร่วมมือกับฉีเพื่อต้านฉิน ในช่วงต้นสำเร็จไปได้ด้วยดี แคว้นฉู่มั่นคงขึ้นทุกปีทุกวัน

นอกจากนั้น การปฏิรูปภายในก็เป็นสิ่งสำคัญ ชวีหยวนลงแรงปฏิรูปด้วยตนเอง

และทุกการปฏิรูปย่อมกระทบกระเทือนกลุ่มผลประโยชน์เก่า ชวีหยวนจึงมีศัตรูทางการเมืองในแคว้นอยู่ไม่น้อย

นอกจากจะซื่อสัตย์แล้วเขายังซื่อตรง ชวีหยวนไม่ใช่คนยอมงอไม่ยอมหัก จึงต้องปะทะกับคนที่ไม่ยอมทิ้งผลประโยชน์ส่วนตนเพื่อความก้าวหน้าของบ้านเมือง

ปฏิรูปจะมารอประนีประนอมย่อมไม่ได้ หากไม่รีบเข้าไว้ แคว้นอื่นชิงปฏิรูปสำเร็จก็เสร็จกัน 

ยิ่งต้องเร่งก็ยิ่งต้องปะทะ กลุ่มขุนนางที่ไม่พอใจชวีหยวนจึงมีมากขึ้น รวมหัวเพ็ดทูลให้ฉู่หวยหวางเข้าใจชวีหยวนผิด จากที่ไว้ใจจึงกลายเป็นหมางเมิน

แคว้นฉินเห็นโอกาส ออกอุบายลวงฉู่หวยหวางด้วยผลประโยชน์ ส่งทูตมาหลอกว่า ถ้าฉู่เลิกเป็นพันธมิตรกับฉีจะยอมมอบดินแดนฉินให้ 600 ลี้ พร้อมกับซื้อตัวขุนนางแคว้นฉู่ไว้เป่าหูฉู่หวยหวางอีกทาง

ชวีหยวนได้ยินข้อเสนอนี้รีบค้าน แต่ฉู่หวยหวางตกหลุมพราง เห็นประโยชน์เฉพาะหน้าเป็นห้ามใจไม่อยู่

ฉู่หวยหวางเลิกสัญญาเป็นพันธมิตรกับแคว้นฉี แต่เมื่อถึงคราวทวงสัญญาแผ่นดิน 600 ลี้ แคว้นฉินกลับตระบัดสัตย์ บอกว่าที่เคยสัญญามันแค่ 6 ลี้เท่านั้น 

ฉู่หวยหวางเสียท่าและเสียหน้า จึงจัดทัพไปเอาคืนแคว้นฉิน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับมา 

ฉู่หวยหวางคิดคืนดีกับแคว้นฉี แต่ด้วยกลยุทธ์ของฉิน รวมถึงอุบายซื้อตัวขุนนางภายในฉู่ไว้เป็นไส้ศึก แคว้นฉู่กับแคว้นฉีจึงแตกแยกรุนแรงยิ่งขึ้น แถมชวีหยวนยังถูกฉู่หวยหวางสั่งเนรเทศ

ชวีหยวนได้แต่เศร้าใจ ในที่สุดฉู่ก็โดนฉินโจมตี ฉู่หวยหวางถูกจับไปแคว้นฉิน และสิ้นพระชนม์ที่นั่น

ฉูฉิ่งเซียงหวาง - ลูกชายของฉู่หวยหวางขึ้นครองราชย์ต่อด้วยการอุ้มชูของขุนนางที่ญาติดีกับแคว้นฉิน สถานการณ์ของชวีหยวนจึงเลวร้ายลง ถูกเนรเทศไปไกลยิ่งกว่าเดิม เป็นการเนรเทศแบบไม่มีกำหนดกลับ

ชวีหยวนเห็นแคว้นฉู่ตั้งแต่รุ่งเรืองจนถึงแนวโน้มจะแตกดับ และตนเองก็มีส่วนร่วมและความสามารถกำหนดทิศทางบ้านเมือง แต่กลับถูกพิษการเมืองเล่นงาน ความโศกเศร้าผูกพันต่อชะตากรรมของแคว้นจึงท่วมท้น แม้ตัวอยู่ไกลแต่ใจยังคงติดตามความเป็นไปของบ้านเมือง ชีวิตช่วงนี้เองที่เขาได้ระบายความโศกเศร้าออกมาเป็นบทกวีชิ้นเอกหลายบท

จนในปีที่ 21 แห่งรัชกาลของฉูฉิ่งเซียงหวาง แคว้นฉินยาตราทัพเข้ายึดแคว้นฉู่ ศาลบรรพชนถูกเผาทำลายสิ้น เมื่อชวีหยวนรู้ข่าวจึงได้แต่ร่ำไห้แทบสิ้นสติ

ชวีหยวนเคยเขียนในบทกวี “เหล่านกบินไกลในที่สุดต้องคืนถิ่น จิ้งจอกใกล้สิ้นหัวยังหันสู่รังเกิด” แม้แต่สัตว์ยังรักบ้านและคิดถึงรัง แล้วคนเราเล่าจะละทิ้งบ้านเมืองได้อย่างไร

เขาเดินทางมุ่งสู่นครหลวงแคว้นฉู่ จนวันหนึ่งเขามาถึงริมแม่น้ำมี่หลัวเจียง ชวีหยวนซึ่งอยู่ในสภาพผมเผ้าขาวโพลนรุงรัง เสื้อผ้ามอมแมม ยืนเหม่อลอย

ชวีหยวนอาจจะหวนนึกถึงบทสนทนาในวันหนึ่งในช่วงที่ตนถูกเนรเทศ มีชาวประมงคนหนึ่งเข้ามาถามเขาว่า “ท่านคือขุนนางชวีหยวนใช่หรือไม่? แล้วทำไมจึงตกอยู่ในสภาพเยี่ยงนี้เล่า?”

ชวีหยวนตอบว่า “โลกนี้ล้วนโสมม มีเพียงแต่ข้าที่คงขาวสะอาด ผู้คนจำนวนมากล้วนเมามาย มีเพียงข้าเท่านั้นที่คงรู้ผิดชอบ เช่นนี้เองข้าจึงถูกเนรเทศออกมา”

ชาวประมงจึงบอกว่า “ในเมื่อโลกโสมม เหตุใดท่านจึงไม่ตามกระแสเกลือกกลิ้งไปกับพวกเขา ถ้าพวกเขาเมามาย ท่านก็แค่ร่วมวงสุรากับเขาไปด้วยก็เท่านั้น แค่นี้ก็ไม่ต้องมาตกที่นั่งระกำลำบากแล้ว”

“โบราณว่าคนชำระร่างกายสะอาดแล้วย่อมไม่พึงใจใส่เสื้อผ้าสกปรก...ตัวข้ายอมจมลงก้นแม่น้ำไปกับกุ้งหอยปูปลา ยังดีกว่าตามกระแสไปกับโลกอันโสมม”... ชวีหยวนตอบ

ที่ริมแม่น้ำมี่หลัวเจียง ชวีหยวนไม่เพียงอุ้มก้อนหินก้อนหนักก้อนหนึ่งเอาไว้ เขายังแบกความผิดหวังและสิ้นแรงใจ กระโดดลงไป จมดิ่งสู่ท้องน้ำมี่หลัวเจียง…

ชาวบ้านรู้เข้าจึงรีบพายเรือออกงมหาศพชวีหยวน แต่หาเท่าไรก็หาไม่เจอ ด้วยความเคารพรัก ชาวบ้านไม่อยากให้ปูปลากัดกินศพชวีหยวนเสียหาย จึงโรยธัญพืชและอาหารลงแม่น้ำ เพื่อล่อให้ปูปลามากินอาหารแทน

บ้างก็ว่าชาวบ้านเอาธัญพืชห่อใบไผ่แล้วค่อยโยนลงไปล่อปูปลา จนพัฒนากลายมาเป็นบ๊ะจ่าง ตำนานเหล่านี้แตกแขนงให้เล่าได้หลากหลาย ตามธรรมชาติของตำนานแทบทุกเรื่อง

ชวีหยวนอาจจะกระโดดลงแม่น้ำในวันที่ 5 เดือน 5 หรืออาจจะเป็นแค่ช่วงใกล้เคียงวันนั้นก็หารู้ไม่ แต่ชาวบ้านก็ยินดีใช้เทศกาลตวนอู่ ซึ่งเป็นวันเทศกาลต้อนรับการผลัดเปลี่ยนฤดูใหม่ของชาวแคว้นฉู่ตั้งแต่ดั้งแต่เดิม มาผนวกเป็นวันรำลึกชวีหยวนไปด้วยกัน

ปัจจุบันผู้คนมักเลือกจดจำว่าเทศกาลตวนอู่ วันที่ 5 เดือน 5 ในปฏิทินจีน มีไว้เพื่อรำลึกถึงชวีหยวน น้อยคนนักที่จะรู้สึกว่าวันนี้เคยเป็นเทศกาลพื้นบ้านของชาวแคว้นฉู่มาก่อน

นี่คือผลจากพลังแห่งคุณธรรมด้านความรักชาติที่ฝังใจชาวจีนมานานนับพันปี บทกวีของชวีหยวนนอกจากขึ้นชื่อเรื่องความสร้างสรรค์ด้านวรรณกรรมแล้ว ยังส่งผลให้กวีในยุคต่อมาของจีนล้วนเกี่ยวพันกับความรักชาติและห่วงใยแผ่นดิน

คืออิทธิพลที่มาจากชวีหยวนอย่างไม่ต้องสงสัย

ชั่วขณะที่ร่างกายของชายคนหนึ่งที่จมดิ่งสู่ท้องน้ำมี่หลัวเจียง แต่กลับก่อให้เกิดกระแสความรักชาติหลั่งไหลออกไปหล่อเลี้ยงอยู่ในสายเลือดของผู้คนต่อเนื่องไป

แคว้นฉู่ล่มไปแล้ว แต่บทกวี ชวีหยวน และบ๊ะจ่าง ยังคงยืนยงคู่ชาวจีนเสมอมา