posttoday

‘เนเจอร์ ฟีล’ ฝึกนักอนุรักษ์ต้องเริ่มจากวัยเยาว์

16 มิถุนายน 2561

เราเคยทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำจนเราหาเก็บความรู้และประสบการณ์

โดย กั๊ตจัง 

“เราเคยทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำจนเราหาเก็บความรู้และประสบการณ์ ถึงวันหนึ่งก็มาคิดว่าเรามีความพร้อมมากพอที่จะออกมาทำโครงการของตัวเอง ก็เลยร่วมมือกับเพื่อนๆ ออกมาจัดโครงการของเราเอง” ขนิษฐา ลาสุด เล่าถึงที่มาของการสร้างกลุ่มกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่าง เนเจอร์ ฟีล

กลุ่มนี้มีเพื่อนๆ นักอนุรักษ์ธรรมชาติอย่าง จักรกฤช คะชานันต์ ชฎาภรณ์ เสวีวัลล ภากร ณ ลำปาง และณัฐพล คุณธรรมกิจ ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในทะเล ป่าไม้ สัตว์ป่าไปจนถึงแมลงเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ตามพื้นดิน ขนิษฐา เล่าต่อว่า

“เราทำงานอนุรักษ์ตั้งแต่เรียนจบจากสาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ต่างก็เรียนในสายที่ตัวเองรักและมีความถนัด ด้วยใจที่รักในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเหมือนกัน เลยรวมกลุ่มคุยกันว่าเรามาเริ่มจากสิ่งที่เราพอมี ก็คือความรู้เรื่องธรรมชาติ และใจที่รักอยากจะทำงานอนุรักษ์ แม้จะไม่มีเงินทุนมากมายและเวลาที่จำกัดเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์”

‘เนเจอร์ ฟีล’ ฝึกนักอนุรักษ์ต้องเริ่มจากวัยเยาว์

เมื่อความคิดของทุกคนตรงกัน จึงเริ่มสร้างชื่อกลุ่มเนเจอร์ ฟีล เปิดช่องทางโซเชียลมีเดียรับสมัครคนร่วมกิจกรรม โดยเน้นไปที่กลุ่มครอบครัวพ่อแม่ลูกที่ต้องการหากิจกรรมเรียนรู้เรื่องธรรมชาติร่วมกัน โดยกิจกรรมแรกเริ่มที่บางกระเจ้า ในชื่อกิจกรรม เนเจอร์ ฟีล อิน เดอะ ปาร์ค (Nature Feels in the Park) เล่นกับธรรมชาติในสวน ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ คุ้งบางกระเจ้า เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กิจกรรมครั้งนั้นทางกลุ่มรับเพียง 10 คน และเก็บค่าเข้าร่วมกิจกรรมไม่มากนัก จึงได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้เริ่มเปิดกิจกรรมอื่นในเวลาต่อมา

“กิจกรรมในครั้งนั้น เราทำกิจกรรมที่ไม่เหมือนกับกลุ่มอื่นๆ ก็คือเปิดให้เด็กๆ ได้เดินสัมผัสเรียนรู้ธรรมชาติจากพี่ๆ ที่มีความรู้จริง มีกิจกรรมปั่นจักรยาน และในระหว่างที่เด็กๆ ทำกิจกรรม คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีกิจกรรมทำอาหารท้องถิ่นร่วมกับคนในชุมชน เป็นทริปสั้นๆ ที่เรียนรู้และจบภายในวันเดียว

‘เนเจอร์ ฟีล’ ฝึกนักอนุรักษ์ต้องเริ่มจากวัยเยาว์

เป็นกิจกรรมที่ไม่เหนื่อยมากนัก และให้เด็กๆ ได้เรียนรู้สัมผัสกับธรรมชาติ ได้เห็นความสำคัญคู่ไปกับความสนุก ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของเราคือ กลุ่มครอบครัวผู้ใหญ่และเด็ก อาจจะมีนักศึกษาเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราบ้างก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าหัวข้อที่เราจัดนั้นเป็นหัวข้ออะไร

ครั้งต่อไปที่เราจะไปจัดกันที่เขาใหญ่ ก็จะมีวัยรุ่นขอเข้ามาร่วมด้วย แต่ส่วนมากแล้วก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่พาลูกๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรามากกว่า”

เมื่อย้อนถามถึงที่มาของแรงบันดาลใจในเส้นทางอนุรักษ์ธรรมชาติ ขนิษฐา เล่าความหลังให้ฟังต่อว่า

‘เนเจอร์ ฟีล’ ฝึกนักอนุรักษ์ต้องเริ่มจากวัยเยาว์

“ด้วยความที่เราเป็นเด็กบ้านนอก อยู่ในป่าในเขาใน จ.นครพนม ตอนเด็กๆ คุณตา
คุณยายจะพาเข้าป่าสัมผัสกับธรรมชาติ ใช้ชีวิตอยู่กับป่าเขาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เราได้เรียนรู้คลุกคลีกับธรรมชาติ

ตอนแรกเราก็ไม่รู้หรอกว่าเราชอบเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่รู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไร แต่พอได้เข้ามาเรียน สาขาวิชาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ ได้เรียนรู้และได้ทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ก็ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้น จนถึงวันนี้เราชักชวนเพื่อนๆ ที่มีใจรักในสิ่งเดียวกันมาเป็นตัวแทนธรรมชาติ เพราะว่าธรรมชาติพูดไม่ได้ แต่เราเป็นคนที่มีความรู้ที่จะสามารถพูดแทนธรรมชาติได้ ได้พูดให้ทุกคนได้รู้จักกับธรรมชาติให้มากขึ้น ให้รู้ว่าพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดในสิ่งแวดล้อมและมีความสำคัญต่อโลกต่อเราอย่างไร

‘เนเจอร์ ฟีล’ ฝึกนักอนุรักษ์ต้องเริ่มจากวัยเยาว์

พวกเราควรจะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติอย่างไรบ้าง และสุดท้ายเราอยากจะปลูกฝังให้เด็กๆ มีจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติ เมื่อพวกเขาเติบโต พวกเขาจะปกป้องทรัพยากรด้วยตัวเขาเอง”