posttoday

รักษ์โลก เลิกพลาสติก

14 มิถุนายน 2561

ปี 2561 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว

ปี 2561 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้กำหนดประเด็นหลักในการรณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก คือเรื่อง “รักษ์โลก เลิกพลาสติก” Beat Plastic Pollution โดยมีคำขวัญว่า If you can’t reuse it, refuse it  ถ้าคุณไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ให้ปฏิเสธ

เราอาจไม่สามารถปฏิเสธการใช้พลาสติกทุกประเภทได้ แต่สามารถปฏิเสธพลาสติกบางประเภทที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use plastic) ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาสติกประเภทนี้มีอายุการใช้งานที่แสนสั้น แต่กลับใช้เวลาย่อยสลายนานแสนนาน เช่น โฟม ต้องใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 500 ปี ถุงพลาสติก 450 ปี กระป๋องอะลูมิเนียม มากกว่า 80 ปีขวดพลาสติก 450 ปี

พลาสติกถือเป็นขยะสร้างมลพิษให้กับโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างเห็นชัดเจน ทั้งขยะบนบก และในทะเล เฉพาะในทะเลมีเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ค่อนข้างช็อกความรู้สึกคนทั้งโลก เมื่อมีวาฬครีบสั้นตัวหนึ่งเกยตื้นที่บริเวณปากคลองนาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา และตายในเวลาต่อมา เมื่อผ่าท้องกลับพบพลาสติกในกระเพาะอาหารถึง 80 ชิ้น น้ำหนัก 8 กิโลกรัม จากเหตุการณ์ครั้งนี้คงไม่ใครคิดว่าจะมีพลาสติกอยู่แต่ในท้องวาฬตัวนี้แค่ตัวเดียวแน่นอน

สถานการณ์ขยะพลาสติก

รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ระบุว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด เฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน การนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ที่เหลือ 1.5 ล้านตันส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกปนเปื้อน โดยเป็นถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว 80% หรือประมาณ 1.2 ล้านตัน

“ปี 2559 มีขยะมากถึง 27 ล้านตัน ทำให้มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 3.2 ล้านตัน และครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันคือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งแต่ละปีมีขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลกว่ากว่า 13 ล้านตัน ประเทศไทยของเราได้ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลอยางเห็นได้ชัด”

รักษ์โลก เลิกพลาสติก

บังคับโดยไม่ให้อยากได้ต้องซื้อ

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าทุกวันนี้คนไทยใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยวันละ 8 ใบ/คน/วัน รวมประมาณ 195,640 ใบ/วัน (8x365x67 ล้านคน) ถือว่ามีปริมาณที่สูงมาก แต่ที่น่าห่วงคือขยะพวกนี้ประมาณ 40-43% ไม่ได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี จึงเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งบนบกและทะเลอย่างที่เห็น ดังนั้น การลดปริมาณขยะพลาสติกจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำต่อไป

ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า การรณรงค์ลดใช้พลาสติกเป็นรูปแบบหนึ่งที่ประเทศไทยได้เริ่มมานาน เหมือนเช่นหลายประเทศ โดยสามารถลดได้ประมาณ 7-8% เป็นอย่างมาก แค่นี้ไม่พอต้องใช้มาตรการอื่นร่วมด้วย เช่น ใช้การบังคับตั้งแต่ไม่ให้ขาย ไม่ให้แจก เช่น ในอุทยานแห่งชาติ และสถานที่ราชการบางแห่ง เป็นต้น อีกวิธีหนึ่งใช้วิธีการขายถุง ใครอยากได้ก็ต้องซื้อ ไม่มี ให้ฟรี 

“หลายประเทศที่ขายถุง เช่น ประเทศอังกฤษ ก่อนขายเขารณรงค์มาก่อน จีนก็ขาย และอีกหลายประเทศทำแบบนี้ บางที่ไม่ให้ขายและไม่มีขายด้วย ส่วนในประเทศไทยตอนนี้มีทำในที่บางแห่ง เช่น มหาวิทยาลัย อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทำสามารถลดได้ตั้ง 90% มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ทำอยู่ มีหลายหน่วยงานที่ทำแต่ยังไม่แพร่หลาย ขณะที่ภาครัฐก็กำลังคุยกับกรรมการปฏิรูปประเทศขอให้ทำเรื่องพวกนี้ในอาคารหรือศูนย์ราชการด้วยเชื่อว่าต่อไปจะได้เห็นมากขึ้น”

หน่วยงานรัฐต้องนำ-ทำเป็นตัวอย่าง

ภาคราชการถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำลดใช้พลาสติก เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ล่าสุด กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้จับมือกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. ประกาศเป็นตลาดสดนำร่องลดพลาสติกและเลิกใช้โฟม
โดยได้จัดกิจกรรมคิกออฟเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา

กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. เปิดเผยว่า อ.ต.ก.ตั้งเป้าให้พื้นที่ตลาดเลิกใช้บรรจุภัณฑ์โฟม 100% ภายในวันที่ 1 ม.ค. 2562 ขณะเดียวกันถุงพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังได้พัฒนาร่วมกับเอสซีจี ในการลดเนื้อพลาสติกลง 20% โดยใช้วัสดุผสมทดแทน และเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาจนลดเนื้อพลาสติกลงได้ถึง 100% ภายในช่วงเวลาเดียวกัน

รักษ์โลก เลิกพลาสติก

ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นำโดย รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศเจตนารมณ์ปลอดขยะพลาสติกและโฟมภายในอาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2561 เพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของกรม ตลอดจนผู้ที่อยู่ภายในอาคาร เกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติก และเพื่อให้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมตลอดจนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะจากถุงพลาสติกและโฟม

ในการประกาศเจตนารมณ์ห้ามนำถุงพลาสติกและโฟมเข้ามาในอาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีรายละเอียดที่น่าสนใจที่หน่วยงานอื่นหรือเอกชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหน่วยงานของตนได้  

1.บุคลากรกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกคน ห้ามนำถุงพลาสติกหูหิ้วและโฟม เข้ามายังอาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2561 เป็นต้นไป

2.ให้ทุกสำนัก ศูนย์ กอง กำหนดมาตรการ และมอบหมายให้บุคลากร ทำหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าถุงพลาสติกหูหิ้ว และโฟม หากมีบุคคลใดนำเข้ามาในสำนักงาน ให้กำหนดมาตรการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในปฏิบัติตามประกาศเจตนารมณ์เขตปลอดถุงพลาสติกและโฟม

3.ทุกสำนัก ศูนย์ กอง มีการสื่อสารนโยบาย มาตรการส่งเสริม การสร้างแรงจูงใจ ให้บุคลากรในสำนักงาน ปฏิบัติตามประกาศเจตนารมณ์เขตปลอดถุงพลาสติกและโฟม

4.กำหนดเป็นคะแนนตัวชี้วัดระดับบุคคล และระดับสำนัก ศูนย์ กอง ร่วมกับระดับความสำเร็จในการดำเนินโครงการ สำนักงานสีเขียว (Green Office)

5.ขอความร่วมมือให้ทุกคนร่วมเป็นอาสาสมัครรักษ์สิ่งแวดล้อม ในการให้คำแนะนำ ตักเตือนบุคลากรในสำนักงาน และบุคลากรภายนอกที่มาติดต่อราชการ ห้ามนำถุงพลาสติกและโฟมเข้ามาในอาคาร

ขณะที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ก็ได้กำหนดให้วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป สถาบันและโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งต้องยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยา พร้อมขอความร่วมมือประชาชนผู้รับบริการให้นำถุงผ้ามาใส่ยา เพื่อรณรงค์ให้มีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกต้อง ลดปัญหาภาวะโลกร้อน ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาให้แก่ผู้ป่วย ตลอดจนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม 

“ข้อมูลการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาของหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ปี 2560 พบมีจำนวน 9,010,164 ใบ หากมีการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงจะช่วยลดปัญหาขยะและประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก ที่ผ่านมาสถาบันและโรงพยาบาลของกรมการแพทย์จำนวน 30 แห่ง ได้เริ่มดำเนินการยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกใส่ยาไปแล้วจำนวน 18 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นต้น และอยู่ระหว่างดำเนินการ 12 แห่ง โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งให้เภสัชกรและพยาบาลเป็นผู้ให้ข้อมูล ป้ายประกาศหน้าห้องจ่ายยา นอกจากนี้ยังแจกถุงผ้าให้ผู้ป่วยและแนะนำให้นำถุงผ้ามาใส่ยาเมื่อมาพบแพทย์ทุกครั้ง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว 

รักษ์โลก เลิกพลาสติก

ลดซิงเกิ้ลยูสพลาสติกภาคประชาชน

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วการลดซิงเกิ้ลยูสพลาสติกไม่ได้ยาก แต่คนไทยเราติดในเรื่องความสะดวกสบายเป็นนิสัยมากกว่า ถ้าตั้งใจจริงก็ทำได้ ตัวเลขถุงที่คนใช้ 8 ใบ/วัน เราสามารถลดได้ 4 ใบ/วันถือว่าเก่งแล้ว อันไหนทำไม่ได้ เช่น ซื้อข้าวซื้อแกง ก็ว่ากันไป ส่วนอะไรที่ทำได้ก็ทำ หรือปฏิเสธไม่เอาถุงก็ได้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ

“ผมไปเจอผู้ชายคนหนึ่งยืนที่เคาน์เตอร์ร้านสะดวกซื้อแถวบ้าน เขายืนอยู่ข้างหน้ากำลังจะจ่ายเงิน เมื่อพนักงานเตรียมคลี่ถุงพี่เขาบอกว่าไม่ต้อง ก่อนดึงถุงพลาสติกยับยู่ยี่ออกมาจากกระเป๋ากางเกงแล้วหยิบของใส่จนหมด พี่เขาอาจไม่มีถุงผ้าอาจไม่ได้เอามา แต่สิ่งที่พี่เขาทำคือทำให้ซิงเกิ้ลยูสพลาสติกกลายเป็นดับเบิ้ลยูส (Double use) คือมีการใช้ซ้ำ เขาลดการใช้ถุงพลาสติกไปได้อีกใบ

ผมเข้าใจเลยว่าไม่ว่าจะเป็นถุงผ้าหรืออะไรก็ไม่สำคัญเท่าใจ หากรักจะทำอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ไม่ทราบว่าภาพนี้มีผลต่อคุณแค่ไหน แต่สำหรับผมมีความหมายมาก จริงแล้วถ้าพูดถึงถุงพลาสติกถ้าเอาไปใส่ของเซเว่นใช้ได้เป็น 10 รอบนะ อย่างนี้จาก
ซิงเกิ้ลยูสก็ไม่เป็นซิงเกิ้ลยูส วิธีนี้น่าจะเหมาะกับนิสัยคนไทยมากกว่าพกถุงผ้า สำหรับผมเวลาไปไหนจะใช้เป้ ในเป้จะมีแก้ว หลอดดูด และถุงผ้าตลอดเวลา”

ด้าน ทอฟฟี่-ศิวดล จันทนเสวี หัวหน้าวงสามบาทห้าสิบ (3.50 บาท) นักแสดงในสังกัดเวิร์คพอยท์ เป็นคนหนึ่งที่นำแก้วน้ำของตัวเองติดตัวไปทำงานทุกครั้ง ได้เล่าไอเดียรักษ์โลกให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นมาจาก เวลาไปทำงานในกองหรือสตูดิโออยากมีแก้วของตัวเองที่ไม่ปนกับของคนอื่น เลยซื้อแก้วเก็บความเย็นเยติ (YETI) มาใช้ได้ประมาณ 1 ปีกว่าๆ แล้ว

“ผมเป็นคนติดกาแฟ วันหนึ่งต้องกินอย่างน้อย 2 แก้ว เช้า 1 แก้ว บ่าย 1 แก้ว เวลาไปทำงานพกแก้วไปด้วย ร้านประจำผมคืออเมซอน ปั๊ม ปตท. หน้าเวิร์คพอยท์ ไปถึงร้านพนักงานจะรู้เลยและแก้วผมจะติดโลโก้วง 3.50 บาท ตั้งในกองถ่ายหรือสตูดิโอคนจะรู้ว่าเป็นแก้วของทอฟฟี่ เพราะแตกต่างจากของคนอื่น คือในกองจะมีกระปุกน้ำของกองที่เขียนชื่อแต่ละคนไว้ ซึ่งก็มีแก้วพลาสติกบ้าง แต่ของผมแตกต่างจากคนอื่น

ตอนแรกที่ใช้ไม่ได้คิดในเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่อยากมีประจำตัว แต่วันหนึ่งได้ไปถ่ายเอ็มวีที่โรงงานพลาสติกแห่งหนึ่ง เห็นกระบวนการผลิตพลาสติกที่ค่อนข้างซับซ้อน อย่างพลาสติกรีไซเคิลกว่าจะเอาพลาสติกเก่าฟอกใหม่ ทำเม็ดพลาสติก ฉีดขึ้นรูปใหม่ยากมาก ถ้ามองถึงการย่อยสลายลืมไปได้เลย นานมากเลยแหละ ผมเลยฉุกคิด ถ้าซื้อมากินแก้วหนึ่ง 50-60 บาท แล้วทิ้งกว่าที่มันจะสลายต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี ตั้งแต่นั้นเลยคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เวลาซื้อของที่เซเว่นถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ไม่เอาถุง ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ซื้อเยอะอยู่แล้ว”

รักษ์โลก เลิกพลาสติก

นอกจากซื้อแก้วใช้เองแล้ว ทอฟฟี่ยังซื้อให้เพื่อนสมาชิกในวงทุกคนด้วย พร้อมกับฝากผู้อ่านว่า สิ่งที่เขาทำนี้สามารถเป็นไอเดียในการซื้อของขวัญให้กับเพื่อนหรือคนที่ตัวเองรักได้ แต่สิ่งสำคัญเวลามอบให้อย่าลืมบอกจุดประสงค์ให้เพื่อนรู้ ว่าทำไมถึงต้องให้ของแบบนี้และเพื่ออะไร ส่วนเพื่อนจะปฏิบัติตามหรือไม่เป็นเรื่องของแต่ละคน สำหรับเพื่อนในวงของเขามีหลายคนที่ใช้แก้วที่เขาซื้อให้ทุกวัน

ยังมีหลายวิธีในการลดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เช่น การพกถุงผ้า อย่าลืมนำติดตัวไปซื้อของ ลองไม่รับถุงพลาสติกจากร้านค้าให้เป็นนิสัย แล้วคุณจะตกใจเลยว่าเราลดการใช้พลาสติกไปได้มากขนาดไหน หรือไม่ก็พกภาชนะสำหรับใส่อาหารเมื่อไปที่ร้านอาหารและสั่งอาหารกลับบ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ภาวชนะที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างเช่น ถุงพลาสติก หรือกล่องโฟม หรือพกกระติกน้ำส่วนตัวแทนการใช้แก้วพลาสติก หลอด ขวดพลาสติก และหลอดดูดน้ำ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของขยะที่ถูกทิ้งบนชายหาด หากพกกระติกน้ำไปนอกจากจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากการที่ต้องซื้อน้ำบรรจุขวดแล้ว ยังช่วยไม่ให้ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นบนโลกใบนี้ 

ผลิตภัณฑ์ทดแทน

ดร.ธรณ์ กล่าวว่า นอกจากการลดใช้พลาสติกแล้วต้องหาผลิตภัณฑ์ทดแทนด้วย อย่างประเทศฟิลิปปินส์มีความพยายามจะเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษในเซเว่น สำหรับประเทศไทยเราจริงๆ แล้วน่าจะผลิตไบโอพลาสติกได้นานแล้ว (พลาสติกย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์และแบคทีเรียตามธรรมชาติ ผลิตจากวัตถุดิบในธรรมชาติ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง โปรตีนจากถั่ว ข้าวโพด เป็นต้น) แต่ปัญหาคือผลิตออกมาแล้วราคาแพงกว่าพลาสติกปกติอยู่มากเลยขายไม่ได้

 “ถ้าโมเดลเราใช้ร่วมกัน อาจจะขายถุงพลาสติกในบางพื้นที่ ผมไม่ได้พูดถึงพลาสติกในตลาด แต่พูดถึงห้างใหญ่ สถานที่ราชการบางแห่ง จากนั้นเอาเงินที่ได้จากการขายถุงมาสนับสนุนการผลิตภัณฑ์ทดแทนประเภทไบโอพลาสติกหรืออื่นๆ เพื่อทำให้ราคาถูกลง ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะได้ราคาที่ใกล้ขึ้นมา พอใกล้กันแล้วก็ลงไปที่แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อต่างๆ เช่น เซเว่น แฟมิลี่มาร์ท ท้ายสุดไปถึงการใช้ในตลาด สามารถใช้วัตถุทดแทนได้ในที่สุด เพราะราคาใกล้กันมากแล้วใน 5-10 ข้างปีหน้า”

รักษ์โลก เลิกพลาสติก ทุกคนสามารถเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ ได้ตามที่กล่าวมา หากหลายคนช่วยกันทำก็จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกในโลกของเราลงได้ งั้นเรามาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เลยตั้งแต่วันนี้