posttoday

พลอย มาลัยวงศ์ ดำดิ่งลึกสุดใจ เปิดโลกฟรีไดวิ่ง

10 มิถุนายน 2561

กีฬาท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ Free Diving ดำน้ำโดยการกลั้นหายใจ

โดย ชุติมา สุวรรณเพิ่ม ภาพไม่เครดิต

กีฬาท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ Free Diving ดำน้ำโดยการกลั้นหายใจ และสามารถดำลงไปในน้ำได้ลึก นานและไกล สนามแข่งขันล่าสุดของรายการแข่งฟรีไดวิ่ง ที่ประเทศสิงคโปร์ นักกีฬาหญิงไทยสาวสวยลูกครึ่งไทย-อังกฤษ วัย 26 ปีคนนี้ พลอย มาลัยวงศ์ ครูสอนฟรีไดวิ่ง อายุน้อยที่สุดในประเทศไทยในตอนนี้ สามารถไปคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 และทำสถิติ National Record ของประเทศไทยได้ใหม่ จัดเป็นนักกีฬาฟรีไดวิ่งหนึ่งเดียวของไทยที่คว้าสถิติใหม่ระดับนานาชาติ

จากการแข่งขันในสระว่ายน้ำสู่มหาสมุทร พลอยมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับโลกแห่งการดำดิ่งน้ำลึก และในงาน Thailand Dive Expo 2018 เมื่อเร็วๆ นี้ นักกีฬาสาวสวยนักดำน้ำมากความสามารถ มาร่วมงานแชร์ประสบการณ์เล่าความรู้สึกในการแข่งขันฟรีไดวิ่งในต่างประเทศ กับการคว้าได้อันดับที่ 2 จากการแข่งขันที่สิงคโปร์และสร้างสถิติใหม่ของไทยครั้งนี้

ครูสอนดำน้ำลึกหญิงคนแรกของไทย

พลอย มาลัยวงศ์ ดำดิ่งลึกสุดใจ เปิดโลกฟรีไดวิ่ง

“โลกฟรีไดวิ่ง” ที่หลายคนมองว่าทั้งเสี่ยงและอันตราย เนื่องจากเป็นการดำน้ำโดยไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ แค่ใช้ร่างกายกับจิตใจเท่านั้น ซึ่งรูปแบบการดำน้ำดังกล่าวในต่างประเทศรู้จักแพร่หลายมานานแล้ว แต่ในไทยเพิ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

พลอย ตระเวนฝึกทริปดำน้ำทั่วโลก เช่น ฟิลิปปินส์ มัลดีฟส์ บาหลี เคยไปใช้ชีวิตอยู่ประเทศอียิปต์ที่เป็นเดสติเนชั่นนักดำน้ำจากทั่วโลก เมื่อกลับมาเมืองไทยสาวนักดำน้ำก็ขลุกตัวอยู่ทั้งที่อ่าวไทย อันดามัน สมฐานะหญิงไทยคนแรกที่มีดีกรีเป็นถึงครูสอนดำน้ำลึก แบบไม่พึ่งอุปกรณ์ช่วยเหลือใดๆ หรือ PADI Advanced Free Diver Instructor และไม่พลาดจัดคิวไปร่วมงานมหกรรมท่องเที่ยวกีฬากอล์ฟ ดำน้ำ Thailand Golf & Dive Expo ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“มีกลุ่มคนสนใจเข้ามาซักถามกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปีเลยค่ะ ควรเริ่มต้นที่คอร์สไหน? หรือดำน้ำหลายทริปแล้วพร้อมออกทะเลลึกหรือยัง? ส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นค่ะ กลุ่มคนอายุ 20 ปีขึ้นไปทั้งนั้น เป็นกลุ่มมือใหม่ หรือกลุ่มคนดำน้ำแบบสคูบ้า แล้วอยากลองการดำน้ำที่แตกต่าง เพิ่มความท้าทายยิ่งขึ้น

คำแนะนำของพลอย เรื่องแรกก็คือถ้าสนใจฟรีไดวิ่งควรศึกษาให้เข้าใจในเรื่องการลดปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ว่ามีอะไรบ้าง นอกจากการศึกษาในอินเทอร์เน็ตในยูทูบที่มีข้อมูลมากมายให้เรียนรู้กันแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ไปลองลงทะเลเล่นกันเอง กีฬาทุกชนิดมีความเสี่ยงนะคะ สิ่งสำคัญที่สุดก่อนจะลงทะเลก็คือต้องมาเรียนรู้กับครูให้เข้าใจถ่องแท้ค่ะ

กฎเหล็กคือห้ามลงทะเลไปคนเดียวเด็ดขาด แม้ว่าคุณจะเคยไปทริปดำน้ำมาหลายๆ ครั้งแล้วก็ตาม เพราะมีกรณีของครูซึ่งเป็นผู้คิดคอร์สการเรียน และเป็นแชมป์ระดับโลกของการแข่งขันกีฬาฟรีไดวิ่ง เธอเป็นนักกีฬาหญิงชาวรัสเซีย ไปดำคนเดียวและหายตัวไปเลย ซึ่งมาจากความประมาทและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทะเลคือสิ่งน่ากลัวนะคะ สำหรับพลอยแล้วทะเลไม่ใช่โลกที่น่ากลัวอะไรเลยค่ะ แต่เราต้องเรียนรู้เพื่อรู้จักทะเล หน้าพายุมีมรสุมเข้าเราก็ไม่ออกไปเท่านั้นเองค่ะ”

พลอย เล่าถึงกีฬาชนิดใหม่อย่างน่าสนใจ และย้อนไปจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่การเป็นนักกีฬาดำน้ำฟรีไดวิ่ง

“คุณพ่อ-ราชันย์ มาลัยวงศ์ เป็นครูสอนดำน้ำสคูบ้า ทำให้พลอยดำน้ำตั้งแต่ยังเล็ก อายุ 4 ขวบ คุณพ่อก็จับลงสระน้ำฝึกให้ดำน้ำกันแล้วค่ะ ดำน้ำได้ก่อนจะว่ายน้ำเป็นเสียอีก 8 ขวบ ติดพ่อตั้งแต่เด็กชอบไปออกทะเลกับคุณพ่อ พลอยมีคุณพ่อเป็นไอดอลในเรื่องพ่อใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่กับท้องทะเล พลอยจึงรู้สึกผูกพันกับทะเลมากอยากลงทะเลตลอดเวลา ยิ่งตอนที่ดูการ์ตูนเรื่องลิตเติลเมอร์เมด เด็กผู้หญิงฝันอยากจะเป็นนางเงือกแบบนางเอกในการ์ตูนกันทั้งนั้นนะคะ

พลอย มาลัยวงศ์ ดำดิ่งลึกสุดใจ เปิดโลกฟรีไดวิ่ง

การดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งแบบกลั้นหายใจ แบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น Static Apnea (ST A) แข่งการกลั้นหายใจให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นทำได้ โดยไม่เคลื่อนไหว เมื่อปีที่แล้วพลอยไปแข่งขันประเภทนี้ที่เมืองดาฮับ ประเทศอียิปต์ การแข่งขันที่ชื่อว่า Red Sea Cup Dahab เป็นการแข่งในทะเลแดงซึ่งจัดในบริเวณน้ำลึกที่สุดสำหรับการแข่งขันชนิดนี้คือร่วม 100 เมตร มีความท้าทายมาก นักกีฬาทั่วโลกมุ่งเป้ามาแข่งกันที่นี่ พลอยก็เป็นอีกคนที่มีความฝันกับการแข่งสนามนี้ เป็นเมืองที่มีนักแข่งมารวมตัวกันคึกคักมาก

หลายคนไม่รู้จักการแข่งขันชนิดนี้นะคะ ก็จะถามว่าสนุกตรงไหน ลงไปกลั้นหายใจใต้น้ำ นิ่งๆ เฉยๆ (หัวเราะ) ดูเป็นกีฬาที่น่าอึดอัดมากกว่า แต่เมื่อลงสนามเราจะได้เรียนรู้ที่จะรู้จักตัวเอง รู้ความสามารถของตัวเอง จุดอ่อนจุดแข็งของเราคืออะไร รู้กระบวนการคิดของตัวเองได้ละเอียดยิ่งขึ้น การกลั้นหายใจไปเรื่อยๆ เราจะได้รู้ว่าร่างกายเราสามารถทำสิ่งยากๆ ได้มากกว่าที่เราคิดเลยค่ะ การแก้ปัญหาระหว่างกลั้นหายใจต้องใช้สมาธิสูงมากค่ะ ตอนฝึกช่วงหนึ่งไม่มีสมาธิ พลอยทำได้ 2-3 นาทีก็เลิก นั่นคือการยอมแพ้ตัวเอง คือการที่เราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้

ความสนุกท้าทายของกีฬาชนิดนี้ก็อยู่ตรงนี้ค่ะ คือการที่เราไม่ยอมแพ้กลางทางไปเสียก่อน ถ้าเรายอมแพ้ ชีวิตเราก็ไม่ได้พัฒนาร่างกายและสติของตัวเองได้สักทีนะคะ”

อุปสรรคการแข่งขันในทะเลแดง ประเทศอียิปต์ พลอยบอกว่าเป็นเรื่องของการทำสมาธิล้วนๆ เพราะรอบข้างอึกทึก ความที่ดาฮับเป็นเมืองท่องเที่ยว เต็มไปด้วยร้านรวงริมชายหาดมากมาย ขณะที่นักกีฬาต้องแข่งขันกันท่ามกลางสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น

“เดินลงไปในทะเล คนก็เยอะ ร้านอาหารเสียงก็ดังมากทะลุลงไปใต้ทะเลเลย พลอยกลั้นหายใจได้ 5 นาที 19 วินาที ในการแข่งขันคราวนั้น ซึ่งอย่างที่บอกค่ะว่าการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ เป็นเรื่องใหม่ ไม่มีทฤษฎีใดมารองรับว่ามนุษย์เราจะทำสถิติดีที่สุดได้เท่าไร สถิติฟรีไดวิ่งในทำเนียบโลกแชมป์โลกผู้หญิง คนล่าสุดชาวต่างประเทศ ทำได้ 9 นาที

สถิติการดำน้ำความลึกมีข้อมูลทางวิทยาศาสตรเคยบันทึกไว้ว่ามนุษย์เราสามารถทำได้เพียง 30 เมตร เพราะถ้าดำลึกกว่านี้ปอดจะแฟบ แต่ล่าสุดแชมป์โลกทำได้ถึง 129 เมตร ขณะที่ส่วนสถิติของคนไทยที่ทำได้ขณะนี้อยู่ที่ 75 เมตร และสำหรับตัวพลอยขณะนี้กำลังฝึก
ทำสถิติความลึกอยู่ที่ประมาณ 40 เมตร แต่ยังไม่เคยลงสนามแข่งขันนะคะกำลังอยู่ในช่วงฝึกฝน อาทิตย์ละ 4 วัน พยายามทำสถิติให้ดีที่สุด พลอยเคยฝึกกับครู Alexey Molchanov ที่เป็นผู้ริเริ่มการแข่งขันประเภทนี้ ที่ประเทศสเปน

สำหรับการแข่งที่สิงคโปร์ เป็นการแข่งขันอีกในประเภท Dynamic Apnea without Fins (DNF) เป็นประเภทที่นักฟรีไดวิ่ง ต้องว่ายทางยาวในสระว่ายน้ำค่ะ พลอยทำได้ระยะทางไกลที่สุด โดยไม่ใช้ฟินหรือตีนกบ พลอย กลั้นหายใจทำระยะทางใต้น้ำทำสถิติได้ 110 เมตรค่ะ”

พลอย บอกว่า หลายคนคิดว่าดำน้ำแบบนี้ดูน่าอันตราย ซึ่งโดยหลักการดำน้ำทุกประเภทล้วนมีความเสี่ยงทั้งนั้น นักดำน้ำไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน จึงต้องมีวินัยเคร่งครัดและต้องไม่ประมาท โดยห้ามลืมกฎความปลอดภัยอย่างเด็ดขาด

“หนึ่งลมหายใจ” สำรวจโลกใต้ท้องทะเลลึก

นอกจากนี้ มีการแข่งขันอีกหลายประเภท เช่น ประเภท Free Immersion Apnea (FIM) ที่เป็นการฟรีไดวิ่ง ผู้ดำน้ำต้องดึงเชือกลงไปในระดับความลึกที่ต้องการและดึงกลับขึ้นได้ ประเภท Constant Weight Apnea (CWA) ฟรีไดวิ่งแบบดั้งเดิมที่นักฟรีไดวิ่งต้องไต่ลงไปในระดับความลึกให้มากที่สุด การแข่งขัน Variable Weight Apnea (VWT) ฟรีไดวิ่งประเภทนี้ ผู้ดำน้ำจะใช้เครื่องออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ดำลงไปตามเชือกในระดับความลึกที่ต้องการใต้ผิวน้ำด้วยความเร็วสูง และ No-Limits Apnea (NLT) การแข่งขันดำลงไปในระดับความลึกที่สุด

การฟรีไดวิ่งทุกประเภท นักฟรีไดวิ่งต้องมีสภาพจิตใจ ร่างกาย และเทคนิคที่ดีมาก

พลอย มาลัยวงศ์ ดำดิ่งลึกสุดใจ เปิดโลกฟรีไดวิ่ง

“พลอยได้เรียนกับครูชาวฝรั่งเศส เอเดียน ดิโอเลนคอร์ท และเรียนกับครูชาวออสเตรเลีย อดัม สเติร์น ซึ่งเป็นนักฟรีไดวิ่งอันดับ 5 ของโลก ครูคนนี้เคยเป็นเจ้าของสถิติระดับนานาชาติถึง 4 สมัย ตอนแรกได้ฝึกก็กลัวค่ะ ก็มีเครียดเหมือนกัน ครูมีวิธีการสอนบอกเสมอๆ ว่าความเครียดเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดของการฟรีไดวิ่ง เพราะคนเรายิ่งเครียด ก็ยิ่งใช้ออกซิเจนมาก ดังนั้นก่อนลงไปใต้น้ำจิตใจต้องผ่อนคลายที่สุด เมื่อผ่อนคลายเราก็ได้สมาธิ ได้โลกใต้น้ำที่สงบ

เนื่องจากการฟรีไดวิ่งเป็นการกลั้นหายใจเพื่อลงไปใต้น้ำระดับความลึกมากๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อร่างกายผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรงได้ ส่วนการฝึกนั้นอย่างแรกคือฝึกวิธีหายใจ ต้องหายใจให้ได้อย่างถูกต้อง หายใจเอาอากาศจากกระบังลมขึ้นมาเก็บไว้ภายในปอด การดำน้ำแบบฟรีไดวิ่งทุกอย่างจะต้องฝึกฝนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพราะแต่ละสเต็ปมีเหตุมีผลรองรับในการฝึก จะข้ามขั้นตอน หรือกระโดดลัดไม่ได้เลยค่ะ เพราะเมื่อลงใต้น้ำไปเรื่อยๆ ยิ่งลึกลงไปเรื่อยๆ ก็จะมีผลต่อร่างกายมากขึ้นโดยอัตโนมัติ

เทคนิคแรกที่ครูสอน ได้ลงฟรีไดวิ่งใต้ทะเลครั้งแรก โดยเริ่มต้นที่ความลึก 10 เมตร และหลังจากที่ไต่ลงไปถึงระดับแล้ว จึงจะได้มีโอกาสหยุดอยู่ใต้น้ำทะเลนิ่งๆ ได้มองไปรอบๆ ตัว บรรยากาศใต้ทะเลไม่มีเสียงอะไรเลย มองไปรอบตัวมีแต่สีฟ้าเข้มของน้ำทะเล และปลาที่กำลังว่ายอยู่ รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเลยค่ะ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงหลงใหลการดำน้ำแบบนี้มาก ซึ่งนี่คือความแตกต่างของการดำน้ำแบบทั่วไปที่มีถังอยู่บนหลังที่จะได้ยินเสียงออกซิเจนสั่นตึ้กๆ แต่กับการดำน้ำฟรีไดวิ่ง คือ ความเงียบและสงบมาก แล้วคือความสงบสุขที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเราเลยค่ะ”

ในกลุ่มนักดำน้ำประเภทนี้ การเคลื่อนไหวอย่างอ่อนไหวโดยไม่เสียพลังงาน ทำให้นักดำน้ำฟรีไดวิ่งสามารถอยู่ใต้น้ำได้หลายนาที และสามารถสัมผัสและรู้สึกท้องทะเลเช่นเดียวสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ใต้ท้องทะเล เนื่องจากความอิสระจากอุปกรณ์ที่เทอะทะ จึงทำให้นักดำน้ำฟรีไดวิ่งสามารถแอบขึ้นไปว่ายน้ำอยู่บนหลังเต่าทะเล หรือแม้แต่ลื่นไหลลงไปสู่พื้นทะเลเพื่อพบกับปลากระเบน พลอย เล่าถึงโลกใต้ทะเลให้ฟังอย่างมีความสุข

“สิ่งแรกที่คนมาเรียนกับพลอยจะต้องมีคำถามแรก ก็คือไม่กลัวฉลามหรือ? (หัวเราะ) แต่สิ่งที่นักดำน้ำทุกคนควรมีคือเอาชนะความกลัวค่ะ และคือความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับกีฬาชนิดนี้ ถ้าเอาชนะความกลัวไม่ได้ ใจเครียด ร่างกายไม่รีแลกซ์ คุณก็ไม่สามารถกลั้นหายใจได้เลย แต่พลอยจะบอกนะคะว่าใต้ทะเลลึกไม่มีอะไรน่ากลัวเลย

พลอย มาลัยวงศ์ ดำดิ่งลึกสุดใจ เปิดโลกฟรีไดวิ่ง

ฉลามกลัวคนค่ะ สัตว์ใต้ทะเลทุกชนิดกลัวคนมากมีแต่พวกเขาจะว่ายหนีเรา นอกจากเขารู้สึกว่าถูกรุกรานจึงจะจู่โจม พลอยดำน้ำมากว่าครึ่งชีวิตแล้วนะคะไม่เคยโดนสัตว์ใต้ทะเลทำร้ายเลยค่ะ

ส่วนความลึกลับใต้ทะเล พลอยกลับคิดว่านี่คือเสน่ห์ที่มนุษย์เราไม่ได้เรียนรู้สิ่งมีชีวิตมากมายอีกหลากหลายสปีชีส์ ทุกครั้งที่ลงทะเลก็จะได้เจอตัวอะไรแปลกๆ ทุกครั้งเลยนะคะ แล้วก็ไม่รู้ไม่มีอะไรแน่นอนว่าลงไปแล้ว ตรงนี้เคยเจอตัวนี้ ลงไปอีกครั้งที่เดิม แล้วจะได้เจอกันอีกไหม หรือได้เจอตัวอะไร

เพื่อนๆ ก็ชอบถามค่ะว่าไป จ.ชุมพร ปีละ 10 กว่าครั้งไม่เบื่อหรือ? ไม่เบื่อเลยค่ะ เพราะไปแต่ละครั้งก็เจอประสบการณ์การดำน้ำที่มีเรื่องอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ให้เราดูได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งไดรฟ์เช้าและไดรฟ์บ่าย เวลาต่างกัน 3 ชั่วโมง บรรยากาศก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้วค่ะ กระแสน้ำเปลี่ยนอุณหภูมิน้ำเปลี่ยนทำให้มีปลาหน้าตาแปลกๆ ใหม่ๆ ว่ายน้ำมาให้เราเห็นอยู่เสมอ ก็แน่นอนค่ะว่าพระเอกนางเอกใต้ทะเลลึกก็ต้องเป็นฉลาม

พลอยโชคดีมากได้เจอฉลามหัวฆ้อนที่ทะเลแดง ประเทศอียิปต์ ลำตัวยาวกว่า 3 เมตร ฉลามเสือตัวใหญ่มากกว่า 5 เมตรเลยค่ะ (บอกพร้อมรอยยิ้ม) ไม่ต้องไปดำไล่หาดูนะคะ ฤดูที่ถูกต้อง พื้นที่ที่ถูกต้อง เขาก็จะมาให้เราเห็นเองค่ะ ทะเลบ้านเราก็จะได้เห็นฉลามวาฬ นี่คือความสุขของการไปอยู่ใต้น้ำค่ะ อีกเหตุผลคือมันทำให้เราเป็นเด็กเบบี๋ที่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ตลอดเวลา แม้พลอยเป็นครูสอนแต่เมื่อไปดำทะเลที่ใหม่ พลอยก็ต้องเรียนรู้ใหม่ กลายเป็นเด็กนักเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่ง ไม่มีวันเบื่อหน่ายกับการเรียนรู้เลยค่ะ”

เมอร์เมดคนสวยบอกทิ้งท้ายดำน้ำเป็นแพสชั่นของชีวิต ถึงไม่มีคุณพ่อเป็นนักดำน้ำ สักวันชีวิตก็ต้องเข้ามาในโลกใบนี้ อาจจะไม่ได้เข้ามาตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ต้องอยู่ในโลกทะเลแน่นอน และในปีหน้า Thailand Dive Expo 2018 ใครที่อยากเจอฝากเนื้อฝากตัวกับ
“ครูพลอย” ก็มาเจอกันโลกใต้ทะเลรอทุกคนเปิดประสบการณ์ใหม่อยู่