posttoday

นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์ป่า

02 มิถุนายน 2561

หมอล็อต หรือ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

เรื่อง : ภาดนุ

หมอล็อต หรือ นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นคนหนุ่มผู้มีอุดมการณ์อุทิศตนเพื่อสัตว์ป่าและผืนป่าในประเทศไทยอย่างจริงจังมานานหลายปี

ล่าสุด องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐ หรือ USAID (U.S. Agency for International Development) ได้มอบตำแหน่ง Wildlife Champion ให้กับหมอล็อต ในฐานะ “ทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก” อีกด้วย

“บทบาทและหน้าที่หลักของผมก็คือ การเป็นข้าราชการประจำกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชฯ รวมทั้งเป็นคณะกรรมการ เป็นที่ปรึกษา เป็นอาจารย์และวิทยากรพิเศษ ตามมหาวิทยาลัย หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ซึ่งเป้าหมายสำคัญของผมก็คือ การใช้ไมโครโฟนและปากกาเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าเอาไว้ รูปแบบในการทำงานของผม นอกจากจะมีการรักษาสัตว์แล้ว ยังต้องมีการจัดการที่ดี ปัญหาจะได้ไม่เกิด ผมจึงเน้นเรื่องการป้องกันเป็นอันดับแรกเลย

ที่ผ่านมา งานของผมส่วนมากจะเน้นการรักษาสัตว์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บจากน้ำมือมนุษย์ เช่น ถูกยิง หรือติดกับดัก แต่หากสัตว์ป่าเกิดบาดเจ็บโดยธรรมชาติ เช่น การดำรงชีวิต หรือถูกสัตว์ผู้ล่าทำร้าย เราก็จะไม่เข้าไปยุ่ง คือต้องปล่อยให้เป็นไปตามกฎของธรรมชาติ”

หมอล็อตบอกว่า ที่ผ่านมามักมีข่าวว่าเกิดปัญหาระหว่างคนกับช้างป่าให้เห็นอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นช้างทำร้ายคน คนใช้รั้วไฟฟ้าทำร้ายช้าง หรือช้างทำลายพืชไร่ พูดง่ายๆ ว่าคนกับช้างน่าจะอยู่ร่วมพื้นที่กันได้ลำบาก

นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์ป่า

“ปัญหาเหล่านี้จะไม่มีทางหมดไป ถ้าคนไม่รู้จักปรับตัวให้เกิดการอยู่ร่วมกันแบบสันติ หรืออยู่แบบไม่ให้เกิดผลกระทบระหว่างกัน เนื่องจากปัจจุบันนี้มันเลยจุดที่จะต้องมานั่งถกเถียงกันว่า ใครบุกรุกช้าง ช้างบุกรุกใคร ใครมาก่อน ใครมาหลัง แล้วละครับ

ณ ปัจจุบันนี้ ในสถานการณ์แบบนี้ คนก็ต้องมาร่วมกันคิดว่า จะทำยังไงถึงจะอยู่ร่วมกันได้ หรือปรับตัวให้อยู่รอดไปด้วยกันในสภาพแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคนต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ได้ โดยอยู่บนพื้นฐานของงานวิชาการ การศึกษาวิจัย หรืออิงข้อมูลในพื้นที่

รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ต้องลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบโดยใช้จิตวิทยาชุมชนควบคู่กันไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่น สร้างความปลอดภัย และพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้อย่างจริงจัง เมื่อชาวบ้านเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาก็จะมาเป็นแนวร่วมกับเรา แต่เราก็ต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับพวกเขาด้วย”

หมอล็อตเสริมว่า ในฐานะที่เขาเป็นที่รู้จักของผู้คนในการช่วยเหลือสัตว์ป่า เขาจึงนำนโยบายของอธิบดีกรมอุทยานฯ และนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ มาปฏิบัติและใช้ในพื้นที่ให้ได้ผลที่สุด ซึ่งหากเปลี่ยนทัศนคติของคนที่มีต่อช้างป่าได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้เปลาะใหญ่ทีเดียว

นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์ป่า

“ขอยกตัวอย่างโครงการ ‘รั้วรังผึ้ง’ ซึ่งเป็นรูปแบบในการป้องกันไม่ให้ช้างลงมาทำลายพืชไร่หรือลงมาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน โดยที่ผ่านมาชาวบ้านก็มีวิธีคิดหลายอย่าง ทั้งการนำแผ่นซีดีมาติดไว้รอบรั้ว หรือนำกระป๋องมาแขวนเป็นรั้วบ้าง เมื่อช้างมาจะได้สะท้อนแสงเข้าตาหรือเกิดเสียงดัง ช้างก็จะรำคาญและหนีไป ซึ่งผมมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่น่ารักของชาวบ้าน เพราะเขาไม่อยากทำร้ายช้าง

แต่ชาวบ้านที่พอมีเงินหน่อยก็จะติดรั้วไฟฟ้าเพื่อป้องกันช้าง ซึ่งรั้วไฟฟ้าเหล่านี้จะใช้กำลังไฟฟ้าจากหม้อแปลงสำหรับใช้กับรั้วปศุสัตว์ แต่หลายกรณีช้างนั้นสามารถเรียนรู้ได้ บางครั้งมันจึงนำต้นไม้หรือท่อนซุงมาวางทับรั้วแล้วเดินข้ามไป หรือในบางกรณีก็มีช้างเสียชีวิตจากรั้วไฟฟ้าก็ค่อนข้างบ่อย ถึงแม้กระแสไฟฟ้าที่ใช้จะเป็นไฟที่ใช้จากหม้อแปลงปศุสัตว์ก็จริง กับสัตว์บางชนิดอย่างวัวควาย เมื่อตัวมันมาโดนกระแสไฟมันก็จะสะดุ้งและผละออกไป แต่ในกรณีช้างนั้นจะใช้งวงซึ่งเปรียบเสมือนมือกำลวดไฟฟ้า นี่จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ช้างตาย”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างรั้วรังผึ้งขึ้นเพื่อป้องกันช้างป่า หมอล็อต บอกถึงจุดนี้ว่า

“รั้วรังผึ้งนี้เป็นผลงานที่ทีมวิจัยสัตว์ป่าของ จ.เลย ได้นำมาบุกเบิกและใช้ในพื้นที่ต่างๆ โดยเป็นกล่องเลี้ยงผึ้งที่ถูกวางเรียงตามแนวรั้ว เมื่อผึ้งกระพือปีกพร้อมกันก็จะปล่อยคลื่นความถี่ต่ำๆ ที่สามารถรบกวนโสตประสาทของช้างได้ ทำให้ช้างไม่เข้ามาใกล้ จึงถือเป็นวิธีป้องกันช้างที่ได้ผล แถมยังก่อประโยชน์ให้เกษตรกรที่นำน้ำผึ้งไปขายอีกด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีการใช้เงินลงทุนเช่นกัน ผมจึงอยากให้เอกชนเข้ามาช่วยสนับสนุนเงินให้ชาวบ้านทำรั้วรังผึ้งกันเยอะๆ เพราะนอกจากจะช่วยอนุรักษ์ช้างแล้ว ยังทำให้ชาวบ้านมีความสุขด้วย

สำหรับกิจกรรมในการสร้างความสมดุลให้ธรรมชาติที่ทำร่วมกับกลุ่มประชาชน กลุ่มจิตอาสา และผู้พิทักษ์ป่าทั่วไทย ในเวลานี้จะเห็นว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ หากจะทำให้เกิดประสิทธิภาพ หรือทำให้ได้ผลแบบก้าวกระโดด ก็ต้องอาศัยแนวร่วมจากทุกภาคส่วน ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ปรากฏการณ์โลกร้อน หรือการเกิดไฟป่า สิ่งเหล่านี้เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น เมื่อทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสีย พวกเขาก็มีแนวความคิดที่จะเข้าร่วมช่วยกันปกป้องและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติกันมากขึ้น

ผมคิดว่าคนเหล่านี้ ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีมาก แต่บางครั้งความคิดของพวกเขาก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อธรรมชาติทั้งหมด บางอย่างอาจจะผิดเพี้ยนและอาจก่อผลกระทบได้ เราจึงต้องลงไปให้ความรู้ ปลุกจิตสำนึกในกลุ่มคนที่เป็นเครือข่าย หรือผู้ที่มีส่วนร่วมให้มากขึ้น โดยทำให้พวกเขาเห็นข้อเท็จจริงและเห็นผลกระทบที่เลวร้ายหรือผลพวงที่เกิดขึ้นกับสัตว์ป่า

นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์ป่า

ดังนั้น กลยุทธ์ที่สำคัญนอกจากการให้ข้อมูลความรู้แล้ว เรายังต้องใช้กลยุทธ์ที่นำพวกเขามาลงมือปฏิบัติจริงในพื้นที่ด้วย เมื่อรู้แล้วว่าความจริงคืออะไร พวกเขาก็จะกลั่นกรองความคิด และหาแนวทางในการปฏิบัติให้ดีที่สุดด้วยตัวเอง ถือเป็นการสร้างฮีโร่คนใหม่ๆ ในการช่วยสานต่อเครือข่ายเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ธัญญา กิตติธรรมคุณ เน้นยำอย่างมากในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน”

หมอล็อตเสริมว่า การแก้ไขปัญหาช้างป่าในปัจจุบันนี้ ท่านอธิบดีกรมอุทยานฯ ได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ นั่นคือ การทำแหล่งแปลงหญ้าในป่าลึกให้กระจายไปทั่วๆ การสำรวจแหล่งน้ำ แหล่งดินโป่ง และอื่นๆ ซึ่งเป็นการทำบ้านให้อุดมสมบูรณ์และน่าอยู่สำหรับช้างป่า ถ้าบ้านน่าอยู่ ช้างป่าก็จะไม่ออกมารบกวนพื้นที่อาศัยของคนแน่นอน

“โครงการปลูกพืชให้ช้างสร้างอาหารให้สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ ดำเนินงานภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาช้างป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือว่าเป็นโครงการที่ได้ผลมาก เพราะสามารถดึงช้างป่า กระทิง และสัตว์ป่าอื่นๆ ให้กลับคืนสู่ผืนป่าและออกลูกออกหลานมากมาย จึงถือเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เราจึงนำต้นแบบของโครงการนี้ไปใช้ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าทั่วประเทศ

อย่างที่บอก ว่าการทำบ้านให้น่าอยู่โดยการสร้างแหล่งน้ำ สร้างพืชอาหารให้หลากหลาย กระจายไปทั่วทั้งผืนป่า เป็นวิธีที่แก้ปัญหาช้างป่าบุกทำลายพื้นที่เกษตรกรรมของคนได้ดี ในขณะเดียวกันวิธีการที่จะป้องกันช้างป่าไม่ให้ออกมานอกพื้นที่ เราต้องเข้าใจว่าช้างบางตัวก็เรียนรู้ที่จะออกนอกเขตรอยต่อได้เช่นกัน

ดังนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะประธานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด จึงให้นโยบายมาดำเนินการในเรื่องการทำแนวกันช้างแบบผสมผสานรอบพื้นที่ป่าเพื่อไม่ให้ช้างป่าออกมา ซึ่งโครงการนี้ได้ทำต่อเนื่องมานับ 10 ปีแล้ว ผลพลอยได้ก็คือจะมีแนวป้องกันช้างที่ชัดเจน แล้วการบุกรุกของช้างก็จะไม่เกิดขึ้น

นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ผู้อุทิศตนเพื่อสัตว์ป่า

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางที่เจ้าหน้าที่สามารถลาดตระเวนได้ ในขณะเดียวกันตรงแนวกันช้างก็จะมีการขุดคูคลองเป็นระยะทางกว่า 500 กม.ตามรอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี สระแก้ว และชลบุรี ที่จะกลายเป็นแหล่งน้ำตลอดปีให้ช้างป่า โดยรอบๆ แนวคูคลองนี้ยังมีรั้วกันช้างและรั้วไผ่หนามเสริมไว้ป้องกันอีกด้วย”

ปัจจุบัน หมอล็อต แจกแจงว่า โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก กสทช.ในการติดตามโขลงช้างว่าอยู่จุดไหน ช้างออกมาจากแนวกั้นหรือไม่ โดยใช้เทคโนโลยีส่งสัญญาณดาวเทียมเข้ามาช่วย เจ้าหน้าที่จะได้สามารถป้องกันช้างฝ่าแนวกั้นออกมาได้ ชาวบ้านก็จะอุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างสบายใจ

“สำหรับปัญหาสัตว์ป่าเสียชีวิตบนท้องถนน เช่น ถนนเส้นที่ตัดผ่านอ่างลือในซึ่งพบว่า ในแต่ละปีมีสัตว์ป่าโดนรถชนตายปีละเป็นหมื่นตัว แม้จะมีการเปิด-ปิดถนนเป็นเวลา ก็ยังพบว่ามีสัตว์ป่าตายอีกหลายพันตัว สาเหตุอาจเพราะถนนสายนี้มีรถใหญ่วิ่งผ่านมากมาย และเครื่องยนต์รถอาจจะเกิดเสียงรบกวนจนทำให้ช้างป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น

ฉะนั้น พล.อ.ประวิตร จึงมีนโยบายอยากให้ปิดถนนเส้นนี้ไป เพื่อลดปัจจัยการรบกวนช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ เมื่อปิดถนนเส้นนี้แล้วก็จะมีการสร้างถนนทางอ้อมเส้นใหม่เพื่อไม่ให้รถยนต์ผ่านป่าโดยตรง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดอุบัติเหตุกับสัตว์ป่าแล้ว ยังเกิดอุบัติเหตุกับมนุษย์ด้วย ปีนึงเสียชีวิตกันหลายราย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายในการสร้างถนนทางอ้อมเพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นนั่นเอง

ผมขอทิ้งท้ายไว้ประโยคหนึ่งว่า “ธรรมชาติสามารถอยู่รอดได้ถ้าไม่มีมนุษย์” ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องแสดงให้เห็นว่า “ธรรมชาติจะไม่สามารถอยู่รอดได้ถ้าไม่มีมนุษย์” ด้วยเช่นกัน”

สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของหมอล็อตได้ที่ FB : ภัทรพล ล็อต มณีอ่อน