posttoday

ออกกำลังกาย ไล่ความดันโลหิตสูง

29 พฤษภาคม 2561

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคร้ายแรงที่คืบคลานมาเงียบๆ โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ

โดย กันย์ ภาพ pixabay

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคร้ายแรงที่คืบคลานมาเงียบๆ โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ถ้าเพียงทำสิ่งง่ายๆ เหล่านี้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงทางสุขภาพที่รุนแรงนั้นได้ ประเทศไทยมีประชากรผู้ใหญ่มากกว่า 22% ที่มีความดันโลหิตสูง ความเข้าใจจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในความเจ็บป่วยที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียชีวิตอันดับแรกๆ ของโลก แต่หลายๆ คนก็ยังไม่รู้ตัวว่าเรานั้นต่างอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของผู้ที่มีความดันโลหิตสูง

ดร.เดวิท วูด ประธานมูลนิธิหัวใจโลก ได้กล่าวแนะนำว่า ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสอบความดันโลหิต ซึ่งการตรวจนั้นรวดเร็ว ไม่เจ็บ และจะสามารถช่วยชีวิตของเราได้ “เพราะโรคความดันโลหิตนั้น สามารถรักษาและป้องกันได้ เพียงแค่เปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหาร ปรับเปลี่ยนกิจกรรมของเรา รวมถึงการเลิกทำสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพของเรา”

ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เช่น อายุ ความสมบูรณ์ เพศ ถิ่นที่อยู่ของเรา ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกมีประชากรผู้ใหญ่กว่า 1 ใน 4 ที่มีอาการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และมีการประเมินจาก The Lancet Medical Journal ว่าจะมีประชากรกว่า 1,500 ล้านคน ที่ได้จะได้รับผลกระทบจากโรคนี้ในปี 2568 และนี่คือวิธีง่ายๆ ในการลดความดันโลหิต

1.ทำร่างกายให้แอ็กทีฟสม่ำเสมอ เช่น ออกกำลังกายเบาๆ ครั้งละ 30 นาที 5 ครั้ง/สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน เต้น ว่ายน้ำ ทำงานบ้าน หรือเล่นกีฬา

2.ทานอาหารที่ดี ลดเกลือ ลดน้ำตาล ลดไขมัน และอาหารที่ผ่านการเปลี่ยนสภาพ พยายามทานผักและผลไม้ในทุกวัน ถ้าคุณชอบดื่มก็ให้พยายามลดจำนวนลง

3.งดการสูบบุหรี่ การเลิกบุหรี่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้หัวใจคุณแข็งแรงมากขึ้น

4.ควบคุมน้ำหนัก การมีน้ำหนักเกิน หรือการเป็นโรคอ้วน เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้คุณมีความดันโลหิตที่สูงขึ้น

หากไม่ใส่ใจในความดันโลหิต การเจ็บป่วยนั้นจะส่งผลต่อไป ไม่ใช่แค่กับตัวเรา ทั้งการต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ยารักษาที่ต้องใช้ การขาดงาน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

ในภูมิภาคเอเชียที่มีประชากรกว่าครึ่งโลกอาศัยอยู่ จำนวนประชากรที่ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงนั้นมีความหลากหลาย ตั้งแต่ประเทศที่มีผู้ป่วยที่สูงถึงกว่า 31% เช่น มองโกเลีย 27% ในเนปาล 25% ในอินเดีย 24% ในกัมพูชา และประเทศที่มีผู้ป่วยที่น้อยกว่า เช่น 11% ในเกาหลีใต้ 14% ในสิงคโปร์ 15% ในออสเตรเลีย และ 17% ในญี่ปุ่น

โดยในจีนมีประชากรมากกว่า 19% ที่ได้รับการตรวจพบว่ามีความดันโลหิตที่สูง ในอินโดนีเซียก็มีประชากรถึงเกือบ 24% ที่มีการตรวจพบอาการ ในเวียดนามก็มีมากกว่าถึง 23% ในฟิลิปปินส์ก็มีผู้ที่ได้รับการตรวจพบถึงกว่า 23% เช่นเดียวกันกับประเทศไทยที่มีผู้ที่มีอาการเกี่ยวกับความดันสูงถึงกว่า 22% โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐและแคนาดา มีผู้พบอาการเพียงแค่ 13% และ 15% ในอังกฤษ

การรับรู้และการเตรียมพร้อมเป็นกุญแจสำคัญในการเอาชนะโรคความดันโลหิตสูง การใช้ชีวิตที่มีสุขภาพที่ดี ออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ดี สามารถช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้น

ตัวเลขที่ควรรู้ สองวิธีในการวัดประเมินความดัน คือการวัดค่าความดันแบบซิสโทลิก (การวัดค่าสูงสุด) และการวัดค่าความดันแบบไดแอสทอริก (การวัดค่าต่ำสุด) ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงค่าสูงสุด/ค่าต่ำสุด ซึ่งมีการกำหนดค่าความดันพื้นฐานดังนี้

1.ปกติ : ความดันสูงสุดควรต่ำกว่า 120 และต่ำสุดควรน้อยกว่า 80 ความดันก่อนภาวะความดันโลหิตสูง : ค่าความดันสูงสุดอยู่ระหว่าง 120-139 หรือค่าต่ำสุดอยู่ระหว่าง 80-89

2.ความดันโลหิตสูง : ค่าสูงสุดมากกว่า 140 หรือค่าต่ำสุดมากกว่า 90

3.ความดันโลหิตอันตราย : ค่าสูงสุดมากกว่า 180 หรือค่าต่ำสุดมากกว่า 110 ควรพบแพทย์ทันที