posttoday

พระสงฆ์ยุค 4.0 ขอมีสุขภาพดี

29 พฤษภาคม 2561

เรื่องสุขภาพของพระสงฆ์เป็นสิ่งที่พูดมานานในสังคมไทย เนื่องจากในห้วงหลายปีที่ผ่านมามีพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคต่างๆ

โดย วรธาร ทัดแก้ว 

เรื่องสุขภาพของพระสงฆ์เป็นสิ่งที่พูดมานานในสังคมไทย เนื่องจากในห้วงหลายปีที่ผ่านมามีพระสงฆ์ป่วยเป็นโรคต่างๆ จำนวนมาก จนในที่สุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้คลอด “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ พุทธศักราช 2560” ฉบับแรกของประเทศไทย โดยทางมหาเถรสมาคมเห็นด้วย และมีการประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2560 จากนั้นภาครัฐโดยกระทรวงสาธารณสุขและกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคณะสงฆ์ โดยฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ทั้งระดับประเทศและจังหวัดเริ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ” ตามธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ

ล่าสุด คณะสงฆ์กรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรมอนามัยและกรุงเทพมหานคร ได้เปิดโครงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตพระสงฆ์กรุงเทพมหานครไปเมื่อวันที่ 16 พ.ค. นอกจากนี้คณะสงฆ์และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสาธารณสุขอำเภอทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือ ก็ได้ประชุมระดมความคิดเห็นและเสนอแนะในการช่วยกันแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะของพระสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์ที่ต้องดูแลตนเอง ชุมชน และสังคม ดูแลพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย และพระสงฆ์เป็นผู้นำด้านสุขภาพแก่ชุมชนและสังคม ซึ่งไม่ได้ทำเฉพาะคณะสงฆ์กรุงเทพมหานครและภาคเหนือเท่านั้น แต่จะทำทั่วทุกภาคและทุกจังหวัด

สุขภาวะของพระสงฆ์

พระสงฆ์ยุค 4.0 ขอมีสุขภาพดี

พระโกศัยเจติยาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ และประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์จังหวัดแพร่ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ พระสงฆ์กับสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ 8 จังหวัดภาคเหนือแล้ว ต่อไปกรมอนามัยจะเป็นเจ้าภาพจัดการอบรมหลักสูตรพระคิลานุปัฏฐาก (ผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย/พระเณรในวัด) ให้กับตัวแทนพระสงฆ์ทุกอำเภอของ 8 จังหวัดภาคเหนือในวันที่ 25 มิ.ย. 2561

“พระสงฆ์ที่เป็นตัวแทนอบรมกำหนดอายุ 18 ปีขึ้นไป อบรม 70 ชั่วโมง เมื่ออบรมแล้วจะต้องนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดความรู้ให้กับพระเณรรูปอื่นๆ ในอำเภอของตัวเอง รวมทั้งให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ที่ถูกต้องแก่ชาวบ้าน เรา (คณะสงฆ์) จะทำงานกับภาคีเครือข่าย เช่น สาธารณสุขจังหวัด อำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อสม. และหน่วยงานอื่นๆ พระสงฆ์ทำงานคนเดียวไม่อาจสำเร็จได้ อย่างวัดอาตมา (วัดพระธาตุช่อแฮ) เราก็ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กับโรงพยาบาลแพร่ จัดให้มีการตรวจสุขภาพพระเณรทุกปี โดยพระเณรที่อายุ 40 ปีขึ้นไปต้องตรวจคัดกรองโรคทุกรูป เพื่อที่จะได้ดูแลสุขภาพให้ดี” รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่เล่าการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ

ด้าน นพ.สมนึก อร่ามเธียรธำรงผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลวิสาขบูชาปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยนโยบายของ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้มีโครงการ “หนึ่งวัด หนึ่งโรงพยาบาล”จับคู่กัน ด้วยการจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์วัดนั้นๆ ให้ดีขึ้น

“อาทิ การรณรงค์ให้พระเณรใช้ธูปเทียนไฟฟ้าเพื่อลดสารก่อมะเร็งในควันธูปการรณรงค์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในวัด เช่น การนำสุนัขจรจัดไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า การกำจัดขยะมูลฝอย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก รวมทั้งการอบรมให้ความรู้พระอาสาสมัครประจำวัด เพื่อที่จะได้ดูแลตัวเอง ดูแลเพื่อนร่วมวัด และเป็นผู้นำชุมชนให้ความรู้กับพี่น้องประชาชนด้วย มีการรณรงค์เรื่องอาหารถวายที่ชาวบ้านควรต้องรู้ โครงการนี้ได้มีการแถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่โรงพยาบาลสงฆ์ และเริ่มคิกออฟทันที ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด”

นพ.สมนึก กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีวัดทั่วประเทศประมาณ 4 หมื่นกว่าวัด แต่โรงพยาบาลมีประมาณ 896 โรง (ทั้งโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์) จับคู่กันไปก่อน ถ้าโรงพยาบาลไหนทำแล้วได้ผล ก็สามารถแตกกระจายไปดูแลวัดอื่นต่อได้

โรคฮิตในพระสงฆ์

พระสงฆ์ยุค 4.0 ขอมีสุขภาพดี

มีข้อมูลสุขภาพพระสงฆ์ที่คนไทยควรรู้ โดยการเปิดเผยของ นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่ให้ข้อมูลว่าจากการคัดกรองสุขภาพพระสงฆ์ทั่วประเทศ 112,680 รูป ในปี 2559 พบป่วยมากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน และมารับการรักษาพยาบาลมากที่สุด 6 อันดับแรก คือ โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ข้อเข่าเสื่อม และป่วยด้วยโรคอ้วน โดย 45% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอาหารใส่บาตรที่มักประกอบด้วย แป้ง น้ำตาล ไขมัน และกะทิ มีพลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย

อีกข้อมูลส่วนหนึ่งจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ที่เปิดเผยว่า ผู้ป่วย (พระสงฆ์) มารักษาที่โรงพยาบาลสงฆ์ ถ้าเป็นผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 1 แสนรูป/ปี ผู้ป่วยในประมาณ 5,000-8,000 รูป/ปี อายุเฉลี่ยส่วนใหญ่เกิน 60 ปี โดยโรค 5 อันดับแรกของพระที่เป็นผู้ป่วยนอก ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวานไตวายเรื้อรัง โรคข้อเข่าเสื่อม ส่วนผู้ป่วยใน ได้แก่ โรคต้อกระจก หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือปอดเรื้อรัง ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ท้องร่วง และโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน

“โรคต้อกระจก 60% เป็นผู้สูงอายุ ผ่าตัดแล้วก็จะให้นอน 1 คืน โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังเนื่องจากบางรูปยังสูบบุหรี่ หรือเคยสูบก็จะมีภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพองที่เวลาพูดเดิน หรือทำอะไรจะเหนื่อยหอบ มาโรงพยาบาลก็ต้องให้ออกซิเจน ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบเพราะพระคุณเจ้าไม่ได้สวมใส่กางเกงใน โรคท้องร่วงจากฉันอาหารเป็นพิษมาโรงพยาบาลก็ให้น้ำเกลือ ส่วนเบาหวานมีภาวะแทรกซ้อน เพราะพระเลือกอาหารที่ประชาชนตักบาตรถวายอาหารหวานมันเค็มไม่ได้ ฉันแล้วทำให้เป็น”

พร้อมระบุถึงแนวแนวโน้มของโรคที่พระเป็นกันมาก 3 อันดับแรก คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะน้ำหนักเกิน โรคเหล่านี้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง

ถึงเวลาดูแลสุขภาพ

พระสงฆ์ยุค 4.0 ขอมีสุขภาพดี

พระโกศัยเจติยาจารย์ กล่าวถึงวิธีดูแลสุขภาพว่า พระสงฆ์ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้เป็นตามหลักของพระธรรมวินัย จึงควรต้องรู้ว่าอันไหนควรหรือไม่ควรฉัน ไม่ใช่โยมถวายอะไรก็ฉันทั้งหมด ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่แล้ว ประเด็นนี้มีหลักให้ปฏิบัติอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ไม่รับมามากจนเกินไป (บางรูปบิณฑบาตรับมาเยอะมาก) 2.ไม่ปฏิเสธศรัทธาญาติโยมจนเกินไป

“อาตมาไม่เคยปฏิเสธโยม นำอันไหนมาถวาย ถ้าเป็นอาหารที่ฉันแล้วทำให้เกิดโรคอย่างพวกอาหารหวานมันเค็มจัดก็จะฉันนิดหน่อยเพื่อไม่ให้เสียศรัทธา หรือไม่ฉันก็ได้ไม่ผิดวินัย อย่างอาตมาไม่ฉันน้ำอัดลมทุกชนิดเพราะรู้ว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพ กาแฟทรีอินวันอาตมาก็ไม่ฉัน ถ้ากาแฟสดฉันอยู่ จริงๆ พระก็เลือกที่จะฉันได้

วิธีที่อยากแนะนำเรื่องการขบฉัน บอกโยมได้อันไหนควรหรือไม่ควรถวาย เช่น น้ำอัดลม ไม่ควร พระต้องกล้าให้ความรู้โยมเพื่อโยมจะได้เข้าใจเพราะบางคนไม่เข้าใจจริงๆ อย่างเช่น อยากทำบุญให้บรรพบุรุษก็ทำอาหารที่ญาติคนนั้นชอบ เช่น ชอบแกงกะทิ หรือของมัน ก็ทำของมันนั่นแหละถวาย ต้องไม่ลืมว่าพระฉันไม่ใช่ญาติที่ล่วงลับนะ ถ้าโยมรู้แล้วต่อไปก็จะทำถูก”

นอกจากการฉันอาหารที่ดีต่อสุขภาพแล้ว การออกกำลังกายเป็นวิธีที่จะทำสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่การออกกำลังกายของพระสงฆ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของพระธรรมวินัยด้วย เช่น กวาดลานวัด ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ออกบิณฑบาตทุกเช้า เดินจงกรม เป็นต้นถือว่าเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ แต่บางอย่างก็ควรทำในที่มิดชิด เช่น การออกกำลังกายด้วยท่าแกว่งแขนไปข้างหน้าข้างหลัง แม้กระทั่งยืดเหยียดกายทั้งหลายก็สามารถทำได้ เป็นต้น

อาหารที่ควรถวายพระ

พระสงฆ์ยุค 4.0 ขอมีสุขภาพดี

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าว่าอาหารถวายพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ควรต้องรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ ไม่อยากให้ทำบุญแล้วมีบาปติดตัวโดยไม่เจตนา อาหารที่ควรตักบาตร หรือถวายพระขอแนะนำว่าถ้าเป็นอาหารแห้ง เลือกนมพร่องไขมัน น้ำผลไม้ที่ไม่หวานจัด น้ำเปล่า สามารถแพ็กเป็นถุงเล็กถวายโดยไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารสด

“ถ้าเป็นอาหารสดประเภทข้าว แนะนำข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ซึ่งมีเส้นใยอาหารและมีวิตามินบีรวมเยอะ มีผลต่อน้ำตาลในเลือดน้อย มีประโยชน์สำหรับพระที่เป็นเบาหวาน ประเภทเนื้อสัตว์ควรเป็นปลาหรือเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ ผักและธัญพืชก็ควรเป็นผักหลายสีจะได้รับวิตามินหลายๆ อย่าง

สำหรับผลไม้แนะนำที่มีแคลอรีต่ำรสไม่หวานจัด เช่น ส้ม มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ส้มโอ ฝรั่ง สับปะรดที่ยังไม่หวานฉ่ำ กล้วย แก้วมังกร หรือมันแกว รวมถึงผลไม้ที่เป็นอาหารและมีคุณค่าสารอาหารสูง เช่น ฟักทองนึ่ง เป็นต้น ขณะที่เวลาปรุงอาหารควรลดหวาน ลดมัน ลดเค็มลงให้มาก เน้นอาหารรสจืด ด้วยวิธีเหล่านี้จะทำให้พระฉันแล้วสุขภาพดี ไม่มีโรคเบียดเบียน ผู้ทำก็ได้บุญด้วย”

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้คนต่างเร่งรีบจนไม่มีเวลาทำอาหารดีถวายพระสงฆ์ จำต้องอาศัยซื้อกับข้าวถุงสำเร็จรูปที่ขายตามร้านขายอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีรสจัดและมันจัด นพ.สมนึก แนะนำให้ใช้วิธีง่ายๆ แต่ได้บุญเต็มที่ก็คือการซื้อน้ำดื่ม นมกล่องพร่องมันเนย น้ำผลไม้สด ที่ไม่ได้ปรุงแต่งรสหวานเกินไป

สุขภาพพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ชาวพุทธควรต้องหันมาดูแลและใส่ใจ เพราะไม่มีใครอยากป่วยหรือเป็นโรค แม้กระทั่งเราเอง ถ้าพระมีสุขภาพ ก็จะได้มีกำลังปฏิบัติศาสนกิจได้เต็มที่ อันเป็นการสืบต่อพระศาสนาอีกด้วย