posttoday

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ความสุขบนพื้นที่สีเขียวที่อยากแบ่งปัน

27 พฤษภาคม 2561

โดย ภาดนุ

โดย ภาดนุ

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ หรืออาจารย์หน่า (วัย 48 ปี) ปัจจุบันเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นคุณค่าของการมีพื้นที่สีเขียวให้กับตัวเองและครอบครัว รวมทั้งอยากแบ่งปันสู่ผู้อื่น เธอจึงเริ่มสนใจในเรื่องเกษตรกรรมและลงมือทำตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจนความฝันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

“เดิมทีดิฉันเป็นอดีตรองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในสมัยที่อาจารย์โก้ (ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล) เป็นคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งตำแหน่งของเราเพิ่งหมดวาระไปเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา

ด้วยความที่ดิฉันสนใจการทำกสิกรรมธรรมชาติมาตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว พอหมดวาระการเป็นรองคณบดี ดิฉันก็ได้รับการแต่งตั้งจากอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นหนึ่งในคณะทำงานของท่าน โดยทำหนังสือขอตัวมาที่สถาบัน หากไม่ติดภารกิจการเรียนการสอน ดิฉันก็จะไปลงพื้นที่เพื่อดูงานอยู่เสมอ ตามภารกิจที่อาจารย์ยักษ์และอาจารย์โก้ได้ลงไปทำร่วมกัน

ตัวดิฉันเองได้เริ่มสนใจการทำเกษตรมาหลายปี แต่เมื่อปีที่แล้ว (ปี 2560) ดิฉันได้ซื้อที่ดินจำนวนเกือบ 3 ไร่ ที่ จ.นครนายก และเริ่มค่อยๆ ทำเกษตรบ้าง แต่ในตอนนั้นยังทำแบบไร้ทิศทาง กระทั่งได้มีโอกาสไปอบรมในเรื่องกสิกรรมธรรมชาติแบบเต็มตัวที่ฐานธรรมธุรกิจ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ในช่วงเดือน ธ.ค. 2560 ดิฉันจึงเริ่มเข้าใจหลักการทำเกษตรที่แท้จริง”

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ความสุขบนพื้นที่สีเขียวที่อยากแบ่งปัน

อาจารย์หน่า เล่าว่า ในช่วงที่เธอเป็นรองคณบดี เธอได้ศึกษาการดำเนินงานของอาจารย์โก้และอาจารย์ยักษ์ ในเรื่องการลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรกรรมที่ถูกต้องมาโดยตลอด แต่ช่วงนั้นยังไม่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ด้วยเท่านั้น เนื่องจากติดภารกิจด้านการเรียนการสอนที่สถาบัน

“เมื่อดิฉันได้ไปเรียนรู้ในเรื่องกสิกรรมธรรมชาติอย่างจริงจัง ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานรุ่นของกลุ่มอบรม ฐธ.8 (ฐานธรรม 8) จากนั้นก็มีโอกาสได้ลงพื้นที่มาโดยตลอด เพราะต้องการเรียนรู้และช่วยงานอาจารย์โก้และอาจารย์ยักษ์ไปด้วย ในขณะเดียวกันดิฉันก็ได้นำความรู้และวิชาที่ได้มาจากการอบรมมาทดลองปฏิบัติกับการทำสวนของตัวเองที่ จ.นครนายก โดยเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อเดือน ส.ค. 2560

สวนนี้เดิมทีเป็นสวนมะดันมาก่อนตอนที่ซื้อที่ดินต่อจากคนในพื้นที่มา แต่เพราะไม่ค่อยชอบมะดัน ดิฉันจึงปรับสวนนี้ให้เป็นพื้นที่ทดลองโดยทำเป็นสวนเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชหลายชนิดที่ตัวเองชอบเป็นหลัก ซึ่งอาจารย์โก้ในฐานะเพื่อนก็ได้มาช่วยออกแบบพื้นที่สำหรับปลูกพืชให้ นอกจากนี้ก็มีผู้ใหญ่ที่นับถือให้ต้นไม้มาปลูกอีก แต่ด้วยความที่เราไม่ได้เป็นเกษตรกรมาแต่ดั้งเดิม และไม่มีเวลาว่างทุกวัน ดิฉันก็เลยใช้ช่วงวันหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ขับรถมาดูแลสวนอยู่บ่อยๆ โชคดีว่าเพื่อนบ้านใกล้เคียงซึ่งเป็นชาวสวนละแวกนั้นน่ารักมากๆ เขาก็ช่วยรดน้ำต้นไม้ให้ตลอด (หัวเราะ) ทั้งที่เราไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนที่นั่นเลยละ”

อาจารย์หน่า บอกว่า แม้เธอจะเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ มาหลายปีก็ตาม แต่ถ้านับย้อนไปในช่วงวัยเด็กแล้ว คุณแม่ของเธอเป็นชาว จ.เชียงใหม่ ที่เคยทำสวนลำไยกับคุณตาคุณยายของเธอมาก่อน นอกจากนี้คุณพ่อของเธอยังเป็นลูกหลานชาวสวนที่ จ.จันทบุรี อีกด้วย ในช่วงวัยเด็กเธอจึงได้คลุกคลีอยู่กับชีวิตชาวสวนและมีความทรงจำที่ดีติดตัวเสมอมามิเคยลืมเลือน

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ความสุขบนพื้นที่สีเขียวที่อยากแบ่งปัน

“จะพูดว่าดิฉันได้ซึมซับความชอบเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวสวนมาตั้งแต่เด็กๆ เลยก็ว่าได้ ที่สำคัญตอนนี้ยังมีคุณแม่คอยเป็นกำลังใจให้ด้วย ซึ่งท่านเคยพูดว่า ‘แม่อายุมากแล้ว ตอนนี้มีลูกอยู่ 3 คน หากมีลูกของแม่สักคนที่สนใจในเรื่องการทำสวน แม่ก็จะดีใจมากๆ เลยละ เพราะแม่รู้สึกว่าการมีที่ดินเป็นของตัวเอง มีการปลูกผัก และการพึ่งพาตัวเองด้วยวิถีเกษตรเป็นสิ่งที่ดีมาก’ ดังนั้นด้วยความที่เราเป็นลูกสาวคนโต ดิฉันก็ยิ่งจะต้องแสดงความแข็งแกร่งว่าสามารถเป็นที่พึ่งของพี่น้องคนอื่นๆ ได้หากเกิดวิกฤตขึ้น

นอกจากนี้ ดิฉันยังได้แรงบันดาลใจและความคิดดีๆ มาจากอาจารย์ยักษ์และอาจารย์โก้ด้วย ที่สำคัญอาจารย์โก้ยังเป็นคนพาไปซื้อที่ดินสวนแปลงนี้อีก แถมยังได้กำลังใจจากอาจารย์ยักษ์เสริมพลังให้อีก พอได้ที่ดินแปลงนี้มาดิฉันจึงตั้งใจจะทำให้ความฝันที่คิดไว้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้”

ปัจจุบันอาจารย์หน่าแต่งงานมีครอบครัว สามีทำงานบริษัทเอกชน และมีลูกสาววัย 17 ปี 1 คน เวลาที่เธอต้องไปลงพื้นที่ตามต่างจังหวัด ลูกสาวก็จะสนับสนุนอยู่เสมอ แต่ตัวลูกสาวก็ยังไม่เคยลงมาสัมผัสกับการทำเกษตรอย่างจริงจังสักที ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์หน่าก็พยายามชักชวนให้ลูกสาวได้ลงมาคลุกคลีกับสิ่งที่เธอทำ เพื่อให้ค่อยๆ ซึมซับความชอบไปทีละนิด

“เหตุผลที่ดิฉันซื้อที่ดินและสร้างบ้านสวน ‘ภูมิธารา’ ขึ้น นอกจากเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบแล้ว ดิฉันยังอยากแสดงให้ลูกเห็นว่า แม้เราจะเป็นคนเมือง แต่เราทุกคนก็สามารถน้อมนำศาสตร์พระราชาในเรื่องเกี่ยวกับกสิกรรมธรรมชาติมาใช้ได้ ดิฉันสร้างบ้านสวนขึ้นที่นี่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นที่พักพิงและพักผ่อนของผู้สูงอายุ นั่นก็คือคุณพ่อคุณแม่ ในขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมของสมาชิกในครอบครัว คือ บ้านสวนนี้เปิดกว้างสำหรับเพื่อนๆ ที่จะมาพัก หรือกลุ่มคนและทีมงานเครือข่ายเอามื้อที่แวะเวียนผ่านมาก็สามารถมาขอพักที่นี่ได้ เพราะเรายินดี

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ความสุขบนพื้นที่สีเขียวที่อยากแบ่งปัน

และตอนนี้ดิฉันได้รู้จักกับแพทย์แผนไทยท่านหนึ่งใน จ.นครนายก เขาก็แนะนำว่าในพื้นที่ว่างๆ ของบ้านสวนนี้น่าจะปลูกสมุนไพรเพิ่มเติมไว้ อีกอย่างคือบ้านสวนแห่งนี้อยู่ริมน้ำ จึงน่าจะปลูกสมุนไพรและจัดพื้นที่สำหรับศาสตร์ความรู้ด้านสมุนไพรให้คนทั่วไปก็น่าจะดีไม่น้อย ดิฉันก็มานั่งคิดว่า ถ้าจะตอบโจทย์แขกที่มาแวะเวียนได้ครบ นอกจากปลูกสมุนไพรแล้ว ก็น่าจะปลูกผักและผลไม้ รวมทั้งปลูกดอกไม้ด้วย เรียกว่าทำให้เป็นพื้นที่ทดลองทางการเกษตรของเราไปเลย ทั้งหว่านข้าว ปลูกพืช ปลูกหญ้าแฝกคลุมดิน ฯลฯ เมื่อได้ผลอย่างไรก็จะได้รายงานผลการทดลองให้อาจารย์ยักษ์ได้ทราบอีกที ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

ปัจจุบันนี้คุณพ่อคุณแม่ของดิฉันอยู่กรุงเทพฯ ก็จริง แต่ในวันเสาร์-อาทิตย์ดิฉันก็จะขับรถไปรับพวกท่านมาที่สวนแห่งนี้เสมอ แล้วพอมาที่นี่ทีไรทั้งสองคนก็ชอบลงมือปลูกต้นไม้ คือ ใช้ชีวิตแบบชาวสวนเลย ตอนนี้คุณแม่อายุ 69 ปี ส่วนคุณพ่อ 79 ปี แต่ทั้งสองยังสุขภาพแข็งแรงดี พวกท่านจึงชอบออกแรงลงมือปลูกต้นไม้กันอยู่เรื่อยๆ อีกคนที่ดิฉันชอบชวนมาที่นี่ ก็คือ ลูกสาว เพราะอยากให้ลูกได้มาเห็น ได้มาสัมผัสกับธรรมชาติบ้าง เพื่อให้เขาค่อยๆ ซึมซับและรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ในวันหนึ่งข้างหน้าลูกก็อาจจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่นี้และสานต่อสิ่งดีๆ ต่อไปในอนาคตได้”

อาจารย์หน่า ทิ้งท้ายว่า การตามรอยศาสตร์พระราชา เป็นความสุขอันยั่งยืนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงดำริขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

“อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงดำริโครงการดีๆ ขึ้น เพื่อประชาชนมากมาย พอดิฉันได้มีโอกาสเรียนรู้ในเรื่องศาสตร์พระราชาและน้อมนำมาปฏิบัติ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกคิดถึงและศรัทธาในแนวคิดของพระองค์ท่านที่ทรงงานหนักเสมอมา ยิ่งเราได้นำวิชาความรู้ที่พระองค์ท่านสอนไว้ไปใช้ หรือนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการห่มดิน การปลูกต้นไม้ รวมทั้งแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ก็ยิ่งรู้สึกเทิดทูนพระองค์ท่านยิ่งๆ ขึ้นไปอีก

รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ความสุขบนพื้นที่สีเขียวที่อยากแบ่งปัน

ทุกวันนี้ดิฉันได้นำหลักคำสอนในเรื่องเกษตรพอเพียงของพระองค์ท่านไปให้ความรู้กับชาวบ้าน และนำไปสอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย แล้วยังนำมาทดลองด้วยตัวเองที่บ้านสวน ‘ภูมิธารา’ อีกด้วย นี่แหละถือเป็นความสุขส่วนหนึ่งในชีวิตของดิฉันเลยก็ว่าได้”

ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจารย์หน่า บอกว่า เธอได้เริ่มปลูกผลไม้หลายชนิดเพิ่มขึ้น และเริ่มปลูกพืชสมุนไพรเพิ่มด้วย ที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกับคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา และเครือข่ายผู้ปกครองซึ่งมีลูกที่มีปัญหา เช่น เด็กออทิสติก เด็กพิเศษ หรือกลุ่มเด็กในโรงรียนทางเลือก เพื่ออยากให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสมาเยี่ยมชมบ้านสวนภูมิธาราด้วย

“ดิฉันได้พูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กๆ เหล่านี้ว่า อยากจะเปิดบ้านสวน ‘ภูมิธารา’ ให้เด็กๆ มีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติในรูปแบบเฉพาะตัวสำหรับพวกเขา หรือแม้แต่กลุ่มเด็กที่อยากได้ที่พัก อยากทดลองเรียนรู้ในรื่องศิลปะ หรืออยากทดลองปลูกพืช ดิฉันก็มีความคิดว่าปลายปีนี้น่าจะเปิดให้พวกเด็กๆ เหล่านี้ได้เข้ามาเยี่ยมชมและมาเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ฟรี อย่างน้อยให้เด็กๆ มาเริ่มหัดปลูกต้นไม้ในกระถาง แล้วหิ้วต้นไม้กลับไปดูแลต่อที่บ้านก็ยังดี นี่แหละความสุขบนพื้นที่สีเขียวที่ดิฉันอยากแบ่งปันให้กับทุกคน”…ติดตามได้ที่ FB : Worawan Rojanapaibulya