posttoday

Tendon, Tendinitis and Tendinosis เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นอักเสบ และเอ็นเสื่อม

26 พฤษภาคม 2561

เอ็นกล้ามเนื้อ Tendon เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดเส้นใย (Fibrous Tissue)

โดย: ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com

เอ็นกล้ามเนื้อ Tendon เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดเส้นใย (Fibrous Tissue) ทำหน้าที่ยึดให้กล้ามเนื้อติดกับกระดูกเป็นเนื้อเยื่อสำคัญในส่วนของการเคลื่อนไหวร่างกายโดยมีจุดเริ่มต้นที่ส่วนปลายของกล้ามเนื้อไปเกาะที่กระดูกเมื่อเรายืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นกล้ามเนื้อก็ถูกยืดด้วย แต่ยืดในปริมาณที่น้อย แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายืดกล้ามเนื้อมากเกินไป หรือมีแรงบังคับที่กล้ามเนื้อมากเกินไป จะส่งผลกระทบไปที่เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ และเป็นสาเหตุให้เกิดอาการบาดเจ็บต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นเอ็นอักเสบหรือเอ็นเสื่อม

อาการบาดเจ็บบางครั้งเกิดจากการกระทำที่ผิดๆ ซ้ำๆ หลายครั้งหรือก็คือการสะสมการบาดเจ็บ หากเราบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ Muscle จะฟื้นตัวเร็วมากกว่าเพราะมีเลือดไปหล่อเลี้ยงเยอะ แต่เส้นเอ็นกล้ามเนื้อ Tendon เมื่อเกิดการบาดเจ็บจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน เนื่องจากมีเลือดมาหล่อเลี้ยงน้อยกว่ากล้ามเนื้อ

หากเกิดเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ Tendinitis การบาดเจ็บจะหายได้ในระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่หากบาดเจ็บเรื้อรังโดยเกิดจากการสะสมทีละเล็กละน้อยก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเสื่อมของกล้ามเนื้อ Tendinosis ซึ่งอาจมาจากการใช้งานซ้ำๆ แบบต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก การลงน้ำหนัก การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหรืออาจเกิดได้กับผู้สูงอายุการบาดเจ็บจะดีขึ้นได้แต่จะเป็นๆ หายๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-6 เดือน บางคนก็เป็นปี

ทีนี้เมื่อมีการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นแล้วควรทำอย่างไร

Tendon, Tendinitis and Tendinosis เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นอักเสบ และเอ็นเสื่อม

จริงๆ แล้วระบบในร่างกายจะช่วยฟื้นฟูเราได้ในระดับหนึ่ง ทั้งระบบน้ำเหลืองและการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้มาซ่อมแซม ให้สารอาหารบริเวณที่บาดเจ็บ ดังนั้น การฝึกโยคะอาสนะจะช่วยกระตุ้นได้ดี แต่เรื่องของช่วงเวลาและรูปแบบการฝึกโยคะอาสนะ มีความสำคัญที่อาจทำให้อาการบาดเจ็บแย่ลงหรือดีขึ้นได้

ดังนั้น ช่วงเริ่มต้นที่เกิดการบาดเจ็บเราต้องพักร่างกายตรงบริเวณที่บาดเจ็บ ห้ามยืดหรือใช้แรงเด็ดขาดประมาณ 4-7 วันก่อน แล้วในช่วง 2 วันแรกที่เจ็บหากมีอาการอักเสบ มีอาการบวมตอนที่เราพักให้ใช้ความเย็นคอยประคบโดยประมาณก็ 48-72 ชั่วโมง การลดอาการบวมสามารถกระตุ้นระบบน้ำเหลืองด้วยการฝึกท่ากลับหัวได้ Inversion Poses แต่ให้เลือกท่าอาสนะที่เหมาะสมแล้วฝึกช้าๆ แบบอ่อนโยน แล้วก็อย่ายืดในส่วนที่อักเสบ

หลังจากนั้นโดยประมาณราวๆ 1-3 สัปดาห์ก็สามารถเริ่มฝึกโยคะแบบเบาๆ ได้แต่ยังคงไม่ยืดบริเวณที่บาดเจ็บแต่ยืดบริเวณอื่นได้ ให้เน้นเรื่องการหายใจให้มาก จากนั้นก็ค่อยเริ่มฝึกแบบสร้างความแข็งแรง โดยเน้นกล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณที่บาดเจ็บแบบช้าๆ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อาจใช้บล็อกโยคะช่วยในการฝึกบางท่าหรือประยุกต์ท่าให้ง่ายๆ ไว้ก่อน บางคนปรับท่าไม่เป็นก็ให้ทำแค่ 50 เปอร์เซ็นต์พอ (Modified Yoga Poses) และยังคงเลี่ยงการฝึกแบบที่ใช้น้ำหนักตัวเองช่วย Weight Bearing ไปก่อน แล้วลดจำนวนการทำท่าเดิมซ้ำๆ หลายๆ รอบช่วงนี้จะอยู่ประมาณ 4-6 สัปดาห์

เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็สามารถกลับมาฝึกแบบปกติได้ โดยเน้นที่การสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อรอบๆ บริเวณที่เจ็บให้มาก สามารถฝึกแบบที่ใช้น้ำหนักตัวเองช่วยได้แล้ว และที่สำคัญ อย่าละเลยเรื่องการวอร์มอัพร่างกายก่อนฝึกเสมอ อย่างไรก็ตาม เจ็บแล้วต้องจำ ทุกครั้งที่เราบาดเจ็บเราได้เรียนรู้บางอย่าง หากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมก็จะเจ็บอีกบางคนก็ต้องรอจนกว่าจะเข็ดจึงจะสำนึก (ครูเห็นมาหลายคนละค่ะ)

Tendon, Tendinitis and Tendinosis เอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นอักเสบ และเอ็นเสื่อม

การฝึกที่ไม่ถูกต้อง การจัดท่าที่ผิดรวมทั้งการทำที่มากเกินไป เมื่อเราไม่ฟังเสียงร่างกายจะทำให้เรากลับไปเจ็บซ้ำอีก ดังนั้นจงให้ความสำคัญกับการจัดท่าที่ถูกต้อง (Correct Posture And Good Alignment) แล้วลดการเคลื่อนไหวซ้ำๆ เพราะจริงๆ แล้วหากเราฝึกได้ถูกต้องการฝึกจะทำให้เส้นเอ็นเราแข็งแรงไม่ได้แย่ลง หากมันแย่ให้ลองพิจารณาดูแล้วหาสาเหตุให้เจอ เพราะการฝึกที่ดีจะเป็นไปในทิศทางที่ส่งเสริม แล้วบำบัดเราทั้งภายนอก ภายในและชั้นที่ลึกเข้าไป อย่างไรก็ตาม หากมีอาการที่รุนแรงควรปรึกษาแพทย์ก่อน