posttoday

บุญชู ตันติรัตนสุนทร อาชีพที่รักและภูมิใจ 30 ปีกับล่ามญี่ปุ่น

26 พฤษภาคม 2561

“อาชีพล่าม” เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทั้งความรักและความมุ่งมั่นผสมกับความตั้งใจจริง ผลักดันทำให้ตลอดกว่า 30 ปี

โดย วราภรณ์ เทียนเงิน  

“อาชีพล่าม” เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทั้งความรักและความมุ่งมั่นผสมกับความตั้งใจจริง ผลักดันทำให้ตลอดกว่า 30 ปีของการทำงานล่ามของ บุญชู ตันติรัตนสุนทร สามารถผลักดันการทำอาชีพล่ามเติบโตอย่างต่อเนื่อง มาสู่การจัดตั้งชมรมล่ามและนักแปลภาษาญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย ที่มีบุญชูเป็นหนึ่งแรงร่วมผลักดันล่ามแปลญี่ปุ่นให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น

บุญชู เป็นอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น และประธานชมรมล่ามและนักแปลภาษาญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ทำงานล่ามญี่ปุ่นต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว และในปัจจุบัน จากกระแสเทคโนโลยีเครื่องจักรได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่จะไม่สามารถเข้ามาทดแทนหรือแทนที่อาชีพล่ามได้อย่างแน่นอน เพราะอาชีพล่ามมีความพิเศษและแตกต่าง มีองค์ประกอบ เทคนิค และประสบการณ์ รวมถึงต้องผสมผสานหลายๆ เรื่องมาพร้อมกัน

“ประสบการณ์ในการทำงานล่ามญี่ปุ่นต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี เราพบว่าอาชีพล่ามแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ องค์ประกอบสำคัญการเป็นล่าม จะต้องประกอบด้วย การเป็นล่ามที่ดีและล่ามที่เก่งไปพร้อมกัน ผสมกับการแปลได้อย่างถูกต้อง และตรงกับวัตถุประสงค์ของแต่ละงาน รวมถึงสามารถที่จะตัดสินใจจากสถานการณ์ต่างๆ ที่มาประกอบกันได้ และต้องแปลให้คนฟังสนใจเรื่องมากยิ่งขึ้น ทุกอย่างมาจากสะสมต่อเนื่องจากประสบการณ์การทำงาน

ล่ามที่ดีและล่ามที่เก่งแตกต่างกันอย่างไร? บุญชู ชี้ให้เห็นภาพว่า ล่ามที่ดีคือ ล่ามที่แปลตรง ห้ามใส่ความรู้สึกลงไป เหมือนเครื่องจักร แต่ล่ามที่เก่งคือรู้วัตถุประสงค์ของงาน

“ยกตัวอย่าง ได้ทำงานล่ามที่แปลให้คนแต่งงานกัน แต่ล่ามที่ดีคือ แปลตรง แต่อาจจะไม่ได้ทำให้เขาแต่งงานกันได้ เพราะฝั่งเจ้าบ่าวพูดไม่เก่ง พูดไม่ได้ แต่ล่ามที่เก่งคือ แปลให้เขาสามารถแต่งงานกันได้ตามวัตถุประสงค์ของงานที่จัดขึ้นได้

คำศัพท์หนึ่งในบริบทหนึ่งสามารถใช้ได้หลายอย่าง การเลือกคำศัพท์สามารถใช้ได้ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ทำให้มีสีสันเหมาะสมกับโอกาสและงานต่างๆ ได้ ขณะเดียวกันรวมถึงการทำหน้าที่ล่ามจะต้องมีองค์ความรู้ในทุกเรื่อง และต้องมีความชอบในเรื่องภาษาไปพร้อมกัน”

บุญชู ตันติรัตนสุนทร อาชีพที่รักและภูมิใจ 30 ปีกับล่ามญี่ปุ่น

อีกสิ่งสำคัญ บุญชู ขยายความว่า ผู้ทำหน้าที่ล่ามจะแปลโดยใช้วิธีการเดาอย่างเดียวไม่ได้ ห้ามทำเด็ดขาด เพราะจะถือเป็นการแต่งเรื่อง และจะทำให้ทำงานในอาชีพล่ามได้อย่างไม่ยั่งยืน

“ดังนั้น จะต้องพร้อมทำให้คนในการสนทนาเข้าใจ สื่อสารได้อย่างตรงจุดที่สุด รวมถึงต้องมีความกระตือรือร้นในการสื่อสาร มีความสดชื่นและมีพลังในการทำงานทุกวัน อีกทั้งการทำงานต้องใช้ไหวพริบตลอดเวลา การเลือกคำพูด จังหวะและน้ำเสียงมีผลต่อการทำงานทั้งหมด โดยตลอดเวลาในการทำงานอาชีพล่ามที่ผ่านมา ได้ทำหน้าที่ล่ามมาทุกด้าน ทั้งงานพิธีการและไม่พิธีการ อาทิ งานธุรกิจ การค้า พิธีการ งานเจรจาระหว่างประเทศ ตลอดจนงานส่วนตัวและงานแต่งงาน เป็นต้น

สำหรับคุณสมบัติในการทำงานคือ มีความรัก มีความภูมิใจในการทำงาน ต้องมีมารยาทที่ดี ความอ่อนน้อมถ่อมตัว มีความอดทนและมีสติในการทำงาน เราต้องเป็นคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้อยู่เบื้องหน้า”

บุญชู กล่าวว่า หากพูดถึงประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการไทยและญี่ปุ่นมีหลากหลายมาก ทั้งการทำงานเป็นล่ามที่ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร กระทรวงแรงงาน กรมการปกครอง รวมถึงเคยเป็นล่ามถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 2 ครั้ง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 1 ครั้ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 2 ครั้ง และสมเด็จพระสังฆราช 1 ครั้ง

รวมถึงเคยเป็นล่ามให้นายกรัฐมนตรีและอดีตนายกรัฐมนตรีรวม 9 คน ในฐานะล่ามฝ่ายเอกชน ส่วนราชการญี่ปุ่น มีทั้งสถานสถานทูตญี่ปุ่น เจโทร องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือไจก้า หอการค้าและสมาพันธ์เศรษฐกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเรน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทำงานในโครงการบำบัดน้ำเสีย กทม. การจัดรูปที่ดิน การบริหารงานเทศบาล โลจิสติกส์ ส่วนงานภาคเอกชนมีทั้งสำนักงานทนายความ วิสาหกิจญี่ปุ่นในประเทศไทยและจากญี่ปุ่นร่วม 100 แห่ง ขณะที่งานล่ามต่อเนื่องที่เกิน 10 ปี ทั้งคดีอุลตร้าแมนในญี่ปุ่นและไทยฝ่ายจำเลย ช่วงระหว่างปี 2542-2555 มหกรรมกีฬาคนพิการสืบสานวัฒนธรรมไทยญี่ปุ่น 12 ปี 12 ครั้ง และการเจรจาภาษีและอื่นๆ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรามีความสนุกและได้เรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา ตื่นเต้นทุกครั้งในการทำงาน โดยปัจจุบันตนเองก็เป็นล่ามญี่ปุ่นที่มีค่าตัวแพงคนหนึ่งในประเทศไทย หากถามถึงจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้เข้ามาทำงานล่าม น่าจะมาจากการได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่ประเทศญี่ปุ่น คณะเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย ‘Hitotsubashi’ และระหว่างการศึกษาปีที่สอง ช่วงหน้าร้อน ที่ได้กลับมาไทย จึงได้ไปช่วยทำงานล่ามให้แก่ห้างสรรพสินค้า

บุญชู ตันติรัตนสุนทร อาชีพที่รักและภูมิใจ 30 ปีกับล่ามญี่ปุ่น

การทำงานล่ามครั้งแรกได้ไปช่วยแนะนำวิธีการชำแหละเนื้อหมูและเนื้อวัวจากประเทศญี่ปุ่น ที่มีเอกชนไทยนำเข้ามา ทำให้ได้เจอกับผู้คนมากมายและได้เรียนรู้การทำหน้าที่เป็นล่าม ได้เห็นนวัตกรรมการหั่นเนื้อหมูและเนื้อวัวจากประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นได้กลับไปเรียนต่อจนกระทั่งจบการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเริ่มต้นทำงานในบริษัท ทิสโก้ ทำสินเชื่อเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งในตึกที่ทำงานมีสำนักข่าวจิจิเพลสของญี่ปุ่น จึงได้งานพิเศษเพิ่มมาคือ การแปลข่าวช่วงเช้า

หลังจากนั้น เปลี่ยนงานมาทำกับบริษัทญี่ปุ่น ซูมิโตโม พร้อมได้ทำหน้าที่แปลหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ทั้งกัปตันซึบาสะ และเซนต์เซย์ย่า รวมถึงยังได้ทำหน้าที่แปลภาพยนตร์ไปด้วย ซึ่งช่วงระหว่างปี 2529 และปี 2530 มีบริษัทญี่ปุ่นที่ได้เข้าลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) ในไทยจำนวนมาก จึงไปช่วยทำหน้าที่อาชีพเสริมคือ ล่าม ให้แก่บริษัทญี่ปุ่น และได้ทำงานมาต่อเนื่อง

ต่อมาได้หยุดการทำงานและไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ญี่ปุ่น ด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัย Keio เป็นเวลา 2 ปี ที่มีความชอบ ส่วนด้านการบริหารธุรกิจอยู่แล้ว เมื่อกลับมาไทยก็ทำงานในบริษัทญี่ปุ่น หลังจากนั้นตัดสินใจทำงานล่ามอิสระอย่างเต็มตัวเพราะเป็นสิ่งที่เราชอบและอาชีพที่เรารัก ซึ่งเราได้เห็นคนเข้าและออกในวงการล่ามตลอดเวลา แต่เรามีความสุขในการทำงานต่อเนื่อง”

ในปัจจุบัน บุญชู กำลังผลักดัน “ชมรมล่ามและนักแปลภาษาญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย” โดยได้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 4 ปีแล้วภายใต้ สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นฯ เพื่อร่วมมือผลักดันสร้างเครือข่ายล่ามญี่ปุ่นของประเทศไทย การจัดอบรมและให้ความรู้ การจัดสัมมนา และการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ในการทำงานอาชีพล่าม

จากประสบการณ์ทำงานกว่า 30 ปี ทำให้อาจารย์บุญชูได้รับรางวัลสุรินทราชาเป็นครั้งแรก ปี 2560 ถือเป็นล่ามญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ และปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่อง

บุญชู กล่าวต่อว่า พร้อมที่จะทำหน้าที่ล่าม และผลักดันอาชีพล่ามของประเทศไทยต่อคนรุ่นใหม่ต่อไป ก่อนพูดประโยคปิดท้ายว่า

“ถ้าหากชาติหน้าได้เกิดใหม่... ก็ขอได้ทำงานเป็นล่ามต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่เรารักและมีความสุขในการได้ทำงานในทุกๆ วัน”