posttoday

จุดไฟทำงาน ให้ลุกโชนอีกครั้ง

21 พฤษภาคม 2561

มนุษย์เงินเดือนที่คร่ำเคร่งกับการทำงาน จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนกับครอบครัวติดต่อกันเป็นปี สิ่งหนึ่งที่จะเกิดกับพวกเขาก็คืออาการเหนื่อยล้าและภาวะหมดไฟในการทำงาน

เรื่อง กั๊ตจัง ภาพ รอยเตอร์ส

มนุษย์เงินเดือนที่คร่ำเคร่งกับการทำงาน จนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนกับครอบครัวติดต่อกันเป็นปี สิ่งหนึ่งที่จะเกิดกับพวกเขาก็คืออาการเหนื่อยล้าและภาวะหมดไฟในการทำงาน

โดยปกติแล้วภาวะหมดไฟในการทำงานนี้จะถูกจุดกระตุ้นโดยสิ่งที่เรียกว่าโบนัสเงินเดือน แต่ยุคสมัยนี้บริษัทมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถให้โบนัสกับพนักงานได้ เราจึงต้องจุดไฟในการทำงานของตัวเองด้วยวิธีการเหล่านี้อีกครั้ง

1.สู้กับปัญหา

ไม่มีใครไม่เจอปัญหาในการทำงาน หลายคนเลือกที่จะย้ายงานใหม่ แต่ไม่ว่าคุณจะฝันถึงอาชีพการงานแบบไหน พอถึงจุดหนึ่งก็จะพบความขัดแย้งในหน้าที่การงานอยู่ดี วิธีที่ง่ายกว่าคือการคิดว่าไม่มีปัญหาอะไรที่หนักไปสำหรับเรา หลีกเลี่ยงการมีปัญหาโดยไม่จำเป็น และหันมาสู้ปัญหาด้วยการนั่งคุยกันถึงเรื่องความขัดแย้งนั้น และหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะนั่นเป็นทางเดียวที่จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายในทางที่ดีขึ้นได้บ้าง

2.คิดถึงความสุขในความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ

ฟังดูคล้ายการหลอกตัวเอง แต่จริงๆ แล้วการที่ทำอะไรได้สำเร็จด้วยดี นั่นคือการปูทางไปสู่จุดหมายใหญ่ ที่คุณต้องเก็บความสำเร็จไปทีละจุดระหว่างทาง แต่ในระหว่างนี้เราจะต้องรู้สึกสนุกและมีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วง พยายามรู้สึกดีกับแต่ละขั้นตอนที่คุณต้องผ่านมันไป และใช้ความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ เป็นการช่วยเติมเชื้อไฟให้ความพยายามของคุณให้มีอยู่ต่อไป

3.ภูมิใจกับสิ่งที่ทำ

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริหารหรือเป็นพนักงานต้อนรับหน้าบริษัท ควรมีความภูมิใจและรู้สึกเป็นเจ้าของงานที่คุณกำลังทำ อย่าคิดถึงคนอื่นที่เขามีตำแหน่งหน้าที่ที่ดีกว่า เพราะถึงจุดหนึ่งที่มีประสบการณ์มากพอคุณก็จะไปได้ถึงจุดนั้นเอง จงแสดงถึงความสามารถ ความยึดมั่น หรือศรัทธาในการงานของคุณ และศักยภาพที่จะทำงานต่อไปของคุณ

4.ประเมินความสำเร็จจากความรู้สึก

แม้บริษัทจะประเมินคุณจากผลงานที่ทำ ซึ่งบางครั้งคุณคิดว่าคุณทำได้ดีกว่านั้น คุณจึงควรถามตัวเองถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้ดีแค่ไหน ลองตรวจสอบประเมินผลการทำงานของคุณเป็นระยะๆ หรือเปล่า เพื่อจะได้รู้ว่าคุณประสบความสำเร็จแค่ไหน แน่นอนว่าต้องมีวิธีที่ทำให้คุณรู้ได้ว่าคุณทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่ได้ดีหรือเปล่า อย่ารอจนถึงการประเมินผลครั้งต่อไป ถึงค่อยพัฒนาปรับความคิดเกี่ยวกับตัวเอง เพราะความรู้สึกไม่ได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ความรู้สึกว่า
ตัวเองมีความสามารถนั้น แท้จริงแล้วก็เริ่มจากความรู้สึกของเราเอง

5.หาแนวทางความสำเร็จใหม่ๆ

ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวคุณจึงไม่ควรยึดติดสูตรสำเร็จที่ผ่านมา เมื่อเราทำงานไปนานๆ ความรู้ความคิดก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ และมีปัญหาใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ ควรลองใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาพลิกแพลง หาแนวทางในการแก้ปัญหา ลองแล้วผิดพลาดไม่เป็นไรให้รู้ว่าวิธีนี้ทำไม่สำเร็จ และลองหาวิธีใหม่ไปเรื่อยๆคุณจะพบว่าที่จริงแล้วมีแนวทางในการทำงานให้สำเร็จอีกมากมายที่ทำให้เรารู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้น

6.มั่นใจในสิ่งที่ทำ

หากคุณมีความมั่นใจ ไม่ว่าจะทำอะไรมันก็จะดีไปหมด แต่ในทางตรงกันข้าม หากคุณขาดความมั่นใจเสียแล้ว มันก็จะกลายเป็นสิ่งบั่นทอนทุกสิ่งที่คุณกำลังทำ คนที่ขาดความมั่นใจนั้น ไม่เพียงแต่จะกลัวในสิ่งที่ทำได้ไม่ดีเท่านั้น แต่ยังอาจลังเลในสิ่งที่จะทำได้ดีด้วย ดังนั้นความมั่นใจจึงมักเคียงคู่ไปกับความสำเร็จ

หากความมั่นใจกำลังเหลือน้อย ลองหันไปหาสิ่งที่คุณทำได้ดีที่สุด และทำงานนั้นอย่างสุดความสามารถเพื่อเรียกความมั่นใจคืนมา

สุดท้ายแล้วถ้าลองปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานแล้วยังรู้สึกหมดไฟ ทางออกสุดท้ายคือ อย่าฝืนใจตัวเองในเรื่องงาน งานแต่ละอย่างก็ต้องการคนทำงานที่มีบุคลิกต่างกันออกไป จงมองดูว่าคุณเป็นคนแบบไหน เหมาะกับงานอะไร บุคลิกของคนก็เหมือนกับขนาดเสื้อผ้า รองเท้า เราคงหาแบบสำเร็จรูปตามท้องตลาดที่พอดีที่สุดกับเราไม่ได้ แต่เราอาจจะเลือกให้ได้ใกล้เคียงที่สุดได้ คุณต้องรู้ว่าคุณเป็นใคร มีบุคลิกแบบไหน ชอบงานอะไร แล้วจงเลือกอนาคตให้เหมาะสมไปตามนั้น หรือให้ได้ใกล้เคียงที่สุด หากหาได้ดังนี้ไม่ว่าจะทำงานจนล้าแค่ไหน คุณก็จะจุดไฟในตัวเองได้อีกครั้ง