posttoday

ไทยนิยม สู่นิยมไทย อย่าแค่ไฟไหม้ฟาง

15 พฤษภาคม 2561

ต้องยอมรับว่าการจัดงานอุ่นไอรักฯ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว ภาพ ไทยพีบีเอส

ต้องยอมรับว่าการจัดงานอุ่นไอรักฯ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบันมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดขึ้น ณ ลานพระราชวังดุสิตและสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ 8 ก.พ.-11 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมา กับปรากฏการณ์ละครบุพเพสันนิวาสที่จบไปแล้วนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมที่คนไทยต้องตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจในประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย จนเป็นกระแสไทยนิยม

ดังจะเห็นได้จากการแต่งชุดไทย อาหารไทยโบราณ การท่องเที่ยวสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้กลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย และได้รับการหยิบยกเป็นประเด็นในวงสนทนาวิชาการอย่างแพร่หลาย แต่ทำอย่างไรกระแส “ไทยนิยม” นั้นจะเกิดความยั่งยืนต่อไป ที่มิใช่แค่ปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟางที่วูบวาบสักพักแล้วก็ดับมอดไปเฉยๆ 

ทำไมต้องเสวนาคอนเสิร์ต วัฒนธรรมนำไทยฯ

การจัดเสวนาคอนเสิร์ต “วัฒนธรรมนำไทย ไทยนิยม...สู่นิยมไทย” ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีการถ่ายทอดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ นับเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมและการขับเคลื่อนนโยบาย “ไทยนิยม” ของภาครัฐอีกด้วย

รศ.ดร.กิติมา อินทรัมพรรย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มก. กล่าวถึงการจัดโครงการเสวนาดนตรีดังกล่าวว่า ละครเรื่องบุพเพสันนิวาสถือเป็นละครที่สาธารณชนให้ความสนใจจนเกิดเป็นกระแสไทยนิยมและการฟื้นฟูวัฒนธรรมหลายๆ ด้าน คณะมนุษยศาสตร์ มก. จึงเห็นโอกาสที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้จากการบูรณาการศาสตร์ในสาขามนุษยศาสตร์และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ดนตรี ตอบสนองนโยบายภาครัฐในด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่คู่กับสังคมไทย จึงได้จัดโครงการเสวนาคอนเสิร์ตดังกล่าว

ด้าน ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ศิลปะและวัฒนธรรมไทย เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความงามความเจริญของบ้านเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่แฝงอยู่ในชีวิตความเป็นอยู่ของสยามประเทศอันผูกพันอยู่กับสถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม ทั้งวัฒนธรรมอาหาร การปกครอง เครื่องแต่งกาย ความเชื่อ ภาษา ดนตรี และสถาปัตยกรรมอันงดงามจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยในปัจจุบัน

ไทยนิยม สู่นิยมไทย อย่าแค่ไฟไหม้ฟาง

ขณะที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การจัดเสวนาคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่จะสร้างสรรค์และแสดงการรวมตัวด้านสื่อสารมวลชนและดนตรีอย่างลงตัว ทั้งผลที่จะเกิดขึ้นจากงานนี้จะเป็นองค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์และภาพทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ในศาสตร์ด้านมนุษยศาสตร์ที่ไม่ได้อยู่เพียงในสื่อโทรทัศน์อย่างที่ผ่านมา แต่เผยแพร่สื่อสารต่อไปยังสื่ออื่นๆ ได้กว้างขวาง กระตุ้นให้เกิดการบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างดี โดยเฉพาะภาครัฐด้านวัฒนธรรม ภาษา การท่องเที่ยว และส่วนที่ส่งเสริมการพัฒนาคุณค่าทางวัฒนธรรมในตัวสินค้าเพื่อการส่งออกต่อไป

ในงานเสวนาคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นการนำเสนอเกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์ เครื่องแต่งกาย ในสมัยอยุธยา ผสมผสานกับบทเพลง ในประวัติศาสตร์ เพลงอมตะจากละครย้อนยุค บรรเลงโดยวงดุริยางค์เครื่องลมแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ KU Wind Symphony ได้แบ่งการแสดงออกเป็น 3 ช่วงสลับกับการเสวนา

ช่วงที่ 1 ใช้ชื่อว่า “ยอยศศรีอโยธยา” ประกอบด้วยการบรรเลงเพลงโหมโรงอยุธยา ซึ่งมีบทบาทในการต้อนรับราชทูตสยามในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ช่วงที่ 2 คือ เสมอนคราเทพยรังสรรค์ ประกอบด้วยการบรรเลงเพลงสายโลหิต ช่วงที่ 3 “สถิตสวรรค์รัตนโกสินทร์” ประกอบด้วยการบรรเลงเพลงอมตะจากละครเรื่องสี่แผ่นดิน ลาวคำหอม และเพลงในหลวงของแผ่นดิน

แต่ละช่วงของการแสดงบนเวทีเป็นที่ตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชมในงานและผู้ชมทางบ้านเรียกว่าเป็นไฮไลต์ได้ทั้งหมด โดยมีนักแสดงมากมาย ซึ่งมาจากคณาจารย์ นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงดารานักแสดงที่เป็นศิษย์เก่าของ มก.ทั้งสิ้น อาทิ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ที่มาพร้อมกับคุณแม่ เป็นต้น

ไทยนิยม สู่นิยมไทย อย่าแค่ไฟไหม้ฟาง

นุ่งโจงกระเบนมรดกกรุงศรีที่คนอย่าได้ลืม

หันมาที่เวทีเสวนาเป็นเรื่องเกี่ยวกับยุคทองของอยุธยา ความรู้เรื่องการแต่งกายรูปแบบการแต่งกาย และการเสวนาให้เกร็ดความรู้เกี่ยวกับภาพสะท้อนวัฒนธรรมในประวัติศาสตร์อยุธยาตอนปลาย โดยมีคณาจารย์ร่วมเสวนา 3 คน คือ ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ ศิลปินผู้ประพันธ์บทละครโทรทัศน์ และ ผศ.ดร.ญาดา อารัมภีรผู้เชี่ยวชาญสาขาวรรณคดีและภาษาไทย

ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ศิลปินนักออกแบบเครื่องแต่งกายสมัยอยุธยา ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายละครเรื่องพิษสวาท ภาพยนตร์ซีรี่ส์เรื่องศรีอโยธยา กล่าวว่า ต้องยอมรับกรุงศรีอยุธยาได้ถ่ายทอดศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ มาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพฯ ในทุกวันนี้ ซึ่งแต่เดิมชื่อว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอโยธยา ก็คือเมืองอยุธยาใหม่ ผ่านยุคสมัยมาเรื่อยๆ จนมาเป็นคนไทยทุกวันนี้ ฉะนั้น กรุงศรีอยุธยายังไม่ตาย สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 คนอยุธยาก็มาสร้างเมืองใหม่คือธนบุรี และรัตนโกสินทร์ แบบแผน ประเพณีของรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็มาจากกรุงศรีอยุธยา คนที่มาสร้างกรุงเทพฯ ก็คือคนอยุธยาตอนปลาย แล้วคนที่สืบเชื้อสายมาในคนกรุงเทพฯ ก็คนอยุธยานั่นเอง

“ถ้าถามสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดตั้งแต่กรุงศรีอยุธยามาถึงปัจจุบันที่อยากจะฝากคนไทย คือ การนุ่งโจงกระเบน ต้องยอมรับว่าตั้งแต่งานอุ่นไอรักฯ มาถึงละครบุพเพสันนิวาสที่เกิดกระแสฟีเวอร์ ฯพณฯ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า พอดูละครบุพเพสันนิวาสคนไทยในยุคใหม่ก็ตื่นเต้น ได้ภาษาไทยมาหนึ่งคำคือ ‘ออเจ้า’ ได้อาหารมาหนึ่งอย่างคือ ‘หมูโสร่ง’ ส่วนเราได้โจงกระเบนมาคนละผืน เห็นใส่กันแพร่หลาย แต่หลายคนใส่ไม่เป็น บางคนต้องไปซื้อสำเร็จรูปมาใส่ฉะนั้นจึงอยากฝากมรดกอยุธยาคือการนุ่งโจงกระเบนให้คนไทยอย่าได้ลืม นุ่งไม่ยากฝึกนิดหน่อยก็เป็นแล้ว”

ละครเสียกรุงต้องไม่สร้างต่อไป

ศัลยา สุขะนิวัตติ์ หรือ อาจารย์แดง ศิลปินผู้ประพันธ์บทละครโทรทัศน์ชื่อดังหลายเรื่อง อาทิ คู่กรรม นางทาส สายโลหิตดอกส้มสีทอง รวมถึงบุพเพสันนิวาส และเป็นอดีตอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังเขียนบทละครสายโลหิตเวอร์ชั่นที่ 2 โดยตัดสินใจที่จะไม่เขียนถึงการเสียกรุงเหมือนเวอร์ชั่นแรกอีกต่อไป  

“ดิฉันอยากจะอ่านอะไรสักอย่างให้ฟังเพื่อยืนยันว่า เราต้องจบเรื่องการเสียกรุงไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรอยต่อจากอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ หรือถึงอะไรก็ตาม ขอให้จบเรื่องการเสียกรุง แล้วการเสียกรุงไม่น่าจะเข้ามาอยู่ในละครอีกต่อไป ดิฉันขออ่านให้ฟัง

คำพูดแรกมีอยู่ว่า ‘ขออโหสิกรรมในเหตุการณ์ต่างๆ ที่กองทัพพม่าได้ก่อขึ้นไว้อย่างโหดร้ายและเศร้าสลดที่สุดในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ที่เศร้าสลดขึ้นในครั้งนั้นเมื่อพม่าได้รับเอกราช สิ่งแรกที่ชาวพม่ามุ่งหวังก็คือกลับเป็นมิตรพุทธมามกะกับเพื่อนบ้านใกล้เคียงคือประเทศไทย’ นี่คือคำพูดนี้ของ ฯพณฯ อูนุ นายกรัฐมนตรีพม่าเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2500 ในงานฉลองพุทธศตวรรษ

ไทยนิยม สู่นิยมไทย อย่าแค่ไฟไหม้ฟาง

อีกคำพูดหนึ่ง ‘ประเทศทั้งสองได้เรียนรู้ข้อพิพาทที่เคยมีมาในอดีต และส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นด้วยกัน ขอให้ประเทศทั้งสองแสดงให้ปรากฏแก่ตาโลกว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ประเสริฐ ตั้งอยู่ด้วยกันโดยสันติเป็นนิตย์และประโยชน์ซึ่งกันและกันเป็นนิรันดร’ นี่คือพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนพม่าในเดือน มี.ค. 2503”

อาจารย์ศัลยา กล่าวย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ด้วยคำพูดดังกล่าวนี้จะต้องไม่มีเหตุการณ์อย่างนั้น ไม่มีภาพหรือเรื่องราวการเสียกรุงเกิดขึ้นในละครของไทยอีกต่อไป ส่วนทางพม่าจะทำละครเหล่านี้หรือไม่ไม่อาจทราบได้ แต่ของไทยต้องไม่มี แล้วสายโลหิตเวอร์ชั่น 2 จะไม่เหมือนกับสายโลหิตในเวอร์ชั่นแรก

ขณะที่ ผศ.ดร.ญาดา อารัมภีร ผู้เชี่ยวชาญสาขาวรรณคดีและภาษาไทย อดีตอาจารย์ภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า แม้ละครไทยจะไม่สร้างที่เกี่ยวกับการเสียกรุง แต่สิ่งที่อยากให้คนไทยตระหนัก ไม่อยากให้นำมาสู่การเสียกรุงอีกในยุคสมัยของพวกเราคนไทยในปัจจุบันและอนาคต ก็คือตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันทุกคนมายืนอยู่ตรงนี้ได้ก็เพราะมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ชาติไทยคงไม่ดำรงอยู่มาถึงวันนี้ได้

“สิ่งที่อยากฝากคือ เมื่อเราจะสืบสานศิลปะ วัฒนธรรม นิยาย ละคร บทเพลง ดนตรี หรือสิ่งที่จะสร้างความบันเทิงรื่นเริงต่อผู้ชมนั้น ก็ควรแทรกสิ่งเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่คู่คนไทย และเป็นหัวใจของพวกเราไปตลอดกาล”

วัฒนธรรมไทยสู่ไทยนิยมอย่างยั่งยืน

ดร.สุรัตน์ มองว่า วัฒนธรรมไทย ไทยนิยมสู่นิยมไทย เป็นชื่อที่ดี แต่ต้องการให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่อยากให้เป็นไฟไหม้ฟางวูบขึ้นมาแล้วหายไป ทุกคนไม่ต้องลุกขึ้นมานุ่งโจงกระเบน ห่มสไบเดินไปถ่ายรูปอย่างเดียวก็ได้ แต่ยังมีความนิยมไทยอื่นๆ ที่เป็นความเป็นไทยที่ยั่งยืนในชีวิต เช่น ความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ ความเป็นเพื่อน ความเป็นญาติเป็นมิตร ที่คนไทยมีมาแต่โบราณ แต่ปัจจุบันสังคมเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีวัฒนธรรมการอยู่แบบใหม่ เช่น อยู่คอนโด หมู่บ้านจัดสรร อพาร์ตเมนต์ ทุกคนไม่รู้จักกัน นี่คือความเป็นไทยที่หายไป อีกอย่างเวลาที่เกิดไทยนิยม เช่น ละครจบแล้วก็หายไป กระทั่งเกิดไทยนิยมอย่างอื่นก็มาเริ่มกันใหม่ ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น อีกอย่างอยากให้ความนิยมไทยอย่างอื่นที่ฝังรากลึกในจิตใจของเรา เช่น ความมีน้ำใจ การรู้จักแบ่งปัน ให้อยู่ในใจคนต่อไปอย่างยั่งยืน

ด้าน อาจารย์ศัลยา กล่าวว่า การที่จะเกิดไทยนิยม นิยมไทยอย่างยั่งยืนนั้น ต้องทำในรูปแบบที่แข็งแรง ไม่ใช่เพียงแค่ละครที่สอดแทรกไปนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งไม่พอ ต้องทำละครที่มุ่งเน้นประเด็นนั้นจริงๆ ยกตัวอย่าง นาฏศิลป์ไทย เพลงไทย วิจิตรศิลป์ หรืออาหารก็ต้องทำจริงๆ

“จะทำแดจังกึมก็ต้องทำแบบแดจังกึมจริงๆ ทำให้เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่แค่หมูโสร่งที่ดิฉันเขียนในบุพเพสันนิวาส ตัวเองก็ไม่รู้จักเลย ไม่เคยกินด้วย ก็ไปเปิดหนังสือดูว่ามันทำแบบไหน อย่างนี้ไม่ได้ หรือการฝีมือต่างๆ เช่น ร้อยมาลัย ไม่ต้องทำเป็นเรื่องใหญ่โต แต่ทำให้มันจริงจัง ส่วนเรื่องทางสังคม วัฒนธรรม การอยู่ร่วมกัน ความเอื้ออาทรต่อกัน ถ้าถามดิฉันอยากทำละครเรื่องอะไร ก็อยากทำที่เกี่ยวกับคนแก่ ซึ่งวัฒนธรรมสำหรับคนแก่ในบ้านเราไม่มีที่ไหนในโลกที่พิเศษกว่านี้แล้ว จึงต้องไปหาข้อมูลทำออกมาชัดเจน

อีกเรื่องที่อยากทำคือ เศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆ ดิฉันเชื่อคนไทยยังไม่รู้เรื่องนี้อย่างถ่องแท้ แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่จะพูดต่อไปคือความร่วมมือจากผู้จัดละครหรือช่องทีวีต่างๆ ยากที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด เพระเป็นเรื่องพาณิชย์ศิลป์ ฉะนั้น ถ้าเผื่อใครที่มีหน้าที่ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม นอกเหนือจากงานที่ท่านทำอยู่แล้วก็มาทำตรงนี้ อันนี้คือสิ่งที่ต้องการที่สุด

สำหรับดิฉันต้องการคอนเทนต์ที่ชัดเจนและแข็งแรง แต่นิยายที่มีอยู่เดี๋ยวนี้แทบจะใช้ไม่ได้แล้ว มันเก่า มันช้ำ มันเฝือ ไม่มีนิยายเรื่องอะไรที่โดดเด่นในเรื่องวัฒนธรรม ฉะนั้นคอนเทนต์เหล่านี้ คนที่มีหน้าที่ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม ต้องไปจัดการทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม แล้วคนทำละครก็ไปเอามา แล้วก็มาถึงมือดิฉันก็เขียนอย่างดีที่สุดส่งไปขายต่างประเทศได้เลย” นักเขียนบทละครโทรทัศน์ชื่อดัง กล่าวทิ้งท้าย