posttoday

กามิลล์ อองโรต์

13 พฤษภาคม 2561

เคที โนเบิล เป็นภัณฑารักษ์ให้ Born, Never Asked นิทรรศการภาพวาดล่าสุดโดย กามิลล์ อองโรต์

โดย อฐิณป ลภณวุษ ภาพ : กามิลล์ อองโรต์

เคที โนเบิล เป็นภัณฑารักษ์ให้ Born, Never Asked นิทรรศการภาพวาดล่าสุดโดย กามิลล์ อองโรต์ (Camille Henrot) ที่รวบรวมผลงานกว่า 50 ชิ้น จัดแสดง ณ แกลเลอรี่ชั้นบนของเมโทร พิคเจอร์ส กรุงนิวยอร์ก ระหว่างวันนี้-25 พ.ค.

กามิลล์ อองโรต์

นิทรรศการ Born, Never Asked คัดสรรผลงานจากซีรี่ส์ Tropics of Love (2010- ) Bad Dad (2015-2017) The Narcissist (2015-2017) และ Born, Never Asked (2017- ) ที่นำมาตั้งเป็นชื่อของนิทรรศการ โดยเนื้อหาในภาพทั้งหลาย มีทั้งเล่าเรื่องราวส่วนตัว และภาพแนวสะท้อนสังคม

ในผลงานของกามิลล์ ได้ผสมผสานระบบต่างๆ ภายนอก ไม่ว่าจะเป็น สังคม ศาสนา หรือการเมือง ซึ่งมีผลกับโครงสร้างของชีวิตพวกเราๆ เข้ากับสิ่งที่อยู่ภายใน อย่างจิตใต้สำนึก ความฝัน จินตนาการ กามิลล์ถ่ายทอดเรื่องราวความคิดแบบขนบดั้งเดิม การครอบงำ คำสอนสั่งต่างๆ ที่เคยได้ยินได้ฟัง ออกมาเป็นภาพกราฟฟิกแนวจิตๆ ที่วาดด้วยสีน้ำ โดยเฉพาะภาพวาดเพี้ยนๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศ ที่ภัณฑารักษ์บอกไว้ในสูจิบัตร... “คาแรกเตอร์ในแต่ละภาพเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางทีก็ดูไม่ออกว่าเพศไหน หรือใช่คนหรือเปล่า...”

กามิลล์ อองโรต์

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับลายเส้นของกามิลล์ คือ ผลงานของซาอุล สไตเบิร์ก ศิลปินชาวโรมาเนีย-อเมริกัน รวมทั้งภาพวาดแนว ชุงกะ (Shunga) หรือภาพวาดแนวอีโรติกของญี่ปุ่นโบราณ นอกจากนี้ เธอยังชื่นชอบในไอเดียที่เห็นการ์ตูนมังงะร่วมสมัยของญี่ปุ่น ซึ่งหญิง ชาย สัตว์ต่างๆ หรือมนุษย์ บางทีก็รวมกันอยู่ในร่างเดียวได้ด้วย โดยกามิลล์เห็นว่า แนวคิดนี้สามารถถ่ายทอดความรู้สึกลงในภาพดรอว์อิงของเธอได้ ทั้งด้านความปรารถนาและความกลัว ดังที่ปรากฏในซีรี่ส์ Tropics of Love ของเธอนั่นเอง

หัวของสัตว์ปรากฏอยู่บนเรือนร่างของมนุษย์ที่กำลังนัวเนียกันแบบสองต่อสองหรือสาม! (Threesome) ขณะที่ในซีรี่ส์ Born, Never Asked สตรีให้กำเนิดลูกออกมาเป็นปลาตัวโต แล้วช่องคลอดก็กลายเป็นปากของปลา ที่เวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทร ฯลฯ ภาพวาดของกามิลล์ ไร้แสงเงา ความตื้นลึก รายละเอียดไม่มาก บ้างก็เหมือนภาพวาดเด็กๆ (แต่เนื้อหาติดเรต)

กามิลล์ อองโรต์

นิทรรศการ Born, Never Asked เป็นผลงานที่สืบเนื่อง เป็นส่วนต่อขยายนิทรรศการเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้วของเธอ ซึ่งจัดขึ้น ณ ปาเลส์ เดอ โตเกียว กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อันเป็นนิทรรศการผสมผสานระหว่างภาพวาด และมัลติมีเดียต่างๆ โดยเน้นไปที่ภาพยนตร์ 3 มิติของเธอ เรื่อง Saturday รวมไปถึงหนังที่ไม่ธรรมดา Grosse Fatigue ที่เล่นกับภาพและเสียง จนทำให้เธอได้รางวัล Silver Lion ที่เทศกาลเวนิสเบียนนาเล ในปี 2013

กามิลล์ อองโรต์ ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 10 ศิลปินรุ่นใหม่ของโลกที่น่าจับตามอง นับตั้งแต่นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก The Pale Fox เมื่อปี 2014 ที่แกลเลอรี่ชิเซนเฮล ในกรุงลอนดอน เธอก็มีผลงานแสดงเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถาบันใหญ่ๆ มากมาย อย่าง นิวมิวเซียม กรุงนิวยอร์ก หอศิลป์แห่งชาติออสเตรีย (Kunsthalle Wien) ในกรุงเวียนนา หอศิลป์ชาร์ล็อตเทนบวร์ก (Kunsthal Charlottenborg) ในกรุงโคเปนเฮเกน รวมถึง ชินเคล พาวิลเลียน ในกรุงเบอร์ลิน ฯลฯ

กามิลล์ อองโรต์

ไม่เพียงในยุโรป ผลงานของ กามิลล์ ยังข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเอเชียและออสเตรเลีย ทั้งที่ไทเป เบียนนาเล กวางจู เบียนนาเล และซิดนีย์ เบียนนาเล โดยในปี 2014 ที่เริ่มมีนิทรรศการเดี่ยวนั้น เธอยังได้รับรางวัลนาม จูน เพค ที่มอบให้ศิลปินยุคใหม่ และในปี 2015 เธอยังเป็นศิลปินคนแรกที่คว้ารางวัลเอ็ดวาร์ด มุงค์ อีกด้วย