posttoday

อัญชุลี ไชยรินทร์ เศรษฐกิจพอเพียงตอบโจทย์ชีวิตที่สุด

13 พฤษภาคม 2561

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ป

โดย วรธาร ทัดแก้ว 

ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประชาชนในหลายสาขาอาชีพได้น้อมนำมาปฏิบัติจนสามารถตอบโจทย์ความสุขในชีวิตได้อย่างแพร่หลาย “ครูนิด-อัญชุลี ไชยรินทร์” ครูอาสาเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จ.ลพบุรี เป็นคนหนึ่งที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพเกษตรมาได้ประมาณ 2 ปี ได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงในแบบที่ต้องการ คือ นอกจากตัวเองและครอบครัวจะมีความสุขแล้วยังได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ตลอดจนชุมชน สังคม ประเทศชาติด้วย

จากอาจารย์มหา’ลัยหันมาสนใจเกษตร

อัญชุลี ไชยรินทร์ เศรษฐกิจพอเพียงตอบโจทย์ชีวิตที่สุด

แบ็กกราวด์ของครูนิดต้องบอกว่าไม่ใช่สาวชาวบ้านธรรมดา แต่เธอเคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยมาประมาณ 7 ปี จึงได้ลาออกมาทำเกษตรกรรมตามแนวทางศาสตร์พระราชา (ในหลวงรัชกาลที่ 9) โดยความสนใจในการทำเกษตรได้เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ จากการที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวภาคอีสานและได้เห็นเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ที่จังหวัดแห่งหนึ่งแล้วเกิดความสนใจ

“ปีที่น้ำท่วมใหญ่ยังเป็นอาจารย์สอนคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยสยาม แล้วช่วงน้ำท่วมนั้นก็ได้หยุดยาว จึงถือโอกาสไปเที่ยวภาคอีสาน ได้ไปเห็นชาวบ้านในจังหวัดหนึ่งรวมกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์ เป็นข้าวมะลิ เป็นกลุ่มที่เข้มแข้งมากโดยขายข้าวให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้วยตอนนั้นกิโลกรัมละ 200 บาท เห็นชาวบ้านทำเลยเกิดไอเดีย อยากปลูกเอง ที่บ้านมีที่นาอยู่ 8 ไร่ แต่ปล่อยให้เขาเช่าทำนาเคมี ก็คิดว่าถึงเวลาที่จะต้องทำเอง

พอกลับจากอีสานก็ไปบอกคนเช่าว่าอีก 2 ปีจะขอทำนาเองแล้ว ระหว่างรอก็หาเวลาไปเรียนปลูกข้าวอินทรีย์ที่ข้าวขวัญสุพรรณ จ.สุพรรณบุรี กับอาจารย์เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ 3 วัน พอได้ไอเดีย เหตุผลที่ต้องเรียนเพราะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย เพราะเวลาเกือบ 20 ปีได้ที่ตัวเองทำงาน หาเงินเรียนจนได้มาเป็นอาจารย์สอนก็อยู่ในเมืองตลอด จึงไม่มีความรู้เรื่องปลูกข้าว พอครบสัญญาเช่า 2 ปีก็เลยมาปลูกข้าวอินทรีย์ ทั้งหมด 8 ไร่ แต่ผลผลิตได้ไม่เยอะเพราะทำครั้งแรก ก็เอาไว้กินและเอามาแบ่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเป็นที่ติดอกติดใจ เราเองก็ดีใจ ถึงไม่ดีมากก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นครั้งแรก”

ครูนิดบอกว่า ช่วงที่ทำนาปลูกข้าวต้องเทียวไปเทียวกลับกรุงเทพฯ-ลพบุรีบ่อย แต่ก็ไม่บ่อยเท่ากับการสวมบทบาทเป็นชาวนามือถือ กล่าวคือจะส่วนใหญ่จะโทรไปถามทางบ้านบ่อยๆ เช่น ไถนาหรือยัง หว่านหรือยัง เกี่ยวข้าวหรือยัง เนื่องจากบางครั้งก็ไม่สามารถเดินทางไปทำด้วยตัวเองได้เพราะติดภารกิจสอนหนังสือ

“ปลูกข้าว 2 ปีก็มองถึงการลาออกจากการเป็นอาจารย์สอน เพื่อที่จะไปเป็นเกษตรกรเต็มตัว แต่ตอนนั้นรู้สึกกังวลอยู่เหมือนกัน คือเป็นอาจารย์สอนก็ดีแล้ว ถ้าลาออกไปจะรอดไหม จะมีเงินหรือเปล่า แล้วจะอยู่อย่างไร พอดีมีอาจารย์ท่านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ปัจจุบันเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์) แนะนำว่าอย่าเพิ่งลาออก ถ้าอยากทำเกษตรจริงๆ ให้ไปเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับอาจารย์ยักษ์ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี ก่อนแล้วค่อยลาออก”

เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงกับอาจารย์ยักษ์

อัญชุลี ไชยรินทร์ เศรษฐกิจพอเพียงตอบโจทย์ชีวิตที่สุด

จากนั้นเธอจึงหาโอกาสไปเรียนเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง หลักการพึ่งพาตนเอง ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ซึ่งจะมีฐานให้เรียนรู้ทั้งหมด 9 ฐาน ประกอบด้วย ฐานคนรักษ์แม่ธรณี คนรักษ์ป่า คนรักษ์น้ำ คนรักษ์แม่โพสพ คนเอาถ่าน คนรักษ์สุขภาพ คนมีไฟ คนมีน้ำยา และฐานคนติดดิน โดยเธอจะเน้นไปที่ฐานคนรักษ์สุขภาพและคนมีน้ำยา เรียนรู้เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์

“นิดอบรมเป็นรุ่นที่ 433 เป็นเวลา 5 วัน บอกเลยว่ามันแก้ความกังวลที่อยู่ในใจเราที่เคยมีได้หมดเลย การอบรมที่นี่ทำให้เราได้เพื่อนมากมาย เป็นรุ่นเด็กกว่าเราเยอะด้วย อันที่สอง ได้องค์ความรู้ที่ตอบโจทย์ความสุขในชีวิต ได้เจอ พี่โจน จันได เจออาจารย์ยักษ์ ที่เป็นแรงบันดาลใจและเป็นแบบอย่างให้เจริญรอยตามอย่างศรัทธา

หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน จึงลาออกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย กลับมาลุยทำเกษตร ด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกสมุนไพร ไปพร้อมกับการศึกษาข้อมูลการทำเกษตรของอาจารย์ยักษ์จากยูทูบ รวมทั้งไปลงพื้นที่จริงของคนทำเกษตรตามแนวทางของศาสตร์พระราชาแล้วประสบความสำเร็จหลายต่อหลายคน”

เธอเล่าว่า การได้พูดคุย สนทนา แลกเปลี่ยน เรียนรู้กับคนทำเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชาที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คนในพื้นที่ จ.ลพบุรี สระบุรี และจังหวัดต่างๆ นั้น ทำให้เกิดแรงบันดาลใจมหาศาลและพร้อมที่จะยืนหยัดอยู่ในเส้นทางนี้ ที่สำคัญเธอเชื่อมั่นว่าศาสตร์พระราชาสามารถทำให้มีชีวิตประสบความสำเร็จและมีความสุขอย่างยั่งยืนตามที่ต้องการ

“พอลาออกมาก็มาบุก 2 แปลงซึ่งอยู่หลังบ้าน ทำเป็นแปลงทดลองปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพรหลายอย่าง ทำเองหมด ส่วนที่นา 8 ไร่ ก็ยังปลูกข้าวอยู่ ช่วงที่ทำนั้นเป็นช่วงที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ พร้อมภาคีเครือข่ายกำลังเดินหน้าฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การปฏิบัติในโครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดินปี 4 มุ่งสร้างศูนย์เรียนรู้ป่าสักโมเดลในพื้นที่ห้วยกระแทก จ.ลพบุรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ

ตอนนั้นทางโครงการฯ พยายามรวมคนรุ่นใหม่ที่หันมาทำเรื่องนี้ และนิดก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย ปรากฏวันงานอาจารย์ยักษ์พาคนปั่นจักรยานประมาณ 200 กว่าคนมาเยี่ยมาถึงบ้าน มาดูแปลงของเรา คุยกับคุณตาอย่างออกรส ณ เวลานั้นนิดรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำคนเดียว จากนั้นหนึ่งปีถัดมานิดเลยปรับที่นา 8 ไร่ ทำเป็นโคก หนอง นา ปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง แต่ต้องบอกก่อนว่าตอนแรกที่ลาออกมาทำเกษตรทางครอบครัวไม่เห็นด้วย แต่พอเขาเห็นเราทำจริง ก็ไม่มีใครคัดค้าน แถมมาช่วยกันทำอีกต่างหาก"

วิทยากรครูอาสาสอนเรื่องการแปรรูป

อัญชุลี ไชยรินทร์ เศรษฐกิจพอเพียงตอบโจทย์ชีวิตที่สุด

ด้วยความที่มีความรู้และเชี่ยวชาญในเรื่องการแปรรูปสมุนไพรธรรมชาติเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งของกินและของใช้ เช่น แปรรูปมะกรูด มะนาว ที่หาได้ในสวน เป็นยาสีฟัน ยาสระผม สบู่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาอเนกประสงค์ ทำให้ครูนิดมีบทบาทหน้าที่สำคัญ โดยเป็นวิทยากรครูอาสาในกลุ่มเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ทุกครั้งที่เครือข่ายมีการจัดงาน ไม่ว่าจะจัดที่ไหน จังหวัดอะไร เธอมักจะไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องการแปรรูปอยู่เสมอ

"เมื่อก่อนเวลาใช้ยาสระผม โลชั่น ยาสีฟัน ต้องซื้อในห้างหมดเลย ไม่เคยคิดว่าของพวกนี้มันทำเองได้ พอมาเรียนกับอาจารย์ยักษ์ที่มาบเอื้อง สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม น้ำยาล้างจาน ทำเองหมดเลยค่ะ ทำง่ายด้วย วัตถุดิบที่ทำก็เอามาจากสวนที่เราปลูก คุณภาพก็ดี ใช้ดี แถมประหยัดด้วย ซึ่งมันตอบโจทย์ชีวิตตามหลักที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนเลย คือ หลักการพึ่งพาตัวเอง

ของแปรรูปต่างๆ นิดจะทำให้คนในครอบครัวใช้ก่อน จากนั้นก็ทำไปแจกบ้านข้างๆ เป็นการแบ่งปันตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนว่า เราให้ก่อนแล้วจะได้ความสุขกลับมาและได้มากกว่าที่ให้อีก นิดเชื่อพระองค์หมดใจ ทำตามแล้วรู้สึกใช่ทุกอย่าง วันนี้ทำต่อไป ทำเป็นวิถีชีวิต ทุกวันนี้ชีวิตมีความสุขมาก ถึงจะเป็นงานที่หนักและเหนื่อยนะ แต่ข้างในมันสุข แล้วเราไม่ได้สุขคนเดียว คนในครอบครัวก็สุข คนอื่นก็สุข เพราะเรามีแล้วแบ่งปัน ที่สำคัญเราทำประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชนตลอด" ครูนิด กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับใครที่อยากจะไปเห็นสิ่งที่ครูนิดทำ วันที่ 27 พ.ค.นี้เธอจะจัดกิจกรรมปันแรงปันรู้ที่สวนครูนิด (สวนของเธอ) ต.ท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยจะมีเพื่อนๆ เครือข่ายคืนป่าสักและจากหลายจังหวัด คาดว่าประมาน 50 คน มาช่วยกันปลูกต้นไม้ (ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง) ทำหัวคันนาทองคำในพื้นที่ 8 ไร่ ที่ได้ปรับเป็นโคก หนอง นา โมเดลตามศาสตร์พระราชา พร้อมกันนี้ยังมีคนรุ่นใหม่หลายคนในกลุ่มกลับมาดำเนินชีวิตตามวิถีกสิกรรมธรรมชาติจะมาแลกความรู้และพูดคุยกันอีกด้วย