posttoday

จิตบริหารได้ เพื่อความสุขเป็นกิจวัตร

12 พฤษภาคม 2561

ในโลกที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายและวิ่งไวด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือออนไลน์

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

ในโลกที่ยุ่งเหยิงวุ่นวายและวิ่งไวด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศหรือออนไลน์ ที่เชื่อมโยงผูกสัมพันธ์และแบ่งปันข้อมูลผ่านวิถีชีวิตและรสนิยม ทำให้หลายๆ คนต้องสับสนและแตกกระเจิงอย่างมิอาจต้านทาน

บางคนจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาจนเกินเหตุ เมื่ออยู่ในอาการตกใจ เสียใจ โกรธ ดีใจ หรือเกิดความอยากได้ เพราะจิตใจอ่อนแอ ขุ่นมัว

จิตของผู้คนทุกวันนี้คิดเรื่องต่างๆ มากมาย จิตย่อมจะเหนื่อยล้า เพราะฉะนั้นปัญหาทางด้านจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญในชีวิตประจำวัน หากสามารถกำหนดและทำให้ไม่ฟุ้งซ่านและเพริศเตลิด ก็น่าจะสร้างความสงบสุขในชีวิตได้

พูดถึงการบริหารจิต หมายถึงการบำรุงรักษาจิตให้เข้มแข็งผ่องใสบริสุทธิ์ จะต้องฝึกฝนให้จิตสงบนิ่งอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งการฝึกจิตให้สงบ คือการทำสมาธินั่นเอง เป็นภาวะของจิตที่ตั้งมั่น กำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ไม่ฟุ้งซ่านไปหาสิ่งอื่นหรือเรื่องอื่นจากสิ่งที่กำหนด

ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งหรืออารมณ์เดียว และจิตตั้งมั่นนั้นจะต้องเป็นกุศล จะเกิดความสงบ เยือกเย็น สบายใจ มีความผ่อนคลาย เอิบอิ่มใจ ปลอดโปร่ง และมีความสุข

หยิบข้อมูลเรื่อง “10 วิธีบริหารจิตในชีวิตประจำวัน” จากมูลนิธิหมอชาวบ้าน โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ที่แนะนำว่าการบริหารจิตมีผลต่อสุขภาพกาย สมองและจิตใจพอๆ กับการบริหารกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อการพัฒนาสมองด้วยการกระตุ้นให้เกิดการงอกใหม่และการปรับวงจรใหม่ของเซลล์สมอง ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาจิตใจให้สมบูรณ์และมีความสุขสงบเย็นอีกต่อหนึ่ง

การบริหารจิตควรทำให้เป็นกิจวัตรในชีวิตประจำวัน ซึ่งพอรวบรวมไว้ 10 วิธี ดังนี้

1.ออกกำลังกาย เช่น วิ่งเหยาะ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก ฝึกชี่กง รำมวยจีน (ไทเก๊ก) ฝึกโยคะ เป็นต้น

2.นอนหลับให้เพียงพอประมาณ 6-8 ชั่วโมง การนอนหลับดีมีผลต่อการพัฒนาสมองหลีกเลี่ยงการอดนอน และการมีอารมณ์เครียดติดต่อกันนานๆ เพราะมีผลลบต่อร่างกาย สมองและจิตใจ

3.บริโภคอาหารสุขภาพตามหลักธงโภชนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดหวาน มัน เค็ม หันมากินปลา กินผักและผลไม้ให้มากๆ ไขมันโอเมกา-3 ในปลา (เช่น ปลาดุก ปลาช่อน) มีผลดีต่อการสร้างเซลล์สมองใหม่

4.หมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยการอ่าน การฟัง การค้นคว้า การหาประสบการณ์ใหม่ๆ การคิดใคร่ครวญ การถาม การบันทึก ตามหลัก “สุ จิ ปุ ลิ” ควบคู่กับการฝึกใช้ความคิดเป็นประจำ

5.ฝึกสมาธิ เช่น ฝึกอานาปานสติ สวดมนต์ ไหว้พระ เดินจงกรม ทำละหมาด อธิษฐานจิต วันละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง นานครั้งละ 5-10 นาที ช่วยให้จิตใจมั่นคง สงบนิ่ง ไม่วอกแวก ฟุ้งซ่าน

6.เจริญสติ รู้ตัวกับอิริยาบถและกิจกรรมต่างๆ เช่น ระลึกรู้ตัวอยู่กับการนั่ง นอน ยืน เดิน การเคลื่อนไหวจังหวะขณะออกกำลังกายต่างๆ การทำกิจวัตรประจำวัน

7.ฝึกใช้ลมหายใจเป็นระฆังแห่งสติ เราสามารถตามรู้ลมหายใจเข้า-ออก ในการทำอานาปานสติ ในการเจริญสติต่างๆ

8.ฝึกพักใจและสมองเป็นระยะๆ ในแต่ละวัน เช่น หยุดคิด โดยหันมาชื่นชมธรรมชาติ (สายลม แสงแดด ก้อนเมฆ สายฝน สายน้ำ ตะวันขึ้น ตะวันตกดิน ต้นไม้ ดอกไม้) หรือศิลปกรรม (เช่น ภาพวาด ภาพถ่าย รูปปั้น แจกันดอกไม้) นานครั้งละ 30 วินาที-1 นาที

9.เจริญปัญญาจากการสังเกตธรรมชาติของสรรพสิ่ง ว่าล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยมากมายที่มีการแปรเปลี่ยน ไม่คงที่ตลอดเวลา

10.ฝึกคิดดี-พูดดี-ทำดี ให้เป็นนิสัย ช่วยถ่วงดุลกับธรรมชาติของจิตที่มักคิดลบซึ่งเป็นไปตามกลไกสมองที่มักถูกครอบงำด้วยความมีอัตตาตัวตน นิสัยความเคยชินเดิม และอารมณ์ลบ

พร้อมบทสรุปจากผลงานวิจัยของ นพ.แดเนียล ซีเกล ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “The Mindful Brain” ตอนหนึ่งว่า เมื่อฝึกฝนจนมีสติแก่กล้า ก็จะมีจิตใจที่มีคุณสมบัติที่เรียกว่า “COAL” ได้แก่ C-Curiosity อยากรู้อยากเห็น ใฝ่รู้ O-Open จิตใจเปิดกว้าง เป็นกลาง ไม่ยึดติด A-Accept ยอมรับ ยอมแพ้เป็น ไม่โต้แย้ง ไม่ดึงดัน และ L-Love มีความรัก เมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่

การบริหารจิตเป็นประจำย่อมได้รับประโยชน์ในด้านต่างๆ คือด้านการดำรงชีวิตประจำวัน ได้แก่ การทำจิตใจให้สบาย ไม่มีความวิตกกังวล ความเครียด มีความจำดีขึ้น แม่นยำขึ้น ทำสิ่งต่างๆ ไม่ผิดพลาดหรือผิดพลาดน้อย เพราะมีสติสมบูรณ์ขึ้น การศึกษาเล่าเรียนและการทำงาน เกิดผลดีและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การมีจิตเป็นสมาธิยังทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท รวมทั้งมีผลเกื้อกูลต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ชะลอความแก่ ทำให้ดูอ่อนกว่าวัย และรักษาโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดัน โรคกระเพาะอาหาร เป็นต้น

ด้านการพัฒนาบุคลิกภาพ ได้แก่ ทำให้บุคลิกภาพเข้มแข็ง หนักแน่นมั่นคง สงบเยือกเย็น ไม่ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราด มีความสุภาพอ่อนโยน ดูมีสง่าราศี องอาจน่าเกรงขาม มีอารมณ์เบิกบาน ยิ้มแย้มแจ่มใส กระฉับกระเฉง กระปรี้กระเปร่า ไม่เซื่องซึม สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ได้