posttoday

‘ความหวังใหม่’ ท่ามกลางความล่มสลายของทรัพยากร

10 พฤษภาคม 2561

จากการขยายตัวของเมืองการเพิ่มของจำนวนประชากร การเติบโตของการเกษตรเชิงเดี่ยวและอุตสาหกรรมรวมถึงการจัดการที่ดินป่าที่ขาดประสิทธิภาพ

เรื่อง กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

จากการขยายตัวของเมืองการเพิ่มของจำนวนประชากร การเติบโตของการเกษตรเชิงเดี่ยวและอุตสาหกรรมรวมถึงการจัดการที่ดินป่าที่ขาดประสิทธิภาพ ล้วนส่งผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและการลดลงของพื้นที่ป่า โดยสถานการณ์ล่าสุดของป่าไม้ในประเทศไทย เราเหลือพื้นที่ป่าอยู่เพียง 102.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.60 ของพื้นที่ทั้งหมด

รัฐบาลจึงได้กำหนดเป็นนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และยกให้การฟื้นฟูป่ากลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ให้ถึงร้อยละ 40 หรือเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 26 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะหลังจากขับเคลื่อนมานานก็ยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่าหรือรีคอฟ (RECOFTC) จึงได้นำเสนอแนวทาง “การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้” (FLR-Forest Landsacpe Restoration) ซึ่งเป็นแนวคิดการฟื้นฟูป่าที่เชื่อว่าทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มพื้นที่ป่าในรูปแบบที่หลากหลาย โดยได้นำเสนอภายในงานเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กล่าวว่า องค์กรได้พยายามสร้างนวัตกรรมโดยนำความรู้ด้านวนศาสตร์ชุมชนมาช่วยในเรื่องการจัดการป่าไม้ และผลักดันให้เกิดการจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนและภาคส่วนอื่นๆ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

‘ความหวังใหม่’ ท่ามกลางความล่มสลายของทรัพยากร

“รีคอฟได้นำเสนอเครื่องมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการฟื้นฟูเชิงภูมิทัศน์ หรือการฟื้นฟูที่มองเชิงกว้างคือ เราจะพูดถึงแค่พื้นที่ป่าคงไม่พอ แต่ต้องมองถึงพื้นที่ทั้งหมดว่ามีอะไรที่สัมพันธ์กันบ้างเพราะการดูแลรักษาป่าในพื้นที่ป่านั้นแท้จริงแล้วไม่ยากเท่ากับการปรับหรือเปลี่ยนชุมชนบริเวณนั้นให้มาช่วยฟื้นฟูป่าด้วย”

การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้เป็นกระบวนการของการฟื้นฟูระบบนิเวศควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ที่มีป่าไม้เสื่อมโทรม ไม่ใช่แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่คือการฟื้นฟูพื้นที่ในภูมิทัศน์ทั้งหมดให้สามารถตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่เกษตรขนาดเล็ก และพื้นที่สาธารณะในเขตเมืองใหญ่ หัวใจสำคัญ คือ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันถักทอผืนป่าไปพร้อมกัน

วรางคณา ยังกล่าวด้วยว่า เหตุผลหลักที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรมและหายไปอย่างจริงจังหนึ่งในนั้น คือ การที่คนท้องถิ่นไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูป่า มากไปกว่านั้นภาครัฐยังคงใช้แนวทางการอนุรักษ์นำแทนที่จะเน้นการสร้างแรงจูงใจและส่งเสริมให้ชุมชนมาร่วมดำเนินการ

ปัจจุบันการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และภาครัฐเองก็มีการปรับใช้แนวทางนี้ในการฟื้นฟูป่ามากขึ้นเธอยกตัวอย่างประเทศจีน ที่ประสบความสำเร็จในฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ด้วยการปลูกไผ่โดยรัฐสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกไผ่ รับซื้อและสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ส่วนรัฐก็ได้พื้นที่ป่าและต้นไม้ที่ยึดหน้าดินเพิ่มขึ้น กลายเป็นตัวอย่างการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ที่เห็นผลเป็นรูปธรรม

“เราจะเพิ่มพื้นที่ป่าให้ถึงร้อยละ 40 ได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลใจอะไร เพราะที่สำคัญกว่านั้น คือ กระบวนการ” เธอแสดงทัศนะ

‘ความหวังใหม่’ ท่ามกลางความล่มสลายของทรัพยากร

“วันนี้เราคงต้องยอมรับสถานการณ์โลกว่าเราอยู่ในจุดที่เกินลิมิตของโลกไปนานแล้ว ตอนนี้เราจะสูญเสียพื้นที่ป่าไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว ดังนั้นการรักษาป่าที่มีอยู่ให้คงสภาพ และเพิ่มพื้นที่ป่า ควรเป็นฉันทามติสำหรับทุกคน ตอนนี้เราต้องช่วยกันหาวิธีการในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากที่สุดเท่าที่จะมีได้ เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่สิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมสลาย และความล่มสลายของทรัพยากรมาถึงจุดที่เราไม่สามารถอยู่บนเงื่อนไขเดิมๆ เราไม่สามารถทะเลาะกันบนพื้นฐานที่ว่าคนหนึ่งต้องได้หรืออีกคนต้องเสีย เพราะเราอยู่ในยุคที่ทุกคนต้องร่วมมือและทำทันทีในการดูแลสิ่งแวดล้อม”

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีต้นแบบในการจัดการป่าอย่างยั่งยืนให้เห็นอยู่ที่บริเวณลุ่มน้ำแม่ละอุป โดยชาวบ้านมีการจัดตั้งเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปขึ้นเพื่อจัดการพื้นที่ต้นน้ำในบ้านเกิดของตัวเอง

วิจิตร พนาเกรียงไกร กรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุป กล่าวว่า ลุ่มน้ำแม่ละอุปประกอบด้วย 5 หย่อมบ้าน มีประชากรกว่าหนึ่งพันคน ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวปกากะเญอ เดิมทีชาวบ้านในเครือข่ายเคยมีปัญหาเรื่องการจัดการป่าเป็นอย่างมาก เพราะป่าในพื้นที่เป็นป่าสงวนชั้นหนึ่งเอ และเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยกรมป่าไม้มีข้อยกเว้นให้ชาวบ้านสามารถทำกินและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าได้

ในช่วงแรกชาวบ้านใช้ประโยชน์จากป่าเพื่อทำการเกษตร แต่เมื่อมีนายทุนเข้ามาใช้ประโยชน์จากป่าทำให้ชาวบ้านบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าจำนวนมาก ส่งผลกระทบให้น้ำแล้ง ไม่มีน้ำในการทำการเกษตร และเกิดความขัดแย้งของชาวบ้านจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกันออกแบบว่าหากต้องการแก้ปัญหาและจะใช้ประโยชน์จากป่าให้มีความยั่งยืนได้นั้นต้องทำอย่างไร

“เราได้สำรวจข้อมูลในการแบ่งป่าที่ชัดเจน โดยแบ่งพื้นที่ป่าไม้ในกลุ่มออกเป็น3 ส่วน คือ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย และป่าธรรมดา ซึ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าธรรมดานั้นจะไม่มีใครไปบุกรุก และชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน ยังมีหน้าที่ดูแลไม่ให้มีใครไปบุกรุกด้วย หลังจากเริ่มดำเนินได้ 2 ปี พื้นที่ป่าก็กลับมา ปริมาณน้ำก็เพิ่มขึ้นมา ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นจนถึงปัจจุบัน”

‘ความหวังใหม่’ ท่ามกลางความล่มสลายของทรัพยากร

วิจิตรยังมีแง่คิดในเรื่องของการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนเพิ่มเติมว่า การจัดการป่าไม้ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำหรือคนในเมือง ที่ง่ายที่สุด คือ เริ่มสำรวจตัวเองว่ามีพฤติกรรมอะไรที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อป่าต้นน้ำหรือไม่ แล้วหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นหรือปลูกต้นไม้ในห้องให้ได้คนละหนึ่งต้น และดูแลรักษาด้วยความรักก็จะทำให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น รวมทั้งเกิดความเข้าใจ และความรักต้นไม้เพิ่มขึ้นด้วย

ในงานเสวนาดังกล่าวยังได้กล่าวถึงตัวอย่างเมืองที่มีการจัดการพื้นที่สีเขียวได้ดีซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาใช้เป็นแบบอย่างได้อย่าง นิวยอร์ก เมืองที่มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่หรือเซ็นทรัลปาร์ก โดยที่มาที่ไปเริ่มมาตั้งแต่การวางผังเมืองที่กำหนดให้เซ็นทรัลปาร์กเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ และยังมีการกระจายตัวของสวนสาธารณะขนาดเล็กตามแนวระบบขนส่งมวลชน

รวมถึง บอสตัน ที่นอกจากจะมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่แล้ว ยังมีการกำหนดแนวกันชนสีเขียว (Green Belt) สำหรับการจำกัดการขยายตัวของมหานครอย่างชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกของการวางผังเมือง จึงทำให้พื้นที่สีเขียวในเมืองนี้ไม่ถูกทำลายและยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่ด้วย

สำหรับกรุงเทพฯ ไม่ได้ถูกวางผังเมืองมาสำหรับพื้นที่สีเขียวตั้งแต่ต้น จึงทำให้เมืองเต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องที่กระจุกตัวอย่างหนาแน่น และไม่สามารถปลูกต้นไม้ใหญ่แซมได้มาก ส่วนพื้นที่สีเขียวที่มีก็เป็นพุ่มไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็กที่ไม่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นการปรับภูมิทัศน์ของเมืองใหม่โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของคนเมืองมากขึ้น

‘ความหวังใหม่’ ท่ามกลางความล่มสลายของทรัพยากร

ด้าน ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการบรรลุเป้าหมายของพื้นที่ป่าในประเทศไทย ว่าการเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่ ต้องหาพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าเข้ามาเพิ่มทั้งส่วนที่เป็นป่าธรรมชาติ และส่วนที่เป็นป่าเศรษฐกิจ ซึ่งการเพิ่มพื้นที่ป่าสามารถเพิ่มได้ 2 ส่วน

“ส่วนแรก คือ การเข้าไปฟื้นฟูป่าธรรมชาติที่เสื่อมโทรมหรือภูเขาหัวโล้น โดยการจัดระเบียบคนที่ใช้ประโยชน์จากป่าเพราะปัจจุบันมีคนเข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตป่าอนุรักษ์เกือบ 6 ล้านไร่ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีการจัดระเบียบให้คนอยู่อย่างมีเงื่อนไขเชิงอนุรักษ์ และหากคนหมดความจำเป็นที่จะใช้ประโยชน์ก็ต้องคืนให้รัฐและรัฐต้องนำมาฟื้นฟูต่อไป

ส่วนที่สอง คือ จะทำอย่างไรให้มีการเพิ่มป่าเศรษฐกิจ ซึ่งการปลูกไม้ป่าต้องใช้เวลา การใช้เวลาจึงทำให้เกิดต้นทุน พอมีต้นทุนก็ต้องมีแหล่งทุนระยะยาว จึงต้องมีการอำนวยความสะดวกประชาชน 2 เรื่องหลัก คือ กองทุน เนื่องจากการปลูกไม้ป่าต้องใช้เวลาและมีต้นทุนจึงต้องมีกองทุนสนับสนุน และเรื่องที่สอง ประชาชนที่ปลูกไม้หวงห้าม เช่น สัก ยางนา ประดู่ ต้องขออนุญาตเวลาจะตัดทั้งที่ปลูกในเขตที่ดินกรรมสิทธิ์ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ประชาชนที่คิดดี ทำดี สามารถเพิ่มผืนป่าให้ประเทศโดยปลูกไม้ใดก็ได้ในเขตที่ดินกรรมสิทธิ์ และเวลาจะตัดไม่ต้องขออนุญาตวุ่นวายหลายขั้นตอน จึงต้องมีการปลดล็อกกฎหมายเรื่องไม้หวงห้ามเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ”

หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ กล่าวด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2516-2557 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงเฉลี่ยปีละ 9 แสนไร่ จากนั้นหลังปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าลดลงเฉลี่ยปีละ 4-5 หมื่นไร่ เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่สามารถหยุดยั้งการบุกรุกป่าธรรมชาติได้โดยสิ้นเชิง

ช่วงท้ายของงานเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 รีคอฟร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อมีใจความสำคัญ คือ หนึ่ง เสนอให้รัฐเน้นการฟื้นฟูป่าที่ทำให้ประเทศไทยได้มีป่าเพิ่มควบคู่ไปกับการส่งเสริมสิทธิแก่คนในท้องถิ่นได้ร่วมดูแลป่า มากกว่าแนวทางการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว สอง ภาคธุรกิจควรเข้ามาร่วมสนับสนุนและลงทุนกับการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ให้เพิ่มมากขึ้น เน้นการสนับสนุนระยะยาวและสามารถสร้างต้นแบบการสร้างป่าที่ให้ประโยชน์ทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และสาม ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสนับสนุนโครงการถักทอต่อผืนป่า เพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมสามารถติดตามแนวทางการดำเนินงานได้ที่เว็บไซต์ www.recoftc.org