posttoday

ออมก่อนเกษียณ คุณเลือกได้!

01 พฤษภาคม 2561

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตระหนักถึงอนาคตที่ไร้กังวล อยู่สบาย และกำลังตั้งเป้าที่จะใช้ชีวิตสวนทางกับผู้สูงอายุอีกหลายล้านคนในประเทศที่ไม่มีเงินออม

โดย ภาดนุ ภาพ เอพี/Freepik

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตระหนักถึงอนาคตที่ไร้กังวล อยู่สบาย และกำลังตั้งเป้าที่จะใช้ชีวิตสวนทางกับผู้สูงอายุอีกหลายล้านคนในประเทศที่ไม่มีเงินออม หรือถึงจะมีเงินออมก็มีน้อย ต้องลองอ่านเคล็ดลับดีๆ ในการออมเงินก่อนเกษียณที่เรานำมาฝาก

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคน ที่สุขภาพไม่ดี นอนติดเตียง ต้องพึ่งพาคนดูแล และมีแนวโน้มจะมีผู้สูงอายุอยู่ลำพัง ไร้ลูกหลานดูแลเพิ่มขึ้น ดังนั้นสภาวะคนวัยเกษียณไร้เงินออมจึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ไม่อยากกลายเป็นผู้สูงวัยที่รอความช่วยเหลือจากใครแล้วละก็ ต้องทำตามเคล็ดลับต่อไปนี้เลย

1.ออมก่อนแก่ เริ่มได้ทันที

คุณไม่จำเป็นต้องรอให้กลายเป็นคนสูงวัยถึงค่อยเริ่มคิดวางแผนเกษียณ ยิ่งคุณวางแผนเร็วเท่าไร คุณอาจเกษียณตัวเองได้เร็วขึ้น แม้คนบางกลุ่มจะบอกว่า “แก่แล้วไม่ได้อยากร่ำรวยอะไร” “แก่แล้วไม่จำเป็นต้องใช้เงิน” “แก่แล้วก็มีลูกหลานคอยดูแล” “แก่แล้วก็มีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้” หรือแม้กระทั่ง “ออมไปก็ไม่ได้ใช้ คงตายก่อน”...การคิดแบบนี้ก็ไม่ได้ผิดซะทีเดียว แต่หากในกรณีจำเป็นต้องใช้เงินขึ้นมา โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลที่มักจะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามการสึกหรอของร่างกาย ถ้าถึงเวลานั้น การเริ่มออมเงินก็อาจจะไม่ทันการณ์เสียแล้ว

2.ต้องมีเงินเท่าไร ถึงจะพอใช้ในวัยเกษียณ

เป็นคำถามยอดฮิตที่ใช้ในการวางแผนการเงินหลังเกษียณ ถ้าคุณมีคำถามแบบนี้เกิดขึ้น นั่นแปลว่าคุณเดินมาถูกทางแล้ว ซึ่งการออมเงินลักษณะนี้ ควรทำการประเมินใหม่อยู่เรื่อยๆ ปีละครั้ง หรือสองปีครั้ง เพื่อที่จะได้อัพเดทยอดการออมให้สัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายจริง และรวมค่าครองชีพที่ผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ

3.สูตรคำนวณเงินออมหลังเกษียณเบื้องต้น

สูตรที่ใช้คือ 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันต่อเดือน x 12 เดือน (เท่ากับค่าใช้จ่าย 1 ปี) x ประมาณการจำนวนปีที่จะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ = จำนวนเงินออมที่คุณต้องมีในวันเกษียณ

ตัวเลขที่ออกมา คือ จำนวนเงินที่ควรมี ณ วันที่คุณเกษียณ ยอดเงินอาจสูงจนไม่ใช่เรื่องสนุก แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า เงินก้อนนี้มีความจำเป็นอย่างมากที่จะมีใช้เพียงพอตลอดบั้นปลายชีวิต

(ข้อมูลอ้างอิง : การประเมินค่าใช้จ่าย 70% จากสูตรการคำนวณของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอายุค่าเฉลี่ยคนไทย จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2556 ระบุว่า ผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 78 ปี และผู้ชายมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 71 ปี)

ตัวอย่าง - ผู้หญิงอายุ 25 ปี ค่าใช้จ่ายปัจจุบันต่อเดือนอยู่ที่ 10,000 บาท ตั้งเป้าเกษียณอายุ 55 ปี (ผู้หญิงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 78 ปี) ดังนั้นประมาณการจำนวนปีที่จะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณคือ 23 ปี

การคำนวณหาจำนวนเงิน ณ วันเกษียณ = 70% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันต่อเดือน x 12 เดือน x 23 ปี = 7,000 x 12 x 23 = 1,932,000 บาท

เมื่อคำนวณยอดเงินที่คุณต้องออมในแต่ละเดือน จนได้จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันที่คุณเกษียณแล้ว ให้นำยอดนี้มาหารด้วยจำนวนเดือน คูณด้วยปีที่ตั้งใจเกษียณ หักลบด้วยอายุจริงในปัจจุบัน ก็จะได้จำนวนเงินในแต่ละเดือนที่คุณต้องเก็บออม

ตัวอย่าง - ผู้หญิง ประมาณการเงินออมหลังเกษียณ 1,932,000 บาท ตั้งเป้าเกษียณอายุ 55 ปี ปัจจุบันอายุ 25 ปี

คำนวณเงินที่ต้องออมต่อเดือน = 1,932,000 บาท ÷ (12 เดือน x 30 ปี) = 1,932,000 ÷ 360 = 5,367 บาท/เดือน

ออมก่อนเกษียณ คุณเลือกได้!

4.เพิ่มมูลค่าเงินออม

จะดีกว่าแน่นอน หากคุณนำเงินที่ออมได้ในแต่ละเดือนไปเพิ่มมูลค่าให้งอกเงยได้มากกว่า คุณอาจเกษียณได้เร็วกว่ากำหนด และเงินที่เก็บได้ก็จะมีมูลค่าสูงกว่าที่คุณตั้งใจเก็บไว้

วิธีการเพิ่มมูลค่าเงินออมแบบความเสี่ยงน้อย ก็เช่น การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว คุณยังได้เงินสมทบจากบริษัททุกเดือน ถือเป็นการลงทุนที่มีแต่ได้กับได้ หรือจะเลือกการรักษาเงินต้นด้วยการนำไปลงทุนในกองทุมรวมตราสารหนี้ก็น่าสนใจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาการลงทุนที่เหมาะสม อีกวิธีคือการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF เป็นการบังคับให้เราลงทุนต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องลงทุนไปจนถึงอายุ 55 ปี มองเห็นเงินก้อนไว้ใช้ยามเกษียณแน่นอน

สำหรับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยง การออมเงินในประกันชีวิตก็เป็นทางเลือกที่ดี แม้ผลตอบแทนจะไม่สูงมาก แต่การันตีเงินคืนตามแบบประกัน และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจกับเงื่อนไขต่างๆ ให้รอบคอบ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเอง

คนที่ไม่ชอบความเสี่ยงเอาเสียเลย ก็สามารถออมกับธนาคารที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ME by TMB ที่ให้คุณเห็นดอกเบี้ยสะสมได้ทุกวัน ไม่กำหนดขั้นต่ำในการฝาก สะดวก อยากโอน-ถอนเมื่อไร ที่ไหนก็ได้ โดยทำผ่านทางเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่น ที่สำคัญคือเบิกเงินมาใช้ฉุกเฉินได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเสียค่าปรับใดๆ