posttoday

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ถอดเกร็ดชีวิต บี.กริม สู่นวนิยาย

29 เมษายน 2561

ตลอดระยะเวลาสิบปีกับการทุ่มเทเพื่อสร้างสรรค์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “ฝากไว้ในแผ่นดิน” (In The Kingdom)

โดย มัลลิกา นามสง่า / จีรวัฒน์ กล้ากะชีวิต ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

ตลอดระยะเวลาสิบปีกับการทุ่มเทเพื่อสร้างสรรค์นวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง “ฝากไว้ในแผ่นดิน” (In The Kingdom) ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับ “ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง” เพราะโจทย์ คือ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติของ บริษัท บี.กริม ที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเป็นระยะเวลาถึง 140 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จวบจนปัจจุบัน

ฝากไว้ในแผ่นดิน เป็นความประสงค์ของ “ดร.ฮาราลด์ ลิงค์” ประธาน บี.กริม ที่อยากนำเสนอเรื่องราวให้ออกมาในรูปแบบวรรณกรรม

“ในตอนแรกได้ปฏิเสธไป เพราะคิดไปเองว่าคงเขียนเป็นลำดับแบบ 1 2 3 ประวัติบริษัท ใครเป็นนายทุน ก่อตั้งอย่างไร  เราก็ไม่อยากทำ ท้ายที่สุดได้มีโอกาสเข้าไปคุย และได้ทราบว่าอยากให้เป็นวรรณกรรมที่มีทั้งความสนุก โศกเศร้า ครบทุกรส แต่ปัญหาคือจะไปเอาข้อมูลตรงนี้มาจากไหน

คุณลิงค์ก็ได้เล่าเรื่องครอบครัวให้ฟัง พอที่จะทำให้เห็นเนื้อหาขึ้นมาบ้าง ดูแล้วน่าจะคุยกันรู้เรื่อง ความคิดหลายอย่างตรงกัน หลังจากนั้นมีไปปรึกษาเพื่อนๆ ที่เรียนด้านเยอรมันรวมถึงอาจารย์ ต่างให้คำแนะนำว่าคนเยอรมันเป็นคนชอบจดบันทึก นึกในใจว่าท่าทางจะง่าย”

เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดเหตุไฟไหม้เอกสารสำคัญต่างๆ ของ บี.กริม เกิดความเสียหาย ทุกอย่างเริ่มต้นจากศูนย์ ยุวดีจึงตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆ หอสมุดแห่งชาติเป็นแหล่งที่ให้ข้อมูลเยอะ ทว่าข้อมูลเหล่านั้นกระจัดกระจายราวกับแผ่นจิ๊กซอว์ที่ต้องนำมาประติดประต่อร้อยเรียง อีกทั้งยังเป็นเรื่องยากในการแปลภาษาเยอรมันให้เป็นภาษาไทย ทำให้ใช้เวลาตรงนี้นานมากและยังไม่มีความก้าวหน้าของเนื้อหาเท่าที่ควร

“ต้องตั้งชื่อเรื่องให้ได้ ถ้าเราตั้งชื่อเรื่องไม่ได้มันไปต่อไม่ได้จริงๆ แล้วคิดขึ้นมาได้ว่า ฝากไว้ในแผ่นดิน เพราะกิจการนี้มั่นคงมาเป็นร้อยปี เมื่อได้ชื่อเรื่อง ก็ทำให้เห็นภาพว่าจะดำเนินเรื่องราวไปอย่างไร”

ต่อมาเป็นขั้นตอนการสร้างโครงเรื่องเพื่อเป็นนวนิยาย “บี.กริม เริ่มมาจากร้านขายของชาวเยอรมันแห่งแรกในสยาม พอค้าขายดีเริ่มมีชื่อเสียง ถูกแต่งตั้งให้เป็นร้านขายยาหลวง คือสามารถส่งยาเข้าไปในพระราชสำนักได้ เพื่อที่จะรักษาผู้คนในพระราชสำนัก ตรงนี้ก็คือแก่นเรื่อง มีตัวละคร มีบทพูด มีความจริง เราจะพูดอะไรเพ้อเจ้อไม่ได้ ต้องระมัดระวังในการใช้ถ้อยคำหลักฐานทุกอย่างก็นำมาใส่ในนั้น

ยุวดี ต้นสกุลรุ่งเรือง ถอดเกร็ดชีวิต บี.กริม สู่นวนิยาย

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีตัวละครที่มีที่มาที่ไปว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ เช่น มาเปิดร้านยาในสยาม ถ้าเป็นคนไทยก็ต้องมีฤกษ์ของวันเปิดร้าน เลยไปเปิดปฏิทินร้อยปี ย้อนไปเมื่อปี 1878 ว่าปีนั้นมีวันไหนที่เป็นวันดี ต้องหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมเปิดร้านวันนี้ พอเชื่อแบบไทยจึงค้าขายรุ่งเรืองมาจนถึงทุกวันนี้”

เนื้อหาแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ใต้พระบรมโพธิสมภาร เปรียบเสมือนคนที่เข้ามาค้าขายในสยาม และหลังจากสิ้นยุครัชกาลที่ 5 ได้เกิดสงครามโลกครั้งสองครั้ง ใช้ชื่อ ใต้อุ้งมือชะตากรรม เพราะไม่สามารถกำหนดได้สิ้นสงครามประเทศไทยกลับเข้าสู่ยุครุ่งเรืองบ้านเมืองพัฒนามาเรื่อยๆ ให้ชื่อว่า ใต้อรุณเรืองรอง

“เท่าที่ค้นเจอ บี.กริมได้รับใช้ในเหตุการณ์สำคัญของไทยเยอะมาก อย่าง 100 ปีฉลองกรุง รัชกาลที่ 5 อยากฟื้นฟูบูรณะวัดและวังใหม่ กระเบื้องสีทอง แชนเดอเลียร์ พรม เฟอร์นิเจอร์ บี.กริม ก็รับหน้าที่สั่งเข้ามา นอกจากของตกแต่งบ้านเมืองแล้ว ยังมีเครื่องประดับ เครื่องเพชร เครื่องแบบทหารสำหรับใช้ในขบวนเกียรติยศ”

ในฐานะผู้เขียนที่ได้ค้นพบข้อมูลเห็นพัฒนาการของครอบครัวลิงค์ที่ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบาก “ถ้าใครได้มาอ่านหนังสือฝากไว้ในแผ่นดินจะรู้สึกว่าพวกเราโชคดีมากที่เกิดมาในยุคนี้ ไม่มีสงคราม คนก่อนหน้านั้นต้องลำบากมาก คิดว่านั่นคือเหตุผลว่าเมื่อไหร่ที่เราช่วยตัวเองได้แล้วก็ควรคืนให้สังคม

ไม่ได้บอกว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุด แต่เป็นหนังสือที่คุณจะได้ทราบประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และการทำธุรกิจการค้า คิดว่าหายากเหมือนกันนะที่จะรวมไว้ในหนึ่งเล่ม ที่สำคัญคืออ่านสนุกวางไม่ลง”