posttoday

ธรรมชาติต้องห้าม ความงามอันลึกลับ

29 เมษายน 2561

ศิลปะในมุมมองของการถ่ายทอดผ่านการนำเสนอในลักษณะอวกาศ

โดน มัลลิกา นามสง่า/จีรวัฒน์ กล้ากะชีวิต ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

ศิลปะในมุมมองของการถ่ายทอดผ่านการนำเสนอในลักษณะอวกาศ ความลึกลับที่ยากจะเข้าใจกับความไม่แน่นอนที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์มัดใจที่ทำให้ “ปิยทัต เหมทัต” ยังคงสนุกและสร้างสรรค์ผลงานออกมาผ่าน “หิมพานต์” หรือ “อีเดน” นิทรรศการที่ท้าทายและดิ่งลึกลงไปในจิตวิญญาณ

หิมพานต์ แสดงถึงความลึกลับซับซ้อน และความงดงามของธรรมชาติผ่านพืชที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (กัญชา) เปรียบเสมือนเรื่องราวเก่าแก่ที่มาจากคำภีร์ไบเบิล มีพระเจ้า อดัมกับอีฟ ต้นแอปเปิ้ล และงู ตัวละครเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์สะท้อนเรื่องราวในปัจจุบัน ทั้งการต้องห้าม กฎเกณฑ์ การพูดจริง พูดเท็จ จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการ หิมพานต์ ใช้การสร้างงานถ่ายภาพผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์

ธรรมชาติต้องห้าม ความงามอันลึกลับ

“วัตถุที่หามาถ่ายคือหัวใจของงาน ถ้าเห็นงานผมที่ผ่านมาเกือบสิบปี ผมมักจะใช้ธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตงานตั้งแต่ต้น จนทุกวันนี้ และการเดินทางที่ใช้ธรรมชาติเป็นแรงบันดาลใจ พาผมมาถึงจุดนี้ จุดที่เราเล่นกับธรรมชาติไปหลายเรื่องแล้ว ก็เหลือไม่กี่เรื่องที่จะจับประเด็นมาใช้ได้ เรื่องของธรรมชาติต้องห้ามเป็นหนึ่งในนั้น”

ศิลปินไม่ได้มีเจตนาต่อต้านหรือสนับสนุนกัญชา เพียงนำความจริงพัฒนาเป็นไอเดียตีโจทย์ออกมาเป็นภาพถ่ายและประติมากรรม

“ผมเองคาดเดาแต่แรกว่า ถ้าเราเลือกประเด็นนี้มาเล่น แล้วนำกัญชามามองผ่านกล้องจุลทรรศน์จะเป็นอย่างไร อันนี้เป็นข้อสังเกตที่ผมตั้งขึ้นมาตอนเริ่มงาน

ธรรมชาติต้องห้าม ความงามอันลึกลับ

วิธีเดียวที่ทำให้รู้ได้คือต้องลอง เลยซื้อกล้องจุลทรรศน์โบราณมาอันหนึ่ง เวลาผมจะทำอะไรค่อนข้างดูละเอียดว่าสิ่งไหนที่เหมาะกับความคิดเรา ตั้งแต่การเลือกกล้องจุลทรรศน์ อย่างสมัยนี้กล้องจุลทรรศน์แสงจะขึ้นมาตรงๆ ผมจึงเลือกใช้กล้องจุลทรรศน์โบราณมันเลือกใช้พลังงานจากกระจก ซึ่งกระจกเราสามารถหมุนพลิกแพลง และสามารถเล่นกับมุมแสงได้มากกว่า เรียกว่าทดลองได้มากกว่ากล้องแบบใหม่

ด้วยความที่กล้องโบราณเลนส์คมชัด แต่ไม่มีโค้ชติ่งกันแสงสะท้อน เพราะฉะนั้นจะเห็นแสงที่สะท้อนเหลื่อมออกมา เหมือนกับความผิดพลาด แต่สำหรับผมคือความวิเศษและสวยงามมาก ก็จะเห็นเป็นแสงที่อยู่ตามขอบๆ ในภาพซึ่งสวยงามมาก”

ด้านเทคนิคสี ปิยทัต ใช้วิธีการจัดหลังจากเซตกล้องเสร็จ โดยนำตัวอย่างเล็กๆ จากส่วนต่างๆ ของต้นกัญชา หั่นให้เล็กที่สุด และนำมาวางไว้บนแผ่นกระจกใต้เลนส์กล้องจุลทรรศน์อีกทีหนึ่ง ทำให้การขยับและการจัดคอมโพสต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบากทั้งเรื่องของการจัดไฟที่ต้องใช้มากกว่าหนึ่งดวงเพื่อที่จะส่องมาจากด้านข้างและด้านล่าง และส่วนสำคัญคือการใส่เจลสีต่างๆ เข้าไปตรงหน้าไฟเพื่อให้เกิดการผสมสีขึ้นมา

ธรรมชาติต้องห้าม ความงามอันลึกลับ

ทุกอย่างต้องอยู่ในกระบวนการซึ่งเป็นงานชิ้นเล็กมาก ทำให้เขาใช้เวลาในการปั้นโปรเจกต์นี้ถึง 6 เดือน โดยระหว่างทางมีการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ กระทั่งออกมาเป็นผลงานที่น่าภูมิใจ

ภาพถ่ายในครั้งนี้ ปิยทัต เลือกใช้ทรงกลม เนื่องจากเป็นรูปทรงได้มาจากการใช้กล้องจุลทรรศน์ ยิ่งทำให้งานออกมาดูคล้ายกับแนวอวกาศนอกโลก

“เป็นความตั้งใจครับ เพราะงานส่วนใหญ่ผมออกแนวเป็นอวกาศเยอะ ที่สนใจด้านนี้เพราะมันคือความลึกลับดีๆ นี่เอง นำเสนอความลึกลับที่มีใครรู้ว่ามันคืออะไรกันแน่

ผมว่าชีวิตมันเต็มไปด้วยความลึกลับนะครับ ก็เลยชอบที่จะไม่จำเป็นต้องเข้าใจอะไรไปหมดทุกอย่าง ก็เลยเป็นประเด็นหนึ่งที่มักจะอยู่ในงานผม ส่วนที่เป็นอวกาศจักรวาล เป็นความชอบส่วนตัว ผมชอบเสพอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ไม่ใช่แค่งานศิลปะนะครับ การค้นหาทางวิทยาศาสตร์ด้วย”

ธรรมชาติต้องห้าม ความงามอันลึกลับ

นอกจากภาพถ่าย ยังมีงานประติมากรรมสำริด โดยมีความเชื่อมโยงเป็นเรื่องราวเดียวกัน “ผมเริ่มลองปั้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ก็เป็นงานทดลองใหม่ที่ไม่เคยทำ ที่คิดถึงคืองูกับแอปเปิ้ล หลังจากนั้นก็หาแบบฟอร์มต่างๆ ที่เราเคยเห็นและที่เราพยายามจินตนาการออกมา เช่น หัวใจที่มีงูออกมา หัวมีรู ลูกตาที่มีเส้นตาเป็นงูสองตัวกำลังร่วมเพศกัน มีการผสมผสานฟิกเกอร์ เล่นกับอวัยวะต่างๆ แขนเริ่มกลายเป็นงู เป็นส่วนเดียวกับธรรมชาติ ความสนุกอยู่ในกระบวนทั้งคิดและทำ เป็นสวนอีเดนในอีกมิติหนึ่ง”

การสร้างศิลปะชุดนี้ไม่เพียงแต่นำเสนอธรรมชาติที่แปลกประหลาด นำมาสู่ความสวยงาม ผ่านธรรมชาติต้องห้ามเท่านั้นแต่ยังสะท้อนให้เห็นการใช้เทคนิคของศิลปินอย่างมีชั้นเชิง

“ภาพที่ผมถ่ายทอดออกมา ผมว่ามันสวยงามอย่างที่คนคาดไม่ถึง ผมเองก็ตกใจที่ผลงานออกมาสวยงามพอสมควร และเป็นอะไรที่ส่วนตัวผมไม่เคยเห็นมาก่อน” ปิยทัต กล่าวทิ้งท้าย

นิทรรศการหิมพานต์ จัดแสดงถึงวันที่ 27 พ.ค. ณ เซรินเดีย แกลเลอรี่ โอ.พี.การ์เด้นซอยเจริญกรุง 36 (โทร. 02-238-6410)