posttoday

งานศิลปะสวมใส่ได้เพื่อคนรุ่นใหม่ ดีไซน์จากใจศิลปินสูงอายุ ‘ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม’

28 เมษายน 2561

การได้มีโอกาส “ทำงานที่รัก” เป็นสิ่งที่คนวัยเกษียณหลายคนปรารถนา ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม ศิลปินสูงอายุรุ่นใหม่วัย 65 ปี

โดย ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

การได้มีโอกาส “ทำงานที่รัก” เป็นสิ่งที่คนวัยเกษียณหลายคนปรารถนา ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม ศิลปินสูงอายุรุ่นใหม่วัย 65 ปี เป็นคนหนึ่งที่โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากลูกสาวที่น่ารัก ณภัทร เขียวชะอุ่ม อดีตโปรดิวเซอร์โฆษณาที่มองเห็นคุณค่าและอยากช่วยให้ผลงานศิลปะที่พ่อรักหวนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

จนก่อเกิดเป็นลวดลายพลิ้วไหวบนผ้าพันคอผืนงาม แบรนด์ JAI CRAFT DESIGN (ใจคราฟต์ดีไซน์) ธุรกิจดีไซน์สิ่งทอร่วมสมัยที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สูงอายุ

“มีงานวาดภาพอะไรให้พ่อทำไหม พ่อทำได้นะ” จุดตั้งต้นของธุรกิจเล็กๆ ระหว่างคนสองวัยในบ้าน เกิดขึ้นจากคำถามของผู้เป็นพ่อที่หวนกลับมาจับพู่กันอย่างเอาจริงเอาจังในวัย 60 ต้นๆ

งานศิลปะสวมใส่ได้เพื่อคนรุ่นใหม่ ดีไซน์จากใจศิลปินสูงอายุ ‘ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม’

ความรักในการวาดภาพไม่เคยหายไปไหนจากใจของชูศิษฎ์ แม้จะนานแสนนานมาแล้วที่ศิษย์เก่าจากรั้ว “เพาะช่าง” หันเหชีวิตมารับราชการพัฒนาชุมชนเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่ออนาคตที่มั่นคงกว่าของครอบครัว

“สมัยก่อนการจะทำงานเป็นศิลปินไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลานานในการสร้างผลงานสั่งสมชื่อเสียง ตั้งแต่รับราชการ ผมแทบไม่ได้จับพู่กันเลย แต่พอได้กลับคลุกคลีกับเพื่อนๆ ที่เป็นศิลปินหลังจากที่เกษียณ ทำให้ผมอยากกลับมาวาดภาพอีกครั้ง” ชูศิษฎ์ เล่าถึงงานที่เขารักและหลงใหล

ความภาคภูมิใจที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตข้าราชการของเขา คือการได้ใช้ความสามารถด้านศิลปะ ดีไซน์โลโก้เทศบาลนครปากเกร็ดที่ยังใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น เมื่อลูกสาวชวนให้ลองมาทำธุรกิจด้วยกัน เพื่อต่อยอดงานศิลปะของพ่อให้เป็นกว่างานอดิเรกบนผืนผ้าใบ แรงบันดาลใจและความภูมิใจจึงเบ่งบานอีกครั้งในใจของชูศิษฎ์ เขาบอกว่า รู้สึกดีใจที่ลูกยังเห็นคุณค่าในงานของเราและยินดีที่จะทำงานนี้ด้วยใจไปด้วยกัน

งานศิลปะสวมใส่ได้เพื่อคนรุ่นใหม่ ดีไซน์จากใจศิลปินสูงอายุ ‘ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม’

แบรนด์ใจคราฟต์ มีที่มาจากคำว่า “ใจ” ซึ่งสื่อความหมายถึงความรักในงานศิลปะที่กลับมาโลดแล่นอีกครั้งบนงานดีไซน์สิ่งทอที่ดีต่อใจทั้งคนออกแบบและคนสวมใส่

การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ผ้าพันคอที่มีคุณพ่อเป็นคนออกแบบ ส่วนคุณลูกเป็นคนวางคอนเซ็ปต์ให้โจทย์ด้านงานออกแบบ บริการจัดการวางแผนการตลาด เริ่มต้นจากคอลเลกชั่นแรกที่ลวดลายภาพวาดดอกไม้ ใบไม้ วิวธรรมชาติ พัฒนาสู่ลวดลายภาพวาดแนวนามธรรมหรือแอบสแทรกต์ (Abstract) บนผืนผ้าพันคอที่ทอจากไหมอีรี่

“หลังจากผลงานที่ออกไปได้รับการตอบรับ ทำให้ภูมิใจและดีใจว่างานที่เราทำมันขายได้ มีคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นคุณค่าของคนรุ่นเก่า เลยมีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ” ชูศิษฎ์ เล่าถึงความรู้สึกดีๆ ที่ได้จากการไปออกบูธจำหน่ายสินค้าตามที่ต่างๆ

เรื่องราวของแบรนด์ที่ได้รับการบอกเล่าผ่านสื่อต่างๆ ยังช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นราวคราวเดียวกันหลายๆ คนที่มีใจรักในงานศิลปะ หนึ่งในนั้นคือรุ่นพี่ที่เป็นเครือญาติกันที่มีโอกาสได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในรอบ 40-50 ปี

“รุ่นพี่ผมคนนี้อายุร่วมๆ 70 แล้ว สมัยเรียนเพาะช่าง เขาฝีมือดีมาก ตั้งแต่ไปทำอาชีพอื่นเหมือนผม ก็แทบไม่ได้จับพู่กันเลย ตอนนี้เขากลับมามีแรงบันดาลใจอีกครั้ง พยายามฝึกปรือฝีมือกลับมาวาดรูปใหม่”

งานศิลปะสวมใส่ได้เพื่อคนรุ่นใหม่ ดีไซน์จากใจศิลปินสูงอายุ ‘ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม’

ก้าวสู่ปีที่สองของแบรนด์ใจคราฟต์ นอกจากการผลิตงานศิลปะที่สวมใส่ได้ จากการทำงานร่วมกับผู้สูงอายุรุ่นใหม่แล้ว จึงเตรียมแตกไลน์อีกพาร์ตหนึ่งของธุรกิจ มาทำด้านการจัดเวิร์กช็อปสอนวาดภาพในรูปแบบศิลปะบำบัด (Art Therapy) ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุด้วยกัน โดยมีศิลปินอย่างชูศิษฎ์ และกลุ่มเพื่อนๆ ช่วยเป็นวิทยากรอีกด้วย

“ผมมีเพื่อนๆ หลายคนที่เกษียณแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอะไรดี บางคนอยู่บ้านดูทีวี เลี้ยงหลาน ไปออกกำลังกาย ไปตีกอล์ฟ มันก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเรามีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถมาทำงานที่รักและมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย ก็น่าจะดีขึ้นไปอีก เพราะช่วยทำให้เรามีแรงบันดาลใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ยืนยาวอย่างมีคุณค่า”

จากประสบการณ์ของชูศิษฎ์ ที่ทำงานร่วมกับลูกสาว ถึงแม้คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่จะมีความแตกต่างกัน แต่ถ้าเปิดใจเข้าหากัน เขาเชื่อว่า ไม่ว่าจะวัยไหนๆ ก็สามารถทำงานร่วมกันได้

“ผมทำงานกับลูกสาว บางทีความคิดเรากับเขาต่างกัน ผมอยากถ่ายทอดศิลปะจากอารมณ์ของศิลปิน ส่วนลูกมองในมุมมองการตลาดที่ต้องทำให้สินค้าใช้สอยได้และถูกใจลูกค้า แต่พอเรามานั่งคุยกันปรึกษากันไป ก็ค่อยๆ ปรับจูนเข้าหากันเรื่อยๆ จนมาเจอกันที่ตรงกลาง”

ขณะที่การทำงานแบบศิลปินรุ่นเก่าอย่างเขาต้องใช้เวลาค่อยๆ จินตนาการ ต่างจากการทำงานของคนรุ่นใหม่ต้องการความฉับไวและรวดเร็ว

งานศิลปะสวมใส่ได้เพื่อคนรุ่นใหม่ ดีไซน์จากใจศิลปินสูงอายุ ‘ชูศิษฎ์ เขียวชะอุ่ม’

“บางทีเราทำงานออกมาช้า ลูกสาวก็มีบ่นๆ บ้างนิดหน่อย แต่เขาก็เข้าใจในมุมของเราที่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้เกิดการยืดหยุ่น เผื่อเวลาในการทำงานมากขึ้น” ชูศิษฎ์ เล่าถึงการเคารพความแตกต่างระหว่างกันที่ทำให้คนสองวัยสามารถทำงานจูนกันติด

ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่เคยทำงานพัฒนาชุมชนมาก่อน ทำให้ชูศิษฎ์เห็นแนวโน้มถึงจำนวนผู้สูงอายุในเมืองไทยที่เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เขาจึงอยากเห็นการเปิดโอกาสจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมอาชีพและกิจกรรมเพื่อสร้างคุณค่าให้กับคนสูงวัยมากขึ้น

ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุเองก็ต้องขวนขวายทำตัวเองให้มีคุณค่า ไม่ใช่เกษียณมาแล้วนั่งเฉยๆ ไม่มีอะไรทำ คนในบ้านและสังคมมองไม่เห็นความสำคัญ

นั่นคือมุมมองของศิลปินสูงอายุรุ่นใหม่ที่อยากเห็นภาพของสังคมไทยที่อยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล มองเห็นคุณค่าของกันและกันโดยไม่มีคำว่า “อายุ” เป็นข้อจำกัดปิดกั้นศักยภาพในการใช้ชีวิต