posttoday

FAST ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วย โรคหลอดเลือดสมอง

24 เมษายน 2561

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกในแต่ละปีสูงเป็นอันดับ 2 ในประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี

เรื่อง   กันย์ ภาพ   pixabay

โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลกในแต่ละปีสูงเป็นอันดับ 2 ในประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี และเป็นอันดับ 5 ในประชากรที่อายุมากกว่า 15-59 ปี ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเนื่องจากมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เหตุเพราะประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ จึงต้องตระหนักถึงผลกระทบของโรคนี้ต่อประชากรในประเทศมากยิ่งขึ้น

พญ.ทวีรักษ์ นิธิยานนทกิจ อายุรแพทย์ด้านอายุรกรรมสมองและประสาทวิทยา โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เป็นชนิดของหลอดเลือดสมองที่พบได้กว่า 85% ของโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดร่วมกับภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันที่เกาะตามผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง

ในปัจจุบันหากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบขาดเลือดมารับการรักษาภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อที่จะช่วยให้สมองในบริเวณที่ขาดเลือดกลับมาทำงานได้ตามปกติดังนั้นอาการที่เป็นทันทีทันใดและสังเกตง่ายๆ ในเบื้องต้นตามหลัก FAST ได้แก่

1.F (Face) ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าเบี้ยว หรือปากเบี้ยวด้านใดด้านหนึ่ง หรือผู้ป่วยบางท่านอาจมีอาการระหว่างรับประทานอาหาร เช่น อาหารไหลออกจากปาก หรือน้ำลายไหลออกจากมุมปากด้านใดด้านหนึ่ง ทดสอบง่ายๆ ได้โดยให้ผู้ป่วยลองยิ้ม หรือยิงฟัน

2.A (Arms) อาการแขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยจะขยับแขนขาด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ โดยอาจจะเป็นเฉพาะขา หรือเป็นทั้งแขนขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านเดียวกัน ทดสอบง่ายๆ โดยการให้ผู้ป่วยลองยกแขนขาทั้งสองข้าง ถ้าตกด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่ามีความผิดปกติ

3.S (Speech) ผู้ป่วยจะมีอาการพูดไม่ชัดพูดอ้อแอ้ เหมือนลิ้นคับปาก หรือบางคนมีอาการพูดไม่ออก หรือฟังคำสั่งไม่รู้เรื่อง ญาติบางคนจะคิดว่าผู้ป่วยสับสน ทดสอบได้ง่ายๆ ด้วยการให้ผู้ป่วยพูดตามในคำง่ายๆ เช่น กรุงเทพมหานคร หรือชี้ให้ดูปากกา นาฬิกา แล้วถามว่าของสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร หรือให้ทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น ชูสองนิ้ว เป็นต้น

4.T (Time) เพราะเวลาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง รีบนำผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีภาวะโรคหลอดเลือดสมองจากการสังเกตหลัก FAST ไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสมองตามระยะเวลาที่มากขึ้น

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองในระยะเฉียบพลัน ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์หลังมีอาการภายในเวลา 4 ชั่วโมงครึ่งหรือ 270 นาทีหลังผู้ป่วยเกิดอาการ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่สำคัญที่แพทย์จะใช้ในการวางแผนการรักษา เพื่อแพทย์จะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดเข้าทางหลอดเลือดดำ โดยยาจะไปละลายลิ่มเลือดที่ไปอุดตันสมองได้ประมาณ 30-50% แต่ยาดังกล่าวก็มีความเสี่ยงที่อาจทำให้มีเลือดออกในสมองได้ประมาณ 6% ด้วย

แต่ถ้าผู้ป่วยมาถึงมือแพทย์เร็วก็มีโอกาสที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความพิการน้อย หรือไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่ หลังการให้ยาผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) หรือหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke Unit) เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง

 แต่หากผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลช้ากว่า 4 ชั่วโมงครึ่งหรือ 270 นาที มักจะไม่สามารถทำการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ เนื่องจากเนื้อสมองสามารถทนการขาดเลือดได้นานเพียง 270 นาทีเท่านั้น

หลังจากนั้นเนื้อสมองจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดสำหรับปัจจุบัน ยังมีการรักษาเพิ่มเติม ด้วยการลากลิ่มเลือดด้วยขดลวด ซึ่งได้ผลค่อนข้างดีกว่าการให้ยาละลายลิ่มเลือดและสามารถรักษาในผู้ป่วยที่มาเกินระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง ยืดเวลาได้ 6 ชั่วโมง ถึง 8 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม ยังแนะนำให้ผู้ป่วยมารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันเนื้อสมองที่จะตายเพิ่มขึ้นตามเวลา การรักษาภาวะเส้นเลือดในสมองแตกเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดทันทีหากมีเลือดออกในสมองมาก จนกระทั่งเกิดภาวะความดันในกะโหลกศีรษะสูง แต่ถ้าผู้ป่วยมีเลือดออกในปริมาณน้อยอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามารถรักษาแบบประคับประคองได้ และต้องได้รับการดูแลในหอผู้ป่วยหนักอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เช่นกัน ในกรณีที่มีเลือดออกในชั้นเยื่อหุ้มสมองจากหลอดเลือดสมองโป่งพอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที เพื่อลดการแตกซ้ำของหลอดเลือดสมองที่โป่งพอง

ทุกคนสามารถป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้โดยหมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพบว่ามีความดันโลหิตที่มากกว่า 140/80 mmHg ควรพบแพทย์และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดอาหารที่มีรสเค็มลงและรับประทานยาลดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดรับประทานยาลดความดันโลหิตเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งให้งด

เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่เป็นแล้วมักจะเป็นตลอดชีวิตและไม่ค่อยแสดงอาการ ควรเข้ารับการตรวจหัวใจด้วยว่ามีความผิดปกติของการเต้นหัวใจหรือไม่ หยุดสูบบุหรี่ งดการดื่มสุรา ในกรณีที่มีน้ำหนักเกินควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยควรเป็นการออกกำลังกายในรูปแบบที่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นกว่าปกติอย่างน้อย 10-20 ครั้ง/นาที ครั้งละครึ่งชั่วโมง ที่สำคัญควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรค