posttoday

ธนัดดา สว่างเดือน ประสบการณ์คืองานเขียน

22 เมษายน 2561

ชีวิตคนเรานั้นผ่านประสบการณ์กันมามากมาย สำหรับเธอคนนี้ ชีวิตหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกช่วงขณะของชีวิตที่มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป

โดย อณุสรา ทองอุไร, จุฑามาศ นิจประพันธ์ ภาพ ประกฤษณ์ จันทะวงษ์

ชีวิตคนเรานั้นผ่านประสบการณ์กันมามากมาย สำหรับเธอคนนี้ ชีวิตหมายถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นทุกช่วงขณะของชีวิตที่มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป และมักจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตและเกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองหลังจากผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว

ธนัดดา สว่างเดือน หญิงที่เคยถูกหลอกไปค้าบริการและต้องทำอาชีพนี้ต่อไป แต่ใครจะรู้ว่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นในอดีตจะแปรเปลี่ยนมาเป็นวัตถุดิบในการเขียนวรรณกรรมที่มีค่าที่สุดของเธอ

จุดเริ่มต้นของประสบการณ์งานเขียนของธนัดดาคือช่วงอายุได้ 17 ปี เธอไปสมัครงานเป็นเด็กเสิร์ฟ แต่ปรากฏว่างานที่เธอทำนั้นกลับไม่เหมือนที่เธอคิดไว้ เธอถูกหลอกให้ขายตัว โดยมีคนชวนเธอไปทำงานที่ฮ่องกง เธอมีความฝันที่อยากนั่งเครื่องบิน และเธอก็ได้นั่งสมใจอยาก -- ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบตัวอักษร ทั้ง ฮ่องกง...ดงมาเฟีย, บาห์เรน...เดนโลกีย์, เจแปน...แสนสาหัส, ตะรางและหว่างขา

งานเขียนเรื่องแรกของเธอได้รับรางวัลชมนาด ปี 2554 เรื่อง “ฉันคือเอรี่ ประสบการณ์ข้ามแดน” เป็นงานประกวดเรื่องราวงานเขียนรวมเรื่องสั้นที่จัดขึ้นโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น แม้ว่าครั้งนั้นเธอจะประกวดเพราะต้องการเงินก็ตาม

“พอเราได้รางวัลมา ทีนี้เล่มหนึ่งเขากำหนด 120 แผ่น เราก็ส่ง 120 แต่เหมือนคนอ่านยังคาใจว่า มันจบแบบนี้เหรอ มันเลยเป็นที่มาที่เราต้องเขียนเล่ม 2 เล่ม 3 เขียนมาเรื่อยๆ จนมี 7 เล่ม และล่าสุดปี 2561 มีอีก 4 เล่ม”

เนื้อหาของงานเขียน มาจากประสบการณ์ชีวิตของเธอที่ต้องไปทำงานในหลายประเทศ ได้พบเจอกับอะไรบ้าง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้หญิงอีกหลายๆ คนที่ฝันอยากจะไปทำงานเมืองนอก อยากจะไปขุดทอง หวังจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เรื่องจริงกับความฝันนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพื่อให้เป็นวิทยาทานที่จะไม่โดนหลอกเหมือนเธอ

นอกจากรางวัลชมนาด เมื่อปี 2554 แล้ว เธอยังคว้ารางวัลของชมนาดอีกครั้งในปี 2560 จากเรื่อง “ขังหญิง” โดยแตกต่างไปจากแต่ก่อน เพราะไม่ใช่เนื้อหาของการค้าบริการ แต่เป็นเรื่องราวของในคุกในตะรางล้วนๆ เนื่องจากเธอเคยมีประสบการณ์ติดคุกในแต่ละประเทศ เพราะไม่มีวีซ่า และเคยต้องติดคุกโดยที่ไม่ใช่ความผิดของเธออีกด้วย

ธนัดดา สว่างเดือน ประสบการณ์คืองานเขียน

ปัจจุบันเธอมีผลงานหนังสือทั้งหมด 11 เล่ม วิถีชีวิตตอนนี้ของเธอเปลี่ยนไปไม่เหมือนแต่ก่อน สภาพแวดล้อม สังคมและสิ่งที่เธอเจอ เปลี่ยนไปตามช่วงชีวิต “เราหยุดแล้วตอนนี้ หมดแค่ 4 เล่มนี้สุดท้าย เรารู้สึกว่าเรายิ่งเขียน ยิ่งเหมือนเราไปทำร้ายคนที่เขาค้าบริการอยู่ สิ่งที่เราเขียน เราเขียนให้คนเห็นว่ามันไม่ได้สบายอย่างที่คุณคิด คุณอย่าคิดเข้ามาค้าบริการ แต่เราอยากเขียนให้รู้ว่ามันไม่ได้สบายเงินที่ได้มาก็เหมือนเป็นเงินร้อน”

เป้าหมายต่อไปนั้น เธอเกริ่นไว้ว่าเธออยากเขียนเรื่องราวเชิงเตือนใจสถาบันครอบครัว ว่าด้วยเรื่องของความคิด กฎแห่งแรงดึงดูด “สิ่งที่อยากเขียนต่อไป คือเราอยากบอกว่า คุณไม่ต้องมากังวลคนค้าบริการ เพราะเขาไม่แย่งสามีคุณหรอก คุณไปกังวลคนใกล้ตัว พี่น้องในที่ทำงานคุณเถอะ เพราะมันไม่มีผู้ชายคนไหนทิ้งภรรยาที่ดีๆ มาหาผู้หญิงค้าบริการหรอก จงเชื่อมั่นในการเป็นภรรยาที่ดีต่อไปใช้ชีวิตคู่ให้มีความสุข”

งานเขียนเล่มใหม่ของเธอ น่าจะเสร็จประมาณอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ทันงานสัปดาห์หนังสือเดือน ต.ค. และก็จะเขียนหนังสือเรื่องกฎแห่งแรงดึงดูดด้วย อันนี้เกี่ยวกับพวกคิดบวก

“สมมติเราไม่ชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ในใจคิดว่าไม่ชอบคนนี้เลย เกลียดคนนี้ แต่เราลองเปลี่ยนความคิดใหม่ ถ้าเรายิ้ม เราคุยกับเขาดีๆ แสดงอัธยาศัยดีๆ ให้แก่เขา คนที่เขาเกลียดเรา เราสามารถทำให้เขารักเราได้ มันอยู่ที่ความคิดเรา อย่างหนังสือเล่มนี้ เราคิดว่าต้องได้รางวัลและก็ได้มาจริงๆ เราคิดไว้เลยว่าเราต้องได้มันเราคิดภาพตัวเองได้ขึ้นไปรับรางวัลเพราะความคิดมีแรงดึงดูด คิดอย่างไรได้อย่างนั้น”

สุดท้ายนี้ การพลิกชีวิตจากอาชีพค้าบริการสู่การเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลถึง 2 เล่ม ทำให้เธอมีทัศนคติที่แตกต่างไปจากเดิม “ถ้าย้อนกลับไปได้หนิงก็คงทำแบบเดิม คงลงมือเขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์เหมือนเดิม หนังสือของเราสะท้อนให้เห็นว่า คนที่กำลังคิดว่าจะไปขายตัว มันไม่ได้หาเงินได้ง่ายๆ เจ็บตัวเสี่ยงโรคเสี่ยงภัย  ที่สำคัญศักดิ์ศรีเราไม่มี เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจเรื่องของศักดิ์ศรีเลย ถ้ามีรายได้เดือนละแสน พอมีคนถามว่าเราทำอะไร เราบอกขายตัว ใครจะยอมรับมันไม่ได้สง่างาม แต่ทุกวันนี้มีรายได้เดือนละ 4,000 บาท พอมีคนถามว่า เราทำงานอะไรเราตอบ เป็นนักเขียนค่ะ โอโห มันดูยิ่งใหญ่ อลังการแต่จริงๆ เราไม่ได้มีรายได้เท่าไร มันคนละเรื่องกันเลยนะ ตรงนี้แหละที่มันต่าง เงินน้อยแต่อิ่มใจ”