posttoday

ไพรัช วราสินธุ์ สองขากับหนึ่งหัวใจ และความหมายของฟินิชเชอร์

22 เมษายน 2561

หนุ่มเมืองจันทบุรี วัย 34 ปี พูดถึงความหมายของชีวิตและคุณค่าของลมหายใจเหมือนคนที่ผ่านโลกมาครึ่งค่อนชีวิต

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : ไพรัช วราสินธุ์

หนุ่มเมืองจันทบุรี วัย 34 ปี พูดถึงความหมายของชีวิตและคุณค่าของลมหายใจเหมือนคนที่ผ่านโลกมาครึ่งค่อนชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ รัช-ไพรัช วราสินธุ์ เรียนรู้จากการ “วิ่ง” บนเส้นทางที่เขาแทบไม่รู้จัก แต่มันกลับทำให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้น

ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่เขาได้ยินเสียงหัวใจตัวเองชัดขึ้นกว่าเดิม โดยหากย้อนกลับไปยังก้าวแรกที่เริ่มต้น เขาเปิดเผยว่า มันเป็นก้าวที่ง่ายที่สุด เพราะเขาเริ่มวิ่งโดยไม่คิดว่าจะวิ่งไปเพื่ออะไร “เพราะผมยิ่งวิ่งก็ยิ่งรู้สึกดี ยิ่งรู้สึกว่าผมสามารถลืมเรื่องอกหักได้จริงๆ”

ใครจะไปรู้ว่าจากการวิ่งเพื่อบรรเทาอาการทางใจ มันจะติดตัวเขาตลอดไปเช่นนี้ รัช เล่าต่อว่า เมื่อได้กลับมาวิ่งอีกครั้งทำให้เขาได้ลงสนามแข่งขันมาราธอนอีกครา หลังจากร้างราไปตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ประเดิมสนามแรกกับกรุงเทพ มาราธอน โดยเขาใช้เวลาไปราว 5 ชั่วโมงครึ่ง “แต่ผมรู้สึกว่าสามารถทำได้ดีกว่านั้น” รัช กล่าว เขาจึงลงแข่งมาราธอนสนามต่อๆ ไป จน 7 เดือนผ่านไป จึงตัดสินใจลงแข่งอัลตร้าเทรล

“ถ้าพูดตามตรงคือเร็ว หรือสำหรับคนปกติมันเร็วเกินไปด้วยซ้ำในการลงแข่งระยะอัลตร้า” ที่สำคัญคือเขาข้ามขั้นมาวิ่งอัลตร้าเทรลโดยไม่ได้ถูกฝึกอย่างนักกีฬา

ไพรัช วราสินธุ์ สองขากับหนึ่งหัวใจ และความหมายของฟินิชเชอร์

“พอคิดย้อนกลับไปว่าทำไมผมถึงวิ่งระยะไกลขนาดนั้นได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมมีความสุขกับมัน พอมีความสุข ไม่มีความกดดัน ไม่มีความบีบคั้นบางอย่างในร่างกายมากเกินไปก็สามารถทำได้เรื่อยๆ เรียกว่ามันเป็นเรื่องของจิตใจที่ส่งผลให้ทุกอย่างดี ผมวิ่งไปเท่าที่ผมจะทำได้ ไม่มีความกดดันว่าจะต้องวิ่งเพื่อพัฒนาไปถึงจุดไหน จิตใจจึงเป็นตัวแปรที่ทำให้เราสามารถทำอะไรก็ได้ ยิ่งไปกว่านั้น เวลาร่างกายเราเหนื่อยมากๆ เหนื่อยมากกว่าปกติ ผมจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น เพราะเวลาที่ได้หายใจเยอะๆ หายใจแรงๆ ผมจะรู้สึกว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่จริงๆ มากกว่าแค่คนที่ตื่นเช้าขึ้นมาและทำอะไรเหมือนเดิมทุกวัน โดยที่ไม่ทันสังเกตตัวเองเลยว่ากำลังหายใจอยู่”

อัลตร้าเทรล คือการวิ่งระยะไกลกว่ามาราธอน เป็นการวิ่งบนเส้นทางที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ เช่น เขา ลำเนา ไพร และมีรายละเอียดที่แตกต่างจากการวิ่งมาราธอน เช่น ไม่มีจุดให้น้ำระหว่างทางมากเพราะเส้นทางวิ่งอยู่ในป่า หรือต้องเปิดจีพีเอสดูตำแหน่งและเส้นทางเอง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อขึ้นชื่อว่าอัลตร้าเทรลแล้วคนที่ลงแข่งต้องเป็นคนอึด แกร่ง บ้าพลัง จนคนยกให้อัลตร้าเทรลเป็นที่สุดของการวิ่ง

“แต่สำหรับผม แค่การวิ่งของ 1 หรือ 2 กิโลฯ ก็เป็นที่สุดของชีวิตเราได้แล้ว ถ้าเรารู้สึกมีความสุขกับมันจริงๆ” รัชกล่าวต่อ “แต่ถ้าในมุมมองของการค้าหรือการโฆษณา เราจะถูกทำให้เชื่อว่า ยิ่งวิ่งไกลก็ยิ่งเก่ง ยิ่งเจ๋ง แต่สำหรับตัวผมมันไม่ใช่ เหตุผลที่ทำให้ผมชอบอัลตร้าเทรล เพราะมันทำให้ผมหลุดออกจากวงโคจรของการเป็นคนปกติ ของการใช้ชีวิตปกติ ไปสู่อีกโลกหนึ่งที่เราไม่ได้มีง่ายๆ”

จากเด็กมัธยมที่ลงแข่งวิ่งเพราะอยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ จากหนุ่มอกหักที่วิ่งเพื่อให้ลืมความเจ็บปวด จนมาถึงวันนี้เขายอมรับว่าการวิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว

ไพรัช วราสินธุ์ สองขากับหนึ่งหัวใจ และความหมายของฟินิชเชอร์

“ส่วนเรื่องการลงสนามแข่ง ผมว่ามันคือการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เพราะในแต่ละพื้นที่ที่เราไป จะมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกัน คนแต่ละชาติก็แตกต่างกัน มันกลายเป็นว่าตอนนี้คนต่างชาติก็รู้จักคนไทยเยอะขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะจากผม แต่ผ่านเพื่อนๆ นักวิ่งที่ไปวิ่งด้วยกัน สนามวิ่งจึงกลายเป็นสถานที่ที่คนหลากหลายเชื้อชาติได้มาเจอกัน แลกเปลี่ยนกัน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักกันมากขึ้น ซึ่งสังคมนักวิ่งเป็นสังคมที่ทุกคนเปิดใจให้กันตั้งแต่วันแรกที่มายืนอยู่ที่เดียวกันแล้ว และเราจะได้เพื่อนที่หายใจแบบเดียวกับเรา”

หากกล่าวถึงสนามสุดโหดที่เหล่านักวิ่งเทรลรู้จักกันดีต้องยกให้ ฮ่องกง โฟร์ เทรลส์ อัลตร้า ชาลเลนจ์ (Hong Kong Four Trails Ultra Challenge) สนามที่ไม่ใช่เป็นเพียงการแข่งขัน (Race) แต่เป็นสนามท้าดวล (Challenge) ไม่มีการจัดอันดับผู้ชนะ เพราะเป็นสนามที่ต้องแข่งขันกับตัวเอง ต้องวิ่งทั้งหมด 4 เทรล และนักวิ่งทุกคนต้องได้รับเชิญจากผู้จัดงานเท่านั้น ซึ่งเขาเคยได้รับเชิญให้ไปวิ่งเมื่อปีที่ผ่านมา (2560) แต่เกิดความผิดพลาด “ทำให้ผมวิ่งไม่จบ แต่เกือบไปจบชีวิตที่ 120 กม.” เขาหัวเราะพร้อมอธิบาย

“รายการนี้จะไม่มีจุดให้น้ำ ไม่มีอาหารให้ ทุกอย่างจะต้องเตรียมใส่เป้ หรืออาจต้องใช้ตัวกรองน้ำเพื่อดื่มน้ำจากลำธาร หรือหาซื้อตามร้านระหว่างทาง โดยเราไม่มีทางรู้เลยว่าข้างหน้าจะมีของกินไหม รวมถึงเส้นทางจะไม่มีริบบิ้นผูกไว้เป็นสัญลักษณ์ ทำให้ผมหลงทางเป็นระยะๆ ประกอบกับไม่รู้จักเส้นทาง ทำให้ไม่รู้ว่ามีแหล่งน้ำธรรมชาติตรงไหนบ้าง

สุดท้ายแล้วทำให้ร่างกายขาดน้ำ ผมรู้สึกอยากดื่มน้ำมาก จนตอนนั้นเวลาประมาณตี 2 หันไปเจอกองขยะ มีขวดน้ำที่มีน้ำอยู่ครึ่งขวด ส่องดูแล้วเห็นน้ำยังใสอยู่เลยกินเข้าไป แต่หลังจากการกินน้ำนั้นไปประมาณ 30 นาที ผมก็มีปัญหาเรื่องท้องอย่างรุนแรง”

โชคไม่เข้าข้างหนุ่มเมืองจันท์ เพราะเขาทั้งอาเจียน ท้องเสีย จนเริ่มไม่มีแรงขยับร่างกาย ซึ่งขณะนั้นเขาเริ่มต้นวิ่งเทรลที่ 2 ได้แค่ราว 20 กม. ก็ต้องไปหยุดนอนพักหน้า “ห้องน้ำ” โดยที่ไม่ทราบว่าห่างออกไปแค่ไม่กี่ร้อยเมตรเขาจะเจอร้านสะดวกซื้อ ซ้ำร้ายเขายังต้องทนนอนกลางอากาศหนาว 9-10 องศาฯ โดยที่ไม่มีเครื่องกันหนาว นอกจากเสื้อกันลมและเสื้อกันฝนทั่วๆ ไป

“ผมขดตัวนอนหนาวอยู่ตรงนั้นจนถึงเช้า รู้ว่าตัวเองไปต่อไม่ไหวก็ถอนตัว และหลังจากนั้นมาก็หวังว่าปีต่อไปจะทำได้” เขาสรุปอย่างเรียบง่าย “ถามว่าทรมานไหม ตอนนั้นมันคือความทรมาน แต่มันเป็นความรู้สึกที่หาไม่ได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน”

ไพรัช วราสินธุ์ สองขากับหนึ่งหัวใจ และความหมายของฟินิชเชอร์

กระทั่งเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รัชถูกเชิญให้ร่วมรายการฮ่องกง โฟร์ เทรลส์ อัลตร้า ชาลเลนจ์ อีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เขาสามารถจบรายการด้วยการเป็น 1 ใน 2 คน ที่วิ่งจบ 4 เทรลภายใน 60 ชั่วโมง!

รัช อธิบายเพิ่มเติมว่า ด้วยความที่แต่ละเทรลอยู่ห่างกันประมาณ 30 นาที-1 ชั่วโมง นักวิ่งจึงต้องมีทีมเซอร์วิสเพื่อวางแผนและเป็นผู้ขับรถพาไปเทรลต่อไป โดยปีนี้มีความท้าทายเกิดขึ้นในช่วงระหว่างเทรลที่ 3 ไปยังเทรลที่ 4 ซึ่งเป็นเทรลสุดท้าย ที่ไม่อนุญาตให้ทีมเซอร์วิสขับรถข้ามเกาะไปส่งนักวิ่งได้ แต่นักวิ่งต้องขึ้นเรือเฟอร์รี่ข้ามไปเอง จึงหมายความว่าเขาต้องวิ่งเทรลที่ 3 เสร็จภายในเวลาที่เรือเฟอร์รี่ลำสุดท้ายออกจากท่า ถ้าไม่อยากเสียเวลารอเรือรอบต่อไปในเช้าวันต่อมา

“ผมรู้สึกว่าการวิ่งครั้งนี้ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง” เขาสารภาพ “เพราะเพื่อนๆ ทุกคนที่เข้ามาช่วยเป็นทีมเซอร์วิส พวกเขาต้องอยู่กับผมตลอดเวลา ผมยอมรับว่าปกติไม่ได้คิดหรอกว่ากำลังวิ่งอยู่กับใคร เพราะผมวิ่งอยู่คนเดียวตามสภาพที่มันเป็น แต่ครั้งนี้เพื่อนทุกคนอยู่ในใจเราจริงๆ เหมือนกับมือของทุกๆ คนกำลังผลักอยู่ข้างหลังเรา กลายเป็นแรงผลักดันให้เราไปข้างหน้า”

กลับมาสู่สนามในช่วงที่เกิดจุดพลิกผัน รัช เล่าว่า ช่วงที่กำลังวิ่งอยู่ในเทรลที่ 3 เขาต้องคำนวณกำลังของตัวเองให้ดีเพื่อการวิ่งในเทรลถัดไปซึ่งเป็นเทรลสุดท้าย ขณะเดียวกันก็ต้องคำนวณเวลาและระยะทางเพื่อไปให้ทันเรือเฟอร์รี่รอบท้ายสุด แต่เรื่องที่เขาไม่ได้คาคคะเนก็เกิดขึ้น เมื่อร่างกายชัตดาวน์ตัวเอง

“จุดไคลแมกซ์เกิดขึ้นหลังจากสตาร์ทเทรลที่ 3 ไปได้ไม่เกินชั่วโมงดี ผมเจอสภาวะง่วงนอนสุดขีด ร่างกายชัตดาวน์ตัวเอง อาจเป็นเพราะวันนั้นผ่านมา 2 คืนแล้วที่ยังไม่ได้นอน เลยตัดสินใจนอนพักอยู่ข้างทางก่อนขึ้นเขาประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นก็วิ่งต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจากการคำนวณเวลาและระยะทางแล้ว มีโอกาสที่จะไปไม่ทันเรือเฟอร์รี่รอบสุดท้ายตอน 5 ทุ่มครึ่งมากเกินไป จึงผ่อนความเร็วลงทันทีเพื่อเก็บแรงไว้ แต่ปรากฏว่าทีมเซอร์วิสโทรศัพท์มาบอกว่า มีเรือเฟอร์รี่เพิ่มรอบตอนเที่ยงคืนครึ่ง ผมเลยวิ่งสุดขีด สุดชีวิต วิ่งแทบเป็นแทบตาย แต่สุดท้ายก็ช้าไป 5 นาที” ไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาจะหัวเราะได้เหมือนตอนนี้ไหม

“ซึ่งผมไม่เสียใจเลย เพราะผมได้ทำเต็มที่ที่สุดแล้ว ทุกครั้งที่ผมวิ่งหรือทำอะไร ผมจะทำให้เต็มที่ เต็มความสามารถ เพราะผมไม่อยากมาเสียใจภายหลัง และมาหวนคิดว่าถ้าวันนั้น ถ้าวันนี้ เพราะสุดท้ายก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้”

สรุปทั้ง 4 เทรล ระยะทางรวม 300 กม. (เทรลที่ 1 ระยะทาง 100 กม. เทรลที่ 2 ระยะทาง 80 กม. เทรลที่ 3 ระยะทาง 50 กม. และเทรลที่ 4 ระยะทาง 70 กม.) รัชใช้เวลาวิ่งภายใน 57 ชั่วโมง 54 นาที พร้อมรับการกล่าวขานว่าเป็น “ฟินิชเชอร์” (Finisher) ชื่อที่ใช้เรียกเฉพาะผู้ที่วิ่งจบรายการภายใน 60 ชั่วโมง ซึ่งเขาเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 รองจากนักวิ่งชาวสวิตเซอร์แลนด์ไม่ถึง 2 ชั่วโมง และทั้งคู่ก็กลายเป็นฟินิชเชอร์เพียง 2 คน จากผู้เข้าร่วม 28 คนในรายการฮ่องกง โฟร์ เทรลส์ อัลตร้า ชาลเลนจ์ ปีนี้

“ผมคิดว่าสำหรับรายการนี้ พลังกายไม่เท่าจิตใจ จิตใจ พลังใจ และสมาธิ ทั้งสามอย่างเป็นสิ่งที่ต้องใช้อย่างมากขณะวิ่งบนสนามนี้ เพราะการวิ่งในเวลานานขนาดนั้นมันเกินขีดจำกัดของคนที่จะอยู่ได้แล้ว สิ่งที่ทำให้เราไปได้หรือไม่ได้คือจิตใจ จิตใจเท่านั้นจริงๆ” เขาย้ำ

ไพรัช วราสินธุ์ สองขากับหนึ่งหัวใจ และความหมายของฟินิชเชอร์

ถามฟินิชเชอร์เลือดไทยว่า การใช้ร่างกายหนักเพื่อการวิ่งอัลตร้าเทรลทำให้ร่างกายเสียหรือไม่ “เสีย” เขาตอบทันควัน แต่อธิบายต่อว่า คนที่ออกกำลังกายประเภทอัลตร้าต้องออกกำลังกายทุกวันหรือเกือบทุกวันอยู่แล้ว (หยุดไม่เกิน 2 วัน/สัปดาห์) ประกอบกับถ้าวางแผนชีวิตดีก็จะพักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งหากใน 1 ปีลงแข่งรายการที่ใช้ร่างกายแบบเกินขีดจำกัด 1 รายการ นั่นหมายความ 360 วัน จะเป็นวันที่มีสุขภาพแข็งแรง จะมีเพียง 5 วันเท่านั้นที่จะเสียสุขภาพ และคงมีสุขภาพดีกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ออกกำลังกายเลยตลอดปี

“บ้านผมอยู่จันทบุรีไม่มีภูเขาให้ซ้อม” เขาไม่นับเขาคิชฌกูฏที่เปิดให้ขึ้นปีละครั้ง ซึ่งอัดแน่นไปด้วยผู้คน “ผมเลยต้องวิ่งบนลู่ที่ถูกดัดแปลงให้ฝึกการวิ่งขึ้นลงเขา ร่วมกับเวตเทรนนิ่ง ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดคือการอดทนกับความเบื่อนี้ให้ได้ เพราะคนที่ได้ไปซ้อมบนภูเขาจริง เขาจะได้รีแลกซ์ ได้เห็นธรรมชาติไปในตัว แต่สำหรับผมต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมครึ่งค่อนวันติดต่อกันเกือบทุกวัน ทำให้ผมมีความสุขที่สุดในวันที่ผมลงแข่งจริง เพราะสำหรับผม ทุกวันมันน่าเบื่อหน่าย แต่พอถึงวันแข่ง ทุกอย่างมันตรงข้ามหมดเลย ดังนั้นภาพที่คนเห็นว่าทำไมผมถึงยิ้มได้มีความสุขขนาดนั้น ก็เพราะว่าผมมีความสุขจริงๆ วันแข่งขันคือวันที่ผมได้ออกไปเจอเพื่อนๆ ได้ออกไปอยู่กลางธรรมชาติ มันเป็นวันที่ผมมีความสุขที่สุด”

ถามเจ้าของเสียงแห่งความสุขที่ปลายสายว่าสามารถเรียกเขาว่านักวิ่งมืออาชีพได้หรือไม่ เขารีบตอบ “ไม่ได้” เพราะเขาเป็นแค่คนรักการวิ่ง ที่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำเป็นอาชีพแค่นั้นเอง

“ตอนนี้การวิ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผม มันจะมีวันหนึ่งแน่นอน ซึ่งอาจจะอีกไม่นานก็ได้ ที่ผมจะแข่งน้อยลง และสิ่งที่ผมอยากทำต่อไปคือ ผมอยากถ่ายทอดในสิ่งที่ผมรู้ให้เพื่อนผม ให้แฟนผม ให้ครอบครัวผม เพราะตั้งแต่ผมวิ่ง ผมไม่ได้แข็งแรงคนเดียว แต่คนรอบตัวของผมก็แข็งแรงไปด้วย”

ถ้าบทสนทนานี้เป็นเหมือนการแข่งขัน บรรทัดนี้ก็มีเส้นชัยรออยู่ข้างหน้าพร้อมดนตรีประกอบเป็นเสียงหัวใจที่เต้นดังฟังชัด อย่างกับคำที่รัชพูดมาตั้งแต่ต้นและย้ำเสมอว่า การวิ่งทำให้เขารู้ตัวว่ายังมีชีวิตและยังหายใจ

“มนุษย์ทุกคนหายใจเป็นธรรมชาติ คนทุกคนต้องหายใจเข้าออกตามกลไกของร่างกาย แต่เราจะไม่มีวันรู้เลยว่าเรากำลังหายใจอยู่ ถ้าเราไม่ออกกำลังกายหรือใช้ร่างกายอย่างเต็มที่ ซึ่งการวิ่งสามารถวิ่งได้จนวันตาย และผมก็จะวิ่งไปจนถึงวันนั้นแน่นอน” รัชกล่าวทิ้งท้าย และสุดท้ายบทสนทนานี้อาจทำให้ใครบางคนกลับไปถามหัวใจตัวเองว่ารักอะไร และเริ่มต้นทำมันหรือยัง