posttoday

ถุงชายผ้าเหลืองเติมใจผู้ป่วย ศิลปะภาวนาเติมใจ พิสิษฐ์ สุริย์วงศ์

21 เมษายน 2561

“ถุงชายผ้าเหลือง เติมใจผู้ป่วย” คืออะไรกันนะ วันนี้ได้มาทำความรู้จักกับโครงการดีๆ

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข/กลุ่มชีวิตสิกขา

“ถุงชายผ้าเหลือง เติมใจผู้ป่วย” คืออะไรกันนะ วันนี้ได้มาทำความรู้จักกับโครงการดีๆ ของธรรมภาคี กลุ่มชีวิตสิกขา ที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ พร้อมๆ ไปกับ “ธรรมอาสา” หรือจิตอาสาคนเก่งของเรา พิสิษฐ์ สุริย์วงศ์

“ก่อนอื่นคงต้องขอขอบคุณธนาคารจิตอาสา และสวนโมกข์กรุงเทพฯ สถานที่สัปปายะ ที่ทำให้ได้รู้จักกับโครงการถุงชายผ้าเหลืองฯ”

ธนาคารจิตอาสา คือเว็บไซต์งานจิตอาสาที่หลายคนรู้จัก แต่อาจจะยังไม่รู้จักดี พิสิษฐ์ถือโอกาสนี้ประชาสัมพันธ์งานจิตอาสาที่เป็นประโยชน์ เพื่อว่าจิตอาสาผู้กำลังมองหากิจกรรมที่เหมาะสม จะได้เห็นตัวเลือก รวมทั้งได้ทดลองตัวเองกับกิจกรรมต่างๆ

พิสิษฐ์เอง เริ่มเป็นจิตอาสาจากการช่วยกิจกรรมหลายรูปแบบ สำหรับถุงชายผ้าเหลือง ได้มีโอกาสเข้าร่วมครั้งแรกเมื่อต้นปี 2559 โดยเป็นกิจกรรมประเภทศิลปะภาวนา ไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลงานหรือจำนวนชิ้น หากชิ้นงานที่ได้ ก็จะนำไปมอบเป็นกำลังใจผู้ป่วย

ถุงชายผ้าเหลืองเติมใจผู้ป่วย ศิลปะภาวนาเติมใจ พิสิษฐ์ สุริย์วงศ์

ถุงชายผ้าเหลืองฯ คือการประดิษฐ์ถุงผ้าดิบ ที่มีการนำผ้าจีวรพระสงฆ์มาประยุกต์ออกแบบตามจินตนาการผู้ประดิษฐ์ ตัดปะผืนจีวรบนถุงผ้าขนาดย่อม ใช้ประโยชน์ในการบรรจุของบริจาค มอบแก่ผู้ป่วยตามโรงพยาบาล

“จีวรพระสงฆ์ที่ท่านสละแล้ว หรือโยมนำไปถวายแล้วมีเหลือความต้องการ หรือตัดเย็บผิดวินัย พระใช้ไม่ได้ ท่านก็เมตตาสละให้กลุ่มฯ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อ”

กลุ่มที่ประสานงานความช่วยเหลือกันบ่อยๆ เช่น กลุ่มพยาบาลไร้หมวก กลุ่มพยาบาลวิชาชีพจิตอาสา ที่ใช้เวลาว่างออกเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน หรือผู้ป่วยนอนติดเตียง ก็จะนำของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ของใช้ส่วนตัว หนังสือสวดมนต์ บรรจุถุงชายผ้าเหลืองฯ และนำไปมอบให้

ในมุมหนึ่ง จีวรคือกำลังใจ ผู้ป่วยนอนติดเตียงรักษาพยาบาลทางร่างกายมาเป็นเวลานาน ไม่มีโอกาสได้ไปวัดทำบุญ  หรือไม่สะดวกในประการต่างๆ ก็ได้ถุงชายผ้าเหลือง เป็นกำลังใจและสร้างกุศลให้คิดแง่บวก เพราะส่วนหนึ่งของถุงผ้าจะเขียนหรือปักข้อความธรรมะ เพื่อให้กำลังใจผู้ป่วย

ถุงชายผ้าเหลืองเติมใจผู้ป่วย ศิลปะภาวนาเติมใจ พิสิษฐ์ สุริย์วงศ์

จากต้นปี 2559 ถึงปัจจุบัน จากจิตอาสาธรรมดาๆ คนหนึ่งก็ได้กลายเป็น “ธรรมอาสา” ทำหน้าที่สตาฟฟ์ของกลุ่มชีวิตสิกขา ช่วยดูแลอุปกรณ์ รวมทั้งให้คำแนะนำจิตอาสาหน้าใหม่ในการประดิษฐ์ถุงชายผ้าเหลือง ต้องให้คำแนะนำกันเลยหรือ คำตอบคือใช่!

“แต่ละครั้งมีจิตอาสามาเยอะ เรารับแค่ 30-50 คนต่อครั้ง แต่ละคนที่มาก็คงเหมือนผมตอนแรกที่คิดว่า อยากทำชิ้นงานไปเยี่ยมผู้ป่วยให้ได้เยอะๆ แต่จริงๆ แล้ว คือการฝึกปฏิบัติของตัวผู้อาสาเอง”

จิตอาสาแบบศิลปะภาวนา หมายถึงผู้อาสาก็ต้องฝึกตัวเอง ในระหว่างทำกิจกรรมทุกคนต้องเจริญสติไปด้วย เมื่อได้ยินเสียงระฆังต้องวางอุปกรณ์ นัยคือการเจริญสติ ระฆัง 15 นาทีตี 1 ครั้ง ทุกคนวางมือจากกิจกรรม 10 นาที ฝึกและฝืนความอยาก (ทำ) ลดละขัดเกลาความต้องการของตน

ถุงชายผ้าเหลืองเติมใจผู้ป่วย ศิลปะภาวนาเติมใจ พิสิษฐ์ สุริย์วงศ์

บางคนแทบจะหยุดไม่ได้ เพราะเพลิดเพลินในการเย็บปัก อยากทำให้เสร็จไปเดี๋ยวนี้เวลานี้ จิตอาสาจะได้โอกาสในการ “ขัดใจ” ตัวเอง ได้กำหนดรู้ความขัดข้องในใจ ได้เรียนรู้ถึงความอยากและกิเลสที่ได้เผชิญหน้ากันชัดๆ รวมทั้งบทเรียนในการจัดการกับความรู้สึกของตัวเอง

“คุณสามารถจดจ่อกับงานที่อยู่ตรงหน้าได้หรือไม่? คุณจะวางใจได้ไหม? วางมือได้ไหม? เมื่อก่อนกิจกรรมทำทุกเดือน ปัจจุบันเหลือเดือนเว้นเดือน ได้แก่ทุกสัปดาห์แรกของเดือนเลขคี่ ถ้าว่างก็ไปฝึกละ ฝึกวางกันนะครับ”

การทำงานจิตอาสาโดยส่วนตัวแล้ว พิสิษฐ์เล่าว่า ได้รับประโยชน์มากมาย ตั้งแต่การฝึกสมาธิและการมีความตั้งใจกับการทำงาน ได้ประยุกต์ใช้กับงานและชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการละ การวางกิเลสในการอยากทำสิ่งต่างๆ 

ถุงชายผ้าเหลืองเติมใจผู้ป่วย ศิลปะภาวนาเติมใจ พิสิษฐ์ สุริย์วงศ์

“ผมนำใช้ในชีวิตประจำวันด้วยว่า เราจะจัดการกับความรู้สึกขัดใจไม่พอใจอย่างไร? กลายเป็นคนใหม่ไปเลย”พิสิษฐ์พักอยู่ย่านพระราม 2 และบางทีพักอยู่ที่บ้านย่านลำลูกกา คลอง 2 หากวันสุดสัปดาห์จะเดินทางมาที่สวนโมกข์กรุงเทพ ปัจจุบันอายุ  45 ปีแล้ว ทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ งานจิตอาสาของพิสิษฐ์ใช้หลักไม่เบียดเบียนตัวเอง จัดสรรและบริหารเวลาอย่างมีความสุข