posttoday

ธุรกิจ (ต้อง) มี ‘เรื่อง’

18 เมษายน 2561

ตอนนี้การสร้างธุรกิจ ปั้นแบรนด์ขึ้นมา ไม่ใช่เพียงแค่คุณจะขายอะไร ขายใคร ที่ไหน ขายอย่างไร แต่สิ่งที่คุณจะขายต้องมีเรื่องราวอันน่าจดจำ โดนใจ เข้าไปสัมผัสใจของผู้ซื้อให้ได้

เรื่อง มัลลิกา นามสง่า, จีรวัฒน์ กล้ากะชีวิต

ตอนนี้การสร้างธุรกิจ ปั้นแบรนด์ขึ้นมา ไม่ใช่เพียงแค่คุณจะขายอะไร ขายใคร ที่ไหน ขายอย่างไร แต่สิ่งที่คุณจะขายต้องมีเรื่องราวอันน่าจดจำ โดนใจ เข้าไปสัมผัสใจของผู้ซื้อให้ได้

การสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าจึงเป็นอีกสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ เพราะความเชื่อใจ วางใจ จนสามารถนำไปสู่การยอมควักเงินเพื่อซื้อ และกลับมาซื้อซ้ำนั้นสำคัญ

ธุรกิจกับการเล่าเรื่อง

ในยุคที่ผู้คนมีอิสระในการเป็นผู้สร้าง ผู้นำเสนอ ทำให้วงการธุรกิจเกิดการแข่งขันสูง จะให้อยู่รอด องค์กรจำเป็นต้องมีจุดยืนและการนำเสนอที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือผู้รับ

เนื้อหา (Content) เป็นส่วนสำคัญในการทำให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นเข้าใจและจดจำสิ่งที่ต้องการจะบอก จึงเป็นที่มาของหลักสูตร The Story ปลุกจิตวิญญาณการใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างคอนเทนต์ ตอบรับยุคคอนเทนต์ครองตลาดดิจิทัล 

เป็นการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศรีปทุม และเหล่าสุดยอดนักพัฒนาคอนเทนต์ของประเทศไทย ภายใต้แนวความคิด Content is the King

มานินทร์ เจริญลาภ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า พยายามสอนการเล่าเรื่องในหลายรูปแบบเป้าหมาย คืออยากให้ผู้ประกอบการสามารถเล่าเรื่องโปรดักต์ เล่าเรื่ององค์กร หรือแม้กระทั่งเล่าเรื่องตัวเองได้

“ถ้าจะสอนให้เล่าเรื่ององค์กรอย่างเดียวมันอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมเกินไป เพราะเราเชื่อว่าเขาอยู่กับองค์กรมานานมากๆ คงเล่ามาหลายรูปแบบแล้ว เราอยากชวนเขามาเห็นและออกมาลองวิธีคิดการคิดเล่าเรื่องอื่นๆ บ้าง”

ธุรกิจ (ต้อง) มี ‘เรื่อง’ ดร.เอกพล ณ สงขลา

ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ กล่าวว่า การทำธุรกิจคือการปรับความเชื่อของคนให้เชื่อว่ามันสำเร็จได้ เน้นหลักการจัดการในองค์กร โดยมีหลักคิด 5 ข้อ

1.ต้องสื่อสารด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

2.สร้างแรงบันดาลใจเพื่อเชื่อมโยงเป้าหมาย โยงความเป็นส่วนตัวกับความสัมพันธ์ขององค์กร เพื่อให้ก้าวไปเป็นหนึ่ง

3.เปลี่ยนแรงบันดาลใจ เป็นการลงมือปฏิบัติ จุดประกายให้คนลงมือทำ

4.เลือกเครื่องมือที่เหมาะสม เนื่องจากคนเรามีหลากหลายเจเนอเรชั่น 

5.อย่ายอมแพ้

ในขณะที่ผู้เรียน พิมพ์สิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้จัดการแผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น บอกว่า “อุตสาหกรรมที่ทำอยู่คือเอนเตอร์เทนเมนต์โรงภาพยนตร์ เรามีสิ่งที่อยากบอกเล่าให้ลูกค้า สตอรี่ เทลลิ่ง จะเข้ามาเติมเต็มในทุกงาน และกลายเป็นคุณสมบัติหนึ่งไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดก็ตามในองค์กร

ธุรกิจ (ต้อง) มี ‘เรื่อง’ พิมพ์สิริ ทองร่มโพธิ์

ถ้าคุณสามารถเล่าเรื่องได้ มันมีค่ามาก เรื่องบางเรื่องถ้าสามารถเล่าออกมาเป็นเรื่องราวได้จะทำให้คนจดจำได้ดีกว่าอะไรที่มันเป็นทฤษฎี เป็นหลักการ เป็นเหตุผลเยอะๆ 

ธุรกิจทุกวันนี้เปลี่ยนตลอดเวลา สิ่งที่เราเคยทำได้ ณ วันหนึ่ง มันไม่ได้แปลว่าเราก๊อบปี้แล้วเอาไปใช้กับโปรเจกต์อื่นได้ มันก็ต้องเปลี่ยน”

พะเนียง พงษธา นักลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มาเรียนเพราะก่อนหน้านี้เขาเป็นนักลงทุนที่คิดถึงตัวเองเป็นหลัก ต่อมาจึงมีเป้าหมายว่าเมื่อชีวิตประสบความสำเร็จ อยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

ปัจจุบันเขามีอีกบทบาท คือเป็นสมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า สมาคมที่ให้ความรู้ และนำรายได้ไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เขามีหน้าที่รับผิดชอบระดมทุน ทักษะการเล่าเรื่องและการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญในหน้าที่นี้

“นอกจากวิทยากรที่ให้ความรู้ เพื่อนๆ เล่าประสบการณ์ชีวิตให้เราฟัง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เหมือนว่าปกติเราใช้ชีวิตพัฒนาตนเองผ่านประสบการณ์ของเรา แต่จุดนี้เราได้เรียนลัดประสบการณ์ของคนอื่นอีกมากมาย

ผมรู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านี้เปลี่ยนแปลงชีวิตเรา และผมก็จะรวบรวมเรื่องราวเหล่านี้เอาไปแบ่งปันให้ผู้อื่นเช่นกัน”

ธุรกิจ (ต้อง) มี ‘เรื่อง’ พะเนียง พงษธา

เรื่องต้องตรึงใจ และแชร์ต่อได้

วันนี้สื่ออยู่ในมือทุกคน ในขณะเดียวกันถ้ามีกระบวนการในการเล่าเรื่องที่ดี ถือว่าได้เปรียบมาก เพราะทุกคนสามารถเล่าเรื่องต่างๆ ได้อย่างอิสระ และเรื่องเหล่านั้นอาจจะไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน

ศุ บุญเลี้ยง ครูใหญ่ประจำหลักสูตร เดอะ สตอรี่ กล่าวถึงเสน่ห์การเล่าเรื่องว่า เรื่องที่เล่าจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน เริ่มต้นจากห้วงเวลา มีเหตุ มีจุดเร้าใจ มีผลลัพธ์ และข้อคิด

“เรื่องเล่าที่ดีต้องมีคำว่า ‘แต่’ ที่อาจจะขัดแย้งกับตัวเอง หรือกับคนอื่นอย่างมีตรรกะ มีการ ‘ขยัก’ บางอย่างไว้ และมีการ ‘ขยาย’ ตามด้วยการ ‘ขยี้’ ในขณะที่ต้อง ‘ขจัด’ คำซ้ำซ้อนที่ทำให้ลดความน่าสนใจ และปิดท้ายด้วยการ ‘ขัดเกลา’ เพราะข้อมูลรายละเอียดที่มากไปจะทำลายอารมณ์คน”

ด้าน กฤษณ์ บุญญะ หรือบี้ เดอะ สกา ยูทูบเบอร์ (YouTuber) ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ทำวิดีโอออกมากว่า 600 คลิป มียอดวิวรวมเกือบ 2,000 ล้านวิว สะสมประสบการณ์การเป็นยูทูบ วิดีโอ ครีเอเตอร์ (YouTube VDO Creator) มา 9 ปี ได้แชร์ความรู้ เล่าเรื่องอย่างไรให้โดนใจคนดูและมียอดวิวเป็นล้านๆ

“การทำวิดีโอให้โดนใจ จากประสบการณ์ที่ผมใช้มาตลอดคือ SIC -- S หมายถึง Share คือ คอนเทนต์ต้องเป็นสิ่งที่สามารถแบ่งปันประสบการณ์หรือความรู้สึกให้กับคนดูได้

I หมายถึง Interact การทำวิดีโอจะต้องมีการตอบสนองหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนดู

C หมายถึง Connect, Conversation และ Closer ที่สามารถเชื่อมประสบการณ์เข้ากับคอนเทนต์ ไม่ใช่ทำแต่สิ่งที่เราอยากพูด หรือทำแต่สิ่งที่คนอยากดู แต่ต้องหาจุดสนใจ หรือจุดที่พอดีระหว่างคนทำและคนดูให้ได้ ทำให้เกิดบทสนทนาระหว่างคนดูด้วยกัน

สร้างความใกล้ชิดระหว่างคนทำวิดีโอกับคนดู ทำให้คนดูรู้สึกใกล้ชิดกับเรา สิ่งสำคัญในการทำวิดีโอคือ ให้พูดสั้นๆ ว่าอยากให้คนดูทำอะไร เช่น ให้แชร์วิดีโอ หรือให้สับตะไคร้ (Subscribe) อะไรก็ว่าไป (หัวเราะ)”

ธุรกิจ (ต้อง) มี ‘เรื่อง’ จักรพงษ์ คงมาลัย

12 ข้อ สร้างเรื่องให้โดนใจ

แต่ละคน แต่ละธุรกิจย่อมมีต้นเรื่อง และเลือกกลวิธีเล่าเรื่องต่างกัน แต่ถ้ายึดหลักคิดว่า ทำคอนเทนต์อย่างไรคนถึงจะแคร์ สนใจเรา จักรพงษ์ คงมาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านคอนเทนต์แห่งวงการดิจิทัล เจ้าของบริษัท มูนช็อท ดิจิทัล ได้สรุปแนวคิดการทำคอนเทนต์ออกเป็น 12 ข้อ ดังนี้ 

1.ทำความเข้าใจ ให้แยกระหว่างคอนเทนต์ กับมาร์เก็ตติ้ง ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง 

2.ควรสร้างฐานคนติดตามที่ยั่งยืนด้วยการทำ Subscription

3.แบรนด์ต้องชัดเจนกับตัวเองว่าพันธสัญญาของตัวเองคืออะไร

4.สร้างบล็อก (Blog) หรือฮับ (Hub) ของข้อมูลตรงกลาง เชื่อมโยงโซเชียลทุกอันเข้ามา

5.ทอล์กอะราวด์ โปรดักต์ หมายถึงสิ่งที่คนจะได้อะไรกลับไป

6.จงตั้งเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเราออกไป 

7.กำหนดภาพจำที่เหมาะกับธุรกิจเรา

8.เข้าใจ Audience จริงๆ 

9.คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งใช้คุยกับบางคน ไม่ใช่ทุกคน

10.แบรนด์ควรจะทำตัวให้มีประโยชน์อย่างไรผ่านคอนเทนต์

11.เพจวิวไม่ใช่การวัดผลที่ยั่งยืนในระยะยาว

12.จะทำคอนเทนต์ จงเคารพคอนเทนต์ อย่าใช้เป็นแค่เครื่องมือประกอบการขาย หมายความว่าเป็นคอนเทนต์ที่คนอยากอ่านจริงๆ

สตอรี่ เทลลิ่ง ยังเป็นแก่นแท้ที่มีความสำคัญ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างคือการเล่าเรื่อง แม้จะผ่านมากี่ยุคสมัย การเล่าเรื่องก็ยังเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้น เฉกเช่นคำว่า Content is the King