posttoday

ย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ร.5-ร.7

17 เมษายน 2561

กระแสออเจ้า ปลุกรากเหง้าแห่งความเป็นไทย กระแสแต่งไทยนิยมกำลังมาแรง บัตรเคทีซีจึงจัดกิจกรรมย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ สมัย ร.5 จนถึง ร.7

เรื่อง อณุสรา ทองอุไร

กระแสออเจ้า ปลุกรากเหง้าแห่งความเป็นไทย กระแสแต่งไทยนิยมกำลังมาแรง บัตรเคทีซีจึงจัดกิจกรรมย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ สมัย ร.5 จนถึง ร.7 เพื่อย้อนเรื่องราวของรัตนโกสินทร์ผ่านมุมมองที่หลากหลาย สะท้อนให้เห็นสังคมและวิถีชีวิตของผู้คนสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 7 ตั้งแต่เริ่มวางรากฐานสยามประเทศเพื่อป้องกันการล่าอาณานิคมจากชาติตะวันตก เช่น การแต่งกาย วัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติของราชสำนักและปฏิรูปประเทศจนเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ยุคประชาธิปไตย

วัดเบญจมบพิตร

วัดและวังถือเป็น 2 สถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกันมาเสมอในยุคของรัตนโกสินทร์ เช่น วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น และน่าจะถือได้ว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 ซึ่งออกแบบโดยนายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยที่มีศิลปะวิจิตรงดงาม แตกต่างจากวัดทั่วไป

ไม่ว่าจะเป็นพระอุโบสถที่สร้างด้วยหินอ่อนได้สัดส่วนสวยงาม จิตรกรรมฝาผนัง และพระพุทธรูปต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นศิลปะไทยที่งดงามทั้งสิ้น วัดแห่งนี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในชื่อของ The Marble Temple

เนื่องจากประดับด้วยหินอ่อนที่ดีที่สุดจากประเทศอิตาลี ด้านนอกเป็นหินอ่อนสีขาว ที่เวลากลางคืนต้องแสงจันทร์วัดจะดูสว่างสกาวสดใสดูวับวาม ส่วนด้านในจะเป็นหินสีที่วางสลับลวดลายกันอย่างสวยงาม อีกทั้งองค์พระประธานก็จำลองมาจากพระพุทธชินราช ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองพิษณุโลก

ความแตกต่างของวัดนี้กับวัดอื่นๆ ในยุครัชกาลที่ 4 ก็คือบริเวณพระระเบียงด้านหลัง หรือวิหารคด เพราะสถาปนิกออกแบบให้วิหารคดโอบอยู่ด้านหลังอุโบสถ เมื่อมองด้านหน้า ด้านใต้ ด้านเหนือ พระอุโบสถ ล้วนกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากเปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนแหวน ตัวพระอุโบสถเปรียบเหมือนหัวแหวน ระเบียงพระอุโบสถ เรียงรายด้วยพระพุทธรูปโบราณปางต่างๆ รวม 52 องค์ ทั้งปางประทับนั่งและยืนสลับกันราวกับแกลเลอรี่พระพุทธรูป เพราะแต่ละองค์จะมีซุ้มกรอบ ที่มองจากมุมไกลราวกับอยู่ในกรอบรูปเลยทีเดียว ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงรวบรวมมาจากหัวเมืองต่างๆ และจากต่างประเทศ

รูปทรงของพระอุโบสถหลังนี้มีผู้กล่าวว่าเป็นยอดของสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์  กล่าวคือ เป็นรูปทรงจตุรมุข หน้าบันของมุขเด็จแต่ละด้านมีลวดลายไทยสลักเป็นรูปต่างๆ สวยงามน่าชมมาก อีกทั้งพระพุทธรูปที่ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ในพระอุโบสถ คือ พระพุทธชินราชจำลอง โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหลวงขึ้นไปจำลองแบบจากองค์เดิมที่ จ.พิษณุโลก ที่มุขเด็จด้านตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ปิดทองอยู่ติดผนังหลังพระพุทธชินราช พระพุทธรูปนี้เรียกกันอย่างเป็นสามัญว่า หลวงพ่อธรรมจักร ถือเป็นพระศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของวัด และมีต้นพระศรีมหาโพธิ์พันธุ์พุทธคยา ทางด้านหลังวิหารคดมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้มาเป็นต้นแรกในรัชกาลที่ 5

ย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ร.5-ร.7

อ.นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม กล่าวถึงปฐมเหตุการสร้างพระอุโบสถว่า เมื่อแรกสร้างในปี 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซื้อที่ดินระหว่างคลองผดุงกรุงเกษมจนถึงคลองสามเสนเพื่อสร้างที่ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถส่วนพระองค์

ในการนี้มีพระบรมราชโองการประกาศพระบรมราชูทิศถวายที่ดินให้เป็นเขตวิสุงคามสีมาของวัด พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดเบญจมบพิตร อันหมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 และเพื่อแสดงลำดับรัชกาลในมหาจักรีบรมราชวงศ์

เมื่อครั้งมีการจัดระเบียบพระอารามหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี 2458 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามได้รับการจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ดังนั้นชื่อวัดจึงมีสร้อยนามต่อท้ายด้วย วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร 

นอกจากนี้ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล เขียนบันทึกไว้ โดยเล่าเรื่องการออกร้านในวัดเบญจมบพิตร ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในฤดูหนาว มีพระราชดำริให้ปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ และให้จัดงานฉลองสมโภชวัดในปี 2443 โดยทรงเป็นประธานจัดงานด้วยพระองค์เอง มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บเงินบำรุงวัด สร้างในส่วนที่ยังไม่เสร็จ งานนี้นับว่าเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ มีการออกร้านมากมายและสนุกสนานยิ่งนัก มีทั้งร้านของพระมหากษัตริย์ ร้านของเจ้านายทั้งฝ่ายในฝ่ายหน้า ร้านของข้าราชการและประชาชน และร้านของชาวต่างประเทศที่มาพึ่งโพธิสมภาร ในงานมีการนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ การตักบาตร สนุกกับการละเล่นและมหรสพต่างๆ อีกด้วย งานนี้จึงสนุกสนานและให้ประโยชน์ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมประเพณี และเป็นที่พบปะของหนุ่มสาวในยุคนั้นๆ เช่นกัน

นอกจากนี้ บันทึกนี้ยังเขียนไว้ว่าในการสร้างวัดเบญจมบพิตรนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์ 4 ประการ คือ

1.จะให้เป็นวัดที่แสดงแบบอย่างการช่าง ศิลปกรรม วิจิตรศิลป์ และวัฒนธรรมของไทยในสมัยของพระองค์ ซึ่งใช้ในการคำนวณและออกแบบตามหลักวิชาของตะวันตก

2.จะให้เป็นวัดวิทยาลัย ที่ศึกษาหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนา และสามัญศึกษาของกุลบุตรด้วย

3.จะให้เป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณต่างๆ ของไทย

4.จะให้เป็นวัดที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของพระองค์

ประโยชน์ที่ได้จากการจัดงานออกร้าน มีทั้งด้านวัฒนธรรม การจัดงานที่วัดย่อมจะต้องมีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม การแต่งกายและดนตรีตามความนิยมของคนไทย นอกจากนั้นยังมีการทำบุญ มีพิธีกร และประเพณีต่างๆ สอดแทรกอยู่ในงานวัดอีกด้วย

ส่วนด้านสังคม มีการพบปะสังสรรค์ และร่วมงานกุศลกันที่วัด โดยมีบุคคลต่างฐานะ ต่างเพศต่างวัยมาชุมนุมกัน องค์พระประมุขของชาติก็ได้มีโอกาสเสด็จมาให้ราษฎรและข้าราชการเฝ้าอย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน

สุดท้ายด้านเศรษฐกิจ มีการซื้อขายสินค้านานาชาติ ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน คนมีเงินก็จ่ายซื้อของต่างๆ คนค้าขายก็ขายสินค้าได้ราคา เป็นผลให้เศรษฐกิจของส่วนรวมดีขึ้น และทางวัดก็ได้เงินไปบำรุงวัดช่วยในการก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อยในโอกาสต่อมา

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องความสนุกในวัดเบญจมบพิตร ก็คือการบันทึกประสบการณ์ในอดีตไว้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เพราะช่วยทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ งานเขียนในลักษณะนี้จัดอยู่ในประเภทสารคดี เพราะเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากความจริง มุ่งให้ความรู้และเพลิดเพลินด้วย

การจัดงานวัดเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยดึงความสนใจของคนให้มารวมอยู่ที่วัด ทำให้เกิดศรัทธาที่จะทะนุบำรุงวัด และเป็นการบำรุงพระพุทธศาสนาไปด้วย ผู้ที่ไปชมงานวัด ไม่ว่าจะเป็นบุคคลเพศใด วัยใด และมีฐานะทางสังคม อย่างไรย่อมได้ประโยชน์กลับไปตามความสนใจของตน สถานที่หนึ่งในสมัยหนึ่งก็ย่อมมีความหมายแก่คนในสมัยนั้นอย่างหนึ่ง ครั้นกาลเวลาผ่านไปสถานที่แห่งเดียวกันนั้นย่อมมี
ความหมายที่เปลี่ยนไปสำหรับคนรุ่นหลังๆ

แม้จะเหลือเพียงเรื่องราวและภาพถ่ายเป็นหลักฐาน แต่งานวัดเบญฯ ก็เป็นที่กล่าวขานมาโดยตลอด เพราะเป็นงานวัดที่พิเศษจากงานวัดอื่นๆ มีมหรสพแบบราชสำนัก เช่น โขน ละครใน พร้อมด้วยการออกร้านที่น่าสนใจ เช่น ร้านถ่ายรูปของโรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพชื่อดัง การเปิดหีบเพลงชาวตะวันตก และหุ่นทรงเครื่องของหม่อมราชวงศ์เถาะในปี 2443 ซึ่งเป็นของแปลกใหม่ในยุคนั้น

อาจารย์นัท เล่าว่า “ภายในงานวัดหลวง ยังมีร้านหลวง หรือร้านของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในแต่ละปีจะจัดไม่ซ้ำกัน บ้างก็จำหน่ายหนังสือ บ้างก็จัดแสดงละครเพื่อเก็บเงินเข้าบำรุงวัด แต่ปีที่พิเศษที่สุดคือปี 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งร้านถ่ายรูปหลวง และเสด็จฯ มาประทับที่ร้านทุกคืน เพื่อทรงถ่ายรูปพระราชทานแก่บรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชาวต่างชาติที่กราบบังคมทูลร้องขอ โดยทรงเก็บค่าถ่ายรูปคนละ 20 บาท เพื่อสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศล นอกจากนี้ยังทรงออกแบบจัดฉากถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง บางฉากทรงทำเป็นกรอบรูปจำลอง แล้วโปรดให้เจ้านายยืนประทับอยู่ด้านหลัง บางฉากทรงกำกับให้โพสท่าต่างๆ หรือบางรูปทรงถ่ายเป็นภาพล้อเลียน เป็นโอกาสที่จะได้เข้าเฝ้า ร.5 ในแบบไพรเวท เรียกได้ว่าเป็นงานที่ทุกคนในยุคนั้นเฝ้ารอ และมีหลายคนที่ได้พบคู่หมายในงานนี้”

ย้อนกาลเก่า เล่ารัตนโกสินทร์ ร.5-ร.7

พิพิธภัณฑ์อาคารสายสุทธานภดล

เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2559 ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สัมผัสเรื่องราวความเป็นอยู่ของเจ้านายฝ่ายในเฉพาะเจ้านายผู้หญิง โดยหลังจากที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรป และตั้งพระทัยให้สวนสุนันทาเป็นพระราชอุทยานส่วนพระองค์

ราชสำนักฝ่ายในหรือพระราชฐานชั้นใน นอกจากจะมีพระที่นั่งอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ ยังมีตำหนักและเรือนต่างๆ ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับและที่พำนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน

โดยในช่วงต้น ร.5 ยังคงอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวัง ต่อมาได้เปลี่ยนไปประทับ ณ พระราชวังดุสิต ภายหลังเมื่อเสด็จฯ กลับจากประพาสยุโรปครั้งที่ 2 
จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างสวนสุนันทาเพื่อใช้เป็นที่ประทับอีกแห่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์ การก่อสร้างต่างๆ ยังไม่ทันเสร็จสมบูรณ์ กาลล่วงมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ สวนสุนันทาจึงกลายเป็นราชสำนักฝ่ายในขนาดใหญ่ตลอดสมัยรัชกาลที่ 6-7

พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในหลายพระองค์เสด็จมาประทับ ณ สวนสุนันทา โดยมีตำหนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา พระอัครชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศูนย์กลางสมัยนั้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมใน ร.5 เข้ามาพำนักอีก 13 ท่าน ซึ่งต่างมีเรือนแยกเป็นสัดส่วน และยังมีบางพระองค์เสด็จฯ เข้ามาประทับเป็นครั้งคราว ซึ่งอาคารสายสุทธานภดลนี้ ถือเป็นศูนย์กลางของราชสำนักฝ่ายในยุคสุดท้ายก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นพิพิธภัณฑ์พระมหากษัตริย์ที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม พิพิธภัณฑ์นี้แสดงพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และของใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ที่มีกลิ่นอายวัฒนธรรมยุโรป

ซึ่งได้รับความนิยมในสมัยนั้น พบกับต้นแบบของการออกแบบสะพานพระพุทธยอดฟ้า สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดยใช้พระราชลัญจกรในการสร้าง และแบบจำลองโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ปรับอากาศแห่งแรกในอาเซียน และพระอัจฉริยภาพในการทรงประพันธ์บทภาพยนตร์เรื่องแหวนวิเศษ พร้อมอ่านพระราชหัตถเลขาสละพระราชอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการสละราชสมบัติและพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามประเทศ และชมแรงบันดาลใจจากหนังสือทรงอ่าน ซึ่งเป็นหนังสือที่สนพระทัยส่วนพระองค์