posttoday

สกุล บุณยทัต โจรปล้นฟ้าที่เขียนมาก่อนกาล

15 เมษายน 2561

คือเรื่องจริงที่หยิบมาเขียน คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม คือเรื่องจริงที่ชนเผ่าโดนรุกรานที่อยู่ดั้งเดิม สกุล บุณยทัต

โดยวันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์

คือเรื่องจริงที่หยิบมาเขียน คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม คือเรื่องจริงที่ชนเผ่าโดนรุกรานที่อยู่ดั้งเดิม สกุล บุณยทัต หยิบเรื่องจริงที่ฝ่ายปกครองรุกราน ฝ่ายถูกปกครองประท้วงสิทธิใน “โจรปล้นฟ้า” นวนิยายเล่มนี้ชาวเขาถูกแทนค่าด้วย “ฟ้า” เพราะนอนบนภูใกล้เกือบถึงฟ้า ครานี้ต้องมานอนกันหน้าทำเนียบฯ คำถามต่อไปคือแล้วใครเล่า...ที่เป็นโจร

ที่สุดของหนทางคือความพ่ายแพ้ ที่แพ้ต่ออำนาจรัฐ แพ้ทุกทางและจนทุกทาง หนึ่งในผู้นำการต่อสู้ ซึ่งเป็นคุณลุงคนหนึ่งตัดสินใจกระโดดลงจากรถไฟก่อนที่รถไฟจะพากลับถึงบ้าน สกุลบอกว่า เขาหยิบความจริงนี้จากข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ สะท้อนออกมาในรูปของวรรณกรรมการต่อสู้

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน เขียนและพิมพ์ครั้งแรกปี 2543 ล่าสุดพิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ อาร์ตี้เฮ้าส์ (ArtyHOUSE) เรื่องราวบอกเล่าถึงเหตุการณ์และสภาวการณ์รุกรานแผ่นดินบนเขา เมื่อคนเมืองขึ้นดอยและแย่งเอาทุกสิ่งจากคนบนภู

“มันเป็นของพวกเขาจริงๆดินแดนเกิดของชนเผ่า แล้วเราก็ไปรุกรานเขาจริงๆ  พวกเขาต้องพ่ายแพ้หมด เรื่องแบบนี้เกิดแล้วเกิดเล่าในยุคสมัยของเรา ผมว่าผมเขียนเรื่องนี้มาก่อนกาลด้วยซ้ำ” สกุลเล่า

เมื่อคนบนเขาลุกขึ้นต่อสู้  กลับไม่มีสิทธิและแพ้คดี คนรุ่นต่อๆ มาก็แพ้ พวกเขาพ่ายแพ้หมดรูป แล้วในอนาคตพวกเขาจะอยู่กันอย่างไร อย่ามองว่าไม่เกี่ยวกัน เราเองในฐานะมนุษยชนและเพื่อนมนุษย์ เราจะทำอย่างไร คิดอย่างไรและร่วมแก้ปัญหานี้อย่างไร เมื่อคนไม่มีโอกาสในสังคมโดนรุกราน โลกกำลังพัฒนาไปไกลแค่ไหน ท่ามกลางแผ่นดินที่กำลังถูกกระทำ

กระแสโซเชียลที่ประท้วงสอบทานนั้น สกุลบอกว่า ในมุมนี้ดีขึ้น อย่างน้อยผู้มีอำนาจวาสนาและขึ้นไปยึดครองแผ่นดินบนดอย ก็ได้ชะงักบ้าง อย่างไรก็ตามทุกอย่างยังเต็มไปด้วยการออกแบบ แผ่นดินทุกตารางนิ้วกลายเป็นคนเมืองที่เป็นเจ้าของยึดครองหมด แต่คนดอยไม่มีแผ่นดินจะอยู่

สกุล บุณยทัต โจรปล้นฟ้าที่เขียนมาก่อนกาล

“บาดแผลและเงื่อนปมในสังคมของเรา รัฐก็รู้อยู่ พวกที่มีอำนาจวาสนาเข้าไปยึดครอง ผลได้สำหรับคนเมือง แต่คนภูเขาที่เคยมีชีวิตที่นั่น มีมิติของการอยู่อาศัยจริงๆ ที่นั่น คุณเอาพวกเขาไปขีดฆ่าที่ไหน” สกุล กล่าว

สกุลวันนี้อายุ 65 ปี เป็นคนเชียงใหม่ เป็นนักเขียนนักวิจารณ์ ใช้ชีวิตอยู่ที่นครปฐมจนค่อนชีวิต เล่นดนตรี เขียนกวี เรื่องสั้น บทละคร นวนิยาย งานวิจารณ์ และสอนละครเป็นงานแห่งชีวิต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเขียนหนังสือที่เขายกให้เป็น “เสี้ยวศตวรรษ” ของการเขียนงาน

“หนังสือเล่มใหม่ชื่อ หนังแนบเนื้อ เป็นวรรณกรรมวิจารณ์ภาพยนตร์ ยังมีเรื่องสั้นชื่อจุดไฟเผาทุ่งทะเลดอกไม้ ได้รับรางวัลช่อการะเกด ก็จะพิมพ์ใหม่ จัดจำหน่ายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งถัดไปเดือน ต.ค. 2561”

สกุลยังชอบดูหนังมาก ผู้กำกับในดวงใจ คือ เควนติน ทาแรนติโน่ ชอบในมิติที่รุนแรงและความคิดที่พรั่งพรูผ่านแผ่นฟิล์ม ดิบ อาร์ต และสวยงาม ส่วนภาพยนตร์เรื่องโปรดเป็นหนึ่งในหนังคลาสสิกทศวรรษ 1970 เรื่อง Ryan’s Daughter ของ เดวิด ลีน ที่สะท้อนให้เห็นบาปของความเป็นชีวิต โดยหนังเล่นกับตัวละครเพียงไม่กี่ตัว แต่ก็สะกดผู้ชมไว้ได้ตลอดเรื่อง เทคนิคภาพที่ทำให้เห็นไม่ชัดเพราะย้อนแสงก็สวยมาก ล้อให้เห็นชีวิตที่สับสน ย้อนแย้งเหมือนเงาย้อนแสงในภาพยนตร์

“สไตล์ของผมทั้งหนังและงานเขียนคือความหนักที่หนักหนามาก หนักกับชีวิต ผมต้องพูดอย่างนี้ เพราะผมเป็นอย่างนี้ มันคลุมเครือ มันเต็มไปด้วยความรู้สึกที่คลุมเครือ ซึ่งเป็นความชัดเจนที่สุดในสังคมวันนี้” สกุลเล่า

ปัจจุบันเขายังเปิดร้าน เล่นดนตรีสด ที่นครปฐม ชื่อร้านไลท์ มาย ไฟร์ (Light My Fire) เล่นดนตรีในแนววง เดอะ ดอร์ส (The Doors) วงดนตรีดังยุค 60 การเล่นดนตรีก็เหมือนอีกหลายด้านในชีวิต คือหนักมาก เล่นดนตรีแบบดิบๆ สดๆ ใครสนใจมาแจมกันได้ที่ Light My Fire