posttoday

คู่หูผู้ส่งเสริมกันและกัน พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว+ณัฐชนน โพธิ์เงิน

14 เมษายน 2561

โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วเกินกว่าจะยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ไม่เว้นแม้แต่สกุลเงินที่เคยมีมานับพันปี ก็ต้องถูกตีด้วยเงินสกุลดิจิทัล

โดย  ชายโย ภาพ : วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

 โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปเร็วเกินกว่าจะยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ไม่เว้นแม้แต่สกุลเงินที่เคยมีมานับพันปี ก็ต้องถูกตีด้วยเงินสกุลดิจิทัล

 นั่นทำให้ "หาญ" พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว และ "เอิธ" ณัฐชนน โพธิ์เงิน พี่น้องร่วมสถาบันศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มหาวิทยาลัยมหิดล กระโดดเข้ามาศึกษาจนช่ำชอง และกลายมาเป็นคู่หูผู้เชี่ยวชาญการลงทุนสกุลเงินดิจิทัล แห่งสยามบล็อกเชน อะคาเดมี (Siam Blockchain Academy)

 “ผมเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล คณะไอซีที เอิธเป็นรุ่นน้องผม 1 ปี รู้จักกันตอนที่เราทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเอิธก็เข้ามาช่วยงานกิจกรรมแล้วก็ได้มาอยู่กลุ่มเดียวกับผม เป็นกลุ่มรับน้อง เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้รู้จักกัน แล้วก็ทำงานมาด้วยกันทุกครั้งที่มีโอกาสในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย” หาญ เล่าย้อนความหลังถึงวันที่รู้จักกัน

คู่หูผู้ส่งเสริมกันและกัน พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว+ณัฐชนน โพธิ์เงิน

 เอิธ บอกเสริมว่า ตอนที่รู้จักหาญเป็นครั้งแรก มองดูเขาก็เป็นคนชิลๆ คนหนึ่ง แต่เวลาทำงานก็จะทุ่มเทอย่างมาก

 "เวลาที่มีงานของคณะ งานของมหาวิทยาลัย เราก็จะมาเจอกันตลอด"

 ในขณะที่หาญ พูดถึงรุ่นน้องว่า ตั้งแต่เจอกันครั้งแรกก็มองว่าน้องคนนี้เป็นคนที่ฉลาด มีไหวพริบที่ดี เป็นทั้งหัวหน้ากลุ่มและเป็นทั้งประธานรุ่นทำกิจกรรมร่วมกันมาด้วยดีตลอด

 "แม้ว่าเราจะไม่ได้มีตำแหน่งในการทำงานใหญ่โต แต่เอิธก็ให้เกียรติรุ่นพี่ในการทำงานเสมอ"

 จนกระทั่งทั้งคู่เรียนจบ หาญไปทำงานบริษัทอยู่ไม่นานนัก ก็ตัดสินใจลาออกมาช่วยทำธุรกิจของที่บ้าน ประกอบกับช่วงเวลานั้นได้รู้จักกับบิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลก็ศึกษาอย่างละเอียด และติดต่อไปหาเว็บไซต์สยามบล็อกเชน เพื่อขอเขียนบทความให้กับทางเว็บ

คู่หูผู้ส่งเสริมกันและกัน พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว+ณัฐชนน โพธิ์เงิน

 ในขณะเดียวกัน เอิธ ที่ทำงานบริษัทก็เกิดความสนใจ สกุลเงินคริปโตเคอเรนซี แล้วเห็นว่ารุ่นพี่หาญเป็นคนที่มีความรู้เรื่องนี้ดีกว่าใครประกอบกับความสนิทสนม จึงติดต่อไปขอความรู้จากรุ่นพี่ ก็เลยขอเข้าไปทำงานเขียนบทความตรงนี้ด้วย ทั้งคู่ก็เลยได้มีโอกาสกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง หาญ เล่าว่า

 “แต่ก่อนสมัยเรียน ผมไม่ได้มีความรู้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องคริปโตเคอเรนซีเลย จนกระทั่งช่วงที่อยากจะลาออกจากงาน แล้วมองหาช่องทางการทำธุรกิจการลงทุนสักอย่าง เป็นอะไรก็ได้ที่เราคิดว่าดี เราก็พบว่ากองทุนหรือหุ้น ยังไม่ใช่แนวของเรา แล้วเราก็ไปเจอกับสกุลเงินดิจิทัลที่เราคิดว่าน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุน ก็เลยทุ่มเทศึกษาเรื่องนี้อย่างเต็มที่ แล้วเราก็พบว่า เมื่อเทียบเรื่องความปลอดภัยโดยตัดเรื่องมูลค่าสกุลเงินต่างๆ ออกไปแล้ว คริปโตเคอเรนซีเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัยมากที่สุดในโลกแล้ว

 แต่สิ่งที่ทำให้คนทั่วไปไม่มั่นใจในการลงทุนกับสกุลเงินคริปโตเรนซี ก็คือเรื่องของมูลค่า ด้วยเราศึกษาและอ่านเทรนด์ของโลกเราเชื่อว่าก้าวต่อไปคริปโตเคอเรนซีเป็นอะไรที่ต้องมาแน่ๆ เราจึงตัดสินใจที่จะลงทุน โดยที่คนอื่นที่ยังไม่รู้จัก การลงทุนในคริปโตนั้นมีทั้งการทำเหมืองขุดดิจิทัล และการซื้อขาย

 จนวันหนึ่งพอเราเขียนบทความไปได้สักพักก็มีการติดต่อเข้ามาให้เรา 2 คนไปเป็นวิทยากรบรรยายสอนการลงทุนคริปโตเคอเรนซี เราก็ตอบรับที่จะไปบรรยายให้ความรู้ พอผ่านครั้งแรกไปได้ด้วยดี เราทั้งคู่ก็กลับมาคิดกันว่าเราน่าจะทำตรงนี้ได้ดีและสามารถไปต่อได้ จึงเปิดอบรมสัมมนากันเดือนละครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นคอร์สสอนการลงทุนในคริปโตโดยเฉพาะ ในนามของ สยามบล็อกเชน อะคาเดมี (facebook.com/siamblockchainacademy) ซึ่งเป็นแบรนด์ลูกของ สยามบล็อกเชน และตอนนี้ก็ยังมีโครงการที่จะเขียนหนังสือให้ความรู้ร่วมกันอีกด้วย”

 เอิธ พูดเสริมต่อว่า

คู่หูผู้ส่งเสริมกันและกัน พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว+ณัฐชนน โพธิ์เงิน

 “เรารู้จักกันมาตั้งแต่มหาวิทยาลัยทำให้รู้จักนิสัยกันดี มีอะไรก็พูดกันตรงๆ ก็มีการแบ่งงานทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดและพร้อมที่จะทำ ซึ่งพี่เขาก็โอเคทำให้เรามีทีมเวิร์กที่ดี พี่หาญจะเป็นคนตรงไปตรงมา ถ้ามีอะไรติดขัดติดใจไม่พอใจก็จะพูดออกมาเลย ทำให้งานของเราไม่มีปัญหา ก้าวหน้าไปได้เรื่อยๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือพี่เขาจะทุ่มเทกับงานเต็มที่ ทำให้ผมรู้สึกว่าเราเข้าขาทำงานด้วยกันได้ดี”

 หาญพูดถึงรุ่นน้องคู่หูของเขาอีกว่า

 “ส่วนตัวลักษณะนิสัยการทำงานของผม ยังขาดความรอบคอบในบางจุดบางเรื่องอยู่บ้าง ซึ่งเอิธจะเข้ามาช่วยผมในเรื่องนี้ แต่เอิธจะทำงานประจำ จะทำให้มีเวลาน้อยกว่าผม ผมเลยคิดว่างานอะไรที่ต้องใช้แรงและเวลาในการทำงานเยอะ ผมจะเป็นคนทำเอง แต่งานที่พวกเป็นการวางแผนที่ต้องใช้ความรอบคอบความละเอียดในการไตร่ตรอง ผมจะให้เอิธเป็นคนช่วยดู

 อย่างเวลาเราทำเนื้อหามีความละเอียดมากๆ ผมก็ให้เอิธช่วยดูช่วยรั้งไว้ เพราะบางทีเราก็เขียนเนื้อหาที่ดูยากเกินไป จนคนอาจจะไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังต้องการสื่อออกไป เอิธก็จะช่วยปรับแก้เนื้อหาให้ ผมคิดว่าเอิธเก่งในการตัดสินใจแก้ปัญหา และรู้ว่าเมื่อแก้แล้วจะต้องทำอะไรต่อไป ผมจึงรู้สึกว่าถ้าเป็นเรื่องการตัดสินใจ เอิธจะตัดสินใจได้ดีกว่าผมแน่นอน และมีอะไรเราก็คุยกันตลอดในทุกเรื่อง

 แม้แต่เรื่องรายได้ ตั้งแต่แรกผมกับเอิธจะแบ่งกันคนละครึ่งแม้ว่าผมออกมาทำเต็มตัวมากกว่าก็ตาม แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ เพราะเอิธเป็นเหมือนน้องผมคนหนึ่ง แล้วเอิธก็เข้ามาช่วยในสิ่งที่ผมขาดหายไป ถ้าไม่มีเขาเราอาจจะทำงานได้ไม่ดีเหมือนที่เป็นอยู่ก็ได้”