posttoday

ป่วยซึมเศร้า...เราเข้าใจ

10 เมษายน 2561

ลนิธิคุณ (Khun Foundation) ร่วมกับ Warm Us Charity จัดเสวนาโรคซึมเศร้า...เราเข้าใจ สร้างความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง

โดย...อณุสรา ทองอุไร ภาพ pixabay

มูลนิธิคุณ (Khun Foundation) ร่วมกับ Warm Us Charity จัดเสวนาโรคซึมเศร้า...เราเข้าใจ สร้างความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างถูกต้อง เพราะโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งขึ้นทุกวันนับเป็นประเด็นที่ควรตื่นตัวตระหนักรู้ให้มาก โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า ในปี 2563 โรคซึมเศร้า จะมีผู้ป่วยมากเป็นอันดับสองรองจากโรคทางกายอื่นๆ เช่น หัวใจ เบาหวาน มะเร็ง

มูลนิธิคุณ จัดงานเสวนาเรื่องนี้เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เพื่อให้ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือบุคคลใกล้ชิดสามารถสังเกตตัวเองและบุคคลรอบตัวและให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดปัญหาใหญ่ที่จะตามมา ถือเป็นปัญหาใกล้ตัว เพราะสุขภาพจิตที่ดีสำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพกายที่ดีเช่นกัน

นพ.จิตริน ใจดี จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยว่า โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องใกล้ตัว เกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย เราสามารถช่วยกันดูแลตัวเองและซึ่งกันและกัน ก็เท่ากับเราช่วยดูแลสังคมเรา การเข้าใจคนข้างๆ ที่เป็นโรคซึมเศร้าอย่างที่เขาเป็นด้วยการฟังด้วยใจ ไม่ตัดสิน เป็นการช่วยผู้ป่วยได้มากแล้ว และอาจสำคัญกว่าว่าจะต้องใช้เทคนิคการพูดเช่นไรเสียอีก

ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะเป็นหรือไม่เป็นโรคซึมเศร้า ถ้าความทุกข์ใจมันมีสัดส่วนมาก กว่าความสุข และหาทางออกไม่เจอ การขอความช่วยเหลือจากใครก็ตามเป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำ

ป่วยซึมเศร้า...เราเข้าใจ

“วิธีสังเกตคือ ความเศร้านั้นมีอาการข้ามวันข้ามคืนก็ไม่ดีขึ้นสะสมยาวนานเป็นเดือน มีอาการเครียดเรื้อรัง ถ้าเป็นชั่วครู่เศร้าๆ ร้องไห้อยู่พอเพื่อนชวนไปกินข้าวฟังเพลงก็หัวเราะอารมณ์ดีได้ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็น แต่ก็เป็นโรคที่รักษาหายได้ด้วยการกินยาและทำกลุ่มบำบัด ขึ้นอยู่กับอาการของโรค พยายามปรับตัวปรับใจให้มีความรู้สึกเป็นกลางๆ มากขึ้น ไม่เครียดง่ายหรือดีใจเกินเหตุ อย่าตั้งเงื่อนไขในชีวิตหรือมีมาตรฐานสูงมากเกินไปจนทำให้ผิดหวังกับอะไรง่ายๆ เพราะแบกรับมากเกินไป ถูกคาดหวังมากเกินไป ทำให้รู้สึกกังวลไม่มั่นคงในชีวิต”

ควรหากิจกรรมใหม่ๆ ทำเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจเบื่อหน่ายในชีวิตมากเกินไป ที่สำคัญเมื่อรู้สึกคล้ายเป็นอาการซึมเศร้าอย่าวิเคราะห์เอง อย่าด่วนตัดสิน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ตรงจุด

ส่วนการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้นำไปสู่การฆ่าตัวตายทุกคน หรือคนที่ฆ่าตัวตายทุกคนไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่มีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น ป่วยเป็นมะเร็งแล้วทุกข์ทรมานจนไม่อยากอยู่ต่อ หรือเครียดเรื่องเงินทองจนรับไม่ไหว และคนที่เป็นซึมเศร้าก็ไม่ได้จะเป็นบ้า อย่าเข้าใจผิดตรงจุดนี้

อันที่จริงแล้ว คนที่ถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้มีเพียงจิตใจที่อ่อนไหวเท่านั้น แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีปัญหาไปถึงสารสื่อประสาทในสมอง ที่มีความผิดปกติจนทำให้กระบวนการคิด การตัดสินใจของเราผิดปกติไปจากเดิม หลักเหตุผลต่างๆ นานาที่คนปกติคิดกันได้ ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจจะคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะอ้างว่าผู้ป่วยเหล่านั้นอ่อนแอไม่เข้มแข็ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้วผู้ป่วยเหล่านี้เขาเข้มแข็งมากตั้งแต่ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากเช่นกันที่สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่อยากจะฆ่าตัวตายมาได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบตัวและจิตแพทย์

ป่วยซึมเศร้า...เราเข้าใจ

ทางด้าน นพ.ปทานนท์ ขวัญสนิท แพทย์ชำนาญการ จิตแพทย์ ประจำสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กล่าวเสริมว่า ทัศนคติของคนในสังคมต่อโรคซึมเศร้านั้นสำคัญมาก อยากให้มองว่าโรคซึมเศร้าก็เป็นโรคโรคหนึ่ง คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นคนอ่อนแอหรือไม่สู้ชีวิต คนที่เศร้านั้นต้องการคนฟังมากกว่าคนสอน หากคุณต้องการจะช่วยเหลือผู้ที่ซึมเศร้า ควรค่อยๆ เริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่ดี รับฟังเขาและช่วยเหลือเขา ปฏิบัติอย่างเข้าใจ

“คือไม่ต้องปกป้องเขาราวไข่ในหิน เพียงเดินสายกลาง ไม่ตัดสินเขา ไม่ใช้คำพูดทำนองอย่าอ่อนแอไปหน่อยเลย เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป เรื่องแค่นี้เองอดทนหน่อยสิ อย่าพูดแบบนี้กับผู้ป่วยเพราะนั่นแสดงว่าคุณไม่เข้าใจและไปตัดสินเขา เราไม่ได้ป่วยเหมือนเขา แค่ฟังเขาระบายฟังเขาพูดออกมาก็พอ”

ดังนั้น จึงไม่ควรมองโรคซึมเศร้าว่าเป็นเรื่องที่น่าอายหรือน่ากลัว หากมีอารมณ์เศร้านานๆ รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิมมาก การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องที่ควรทำ จากสถิติพบว่า มีผู้หญิงป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย และมีผู้ป่วยในวัยกลางคนมีอัตราเพิ่มขึ้น

การสังเกตว่าคุณหรือคนใกล้ตัวเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น ดูได้จากว่า พฤติกรรมเขาเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ เช่น จากที่เคยร่าเริง ช่างพูดช่างคุย ก็เงียบขรึม ผิดธรรมชาติไปจากเดิมที่เคยเป็น ไม่สนใจตัวเอง จากที่ชอบแต่งตัวสวยงามก็ไม่สนใจตัวเอง ไม่อาบน้ำ ไม่สระผม  เบื่อหน่าย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ ทำอะไรไม่สำเร็จไม่ต่อเนื่อง กล่าวโทษตัวเอง มีปัญหาในการปรับตัว กินไม่ได้นอนไม่หลับ ติดสารเสพติด จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ได้ หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ

ควรชวนไปทำกิจกรรมที่ผู้ป่วยชอบและสนใจ ก่อนที่เขาจะป่วยเขาเคยชอบอะไร เขาจะทำแล้วมีความสุข เช่น ปลูกต้นไม้ วาดรูป ดนตรี ถามว่าเขาชอบหรืออยากทำอะไรจริงๆ แต่มีงานวิจัยออกมาว่าการเต้นแอโรบิกเอ็กเซอร์ไซส์ ช่วยแก้ไขคนที่ป่วยซึมเศร้าน้อยๆ ให้มีอาการดีขึ้นได้ ขอให้ใจเย็นกับเขา บอกเขาย้ำๆ ว่าเราดีใจที่เขายังอยู่กับเรา เขามีความสำคัญกับเราอย่างไร เขามีข้อดีในตัวเองอย่างไร หากเป็นเพื่อนกัน ควรชวนเพื่อนทำกิจกรรมที่เขาชอบร่วมกัน ทานอาหารอร่อยๆ ออกกำลังกาย ไปเที่ยวพักผ่อน แบ่งปันสารทุกข์สุกดิบซึ่งกันและกัน แต่อย่าให้เขาหันหน้าเข้าหาแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติดโดยเด็ดขาด

ป่วยซึมเศร้า...เราเข้าใจ

สาเหตุของโรคนี้ส่วนหนึ่งมาจากสารในสมองไม่สมดุลสามารถรักษาด้วยการกินยา อีกสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น เช่น ความเครียด ความกดดัน ปัญหารุมเร้าหลายด้านจนหาทางออกไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนเครียดกดกันทุกคนจะต้องเป็นโรคซึมเศร้า

วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องก็คือ กลับมาแก้ปัญหาที่สาเหตุว่า มีอะไรบ้างที่ทำให้เครียด (ถ้าเครียดในระดับน้อยๆ ถือเป็นเรื่องปกติ) แล้วมีวิธีการจัดการกับความเครียดได้แค่ไหน พยายามอย่าให้เครียดจนเกินไป การรักษาคือการกินยาสำหรับผู้ป่วยระยะปานกลางถึงมาก แต่ถ้าเป็นน้อยๆ จะใช้วิธีการพูดคุยทำจิตบำบัดก็เพียงพอ

กรณีที่คิดว่า มีความทุกข์ก็ไปเข้าวัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ เดี๋ยวก็ดีขึ้นนั้น “จริงอยู่ว่าหลักธรรมในศาสนาพุทธทำให้จิตใจสงบลงได้ แต่ก็ใช้ได้แต่กับคนที่มีสภาพจิตใจปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ ที่จะต้องเข้ารับการรักษาทั้งจากจิตแพทย์ที่จบทางด้านการรักษาโรคเหล่านี้โดยเฉพาะ และในบางรายจะต้องได้รับยาเพื่อปรับการทำงานของสมองอีกด้วย ดังนั้นการเข้าให้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนา บางครั้งอาจไม่ใช่วิธีรักษาโรคที่ถูกต้อง หรือตรงจุดนัก และไม่ได้ผลสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า”

ส่วนการทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อช่วยบำบัดได้ เช่น Art & Well-Being ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตนเองออกมาได้ บางคนสามารถปรับความคิดได้เพียงชั่วข้ามวัน ส่วนหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสะท้อนออกมาให้สมาชิกท่านอื่นได้รับรู้ หรือ Music & Relaxation Technique ได้แนะนำวิธีการที่ผู้เข้าร่วมจะสามารถนำดนตรีกลับไปประยุกต์ใช้ด้วยตนเองได้ การฝึกการหายใจ การฝึกการเกร็งและผ่อนคลายกล้ามเนื้อร่วมกับดนตรี การเลือกฟังเพลงที่หลากหลายและปลอดภัยสำหรับกลุ่มโรคซึมเศร้า นำความรู้ที่ได้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในยามที่เกิดปัญหาหรือเมื่อเกิดความเครียด

มูลนิธิคุณ มุ่งหวังจะเป็นผู้ให้ มีความพร้อมในการยกระดับพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืนในด้านสาธารณสุข บุคลากร และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังคงตระหนักถึงชีวิตของเพื่อนร่วมโลก หากใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถลองทำแบบทดสอบของกรมสุขภาพจิต หรือติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิตที่ 1323 ได้ตลอดเวลา