posttoday

การสื่อสาร ความรัก ความนับถือ ปภณ จงธนะวณิช+รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว

07 เมษายน 2561

ทุกวันนี้เรียนจบแล้วทำงาน (นาน) แล้ว แต่ถ้าพลังหมดเมื่อไร หลายคนชอบหาเวลากลับไปกราบไหว้อาจารย์สมัยที่เรายังเด็ก

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

ทุกวันนี้เรียนจบแล้วทำงาน (นาน) แล้ว แต่ถ้าพลังหมดเมื่อไร หลายคนชอบหาเวลากลับไปกราบไหว้อาจารย์สมัยที่เรายังเด็ก

 ความรักความผูกพันที่แน่นแฟ้นคือ ความรักความนับถือที่เชื่อไหมว่าจะให้พลังและแรงบันดาลใจที่ดีเสมอ เรื่องเล่าของอาจารย์กับลูกศิษย์ ที่ให้กำลังใจ เพื่อชีวิตที่ไปต่อดั่งใจฝันเรื่องนี้ เชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อ่านทุกท่าน

 อาจารย์-รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว หัวหน้าสาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์และอาจารย์ผู้สอนปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันนี้จะขอ “สอน” นอกห้องเรียน ส่วนลูกศิษย์-ทพ.ปภณ จงธนะวณิช นักศึกษาปริญญาเอกนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันนี้ก็จะขอ “เรียน” นอกห้องเช่นกัน

ลูกศิษย์เล่าถึงอาจารย์

การสื่อสาร ความรัก ความนับถือ ปภณ จงธนะวณิช+รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว

 ทพ.ปภณ หรือคุณหมอท็อป เล่าว่า ก่อนจะเล่าถึงอาจารย์คงต้องคุยให้ฟังถึงการเรียนและการทำงานของเขาก่อน เขาเรียนสายวิทย์-คณิต ทั้งที่ไม่รู้ว่าอยากทำอาชีพอะไร อยากเป็นอะไร สอบเข้าคณะทันตแพทย์ตามพี่สาว จบแล้วก็เปิดคลินิกรักษาฟันชื่อ The ARCK ก็เป็นตอนที่ค้นพบตัวเองว่า รักษาฟันก็ชอบ แต่ก็ชอบอย่างอื่นด้วย

 “ตอนนั้นที่ชอบมากคือเรื่องของการบริหาร ตอนเรียนทันตแพทย์ได้เรียนมาบ้างเกี่ยวกับวิชาด้านการตลาดบางตัว แต่ก็ไม่กี่ตัว เพื่อที่ว่ารู้ว่าเราอยากจะเรียนการตลาดอีกหลายๆ ตัว(ฮา) คุณแม่บอกว่ามีหลักสูตรเปิดใหม่ที่หอการค้า อ้าว! มันเป็นเนื้อหาที่เราอยากเรียนพอดี และยังไม่มีที่ไหนในประเทศไทยด้วย ก็เลยเลือกที่จะมาเรียนที่นี่”

 ทำไมถึงอยากเรียนนิเทศศาสตร์การตลาด ก็เพราะการตลาดมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์สูง เมื่อเวลาสัมภาษณ์นักศึกษาปริญญาเอกมาถึง ก็เมื่อนั้นที่ได้พบกับอาจารย์จันทิมา จากที่คิดว่าอาจารย์จะเป็นอาจารย์สอนปริญญาเอกระดับขึ้นหิ้ง แต่เมื่อได้พบก็เปลี่ยนความคิดของลูกศิษย์หนุ่มไปอย่างสิ้นเชิง

 “แวบแรกเลยที่เห็น อาจารย์ดูเป็นคุณนายมากเลยครับ เราจะเข้าถึงไหม ปกติอาจารย์ในระดับนี้จะดูลุคเหมือนคุณหญิงคุณนาย ซึ่งเข้าถึงยาก ก็คิดว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแน่ๆ แต่พอได้พูดคุยกันสักพัก ก็เหมือนกับการคุยกันเล่น คิดในใจว่า เราโชคดี”

 คุณหมอท็อปเล่าว่า เรียนหนังสือหลายมหาวิทยาลัย นักศึกษากับอาจารย์จะมี “ระยะ” ที่ห่างกันมาก เข้ากันได้ยาก และคุยกันยาก แต่อาจารย์ท่านนี้มีความเข้าใจเด็ก เข้าใจนักศึกษา สามารถเข้าถึงได้ง่าย และคุยได้ทุกเรื่อง เปิดรับทุกเรื่อง ทำให้สามารถแสดงออกซึ่งไอเดียหรือแนวคิดต่างๆ ได้อย่างเต็มที่

 “อาจารย์มีประสบการณ์ด้านการศึกษาเรียนรู้ ท่านเป็นคนที่เปิดรับลูกศิษย์มาก ก็เลยดีใจครับที่ได้มาเจออาจารย์”

 คุณหมอท็อปเล่าต่อไปว่า อยากเปรียบเทียบอาจารย์จันทิมาว่าเสมือนกับที่นอน เนื่องจากในระหว่างการเรียน ต้องเจอคืออุปสรรค ที่ทำให้ท้อหรือถอยไปบ้าง เพราะเช่นนั้นเมื่อได้คุยกับอาจารย์ ก็เหมือนได้ไปนอนชาร์จแบตเตอรี่ ตื่นขึ้นมาก็สู้ใหม่ อาจารย์ได้ช่วยเหลือและแนะนำให้ทุกอย่าง

 “ไม่ใช่ว่ามันจะหายทีเดียว ในส่วนของเราก็ต้องฮึดสู้ด้วยตัวเองด้วย”

 นอกจากนี้ อาจารย์ก็เปรียบประดุจช่างประติมากร ที่มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความชำนาญการที่จะคิดประดิษฐ์ หรือปั้นแต่งลูกศิษย์ให้ออกมามีรูปแบบหรือผลลัพธ์อย่างที่ต้องการจะสร้างขึ้น ในมุมหนึ่งเราจึงต้องระลึกอยู่เสมอว่า เราเป็นเป็นแบบจำลองที่อาจารย์สร้างขึ้น หรือมีอาจารย์เป็นต้นแบบ”

อาจารย์พูดถึงลูกศิษย์

การสื่อสาร ความรัก ความนับถือ ปภณ จงธนะวณิช+รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว

 รศ.ดร.จันทิมา หัวหน้าสาขาการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ และอาจารย์ผู้สอนปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า ลูกศิษย์คนนี้เป็นเสมือนเพชรของหลักสูตร โดยเป็นผู้ใฝ่รู้ เข้าใจประเด็นเร็ว พื้นฐานที่เรียนเก่งมาก่อน จึงทำให้จบด้วยเกรดเฉลี่ยที่สูงมาก เมื่อมอบหมายโจทย์เชิงวิชาการก็เข้าใจประเด็นเร็วมาก

 ที่สำคัญคือมีความยินดีที่จะทำ ความคิดของเขายังเป็นประโยชน์ต่อการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้วย

 “สิ่งสำคัญคือคุณหมอยินดีที่จะทำอะไรก็ได้ที่เป็นความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่แล้วก็เลยเลือกเขา” รศ.ดร.จันทิมา เล่า

 รศ.ดร.จันทิมา เล่าให้ฟังว่า เมื่อแรกที่มาสมัครเรียนปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์การตลาด ลูกศิษย์คนเก่งมีคุณสมบัติครบถ้วนหมดแล้ว ขาดแต่อย่างเดียวคือผลงานตีพิมพ์ และแม้จะมีระยะเวลาที่น้อยมากคือ ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น จึงคุยกันว่าไหวไหม คุณหมอตอบเลยว่าไหว

 “เราก็คุยกันว่าไหวไหม? เพราะคุณหมอมีผลงานที่พอจะตีพิมพ์ได้ อาจารย์ก็ช่วยเหลือเพราะคุณหมอยินดีที่จะสู้มาก”

 ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของคุณหมอท็อป ทำให้เข้าใจในประเด็นเร็ว ในที่สุดก็เขียนบทความได้ 2 เรื่อง ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ 1 เรื่อง และตีพิมพ์ในวารสารของไทยอีก 1 เรื่อง นั้นคือความสามารถของลูกศิษย์ที่จะต่อสู้ และสนใจอยากเรียนรู้ และเราในฐานะอาจารย์ ก็พร้อมที่จะสนับสนุน ส่งเรื่องเข้าประกวดซึ่งก็ได้รางวัลมา

 รางวัลในที่นี้ หมายถึง ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ทุนก่อตั้งในปี 2539 ผู้ได้รับทุนหมายถึงได้รับโอกาสในการเรียนต่างประเทศ วัตถุประสงค์ของทุนต้องการที่จะสร้างนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เพราะฉะนั้นหลักสูตรก็จะต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศ

 “เป็นทุนที่ให้ระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษากับนักศึกษาปริญญาเอก เพื่อผลิตนักศึกษาปริญญาเอกที่มีความสามารถในด้านต่างๆ โครงการจะคัดเลือกในกลุ่มมนุษยศาสตร์ ซึ่งหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งเดียวที่ได้รับทุนคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” รศ.ดร.จันทิมา เล่า

 หลังจากนี้ประมาณ 3 เดือน คุณหมอท็อปจะเดินทางไปศึกษาที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นก็จะเดินทางต่อไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยในประเทศเครือข่ายอีก 2-3 ประเทศ โดยอาจารย์จันทิมาจะเดินทางไปเยี่ยมดูลูกศิษย์เป็นครั้งคราว เป็นไปตามหลักมาตรฐานของหลักสูตร หรือทุนการศึกษาในระดับสากล

 “ก็เชื่อว่าลูกศิษย์จะทำได้แน่ เพราะศักยภาพเต็มเปี่ยม ในฐานะอาจารย์ย่อมดีใจเป็นธรรมดา นี่คือพลังที่ส่งคืนกลับมายังอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาด้วย” รศ.ดร.จันทิมา เล่า

 ตบท้ายด้วยคุณหมอท็อปที่ว่า ในครั้งแรกไม่ได้คาดหวังเลยกับทุนนี้เลย เกินความคาดหวังก็ดีใจมาก แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องทำงานหนักมาก ใจหนึ่งก็ดีใจ อีกใจหนึ่งก็แอบกังวล อย่างไรก็ตามเมื่อคิดว่าดุษฎีนิพนธ์ที่กำลังทำอยู่ จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ก็มีกำลังใจขึ้น

 “โอกาสดีๆ และสิ่งที่เกินคาดทั้งหมดนี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าไม่มีอาจารย์ ขอบคุณครับอาจารย์”