posttoday

ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีกันหรือยัง...ทักษะ 4.0

03 เมษายน 2561

ไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว พวกเราทั้งหมดก็ก้าวเข้าสู่โลกอนาคต นิยายวิทยาศาสตร์ที่กลายเป็นความจริงและนำเราออกจากโลกใบเดิมอย่างเร็วที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์/มจธ.

ไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว พวกเราทั้งหมดก็ก้าวเข้าสู่โลกอนาคต นิยายวิทยาศาสตร์ที่กลายเป็นความจริงและนำเราออกจากโลกใบเดิมอย่างเร็วที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา เพราะเมื่อพลันโลกปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 โลกก็พลิกชีวิตของคนทุกคนอย่างรวดเร็วกว่าครั้งไหนๆ โลกทัศน์แห่งอนาคตจึงไม่เคยสำคัญต่อมนุษย์ เท่ากับโลกทัศน์แห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งล่าสุดนี้

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครืออมรินทร์ จัดเสวนา“ทักษะ 4.0 : เมื่อเทคโนโลยีพลิกอุตสาหกรรม ทักษะที่คนและธุรกิจต้องมี” ที่ โนเลจ เอ็กซ์เชนจ์ เซ็นเตอร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เวทีเสวนาตีความถึงอนาคต เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) คือแรงงาน ทักษะอะไรที่คอมพิวเตอร์ทดแทนได้ยาก

อ่านคำตอบแล้วอย่าตกใจ เพราะไม่มีทักษะอะไรเลยที่คอมพิวเตอร์หรือเอไอทดแทนไม่ได้! อย่าตกใจและอย่าเพิ่งข้ามไปอ่านตอนจบของบทความนี้ เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ยังมีแง่มุมที่จะทำให้เราได้ตระหนักถึงพลังอำนาจของมนุษย์ พลังความสามารถของตัวเอง เอาตัวรอดและเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมเทคโนโลยี สร้างสังคมอนาคตที่ธำรงคุณค่าอันลึกซึ้งของมนุษยชาติไว้

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) อ้างอิงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ที่ระบุว่าอาชีพ 50% ของทุกอาชีพในโลกจะถูกคอมพิวเตอร์ทดแทนได้ในอนาคตอันใกล้ ไม่มีทักษะใดที่จะไม่ถูกทดแทนด้วยเอไอ ต่างแค่เร็วหรือช้าเท่านั้น

ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีกันหรือยัง...ทักษะ 4.0

การทดแทนแรงงานคนด้วยแรงงานคอมพิวเตอร์ แบ่งเป็น 3 มิติของทักษะ คือ 1.ความฉลาดทางอารมณ์ 2.ความคิดสร้างสรรค์ และ 3.ความละเอียดทางประสาทสัมผัส นั่นหมายความว่า อาชีพที่ต้องใช้ทักษะความฉลาดทางอารมณ์ เช่น พระ หมอดู และนักจิตวิทยา ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น เชฟ ศิลปิน ใช้ความละเอียดของประสาทสัมผัส เช่น การผ่าตัดอวัยวะที่ละเอียดอ่อน ยังเป็นงานที่มนุษย์ทำได้ดีกว่า

“ทักษะเรื่องประสาทสัมผัสนั้น ยากที่สุดสำหรับคอมพิวเตอร์ที่จะเลียนแบบได้ 100% นั่นหมายความว่า ก็ยืดระยะเวลาที่จะถูกเอไอทดแทนออกไปนานหน่อย” ดร.สมเกียรติ เล่า

อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันได้พัฒนาไปในแนวทางที่จะใกล้เคียงกับความสามารถของมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ดร.สมเกียรติได้นำเสนอทักษะเพื่อการปรับตัว ดังนี้ 1.ทักษะการมองภาพรวม เนื่องจากคอมพิวเตอร์แก้ปัญหาได้ทีละเรื่อง แต่ไม่สามารถมองภาพรวมถึงขั้นวางกลยุทธ์ได้

2.ทักษะร่วมก่อการ โดยมนุษย์เป็นผู้วางกลยุทธ์และใช้ให้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ ก่อการร่วมกับเอไอเสียเลย ผลักดันให้เอไอมาเร็วขึ้น แต่ไม่ให้มาในตำแหน่งที่ทดแทนเราได้ 3.ชาญฉลาดใช้มนุษย์หันไปฝึกในส่วนที่เอไอทำไม่ได้ดี ใช่! เอไออ่านฟิล์มเอกซเรย์ผู้ป่วยได้ภายในไม่กี่วินาที นั่นทำให้แพทย์มีเวลาคุยกับคนไข้มากขึ้น เลือกคุยกับคนไข้ เลือกส่วนของงานที่ใช้คนดีกว่าเอไอ

ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีกันหรือยัง...ทักษะ 4.0

4.ใฝ่หาช่องว่าง มองหางานเล็กๆ น้อยๆ ที่เล็กน้อยเสียจนไม่มีการสร้างเครื่องจักรเพื่อการทดแทนแรงงานในส่วนนั้น และ 5.แตกต่างด้วยสัมผัสมนุษย์ หมายถึงการใช้สัมผัสมนุษย์เป็นมูลค่า ใช้อารมณ์หรือเรื่องราวเพิ่มคุณค่าให้งาน ก็เมื่อโลกเต็มไปด้วยเอไอ โลกก็จะขาดซึ่งสัมผัสมนุษย์ งานที่ใช้สัมผัสมนุษย์จะเป็นที่ต้องการที่สุด

ด้านการปรับตัวของคนในสังคม สุนาถ ธนสารอักษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท แรบบิท’ส เทล และ รศ.ดร.ราชวดี ศิลาพันธ์ หัวหน้าภาควิชา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. เห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คนคนหนึ่งสามารถใช้ชีวิตออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมๆ กันได้ ผลกระทบเกิดขึ้นและเป็นไปตามกระแสของเทคโนโลยีที่มีผลต่อผู้คนบนโลก ทางออกของทุกคนคือการปรับตัว

ในฐานะนักการตลาด สุนาถ เล่าว่า นักการตลาดต้องเข้าใจ “คน” ให้มากขึ้น เพราะคนยุคใหม่จะไม่เชื่อเจ้าของสินค้า ไม่เชื่อโฆษณา แต่จะเชื่อ “คน” ด้วยกันเอง รวมทั้งต้องเข้าใจเครื่องมือในการทำงานยุคใหม่ ท้ายที่สุดคือการกลับไปที่ด้านลึกของคน ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ทำให้เขารู้สึก ไม่ใช่เชื่อ

“ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เมื่อเราโดนแทนด้วยเอไอ เราจะทำอย่างไร มองในมุมหนึ่งเราก็อาจได้ชีวิตของเรา ไปใช้ในแบบที่เราต้องการจริงๆ” สุนาถ เล่า

ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีกันหรือยัง...ทักษะ 4.0

ส่วนผลกระทบต่อการศึกษา รศ.ดร.ราชวดี เล่าว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้คนบนโลก ทุกคนจะเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำจริงสัมผัสจริง แก้ปัญหาได้ ครูต้องเปลี่ยนตัวเองจากครู เป็นคนอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนได้คิดและสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเอง

ดร.เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า เทคโนโลยีไม่ได้แย่งงานของมนุษย์ โอกาสอยู่ที่อุปสรรคเสมอ สิ่งที่มนุษย์ยังได้เปรียบคอมพิวเตอร์อยู่คือ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) มนุษย์ยังขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ สิ่งที่เอไอไม่มี

“เหตุผลคือมันไม่มีเหตุผลหรอก มันคืออารมณ์ นี่อาจจะเป็นทางรอดหนึ่งจากดิจิทัล ดิสรัปชั่น”

ดิจิทัลไลฟ์ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในยุคดิจิทัลพลิกโลก (Digital Disruption) คือ 1.ข้อมูล โลกเต็มไปด้วยข้อมูล 2.ข้ามโลก จะเกิดสินค้าและบริการใหม่ๆ ท่ามกลางความเป็นไปได้ทั่วโลก 3.คนจะขี้เหงามากสังคมออนไลน์เหงาง่าย 4.ขาดเหตุผล ยึดการตัดสินใจด้วยอารมณ์ 5.ของจริงเท่านั้นที่จะอยู่ได้ ถ้าไม่ใช่ “ของจริง” ก็ถูกถล่มด้วยโซเชียล 6.ขัดเกลาจิตใจ ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี คนโหยหาเรื่องจิตใจ ธรรมะจะขายดี ที่พึ่งจะขายได้

แนวคิดสำหรับโลกยุคใหม่ ดร.เอกก์ ระบุว่า อย่าให้เป็นออนไลน์ แต่ขอให้เป็นออนไลฟ์ (On Life) ชีวิตย่อมสำคัญกว่าเครื่องมือหรือเทคโนโลยี ใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกของชีวิต นี่สิถึงจะได้ใจ ได้อารมณ์ และได้ใช้ชีวิตให้สนุกไปเลย (It’s All About Life)

ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีกันหรือยัง...ทักษะ 4.0

ส่งท้ายด้วย ดร.สมเกียรติ ว่า แล้วเราจะเตรียมคนของเราอย่างไร เตรียมคนให้มีทักษะการแก้ปัญหา นี่คือทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าถามถึงอาชีพแห่งอนาคต เพราะจะไม่มีอาชีพที่มั่นคงอีกต่อไป แต่จะเป็นอาชีพที่คนทำต้องเปลี่ยนทักษะการทำงานเพื่อวิ่งหนีเอไอตลอดเวลา

การเตรียมคนเพื่อวันข้างหน้า จึงหมายถึงการเตรียมคนให้คุ้นเคยกับงานที่ยังไม่มี เตรียมคนให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยีที่ยังพัฒนาไปไม่ถึง เตรียมคนให้คุ้นเคยกับการแก้ปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะต้องเกิดขึ้นแน่

“คิดได้ คิดเป็น แก้ปัญหาได้ นี่แหละ ทักษะ 4.0 ของคนที่จะอยู่รอดในโลกอนาคต”

สำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก คือ การปฏิวัติจากแรงงานคนเป็นแรงงานเครื่องจักรในช่วงหลังของศตวรรษที่ 18 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เริ่มต้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อมีการคิดค้นกระแสไฟฟ้าและระบบสายพานการผลิตในโรงงาน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เริ่มต้นในปีทศวรรษ 1960 เรียกว่าการปฏิวัติดิจิทัล หรือการปฏิวัติคอมพิวเตอร์ เพราะมีตัวเร่งปฏิกิริยา ได้แก่ การพัฒนาสารกึ่งตัวนำ เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (ค.ศ. 1960) คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (1970-1980) ที่สุดก็นำมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (1990) คือระบบอินเทอร์เน็ตที่แพร่หลาย เคลื่อนที่ได้ ตัวเซ็นเซอร์เล็กลงแต่ทรงพลังขึ้น

“ปัญญาประดิษฐ์และจักรกลการเรียนรู้ ที่ทำให้ครั้งนี้แตกต่างจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ผ่านมาก็คือ สิ่งเหล่านี้มีความซับซ้อนและบูรณาการกว่ากันอย่างมหาศาล โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคที่ผลกระทบต่างๆ จากเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังจะสำแดงตัวอย่างเต็มที่ เรากำลังเดินเข้าหาจุดที่โลกจะเปลี่ยนตัวเองไปอย่างอัตโนมัติ ด้วยการเกิดขึ้นของสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น”

นี่ไง...การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ความก้าวล้ำใหญ่ๆ ที่กำลังพลิกโฉมหน้าในทุกวงการ วิถีชีวิต วิธีคิดวิธีทำงาน ธุรกรรมทั่วโลกที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง หยั่งลึกถึงผลกระทบและก้าวให้ทันโลกใบใหม่ เอาตัวรอดได้ ในขณะเดียวกันก็คว้าโอกาสมหาศาลในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้