posttoday

เผชิญหน้าความตาย ฝึกได้ เตรียมได้ เพื่อให้ตายดี

02 เมษายน 2561

เปลี่ยนความตายให้กลายเป็นความสุข ตระหนักถึงประโยชน์จากการเตรียมตัวตายดี และการมีชีวิตระยะสุดท้ายอย่างมีคุณภาพ

เรื่อง: อณุสรา ทองอุไร ภาพ: Pixabay

อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต จัดกิจกรรม “ตายดี” งานที่จะเปลี่ยนความตายให้กลายเป็นความสุข ตระหนักถึงประโยชน์จากการเตรียมตัวตายดี และการมีชีวิตระยะสุดท้ายอย่างมีคุณภาพ กับกิจกรรม เตรียมตัวตายดีและพินัยกรรมชีวิต ธรรมะบรรยาย เผชิญความตายอย่างสงบ โดย พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่า สุคะโต กล่าวว่า ร้านอาหารยังใช้เวลาเป็นเดือนในการเทรนพนักงานให้เชี่ยวชาญในการทำและเสิร์ฟอาหาร แต่เรื่องตายเป็นเรื่องที่สำคัญ กลับไม่เคยมีการเทรนการสอนกันในโรงเรียนไหนๆ ทั้งๆ ที่การตายให้เป็น บางทีก็แยกไม่ออกจากการอยู่ให้เป็น

นั่นเป็นคำกล่าวเพื่อเตือนสติ ที่ทำให้เห็นว่าชีวิตคนเราช่างเต็มไปด้วยการให้คุณค่าอย่างหลงทาง มิใช่เพราะทุกชีวิตมีความตายเป็นปลายทางหรอกหรือ จึงพยายามใช้ทุกนาทีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีศิลปะ แม้แต่การกินอาการให้ได้อรรถรสยังต้องเรียนรู้ฝึกฝน แต่เรื่องความตายกลับไม่ค่อยมีใครใคร่ครวญถึงนัก ว่าจะเผชิญกับความตายอย่างไร ศิลปะการใช้ชีวิตแบบไหนที่จะนำไปสู่การตายที่งดงาม หรือพบกับสิ่งที่ทุกคนปรารถนานั่นก็คือการตายอย่างสงบ

ความตายแม้ฟังดูน่ากลัวหดหู่ แต่ถ้าเรารู้จักความตายดีพอ จะพบว่ามันไม่ได้มีด้านลบอย่างเดียว หากเรามองว่าความตายคือเพื่อนที่ต้องพบเจอก็จะเบาใจได้ยิ่งขึ้น เพราะความตายของแต่ละคนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ละคนตายไม่เหมือนกัน ความตายจึงไม่สำเร็จรูป เหตุที่ทำให้ความตายดูน่ากลัว เพราะเรารู้เกี่ยวกับมันน้อยมาก เพราะไม่เห็นว่าความตายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีการเกิดและตายในตัวเราอยู่ตลอดเวลา เช่น การตายของเซลล์ต่างๆ ที่สำคัญก็คือเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในนาทีที่ความตายมาถึง ชีวิตหลังความตายมีหรือไม่ เป็นเช่นไร และเราก็พยายามผลักไสความตายออกไปให้ไกลตัว ไกลความคิด

ธรรมเนียมจีนโบราณ เมื่อใครฉลองแซยิดใหญ่แล้ว จะต้องตระเตรียมเสื้อผ้าไว้สำหรับใส่ในวันตาย เพื่อช่วยเตือนสติ ไม่ให้ใช้ชีวิตโดยประมาท แต่ในสังคมปัจจุบัน ความตายทำให้เกิดการพลัดพราก ความไม่รู้ว่าตายแล้วไปไหนมันร้ายแรงกับความรู้สึกมาก แม้แต่คนที่มีระเบียบแบบแผนที่สุดจะทำอะไรก็ต้องมีแผนการที่รัดกุม ยังทนไม่ได้ถ้าไม่รู้อะไรที่แน่นอน แล้วต้องมารอต้องมาเผชิญกับความตายซึ่งไม่มีใครรู้ จึงรู้สึกอ้างว้าง

เผชิญหน้าความตาย ฝึกได้ เตรียมได้ เพื่อให้ตายดี

 ในทางพุทธแล้วถือว่าการตายเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่แก่การค่อยๆ ลอกสิ่งที่จิตปรุงแต่งไว้ตลอดชีวิต ให้เหลือแต่จิตแท้ที่บริสุทธิ์ หรือพุทธภาวะที่จะไม่ยึดอยู่กับสิ่งใดๆ เลย การโน้มน้าวให้จิตผู้ป่วยสงบนั้น ทำได้ทุกที่ทุกเวลา แม้เขาจะอยู่ในห้องไอซียูก็ตาม การสัมผัสมือหรือร่างกายเขาเบาๆ ล้วนมีผลต่อจิตใจแม้ว่าร่างกายของเขาดูจะไม่ตอบสนองรับรู้ก็ตาม

“เช่นมีคนไข้หมดสติในห้องไอซียูหลายวัน ภายหลังเขาเล่าว่า ตอนนั้นเขารู้สึกเคว้งคว้างเหมือนใจจะขาด แต่แล้วมีมือมาแตะที่ตัวเขาพร้อมพลังบางอย่าง ใจที่เคว้งเหมือนจะขาดนั้นกลับมาใหม่ เป็นแบบนี้หลายครั้งทั้งที่แพทย์บอกว่าโอกาสรอดยากมาก เมื่อฟื้นขึ้นมาเขาจึงรู้ว่า มีพยาบาลคนหนึ่งเมื่อเข้าเวรตอนเช้า จะมาจับมือเขาแล้วแผ่เมตตาให้เขาทุกเช้า”

ทุกคนย่อมปรารถนาการตายอย่างสงบ หากคิดถึงความตายที่ติดตามเราอยู่ทุกนาที เราย่อมมีชีวิตโดยไม่ประมาท รู้ตัวดีว่ายังมีการบ้านอีกมากที่ต้องทำ เพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับความตายทั้งของตนเองและคนใกล้ตัว แม้สัญญาณชีพจะหมดแล้วก็ควรรักษาบรรยากาศที่สงบต่อไป อย่าเพิ่งเข้าไปรุมล้อม ร้องไห้กอดรัด จิตอาจกำลังอยู่ในช่วงละร่าง และอาจจะตกใจ เราอาจสวดมนต์ส่งจิต บอกเขาว่าไปแล้วนะ ขอให้ไปในที่ที่ดี

การฝึกใจให้คุ้นเคยกับความตายช่วยให้ยอมรับความตายได้มากขึ้น สามารถเผชิญความตายได้อย่างสงบ แต่ยังมีเรื่องที่สำคัญอีกคือการหมั่นทำความดี สร้างกุศลอยู่เสมอ ผู้ที่ทำกรรมดีไว้ตลอดชีวิต เมื่อเผชิญกับความตาย ย่อมมีความอุ่นใจและมั่นใจได้ว่าจะไปสู่สุคติ คนทำดีจะเกิดนิมิตที่งดงาม สามารถนำพาผู้ตายไปสู่สุคติ เป็นการยกระดับจิตใจให้เข้าสู่ภพภูมิที่ดี ด้วยเหตุนี้จึงควรเตรียมตัวรับความตายแต่เนิ่นๆ ในขณะที่ยังมีเวลาอยู่ เพื่อใช้ความตายให้เป็นโอกาสในทางจิตวิญญาณไม่ปล่อยให้ความตายนำชีวิตไปสู่วิกฤตหรือความแตกดับเท่านั้น

ทางด้าน ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย กล่าวว่า การดูแลชีวิตและทรัพย์สินให้หายห่วง ในช่วงระยะท้ายของชีวิตก็จำเป็น ทุกวันหลังเลิกงาน เรามักจะทำบันทึกช่วยจำว่าพรุ่งนี้มีอะไรที่จะต้องทำบ้างเรียงลำดับความสำคัญเอาไว้ แต่ทำไมกับชีวิตที่ไม่แน่นอน น้อยคนนักที่คิดจะทำบันทึกช่วยจำ หรือพินัยกรรมชีวิตไว้บ้าง

ลองคิดดูสิว่า หากคุณต้องจากไปโดยไม่ได้สะสางสิ่งที่คั่งค้างเอาไว้ ทั้งเรื่องที่คับข้องใจและงานการในหน้าที่ ในเวลาที่กำลังจะสิ้นลม ใจก็จะห่วงกังวล กระสับกระส่าย และแน่นอนว่าคนที่อยู่ข้างหลังย่อมอยากจะช่วยเหลือสะสางให้อย่างเต็มใจ เพราะอยากให้คุณตายตาหลับ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่มีการขัดแย้งนานาประการที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความตาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรักษาพยาบาล การจัดพิธีศพ หรือเรื่องทรัพย์สินมรดก

หากนาทีนั้นมาถึง คุณประสงค์ให้มีการจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร เช่น การจัดการกับร่างกายของคุณ งานศพ ทรัพย์สินของคุณ งานที่คั่งค้าง คำสั่งเสียร่ำลาต่อคนรัก ครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด อาจมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่คุณอยากบันทึกไว้ เขียนทุกสิ่งทุกข้อให้ชัด เพื่อประโยชน์แก่จิตใจตนเองและคนที่อยู่ข้างหลัง

เผชิญหน้าความตาย ฝึกได้ เตรียมได้ เพื่อให้ตายดี

 แนวคิดในเรื่องพินัยกรรมชีวิตหรือหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาของผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต มีผลทางกฎหมายครั้งแรกในประเทศสหรัฐปี 1976 เพื่อรับรองสิทธิของผู้ป่วยในการยอมรับหรือปฏิเสธกระบวนการทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิตหรือยืดความตายออกไป ความสามารถในการยืดชีวิตออกไปเป็นเวลายาวนาน เป็นผลให้การตายเป็นเรื่องซับซ้อนมากขึ้น การกำหนดความตายอย่างง่ายๆ ที่เคยเป็นมาแต่เดิม ด้วยการเต้นของหัวใจ จะใช้ไม่ได้สำหรับผู้ป่วยที่สวมเครื่องช่วยชีวิต จึงเกิดการกำหนดความตายอย่างใหม่โดยไปวัดที่การตายของสมอง ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการวัดจึงเกิดการตั้งคำถามถึงการต้องนอนอยู่บนเตียงโดยช่วยตนเองไม่ได้ ว่าเป็นการอยู่แบบมีศักดิ์ศรีหรือไม่

จนนำมาสู่การออกกฎหมายตายตามธรรมชาติ เพื่อรับรองสิทธิของผู้ป่วยในการยอมรับหรือปฏิเสธกระบวนการทางการแพทย์ที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิต เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างญาติผู้ป่วยและแพทย์ก่อนที่จะขยายตัวเป็นกฎหมายสิทธิผู้ป่วยปี 1999 โดยระบุให้โรงพยาบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐทุกแห่งต้องแนะนำให้ผู้ป่วยทราบว่าตนเองมีสิทธิที่จะทำหนังสือแสดงเจตนาหรือ Living will ว่าอยากจะให้รักษาระยะสุดท้ายแบบใด ห้ามเจาะ ห้ามยื้อด้วยเครื่องช่วยหายใจ

เมื่อตายได้ครั้งเดียวจะตายอย่างไร การตายอย่างสงบ เตรียมตัวตายดี เป็นเรื่องที่ฝึกได้เตรียมได้ วรรณา จารุสมบูรณ์ จากเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า การช่วยให้เขายอมรับความตายที่จะมาถึง ในหลายกรณีการยอมรับความตายอาจทำได้ยาก และต้องใช้เวลา อาจเริ่มต้นด้วยการยอมรับความกลัวตายของตนเอง ไม่เทศนาสั่งสอน รับฟังความรู้สึกเขาอย่างจริงใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการผู้มากประสบการณ์ หรือ

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่ต้องการใครสักคนที่แสดงท่าทีที่จะเข้าใจ รับฟังและแบ่งปัน อาจช่วยให้จิตใจของเขาคลี่คลาย เพราะคิดได้ว่าความตายนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่จำเป็นที่ต้องลงเอยอย่างเลวร้ายอย่างเช่นที่เขากลัว

 

การช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจนั้น คนเราไม่อาจจากไปอย่างสงบได้ หากมีภาระที่คั่งค้าง หรือมีเรื่องราวจากอดีตที่ติดค้างใจ เราอาจช่วยพูดคุยสะสางธุระต่างๆ ให้เขาค่อยๆ คลายใจ ชวนให้เขาปล่อยวางแผ่เมตตา อโหสิกรรม ให้เขารู้ว่ายามใกล้ตายเป็นวาระสำคัญสำหรับการคืนดีและยอมรับสิ่งที่ได้ทำมา

“การช่วยให้เขาจดจ่อกับสิ่งที่ดีงาม เช่น นำพระพุทธรูป สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งที่เขาเคยนับถือไว้ในห้อง เปิดเทปสวดมนต์ เทปธรรมะ ดนตรีที่เขาชอบฟัง เพื่อให้จิตใจเขาสงบ การที่เขาได้ฟังสวดมนต์หรือทำสมาธิภาวนาไปพร้อมชวนให้เขาระลึกถึงความดี บุญทานที่เขาเคยทำมา ล้วนเป็นกุศลที่จะช่วยให้เขาไปสู่สุคติ การช่วยให้เขาปล่อยวางในสิ่งยึดติดต่างๆ ค่อยๆ ชักจูงเขาให้วางจากสิ่งที่หยาบอย่างทรัพย์สินไปสู่สิ่งที่ละเอียดอย่างตัวตนจิตวิญญาณ”

เผชิญหน้าความตาย ฝึกได้ เตรียมได้ เพื่อให้ตายดี

การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการสงบจิตใจ เพราะการรับรู้และอารมณ์ของผู้ป่วยนั้นเปราะบางละเอียดอ่อนมาก ควรให้เขาอยู่ในที่ที่สงบ อบอุ่นใจ ญาติมิตร หลีกเลี่ยงแสดงการเศร้าโศก หดหู่ โต้เถียง ทำความเข้าใจกับแพทย์ งดการเจาะ ผ่า หรือการรักษาใดๆ ที่ไม่จำเป็น

ไม่มีวิธีใดอีกแล้วที่จะเร่งให้คุณเติบโตเยี่ยงมนุษย์ได้ดีไปกว่าการช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย การดูแลเอาใจใส่ผู้ใกล้ตาย แท้ที่จริงก็คือการเพ่งพินิจความตายของตัวคุณเองอย่างลึกซึ้งนั่นเอง เมื่อความตายใกล้เข้ามาควรหาทางปลดเปลื้องความรู้สึกเหล่านั้น ขอโทษ ให้อภัย อโหสิ การกระทำนี้ต้องอาศัยความกล้า ต้องลดทิฐิมานะไม่ยึดติด ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายด้วยบทเรียนราคาแพงคือความทุกข์ใจในยามใกล้ตาย

การยอมรับความตายเป็นสัจธรรมอันหลีกหนีไม่ได้ และไม่จำเป็นต้องหนี หากต้องเผชิญหน้าอย่างมีสติ รู้ตัวด้วยความสงบ หากทำได้จะเป็นการตายที่ดีและนำไปสู่สุคติ

ต่างจากปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่พากันคิดไปว่า การตายไปอย่างไม่รู้สึกตัว ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ เช่น นอนหลับแล้วตายไป เป็นการตายที่ดีและพึงปรารถนา

  เผชิญหน้าความตาย ฝึกได้ เตรียมได้ เพื่อให้ตายดี