posttoday

โปล เซซานน์ กับผลงานพอร์เทรต

01 เมษายน 2561

ครั้งแรกสำหรับชาวอเมริกันที่จะได้ชมซีรี่ส์ภาพพอร์เทรตจากศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้เอกอุ อย่าง โปล เซซานน์

 โดย อฐิณป ลภณวุษ ภาพ อีพีเอ, โปล เซซานน์

ครั้งแรกสำหรับชาวอเมริกันที่จะได้ชมซีรี่ส์ภาพพอร์เทรตจากศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้เอกอุ อย่าง โปล เซซานน์ ที่นำมาจัดแสดง ณ หอศิลป์แห่งชาติ ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในนิทรรศการศิลปะ Cezanne Portraits วันนี้-1 ก.ค. ศกนี้

สำหรับ โปล เซซานน์ คนที่คุ้นเคยกับแวดวงศิลปะคงจะทราบดีว่าเขาแทบจะใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำงานของเขา วาดภาพแลนด์สเคปและภาพสติลไลฟ์เสียเป็นส่วนใหญ่ ทว่าในส่วนของผลงานพอร์เทรตนั้นกลับมีไม่น้อยเช่นกัน

ในจำนวน 1,000 รูป ที่จิตรกรชาวโพรวองซ์ได้สร้างสรรค์เอาไว้ในช่วงชีวิตการเป็นศิลปิน ปรากฏว่าประกอบไปด้วยภาพพอร์เทรตของครอบครัว เพื่อนฝูง และคนแวดล้อม ราว 160 ภาพด้วยกัน โดย 60 ชิ้น กำลังจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติสหรัฐ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. หลังจากที่ได้มีการจัดแสดงมาแล้วในหลายๆ ประเทศก่อนหน้านี้ อย่างที่พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ มูเซ ดอร์เซย์ กรุงปารีส ตามด้วยหอศิลปะพอร์เทรตแห่งชาติ กรุงลอนดอน

โปล เซซานน์ กับผลงานพอร์เทรต

 

คอลเลกชั่นภาพพอร์เทรตของ โปล เซซานน์ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของเขาในการสร้างสรรค์งานศิลปะได้เป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งเหมือนเป็นผลงานลับๆ ที่ทำให้เขาได้ฝึกฝนทดลองฝีมือของตัวเองหลายๆ อย่าง ก่อนจะไปสร้างสรรค์ผลงานแลนด์สเคปและสติลไลฟ์ที่สร้างชื่อ เช่น ภาพวาดพอร์เทรตภริยาตัวเองในสีสันสดใส ทว่ารายละเอียดที่บริเวณริมฝีปากหายไป ด้วยเทคนิคการป้ายสีหนาๆ ด้วยเกรียงผสมสี (Palette Knife) เป็นต้น

สำหรับ โปล เซซานน์ นั้น แน่นอนว่า เขาได้ศึกษาภาพวาดของบรรดาโอลด์มาสเตอร์มามากมาย หากเขาได้ฉีกตัวเองออกมาในแนวทางของโมเดิร์นนิสม์อย่างรวดเร็วตั้งแต่เริ่มแรก แมรี่ มอร์ตัน หัวหน้าฝ่ายศิลปะฝรั่งเศสของหอศิลป์แห่งชาติ สหรัฐ กรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นภัณฑารักษ์ร่วมของนิทรรศการ Cezanne Portraits นี้ด้วย บอกว่า แม้กระทั่ง ปาโบล ปิกัสโซ ซึ่งเกิดทีหลังยอดจิตรกรเมืองน้ำหอมผู้นี้ถึง 42 ปี และเรียกว่าเป็นเจ้าตำรับของศิลปะคิวบิสม์ ยังเคยกล่าวเอาไว้ว่า โปล เซซานน์ คือ “บิดา” ของชาวโมเดิร์นนิสม์ทุกๆ คน

“โปลเข้าใจความหมายของโมเดิร์นนิสม์มาก่อนใครเพื่อน มันไม่ใช่สิ่งที่คาดเดาได้ ไม่ใช่เรื่องของจุดใดจุดหนึ่ง ไม่ใช่แค่เส้นๆ นั้น แต่มันเชื่อมโยงหลายสิ่งเข้าด้วยกัน” แมรี่ กล่าวกับเอเอฟพีด้วยว่า เทกซ์เจอร์ของชิ้นงานก็เป็นหนึ่งกุญแจสำคัญ อย่างในผลงานพอร์เทรต Antony Valabregue (1866) ก็ได้แสดงออกถึงผลงานสไตล์ดิบๆ ของเขาที่เน้นให้เห็นพื้นผิวเทกซ์เจอร์ของงานที่ไม่ธรรมดา

โปล เซซานน์ กับผลงานพอร์เทรต

 

งานชิ้นนี้ โปล เซซานน์ ได้ส่งไปจัดแสดงที่ซาลงในกรุงปารีส ณ ช่วงเริ่มต้นอาชีพ ผลปรากฏก็คือ ภาพชิ้นนี้ได้รับคำวิจารณ์แบบย่อยยับ ไม่มีชิ้นดี นอกจากบรรดาคณะกรรมการจะไม่สนเทคนิคความดิบของฝีแปรงแล้ว ยังเห็นว่าภาพพอร์เทรตของกวีดัง อองโตนี วาลาแบรจก์ นั้น ช่างดูไม่สง่างามสมศักดิ์ศรีเอาเสียเลย ทำให้ภาพดังกล่าวถูกเตะกระเด็นออกจากซาลง (แกลเลอรี่) ไปโดยพลัน

อย่างไรก็ตาม โปล เซซานน์ จิตรกรลูกชายนายแบงก์ผู้ร่ำรวย หาได้สะทกสะท้านต่อคำวิจารณ์ไม่ เขาออกมาตอกกลับบรรดากรรมการทันควันว่า ภาพพอร์เทรตสุดล้ำภาพนี้ ไม่เพียงลงสีด้วยมีดเท่านั้น ยังใช้ปืนในการเพนต์อีกต่างหาก!!! ภายหลังภาพพอร์เทรตของ อองโตนี วาลาแบรจก์ โดยฝีมือของโปล เซซานน์ กลับกลายเป็นภาพดัง และยังมีตอนต่อมาอีกหลายเวอร์ชั่นด้วย

โปล เซซานน์ กับผลงานพอร์เทรต

 

แมรี่ บอกด้วยว่า พอร์เทรตของคนที่โดนย่ำยีมากที่สุดก็เห็นจะเป็น ออร์ตองส์ ฟิเกต์ ภรรยาของศิลปินเอง ที่หน้าใบหน้ารูปไข่ และผมยาวสลวยของเธอออกมาไม่เคยมีดีเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพพอร์เทรตที่วาดโดยจิตรกรใหญ่ผู้เป็นสามีของเธอนั้น เธอไม่เคยมีรอยยิ้ม

“ไม่ว่าจะเป็น Madame Cezanne in a Red Armchair (1877) หรือซีรี่ส์ Madame Cezanne in a Red Dress (1888-1890)” แมรี่ บอก

จอห์น เอลเดอร์ฟิลด์ ภัณฑารักษ์ร่วมอีกคน บอกว่า ในบรรดาภาพพอร์เทรตของ โปล เซซานน์ ทั้งหมดมี 30% ที่เป็นพอร์เทรตของภรรยาตัวเอง “บางทีเขาก็อาจจะเบื่อๆ วาดภาพภรรยาตัวเองบ้างก็ได้ หรือไม่เธอก็อาจจะเบื่อที่ต้องเป็นแบบให้เขาวาดเป็นประจำ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องโดนย่ำยีเลยครับ”

โปล เซซานน์ กับผลงานพอร์เทรต

 

“โปลทดแทนขนบด้วยความไม่มีขนบ อย่างการวาดภาพพอร์เทรตโดยปกติแล้ว ทุกคนต้องคาดหวังว่าจะได้เห็นภาพ ‘เหมือน’ บุคคลที่เป็นแบบใช่มั้ยล่ะ แต่คุณจะคาดหวังอย่างนั้นไม่ได้หรอก หากเป็นผลงานแนวโมเดิร์นนิสม์ หรืองานของ โปล เซซานน์ น่ะ” แมรี่ ทิ้งท้ายให้เห็นความไม่ธรรมดาของนิทรรศการ Cezanne Portraits ครั้งนี้