posttoday

ดอยติ้วโมเดล...สโลว์ไลฟ์บนดอยสูง อดุลย์ จิณะชิต

01 เมษายน 2561

คนสมัยนี้มีความทุกข์ ที่บางทีเราได้หลงลืมตัวเองไปติดอยู่กับบ่วงแห่งความเร่งรีบ อดุลย์ จิณะชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอยติ้ว จ.น่าน

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ / ภาพ อดุลย์ จิณะชิต

คนสมัยนี้มีความทุกข์ ที่บางทีเราได้หลงลืมตัวเองไปติดอยู่กับบ่วงแห่งความเร่งรีบ อดุลย์ จิณะชิต ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอยติ้ว จ.น่าน แบ่งปันชีวิตสโลว์ไลฟ์ของเขาบนดอยสูง ชีวิตที่แช่มช้าทว่างดงาม คุณค่า ความดีงาม และการฝึกหัดปฏิบัติจิต ที่เขาได้รับจากการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงสู่ความเรียบง่าย

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอยติ้ว ในวัย 52 ปี ครั้งหนึ่งเคยใช้ชีวิตและอาศัยอยู่บนพื้นราบ หากต่อมาได้เปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างสิ้นเชิง ทั้งอาชีพ ถิ่นฐาน ภูมิลำเนา ภูมิอากาศ เรื่องราวของเขาให้แรงบันดาลใจ หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นทางเลือกสำหรับใครก็ตามที่อยากเปลี่ยนมาใช้ชีวิตแบบช้าๆ หรือเป็นประโยชน์สำหรับใครก็ตามที่จะฉุกคิด เพียงแค่นี้ก็ดีใจแล้ว

“ผมว่าชีวิตผมเปลี่ยนเพราะความเริ่มรู้จักตัวเองว่ารักในธรรมชาติ หรือความรักธรรมชาตินี่แหละที่เปลี่ยนผม” ผู้อำนวยการอดุลย์เล่า

เริ่มจากความรักธรรมชาติ อยากอยู่กับธรรมชาติ มีความรู้สึกว่า อยู่กับธรรมชาติแล้วใจเย็น ใจเย็นลงแบบเพียงพอที่ทำให้สัมผัสได้ถึงความสุขแผ่วๆ ที่เป็นริ้วๆ เหมือนระลอกน้ำเล็กๆ ที่กระเพื่อมอยู่น้อยๆ ตรงกลางใจพอดิบพอดี เขาถามตัวเองว่า ทำไมแค่ต้นไม้สีเขียวก็ทำให้ทุกอย่างดูเหมือนจะดีขึ้นไปหมด

ดอยติ้วโมเดล...สโลว์ไลฟ์บนดอยสูง อดุลย์ จิณะชิต

“ดีงามไปกับธรรมชาติหมดเลย เห็นเป็นมหัศจรรย์ ที่อยู่ดีๆ ก็ใจเย็น ใจดี สดชื่นขึ้นมาจนตัวเราเองก็รู้สึกได้” อดุลย์เล่า

อดีตของผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอยติ้ว ไม่ใช่ครูบนดอย แต่เป็นพ่อค้าวาณิช ด้วยตระกูลทำมาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยอาชีพค้าขายมาตลอด ทั้งปู่ย่าตายาย กระทั่งพี่น้องทุกคน ผู้อำนวยการอดุลย์มีพี่น้อง 5 คน ทุกคนล้วนทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นพ่อค้าทั้งสิ้น พื้นเพเป็นชาว อ.ท่าวังผา จ.น่าน เติบโตและใช้ชีวิตอยู่พื้นราบ จบวิทยาลัยครูที่ลำปาง แล้วกลับมาเป็นพ่อค้า ครอบครัวทำเป็นแต่พ่อค้า

“เมื่อก่อนตอนที่ผู้อำนวยการอยู่ที่ข้างล่าง หมายถึงพื้นราบข้างล่าง จะขับรถไปที่ตลาดสักที รถก็ติดวุ่นวาย หาซื้อนู่นซื้อนี่ วิ่งวุ่นตลอดเวลา กลัวจะไม่ทันนู่นกลัวจะไม่ทันนี่ ไม่รู้กลัวอะไรหนักหนา ทำอะไรไม่เคยทันสักอย่าง ตอนนั้นยังหนุ่ม ยังไม่ได้เป็นครู เป็นแต่พ่อค้า ก็รีบเร่ง ก็หาแต่ประโยชน์เข้าตัว คิดแต่เรื่องประโยชน์ตัว”

อดีตผู้อำนวยการเป็นพ่อค้าขายของชำ อยู่ที่ในตลาดใน อ.ปัว จ.น่าน ขณะนั้นเป็นปี 2535 ก็มาคิดถึงชีวิตตัวเอง คิดถึงชีวิตที่รีบเร่ง ไม่มีความเป็นส่วนตัว ชีวิตเผื่อแผ่ให้ใครไม่ได้เลย ต้องคิดแต่กำไรขาดทุน ทำไมชีวิตถึงจำกัดอยู่แค่นี้ มองไปก็เห็นอยู่แค่นี้ นึกเบื่อหน่ายในชีวิตของตัวเองอย่างมาก

ดอยติ้วโมเดล...สโลว์ไลฟ์บนดอยสูง อดุลย์ จิณะชิต

“ไปขออนุญาตคุณแม่ ขอเลิกเป็นพ่อค้าได้ไหม ครูเป็นลูกคนสุดท้อง ลูก 5 คนของแม่เป็นพ่อค้าหมด แม่บอกว่า คนนี้ไปรับราชการครูสักคนก็ดีเหมือนกัน”

เมื่อเปลี่ยนอาชีพ ชีวิตก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอยติ้วเล่าว่า เมื่อเช้าก็ตื่นมาแล้วแต่งตัวไปโรงเรียน ถนนโล่ง เพราะสวนทางคนอื่นที่มีแต่จะมุ่งหน้าเข้าเมือง แต่ของเราออกนอกเมือง สบายและโล่ง คล้ายๆ กับชีวิตของเราไม่ต้องฟุ้งซ่านไปตามแบบอย่างของคนอื่น มีชีวิตที่ไม่ต้องเร่งรีบอะไร ก็รู้สึกว่าตั้งมั่นที่จะประกอบอาชีพเป็นครูให้ดีที่สุด

ผู้อำนวยการเล่าว่า ขณะนั้นทบทวนในใจเหมือนกัน คิดว่าเลือกไม่ผิด ดีใจที่กล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง รู้สึกเป็นอิสระ จิตใจพองฟู ชีวิตครูก็ไต่เต้าตามปกติ ก่อนที่จะมาอยู่ทีโรงเรียนบ้านดอยติ้ว ผู้อำนวยการได้ไปรับราชการตำแหน่งครูที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ขณะนั้นเป็นช่วงที่ปายกำลังบูม นักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะ ฝรั่งก็เยอะ แต่ผู้อำนวยการไปสอนที่โรงเรียนที่ลึกเข้าไปจากปายอีก โดยไปเป็นครูที่โรงเรียนสาขา อยู่ห่างจากเมียนมาไม่ถึง 4 กิโลเมตร

ผู้อำนวยการสโลว์ไลฟ์ เล่าให้ฟังว่า ไปรับราชการครูที่โรงเรียนแห่งแรกอยู่ที่ปาย 5 ปี ก็ย้ายกลับมาอยู่ที่ อ.ท่าวังผา สอนโรงเรียนบ้านสบขุ่น ต่อมาย้ายไปสอนที่โรงเรียนบ้านบ่อหยวก ที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน อยู่ที่บ่อเกลือเกือบ 7 ปี จึงย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้าน
ดอยติ้ว และสอนอยู่ที่นี่มาเกือบ 5 ปีแล้ว

“ทุกแห่ง ทุกโรงเรียนที่ครูไปสอน เหมือนกันหมด คือเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีชนเผ่าพื้นเมือง นักเรียนชนเผ่าเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ที่ปายก็มีเผ่ามูเซอ ลีซอเยอะ ตอนนั้นนะ ส่วนตอนที่กลับมาสอนที่น่าน ก็ขึ้นไปสอนโรงเรียนบนดอย ที่นี่มีหลายเผ่าพันธุ์ ตั้งแต่ชาวดอย ม้ง กะเหรี่ยง ลีซอ มูเซอ ลัวะ”

การเป็นครูสอนโรงเรียนบนดอย ให้ประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป ผู้อำนวยการอดุลย์เล่าว่า โรงเรียนตั้งอยู่บนภูสูง สูงกว่าน้ำทะเล 1,000 เมตร อากาศดีมาก เย็นสบาย อุณหภูมิต่ำสุดปีที่แล้ว 6 องศาเซลเซียส ตลอดวันตลอดเดือนและตลอดปีคือทะเลเมฆหมอกที่ท่ามกลาง ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล เหมือนฟองฝ้ายนุ่มที่ขัดเกลาให้เราได้อ่อนโยนลงอีก เยือกเย็นลงอีก

ดอยติ้วโมเดล...สโลว์ไลฟ์บนดอยสูง อดุลย์ จิณะชิต

“คือความเป็นไปของธรรมชาติป่าเขา คือสโลว์ไลฟ์ในแบบบ้านดอยติ้ว จ.น่าน ที่ได้ประโยชน์ทั้งตัวและชุมชนส่วนรวม เราได้ฝึกตนฝึกใจพร้อมไปกับการเกื้อกูลโลก”

การเป็นครูดอย อยู่บนดอย ได้เห็นความยากลำบาก เห็นความยากแค้นของชุมชน ตั้งแต่การกินการอยู่ การใช้ชีวิต ความรู้การประกอบอาชีพต่ำต้อย ก็มีความตั้งใจที่จะพัฒนาให้คนเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เรียนรู้ขนบธรรมเนียมและมารยาทในสังคมไทย ขณะเดียวกันก็ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีของเผ่าตน

“ชีวิตของครูเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่แค่ความช้าลงของชีวิต แต่คือจุดมุ่งหมายของชีวิต ที่ก็เปลี่ยนไปด้วย”

จากพ่อค้าที่คิดแต่ประโยชน์ของกระเป๋าเงินตัวเอง ชีวิตครูบนดอยยังได้เปลี่ยนให้ผู้อำนวยการอดุลย์ เป็นผู้ที่คิดถึงคนอื่น คิดช่วยเหลือคนอื่น คิดทำประโยชน์แก่ชาวดอยผู้ยากไร้และด้อยโอกาส ธรรมชาติกลางป่าเขาได้กล่อมเกลาจิตใจที่เต็มไปด้วยพยศให้เลิกดื้อรั้น เลิกถือทิฐิมานะ กลายเป็นผู้อ่อนน้อมต่อหมู่ต่อชน

“ถ้าเราอยู่ในเมือง มันฟุ้งซ่าน เหมือนใจมันถูกจูงและบีบคั้นไปด้วยภาวะสิ่งแวดล้อมต่างๆ การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็ขาดหายไป ต่อเมื่อเราได้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ย้ายตัวเองออกจากเมือง จากความวุ่นวายทั้งหลาย เราก็ได้ช่วยเหลือคน ได้ดูคนยากคนจน ได้มีเวลาชวนเด็กนักเรียนทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ มันมีเวลาที่จะทำในสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ”

ชีวิตเปลี่ยนไปได้เช่นนั้นจริงๆ เนื่องจากอิทธิพลของธรรมชาติ ที่ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอยติ้วเล่าว่า ได้ส่งผลและมีอิทธิพลต่อชีวิตของเขาอย่างมาก ถ้าไม่เพราะพลังจากธรรมชาติแล้ว คงไม่อาจเปลี่ยนตัวเองได้ขนาดนี้ ชีวิตผูกไว้กับธรรมชาติ บนป่าบนเขานี้เต็มไปด้วยธรรมชาติ เหมือนเรามีความรู้สึกร่ำรวยในสิ่งที่เราอยากมีแล้ว

ดอยติ้วโมเดล...สโลว์ไลฟ์บนดอยสูง อดุลย์ จิณะชิต

ทุกวันนี้มีความสุขกับการดูแลเด็กในโรงเรียนบ้านดอยติ้ว เวลาว่างของผู้อำนวยการช่วงสุดสัปดาห์ คือ การดูแลสวนที่บ้าน มีกล้วยและต้นไผ่เล็กๆ น้อยๆ รวมทั้งดูแลคุณแม่ที่ปัจจุบันชรามากแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็มีกรรมการหมู่บ้าน ที่จะขอเข้ามาปรึกษาปัญหาในเรื่องต่างๆ บ้าง ประสานความร่วมมือกันเพื่อพัฒนาชุมชน

โรงเรียนบ้านดอยติ้ว ก่อนนี้มีเด็กนักเรียนแค่ 172 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 283 คน เนื่องจากผู้อำนวยการมุ่งมั่นทุ่มเท พัฒนาโรงเรียนและชุมชน เริ่มจากทาสีโรงเรียนกันด้วยตัวเอง ปลูกผักเลี้ยงหมูเลี้ยงไก่ ปลูกดอกไม้ ผู้อำนวยการเริ่มลงมือและบุกเบิกให้เด็กๆ กับชาวชุมชนได้เห็น ต่อมาจึงอาสากันมาร่วมด้วยช่วยกัน นับหนึ่งใจเดียวกัน ไปในทิศทางเดียวกัน

ล่าสุดมีองค์กรจิตอาสา บริษัท ซาโนฟี่ (ประเทศไทย) ที่ได้ขึ้นมาร่วมด้วยช่วยอีกหนึ่งแรง เมื่อทราบว่าโรงเรียนยังขาดงบประมาณในการทำพื้นสนามอเนกประสงค์ และสร้างห้องเรียนสำหรับเด็กพิเศษ จึงได้ช่วยเหลือสนับสนุน ระดมจิตอาสาพนักงานซาโนฟี่ฯ ทำกิจกรรมทาสี ปลูกต้นไม้ สร้างพื้นสนามปูนซีเมนต์และสร้างห้องเรียนเด็กพิเศษที่สุดยอด

ความเป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้ไม่ฟุ้งซ่าน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านดอยติ้วฝากเป็นข้อคิดสำหรับผู้อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ช้าลงว่า ธรรมชาติจะให้พลังแก่ทุกคนที่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลองหันเข้าหาธรรมชาติและเรียนรู้จากด้านในของตน เชื่อว่าจะมีพลังที่ผลักดันให้ทุกคนได้มีชีวิตที่ต้องการ

“เรื่องแบบนี้ต้องอยู่ที่ใจเรา ถ้าปรารถนาที่จะทำ ถ้าต้องการจะทำ ก็ทำได้ทุกคน”