posttoday

กวีนิพนธ์ธำรงภาษาแม่ สื่อสร้างสุนทรียะและสันติภาพ

26 มีนาคม 2561

21 มี.ค.ของทุกปีเป็น “วันกวีนิพนธ์โลก” โดยองค์การยูเนสโกกำหนดขึ้นเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางภาษาผ่านบทกวีนิพนธ์ และมุ่งหวังให้เป็นสื่อในการธำรงไว้ซึ่ง “ภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤต”

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

21 มี.ค.ของทุกปีเป็น “วันกวีนิพนธ์โลก” โดยองค์การยูเนสโกกำหนดขึ้นเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางภาษาผ่านบทกวีนิพนธ์ และมุ่งหวังให้เป็นสื่อในการธำรงไว้ซึ่ง “ภาษาที่อยู่ในภาวะวิกฤต”

นอกจากนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์การยูเนสโกยังกำหนดให้เป็น “วันภาษาแม่สากล” เพื่อส่งเสริมความเข้าใจในความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ นำไปสู่การพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ประเทศ และสังคมโลก โดยภาษาของกลุ่มชนต่างๆ ที่ใช้ในบ้าน ชุมชน และในวิถีประจำวันเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Mother Language ตรงกับคำว่า “ภาษาแม่” ในภาษาไทย ซึ่งบนโลกนี้มีหลากหลายกว่า 7,000 ภาษา

ผลผลิตจากภาษาแม่ อย่างงานกวีนิพนธ์จึงมีความสำคัญ เนื่องจากภาษาไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือของการสื่อสาร และงานกวีนิพนธ์ไม่ได้เป็นเพียงสื่อสร้างสุนทรียะของมนุษย์ หากแต่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของมนุษยชาติ เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างสันติภาพ และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยั่งยืน

สอดคล้องกับการทำงานของศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต (ศฟภว.) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้ทำงานวิจัยและงานวิชาการด้านภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนนาน 14 ปี มากกว่า 26 กลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อศึกษา รวบรวม ฟื้นฟู ยกระดับภาษาแม่ และส่งเสริมผู้ใช้ภาษาแม่ให้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชน สังคม และประเทศ รวมถึงยังมีการนำบทกวีนิพนธ์ภาษาแม่ต่างๆ มาพัฒนาเป็นเพลงและสื่อการสอนในโรงเรียนกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศไทย

กวีนิพนธ์ธำรงภาษาแม่ สื่อสร้างสุนทรียะและสันติภาพ

ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานที่ปรึกษา ศฟภว. กล่าวถึงความสำคัญของภาษาแม่ว่า ภาษาแม่หรือภาษาท้องถิ่นเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ทุกอย่าง เพราะเป็นภาษาที่ใช้ในบ้านหรือชุมชน ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นจะถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นด้วยภาษาแม่นี้

“การเข้าใจภาษาแม่ในแต่ละชุมชนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในโลกปัจจุบันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาคน เพราะจะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ ในรายละเอียด ยกตัวอย่าง ระบบการศึกษา ถ้าโรงเรียนในท้องถิ่นใช้ภาษาแม่เป็นฐานจะทำให้เด็กไม่เครียด มีความสุข และต่อเนื่องความรู้จากที่บ้านเข้าสู่ระบบการเรียนในโรงเรียนได้ดีกว่า แต่ทุกวันนี้โรงเรียนยังเน้นสอนแต่ภาษาไทย ทำให้มีเด็กจำนวนมากไม่สามารถปรับตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างออกไปจากภาษาไทยมาก ทำให้เด็กเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาเพราะมีภาษาเป็นอุปสรรค ดังนั้นภาษาแม่จะกลายเป็นเครื่องมือที่จะสร้างการเรียนรู้สำหรับเด็ก และค่อยๆ เชื่อมโยงเขาเข้ากับภาษาไทย”

ทาง ศฟภว. ทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการ “การจัดการศึกษาแบบทวิ/พหุภาษาชายแดนภาคใต้” ให้ครูใช้ภาษาแม่หรือภาษามลายูปาตานีเป็นสื่อการสอนนักเรียนชั้นอนุบาล แล้วค่อยๆ สอนภาษาไทยทีละน้อย ซึ่งจากการวิจัยและประเมินผลชี้ชัดว่า ภาษาแม่เป็นเครื่องมือช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นส่วนช่วยรักษาภาษาแม่และวัฒนธรรมท้องถิ่นให้คงอยู่

กวีนิพนธ์ธำรงภาษาแม่ สื่อสร้างสุนทรียะและสันติภาพ

“ความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมเป็นทรัพยากร” ดร.สุวิไล กล่าวต่อ “ผิดจากในอดีตที่คิดว่าความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางภาษาคือปัญหาด้านความมั่นคง แต่แท้จริงแล้วความหลากหลายคือทรัพยากรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว เป็นองค์ความรู้ที่หลากหลาย ภาษาแม่จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้ เพราะตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ภาษาแม่เสื่อมสลายเร็วมาก เนื่องจากเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งใช้ภาษากลางเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันเราควรมีวิธีการที่จะเดินไปสู่โลกาภิวัตน์อย่างมั่นคง คือปลุกตัวเองด้วย คนไหนไปได้ก็ไป คนไหนไปไม่ได้ก็ยังต้องมั่นคงและยังมีฐานรากที่แข็งแรง”

นอกจากนี้ นักภาษาศาสตร์ได้คาดการณ์ทางสถิติไว้ว่า หากไม่มีการทำอะไรเลย ภายในศตวรรษนี้ร้อยละ 90 ของภาษาในโลก ซึ่งมีกว่า 7,000 ภาษาจะต้องตายไปจากโลกนี้ มีเฉพาะภาษาใหญ่ๆ ภาษาระดับนานาชาติ และภาษาประจำชาติที่มีผู้พูดจำนวนมาก และมีการธำรงรักษาอย่างเข้มแข็งเท่านั้นที่จะรอดปลอดภัย ซึ่งทุกๆ 2 สัปดาห์จะมีภาษาแม่ในโลกนี้ตายไปอย่างน้อย 1 ภาษา ส่วนในประเทศไทยมีภาษาแม่ที่กำลังตายไป 2-3 ภาษา เพราะมีคนสืบทอดน้อยเต็มทน

“ภาษาแม่จะตายไปเพราะนโยบายและการศึกษา ทำให้ภาษาเล็กๆ ที่ไม่มีอำนาจหายไป และเหลือแค่ภาษาใหญ่ๆ ที่มีจำนวนเพียง 10% รวมทั้งเด็กรุ่นใหม่ก็มีจำนวน 50% เท่านั้นที่พูดภาษาแม่ได้ เพราะความอายและไม่เห็นความสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะภาษาๆ หนึ่งใช้เวลาสร้างหลายพันปี ดังนั้นมันไม่ใช่แค่ภาษา แต่เป็นความรู้ที่อยู่กับกลุ่มชน ถ้าภาษาหายไป วัฒนธรรมจะหมดไป และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาษาก็จะหมดไปด้วย” ดร.สุวิไล กล่าวเพิ่มเติม

งานวรรณศิลป์ประเภทกวีนิพนธ์นับเป็นทรัพยากรทางภาษาและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ซึ่งแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชน แฝงไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ ความเชื่อ พิธีกรรม และสะท้อนโลกทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อสังคมและโลก ดังนั้นการสร้างสรรค์บทกวีใหม่และบันทึกบทกวีเดิมจึงเป็นวิธีการที่จะธำรงภาษาแม่ไว้

กวีนิพนธ์ธำรงภาษาแม่ สื่อสร้างสุนทรียะและสันติภาพ

อย่างที่ ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ “อาจารย์ชิ” ชาวปะเกอกะเญอแห่งต้นน้ำแม่แจ่ม บ้านวัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ และอาจารย์วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้สร้างสรรค์งานเขียนและบทกวีเป็นภาษาปะเกอกะเญอหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือเรื่อง เราคือ เตหน่ากู เรื่องสั้นสอดแทรกบทกวีที่เล่าถึงเตหน่ากู หรือ พิณ เครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวปะเกอกะเญอ ที่ถูกแปลเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้คนทั่วไปได้อ่านด้วย

“ปัจจุบันชาวปะเกอกะเญอรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเริ่มพูดภาษาไทยคำ ภาษาปะเกอกะเญอคำ ทำให้ทักษะในการใช้ภาษาแม่ของพวกเขาหายไป ซึ่งการสื่อสารกับคนรุ่นเก่าจำเป็นต้องใช้ภาษาแม่อยู่ และจะส่งผลกระทบต่อการกลับไปค้นรากเหง้าในบทกวีดั้งเดิม เพราะคนรุ่นเก่าจะบันทึกองค์ความรู้และภูมิปัญญาในรูปแบบของบทกวี นิทาน เพลงพื้นบ้าน และเพลงกล่อมลูก ถ้าวันหนึ่งคนรุ่นใหม่ไม่รู้คำศัพท์หรือฟังไม่รู้เรื่อง เนื้อแท้หรืออัตลักษณ์ของชนเผ่าปะเกอกะเญอก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้” ดังที่เขากล่าวไว้ว่า “ภาษายัง เผ่าพันธุ์อยู่ ภาษาหาย เผ่าพันธุ์สิ้น”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชิยังมองว่า แม้คนรุ่นใหม่จะมีความบกพร่องทางภาษาแม่ แต่พวกเขากลับมีความมั่นใจในการแสดงออกถึงความเป็นชาติพันธุ์ เพราะสังคมไทยให้ความยอมรับในวัฒนธรรมและทัศนคติของชาวปะเกอกะเญอมากขึ้น

“นี่คือเกียรติและศักดิ์ศรีของชนเผ่าที่ได้รับการยอมรับและมีพื้นที่ในสังคม เพราะฉะนั้นคนปะเกอกะเญอรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าหากเขารักษาและสืบสานความเป็นชนเผ่า พื้นที่ในสังคมจะยังไม่หายไป ไม่เหมือนคนรุ่นผมที่สังคมทำให้รู้สึกว่า ถ้าเรารักษาหรือยังเป็นชนเผ่าอยู่จะไม่มีพื้นที่ในสังคม เพราะสังคมต้องเป็นไทย แต่ปัจจุบันความเป็นไทยเปิดรับความหลากหลาย ทำให้เด็กรุ่นใหม่มีความมั่นใจที่จะกล้าเป็นตัวเองและไม่ปิดซ่อนตัวเองว่าเป็นชาวปะเกอกะเญอ” เขาสะท้อน

กวีนิพนธ์ธำรงภาษาแม่ สื่อสร้างสุนทรียะและสันติภาพ

นอกจากนี้ ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธาน ศฟภว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งกวีนิพนธ์ เพลง และนิทานที่ถูกบันทึกหรือพูดด้วยภาษาแม่ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่มานานของภาษา และความมีศิลปะของกลุ่มชนนั้น กวีนิพนธ์จึงมีความสำคัญมากกว่าการเป็นสื่อสร้างสุนทรียะ

“เมื่อไรก็ตามที่นำกวีนิพนธ์มาดัดแปลงเป็นบทกลอนหรือความเรียงที่คนรับรู้ได้ง่ายขึ้น จะทำให้กวีนิพนธ์นั้นไม่จำเพาะอยู่ในพิธีกรรมอย่างเดียว ง่ายต่อการรับรู้ และง่ายต่อการถ่ายทอดต่อไป ซึ่งปัจจุบันบนโลกนี้มีหลายภาษาที่เข้ามาปะทะกับชีวิตของคนมากขึ้น ทำให้คนท้องถิ่นมีโอกาสใช้ภาษาแม่แค่ในบ้าน”

ประเทศไทยมีภาษาแม่ที่อยู่ในภาวะวิกฤตขั้นรุนแรง 14 กลุ่มภาษา ได้แก่ ชอง กะซอง ซัมเร ชุอุ้ง (ชะโอจ) มลาบรี ซาไก ญัฮกุร โซ่ (ทะวึง) ละว้า (ก๋อง) อึมปี บิซู ละเวือะ มอเกล็น และอุรักละโว้ย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าภาษาแม่เหล่านี้จะสูญหายไปพร้อมกับอายุขัยของคน

“หากไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร การส่งต่อภาษาแม่จากรุ่นสู่รุ่นก็จะเป็นเรื่องยาก เพราะคนในบ้านอาจไปแต่งงานกับคนต่างถิ่นและหันไปใช้ภาษาอื่น ดังนั้นการมีเครื่องมือในการบันทึกจะเป็นตัวเก็บรักษาองค์ความรู้ ประวัติ และความทรงจำของคนรุ่นเก่าไว้ให้คนรุ่นใหม่ต่อไป” ดร.มิรินด้า กล่าวทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับกิจกรรมในวันกวีนิพนธ์โลกโดยองค์การยูเนสโก นอกจากจะประกาศยกย่องผู้ประพันธ์บทกวีที่ทรงคุณค่า ยังมีการฟื้นฟูงานกวีนิพนธ์ที่อยู่ในรูปแบบมุขปาฐะ การเชื่อมโยงบทกวีนิพนธ์กับศิลปวัฒนธรรมด้านอื่นๆ เช่น การแสดง การขับร้อง ดนตรี ภาพยนตร์ งานทัศนศิลป์ และการเผยแพร่บทกวีรูปแบบสื่อร่วมสมัยเพื่อให้บทกวีสัมผัสถึงจิตใจคนได้ทั่วถึง ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นผ่านสุนทรียะด้านบทกวี