posttoday

ประพันธ์ นภาวงศ์ดี โมเดิร์นสโลว์ไลฟ์ สไตล์ภูมิสถาปนิก

25 มีนาคม 2561

วิถีสีเขียว ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ถ้าใครมีใจรักก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะดำเนินชีวิตให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างกลมกลืน

โดย อณุสรา ทองอุไร-จิระวัฒน์ กล้ากะชีวิต   ภาพ    ประกฤษณ์ จันทวงศ์

วิถีสีเขียว ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ถ้าใครมีใจรักก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะดำเนินชีวิตให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างกลมกลืน ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวที่คุณสามารถออกแบบและทำมันได้อย่างสบายใจ เช่นเดียวกับผู้ชายคนนี้ ประพันธ์ นภาวงศ์ดี กรรมการ บริษัท ฉมา ซึ่งมีความหมายว่าแผ่นดิน

โดยอาชีพหลักแล้วเขาเป็นภูมิสถาปนิกที่นอกจากจะมีหน้าที่ออกร่างสร้างแบบพื้นที่ส่วนนั้นๆ ให้คงความธรรมชาติและเหมาะสมกับสถาปัตยกรรมที่มีอยู่แล้วมากมายเฉกเช่นปัจจุบัน แต่ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เมื่อมองภาพสถานการณ์ของสังคมทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมืองใหญ่ๆ ที่เต็มไปด้วยมลพิษและตึกรามบ้านช่องแทบจะไม่มีพื้นที่สีเขียวให้ดื่มด่ำกับธรรมชาติเลย

หลังจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงเขาเลือกที่จะไปทำงานที่สิงคโปร์ประเทศเพื่อนบ้านนานถึง 7 ปี เรียกได้ว่าเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างเต็มที่เมื่อถึงจุดอิ่มตัว เขาเลือกที่จะนำความรู้และแนวคิดต่างๆ กลับมาพัฒนาบ้านเมืองให้อยู่ในสภาวะสมดุลกับธรรมชาติ โดยจัดตั้งบริษัท “ฉมา” ขึ้น เพื่อการบริการดูแลและบำรุงรักษาภูมิทัศน์ให้คงพื้นที่สีเขียวได้อย่างสมดุล

ประพันธ์ นภาวงศ์ดี โมเดิร์นสโลว์ไลฟ์ สไตล์ภูมิสถาปนิก

นอกจากนี้ เขายังซึมซับวิถีสโลว์ไลฟ์มาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเขาและครอบครัวชนิดที่เรียกว่าแนบชิดกับธรรมชาติเลยก็ว่าได้ “คืออย่างสเกลที่เราเรียนมามันจะออกแบบในระดับเมือง ระดับพาร์ค สวนสาธารณะ หรือว่าพื้นที่ริมแม่น้ำ ส่วนมากคือพื้นที่สาธารณะทั้งหลายในเมือง สิ่งที่เราโฟกัสคือจะทำยังไงให้บ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะสมดุลกับธรรมชาติได้นั่นคือ หัวใจหลักของวิชาชีพเรา”

เขาเสริมว่าได้รับแนวคิดนี้มาจากตอนที่อยู่สิงคโปร์ เนื่องจากประเทศสิงคโปร์เองก็ให้ความสำคัญกับการเป็นซิตี้การ์เด้นและเริ่มเป็นเมืองที่เข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อกลับมาเปิดบริษัทที่ประเทศไทยก็อยากจะพัฒนาตรงส่วนนี้ เพราะงานที่เขาทำขณะนี้
ส่วนใหญ่จะเป็นงานภาคเอกชนอย่าง คอนโดมิเนียม รีสอร์ท จะเป็นกลุ่มหลักๆ

นอกจากนี้ ก็มีงานมาสเตอร์แพลนหลายๆ ที่อย่างตอนนี้ก็ได้ทำในส่วนถนนเขตสาทรปรับปรุงภูมิทัศน์ ฉมา ชื่อบริษัทของเขานั้นแปลว่าแผ่นดิน ซึ่งก็สอดคล้องกับงานที่ทำ ถ้าพูดถึงวิถีสโลว์ไลฟ์ในแบบฉบับของฉมา

ประพันธ์ นภาวงศ์ดี โมเดิร์นสโลว์ไลฟ์ สไตล์ภูมิสถาปนิก

เขาว่าตอนนี้ก็เคลื่อนไหวส่วนของเมืองเยอะ เพราะเห็นว่าเมืองต้องการแนวคิดใหม่ในการสร้าง เพราะฉะนั้นนอกจากจะทำงานที่เกี่ยวกับตัวไพรเวทโปรเจกต์ที่เป็นคอนโดมิเนียม ซึ่งโปรเจกต์พวกนี้สามารถสอดแทรกไอเดียถึงความเป็นอยู่ การกินพื้นที่มรดกของเมืองให้สามารถกลมกลืนกับธรรมชาติได้ ด้วยงานแลนด์สเคปมันจะไม่มีฟอร์มที่ชัดเจน แล้วแต่บริบทที่เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นในการทำงานของบริษัทนั้นจะนึกถึงไอเดียหลักที่จะทำให้สอดคล้องกับธรรมชาติสนุกกับการค้นหาการสร้างเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ก็ต้องตีโจทย์ให้ได้ว่าควรจะสร้างเมืองแบบไหนให้มันยั่งยืนเป็นเมืองที่คนอยากอยู่จริงๆ ไม่ใช่เมืองที่มีแต่ป่าคอนกรีต

“ผมรู้สึกว่าเมืองไทยจะถูกผลักไปด้านเพียงด้านเดียว เช่น คุณปลูกผักสีเขียวแปลว่าคุณอนุรักษ์ ผมว่าถ้าจะพัฒนาจริงๆ มันต้องเปลี่ยนทัศนคติตรงนี้ อย่างผมรู้จักกลุ่มบิ๊กทรี หรืออีกหลายๆ กลุ่ม ซึ่งเขาก็ไม่ได้อนุรักษ์จนเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย ถ้าคุณจะเปลี่ยนแปลงอะไรคุณต้องคิดว่าคุณยังเก็บหรือคงอะไรไว้ได้หรือเปล่า จริงๆ แล้วเราสามารถปลูกต้นไม้บนอาคารได้ แต่แน่นอนว่าต้องดูในส่วนของโครงสร้างความแข็งแรงการรับน้ำหนักตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องของการออกแบบ สำหรับคนที่อาศัยอยู่คอนโดและต้องการมีพื้นที่สีเขียวให้กับตัวเอง อย่างแรกคือต้องเลือกโครงการที่เขามีพื้นที่ให้อย่างตอนนี้ผมทำอีกโปรเจกต์หนึ่งให้ลูกค้าธนบุรีกรุ๊ป เขาก็จะสร้างคอนโดเพิ่มพื้นที่ส่วนกลาง 50% จากปกติ 30% เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยเฉพาะเหมือนเป็นเทรนด์ เพราะโปรเจกต์ทุกวันนี้คือให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียวมาก เรียกว่าแข่งกันที่ตรงนี้เพราะอย่างในห้องก็แข่งอะไรกันมากไม่ได้”

เมื่อพูดถึงวิถีสโลว์ไลฟ์คนส่วนใหญ่จะนึกถึงความเรียบง่ายสบายๆ แต่กับสถาปนิกแล้วอาจไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยประสบการณ์และวิชาความรู้เฉพาะทางที่เรียนมา ทำให้ต้องเพิ่มเสริมเติมแต่งลูกเล่นต่างๆ เข้าไปในงานเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้างบ้านของตนเอง คือตอนเขาทำบ้านใหม่ พี่น้องทุกคนก็กลับมาอยู่ด้วยกัน เพื่อจะได้ช่วยกันดูแลพ่อแม่ แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ทุกวันนี้ที่ต้องมีรถยนต์ก็มีที่จอดไม่พอ เขาจึงสร้างบ้านใหม่ให้เต็มพื้นที่ แล้วใช้พื้นที่ในทางสูง โดยเขาใช้พื้นที่ด้านบนดาดฟ้า ทำสวนแทนพื้นที่ข้างล่างที่ต้องไปใช้จอดรถ

ประพันธ์ นภาวงศ์ดี โมเดิร์นสโลว์ไลฟ์ สไตล์ภูมิสถาปนิก

“คือเราจะคิดเสมอว่าทำยังไงให้สอดแทรกธรรมชาติเข้าไปได้มากที่สุด ที่สำคัญต้องกลมกลืนไปกับตัวอาคาร สวนแบบรูฟการ์เด้นก็เป็นสิ่งที่คนจะพูดถึงกัน อย่างที่ฝรั่งเศสตึกหรืออาคารทุกแห่งจะต้องมีรูฟการ์เด้น คือนโยบายนี้มันเกิดมาจากความร้อน ถ้าเราสามารถเปลี่ยนเมืองทั้งเมืองให้เป็นสีเขียว อย่างประเทศร้อนอย่างบ้านเรามันก็จะช่วยไม่ให้ร้อน เพราะต้นไม้พวกนี้ก็จะช่วยสกรีนความร้อนไปหมดแล้ว ปกติเราต้องเสริมอินซูเลชั่นฉนวนกันความร้อน ซึ่งเอาจริงๆ ก็เอาไม่อยู่เท่าไร แต่ต้นไม้ถือเป็นฉนวนกันความร้อนแบบธรรมชาติที่นับวันก็ยิ่งเติบโตแผ่กิ่งก้านให้ร่มเงามากขึ้น ต้นไม้ใหญ่ 1 ต้น ให้ความเย็นเท่ากับแอร์ 1,000 บีทียู แถมยังประหยัดไฟอีกด้วย”

อย่างบ้านแต่ละหลังในบริเวณนั้นที่เดินดูเขาก็ต้องการพื้นที่ใช้สอยจนมันกลายเป็นอาคารที่ค่อนข้างใหญ่ จนรู้สึกว่ามันทำให้สภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปด้วย ฉะนั้นสิ่งที่ควรจะคิดไม่ใช่เฉพาะตัวบ้าน แต่เป็นบริบทของเมืองด้วย นี่คือสิ่งที่เขาสนใจว่าจะมูฟชีวิตโมเดิร์นไลฟ์ในสมัยใหม่ของเรายังไง

อย่างที่บ้านก็ปลูกหลายสปีชีส์ไม่ว่าจะเป็น ชมพู่ อโวคาโด ข้าว ผักบุ้ง มะเฟือง มะยม กวางตุ้ง ข้าวโพด ตะลิงปลิง กล้วย แต่จะเน้นดูแบบฟอร์มมันด้วยเพื่อความสวยงาม ตอนนี้ลองปลูกลูกฟิก แล้วก็พวกมะนาวพันธุ์ที่มาจากยุโรปจะเป็นลูกกลมๆ ยาวๆ ปลูกขนุน มะม่วง ชมพู่ ส้มโอ ออกแบบดาดฟ้าให้รองรับน้ำหนักได้อย่างพอเพียง

ประพันธ์ นภาวงศ์ดี โมเดิร์นสโลว์ไลฟ์ สไตล์ภูมิสถาปนิก

“เวลามีงานปาร์ตี้ที่บ้านเราก็จะใช้ใบตองเป็นภาชนะแทนจานชาม เพราะจะได้ไม่ต้องล้าง (หัวเราะ) ประดับดอกไม้ที่เราปลูกได้เอง ซึ่งภูมิใจมากๆ ตอนนี้ผมสนใจเรื่องทำปุ๋ยด้วยตัวเองกำลังจะไปเรียนแบบใช้บ็อกซ์อันเล็กๆ ใส่น้ำอีดีเอ็ม ใส่ใบไม้ และเศษอาหารต่างๆ เข้าไปไม่อยากใช้ปุ๋ยที่ไม่ธรรมชาติ เพื่อให้สวนเรายั่งยืน เพราะเราปลูกไว้กินเอง”

สำหรับคนที่รักอยากจะมีชีวิตสโลว์ไลฟ์ อยู่ในพื้นที่สีเขียวมีมุมให้ได้อยู่กับธรรมชาติบ้าง ไม่ใช่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผนังปูนซีเมนต์ เขาแนะนำว่า “คงต้องหาที่ครับ หลักการคือถ้าจะมีพื้นที่สีเขียวได้ก็ต้องมีแสงแดด มีลมมีอากาศ ที่สำคัญเราต้องรักและดูแลมันจริงๆ จนกลายเป็นไลฟ์สไตล์จริงของเราๆ คือไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ถ่ายรูปสวยๆ เริ่มง่ายๆ จากตัวเราเอง เพราะทุกวันนี้หากสนใจจริงๆ มีที่ให้ศึกษาและเรียนรู้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการเวิร์กช็อปต่างๆ อินเทอร์เน็ต ที่สำคัญต้องออกไปศึกษาให้เข้าใจก่อน พอตอนลงมือทำจะได้มั่นใจ แต่ในที่สุดก็ต้องเผื่อใจเพราะมันคือการทดลอง แต่อย่างน้อยๆ ก็ได้ออกซิเจนได้สีเขียวให้ร่มรื่นใจ และมีความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติ”  เขากล่าวทิ้งท้าย