posttoday

วิลเลียม เอช. จอห์นสัน โฟล์กอาร์ตในโมเดิร์นนิสม์

18 มีนาคม 2561

ภาพเขียนที่มองแวบแรกจะนึกถึงโฟล์กอาร์ต หรือศิลปะพื้นถิ่นสไตล์แบบดั้งเดิม

โดย ปณิฏา

ภาพเขียนที่มองแวบแรกจะนึกถึงโฟล์กอาร์ต หรือศิลปะพื้นถิ่นสไตล์แบบดั้งเดิม เล่าเรื่องราวในมุมมองของศิลปินแอฟริกัน-อเมริกัน วิลเลียม เอช. จอห์นสัน ในช่วงยุคทศวรรษที่ 1930-1940

วิลเลียม เฮนรี จอห์นสัน ไม่ใช่ศิลปินบ้านๆ ธรรมดา เขาเกิดวันที่ 18 มี.ค. 1901 ที่เมืองฟลอเรนซ์ รัฐเซาท์แคโรไลนา หลังตัดสินใจว่าจะทำตามความฝันที่ต้องการเป็นจิตรกร เขาก็มาเข้าเรียนที่สถาบันศิลปะการออกแบบแห่งชาติในนิวยอร์ก อันเป็นที่ที่เขาได้พบกับ ชาร์ลส์ เวบสเตอร์ ฮอว์ตอร์น ศิลปินผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอย่างมากมาย

พื้นฐานของวิลเลียมเกิดในครอบครัวยากจน พ่อกับแม่เป็นชนชั้นแรงงานผิวสีชาวแอฟริกัน-อเมริกัน แต่เขาฝันจะเป็นจิตรกรมาตั้งแต่เด็ก และฝึกฝนด้วยตัวเองโดยการวาดภาพก๊อบปี้รูปการ์ตูนจากหน้าหนังสือพิมพ์ ด้วยความที่เป็นลูกชายคนโต แม้จะเคย
แบ่งรับแบ่งสู้ว่า ความฝันของเขาเองอาจจะไม่เป็นจริง แต่ในที่สุดเขาก็ทำได้ด้วยการสอบติดสถาบันศิลปะการออกแบบในนิวยอร์ก โดยมีศิลปินดัง ชาร์ลส์ เวบสเตอร์ ฮอว์ตอร์น คอยสนับสนุน หลังจากได้เห็นความสามารถทางศิลปะของเขา

วิลเลียม เอช. จอห์นสัน โฟล์กอาร์ตในโมเดิร์นนิสม์

เรียนจบที่นิวยอร์ก วิลเลียมเดินทางไปเรียนต่อ ณ กรุงปารีส ด้วยเงินกองทุนที่ชาร์ลส์ เวบสเตอร์ ฮอว์ตอร์น อีกนั่นเอง ที่ช่วยระดมทุนให้เขา ก่อนจะท่องไปทั่วยุโรปเพื่อฝึกฝนฝีมือทางด้านศิลปะ และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในขณะนั้นยุคโมเดิร์นนิสม์กำลังเฟื่องฟูในยุโรป

วิลเลียมได้คลุกคลีในแวดวงศิลปะ และได้รู้จักศิลปินมากมายที่ส่งอิทธิพลต่อผลงานของเขา โดยเฉพาะเมื่อไปเปิดสตูดิโออยู่ที่เฟรนช์ ริเวียร่า ซึ่งได้สนิทสนมกับประติมากรเอกซ์เพรสชั่นนิสม์ชาวเยอรมัน คริสตอฟ โฟลล์ ผู้ชักนำให้เขารู้จักกับ โฮลชา คราเค ศิลปินนักออกแบบลายผ้า ที่ต่อมากลายเป็นภรรยาของเขา

เมื่อเดินทางกลับมายังสหรัฐ วิลเลียม เอช. จอห์นสัน ตั้งใจจะมาปักหลักสร้างสรรค์งานศิลปะที่บ้านเกิด ทว่าบรรยากาศของเมืองเล็กๆ อย่างฟลอเรนซ์เปลี่ยนแปลงไปมากมาย กลับมาได้ไม่นานเขาก็โดยตำรวจจับ โทษฐานไปวาดภาพบนกำแพงบ้านคนอื่น

วิลเลียม เอช. จอห์นสัน โฟล์กอาร์ตในโมเดิร์นนิสม์

หลังเหตุการณ์คัลเจอร์ช็อก วิลเลียมกลับ

ไปยุโรปอีกครั้ง คราวนี้เขาไปปักหลักที่เดนมาร์กและแต่งงานกับโฮลชา ช่วงนั้นแวดวงศิลปะคึกคักอยู่ที่สแกนดิเนเวียและแอฟริกาเหนือ โดยเฉพาะที่ตูนีเซีย ทว่าชีวิตที่เงียบสงบอยู่ได้ไม่นาน เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะปะทุขึ้น เขาและโฮลชาต้องรีบย้ายกลับมาที่นิวยอร์กเป็นการด่วน

แม้ว่าจะหลีกเลี่ยงเยอรมันนาซีมาได้ หากการมาใช้ชีวิตในนิวยอร์กก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีหลากชาติหลายภาษา แต่ก็ไม่วายต้องผจญกับเรื่องของการเหยียดผิวอยู่ดี อย่างไรก็ตามบรรยากาศของแวดวงศิลปะในย่านฮาร์เลม กรุงนิวยอร์ก ก็นับว่าเป็นสถานที่หลบภัย ช่วยฟื้นฟูจิตใจ และจุดไฟสร้างสรรค์ให้

วิลเลียม เอช. จอห์นสัน โฟล์กอาร์ตในโมเดิร์นนิสม์

คู่จิตรกรผิวสีได้ดีอย่างยิ่ง

วิลเลียมได้งานเป็นครูสอนศิลปะที่ศูนย์ศิลปะฮาร์เลม พร้อมๆ ไปกับการสร้างสรรค์งานศิลปะของเขาเองควบคู่ไปด้วย จากสิ่งที่ฝึกฝนมาในยุคโมเดิร์นนิสม์ หากเขาเลือกที่จะหวนคืนสู่จุดกำเนิดของตัวเอง สร้างสรรค์ศิลปะออกมาในแนวโฟล์กอาร์ต (folk art) ที่มีสีสันสดใส และเป็นรูปภาพสไตล์ 2 มิติ ไม่มีความตื้นลึกหนาบาง (ไร้เพอร์สเปกทีฟ) โดยเนื้อหาเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวันของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในย่านฮาร์เลม ทางใต้ของสหรัฐ และที่เข้าร่วมในกองทัพ เพื่อสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ 2

ผลงานศิลปะโฟล์กอาร์ตของวิลเลียม เริ่มกลายเป็นที่จับตามองในช่วงทศวรรษที่ 1940 โดยในช่วงจุดเปลี่ยนของทศวรรษ เป็นช่วงที่ผู้คนกำลังมองหาสิ่งใหม่ๆ และนิทรรศการเดี่ยวผลงานของ วิลเลียม เอช. จอห์นสัน ในสไตล์โฟล์กอาร์ต ณ อัลมา รี้ด แกลเลอรี่ ก็กลายเป็นคำตอบ

“แม้ว่าผมจะไปร่ำเรียนศิลปะมาทั่วโลก ได้ผ่านประสบการณ์สร้างสรรค์ศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ โฟวิสม์ เอกซ์เพรสชันนิสม์ ฯลฯ มาแล้ว แต่ผมก็ภูมิใจที่สามารถเก็บสิ่งที่เป็นรากฐานดั้งเดิมของตัวเองเอาไว้ได้ เป็นความตั้งใจของผมที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เป็นธรรมชาติในตัวเองผ่านงานศิลปะ ซึ่งก็คือ ผลงานสไตล์โฟล์กอาร์ตนี้” วิลเลียม เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้

วิลเลียม เอช. จอห์นสัน โฟล์กอาร์ตในโมเดิร์นนิสม์

ในปี 1942 สตูดิโอของเขาในฮาร์เลมถูกไฟไหม้วอดไปทั้งหลัง ต่อมาอีก 2 ปี โฮลชา ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก 14 ปี ก็มาจากไปด้วยโรคมะเร็งเต้านม หลังจากนั้นตัวเขาก็ต้องไปอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิต ไม่อาจสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อีก แม้จะพยายามเดินทางออกไปจากฮาร์เลม กลับไปบ้านเกิด และกลับไปยุโรป ก็ไม่อาจเยียวยาจิตใจตัวเองได้

วิลเลียม เสียชีวิตในปี 1970 ที่โรงพยาบาลเซ็นทรัล อิสลิป สเตท ในลองไอส์แลนด์ หลังไปรักษาตัวที่นั่นอยู่ 23 ปี เขานับเป็นจิตรกรแอฟริกัน-อเมริกันคนสำคัญในยุคสมัยของเขา โดยมีผลงานมากมายอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันสมิทโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

นอกจากเรื่องราวชีวิตคนแอฟริกัน-อเมริกันในย่านฮาร์เลมแล้ว เขายังวาดภาพเชิงสังคม ประวัติศาสตร์ และการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับคนผิวสี อย่างเช่นเรื่องราวของการเหยียดผิวในรัฐทางใต้ของสหรัฐ บรรดานักการเมือง นักต่อสู้ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ฯลฯ อีกด้วย