posttoday

‘รามานูโว’ จตุโชติ ลิมปโชติ รามเกียรติ์ในแบบอาร์ต นูโว

18 มีนาคม 2561

การจัดแสดงผลงานเดี่ยว ครั้งที่ 2 “รามานูโว” (Ramayana in art nouveau style)

โดย พริบพันดาว

การจัดแสดงผลงานเดี่ยว ครั้งที่ 2 “รามานูโว” (Ramayana in art nouveau style) ของ จตุโชติ ลิมปโชติ จิตรกรที่มีเส้นลายและสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ โดยได้แรงบันดาลใจจากความท้าทายในการผสมผสานรามเกียรติ์เข้ากับสไตล์อาร์ต นูโว จนเกิดเป็นผลงานที่มีทั้งจินตนาการและความแปลกตา

นอกจากนี้ ยังมีผลงานในรอบ 3 ปีล่าสุดของเขาอีกหลายแนวคิด รวม 45 ชิ้น

วรภัค ธันยาวงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย มาเป็นประธานในพิธีเปิดท่ามกลางเพื่อนฝูงในวงการศิลปะและโฆษณา มาให้กำลังใจกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

‘รามานูโว’ จตุโชติ ลิมปโชติ รามเกียรติ์ในแบบอาร์ต นูโว

จตุโชติ บอกว่า รามานูโวเป็นแนวความคิดหรือคอนเซ็ปต์ที่เกิดจากความชอบในเนื้อหาของรามเกียรติ์ที่คนไทยและคนทั้งโลกรู้จัก ซึ่งมีศิลปินสร้างสรรค์งานไว้มากมาย

“ผมมองหาแนวทางที่จะสร้างสรรค์ให้ออกมามีอรรถรสที่แตกต่าง ในแบบของตัวเอง ประกอบกับความชอบในลวดลายของศิลปะในยุคอาร์ต นูโว จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์ภาพชุดนี้ขึ้น”

สำหรับรามเกียรติ์ เป็นวรรณคดีของไทยที่สำคัญเรื่องหนึ่ง เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอนในเรื่องรามเกียรติ์ มีความไพเราะ มีคติสอนและแง่คิดในด้านต่างๆ อยู่เป็นอันมาก สอดแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตามหลักนิยมของอินเดียในเนื้อเรื่อง และหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ได้วาดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ที่ศาลารายรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) นิยมนำมาแสดงเป็นโขน เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จำนวน 178 ห้อง เขียนโดยจิตรกรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง

‘รามานูโว’ จตุโชติ ลิมปโชติ รามเกียรติ์ในแบบอาร์ต นูโว

ตามหลักฐานที่พอจะอนุมานได้ ปรากฏว่าเรื่องรามเกียรติ์ หรือรามายณะได้เข้ามายังประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 900 ปีล่วงมาแล้ว เท่าที่สืบค้นได้มีคำฉันท์อยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อ ราชาพิลาปคำฉันท์ (นิราศสีดา) ผู้แต่งไม่ปรากฏนาม เป็นเรื่องที่แต่งสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พรรณนาความคร่ำครวญของพระราม ตอนออกเดินทางเที่ยวตามหานางสีดา

เรื่องนี้นับเป็นรามเกียรติ์เรื่องเดียวที่เกิดขึ้นก่อนรามเกียรติ์ฉบับพระเจ้ากรุงธนบุรี และตกทอดมาจนถึงสมัยปัจจุบัน ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อให้ละครหลวงเล่น ได้ทรงเลือกมาเป็นตอนๆ รามเกียรติ์นี้จึงมีสำนวนกลอนที่ไพเราะที่สุด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อใช้ในการเล่นโขนซึ่งจะมีอยู่เพียงบางตอนที่คัดเลือกไว้เท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น

‘รามานูโว’ จตุโชติ ลิมปโชติ รามเกียรติ์ในแบบอาร์ต นูโว

จตุโชติ ขยายความถึงการทำงานว่า เนื่องจากมีโครงเนื้อหาของรามเกียรติ์อยู่แล้ว ก็ทำงานได้เลย ในแบบที่มิได้ยึดติดกับรายละเอียดแบบประเพณีนิยมแบบภาพไทย 100%

“มีการแต่งเติมไปตามจินตนาการ และสร้างพล็อตย่อยๆ ขึ้นมาตามที่ต้องการ นอกจากรามานูโวแล้วผมยังมีผลงานที่เป็นคอนเซ็ปต์ย่อยที่หลากหลายในทางความคิด มีงานแบบชิ้นเดี่ยว ซึ่งทำมาตลอด 3 ปีด้วย”

ส่วนรูปแบบศิลปะอาร์ต นูโว (Art Nouveau) เป็นสกุลศิลปะที่มีการพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองในช่วงปี 1880-1914 พจนานุกรมศิลปะ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดเป็นศัพท์ภาษาไทยไว้ว่า “นวศิลป” เป็นศิลปะที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

มีจุดเริ่มต้นมาจากชื่อร้านของ แอส.บิง (S. Bing) เปิดในปารีสในปี 1895 ที่ชื่อว่า “ลา นูโว” (L’ Art Nouveau) แปลว่า ศิลปะใหม่ (The New Art) ต่อมากลายเป็นชื่อที่เรียกศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะทั้งในด้านสถาปัตยกรรม การออกแบบ และศิลปะอื่นๆ ในเยอรมนีเรียกว่า Jugendstil แปลว่า เยาว์ (Youth) ในอิตาลีเรียกว่า Stile Liberty ในสเปนเรียกว่า Modernista และในออสเตรียเรียกว่า Sezessionstil (Secession Style)

‘รามานูโว’ จตุโชติ ลิมปโชติ รามเกียรติ์ในแบบอาร์ต นูโว

อาร์ต นูโว มีลักษณะพิเศษด้วยการใช้รูปทรงแบบอินทรีย์รูปหรือรูปทรงที่มีลักษณะเป็นธรรมชาติ มีการใช้เส้นที่อ่อนช้อยเลื่อนไหล มีการผสมผสานลวดลายต่างๆ นิยมทำงานที่มีเรื่องของการเสพสังวาส (Erotic) มักจะมีลักษณะการใช้ปัจจัยต่างๆ จากธรรมชาติและความเป็นผู้หญิง ซึ่งจะตรงกันข้ามกับการสร้างสรรค์ในศิลปวัฒนธรรมตะวันตกโดยทั่วไปที่มักจะเกี่ยวโยงกับความเป็นชาย

อิทธิพลศิลปะสไตล์อาร์ต นูโว ได้แพร่หลายอยู่ควบคู่กับสไตล์วิคตอเรีย (Victorian) ปรากฏในผลิตภัณฑ์ ภาพประกอบหนังสือ ลายกระเบื้อง แก้ว เซรามิก เครื่องประดับ เครื่องเรือน เครื่องประดับสถาปัตยกรรม จึงเปรียบเป็นอิทธิพลของงานศิลปะและการออกแบบสมัยใหม่ 

การผสมผสานหรือฟิวชั่นรามเกียรติ์ในรูปแบบศิลปะอาร์ต นูโว ในนิทรรศการศิลปะ “อาร์ต นูโว” จัดแสดงถึงวันที่ 27 มี.ค. 2561 ณ หอศิลป์เซเว่นรังสรรค์ ชั้น 1 อาคารซีพีออลล์ สาทร ซอย 5 เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-071-1784