posttoday

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส+สมโภชน์ โตรักษา คู่หูต้านคอร์รัปชั่น

17 มีนาคม 2561

การจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อาจจะสำเร็จไม่ได้ด้วยกำลังคนคนเดียว หรือหน่วยงานเดียว บางอย่างต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน

โดย มัลลิกา นามสง่า, จุฑามาศ นิจประพันธ์ ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

การจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่อาจจะสำเร็จไม่ได้ด้วยกำลังคนคนเดียว หรือหน่วยงานเดียว บางอย่างต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน และคงเป็นเรื่องโชคดีหากได้เพื่อนร่วมงานที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายเดียวกันอย่าง สมโภชน์ โตรักษา แห่งคอลัมน์หมายเลข 7 และ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปัจจุบันปฏิญาณตนมาเป็นผู้ตรวจสอบเงินแผ่นดินภาคประชาชน

ทั้งสองคนมีเป้าหมายและอุดมการณ์ช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริต ที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนด้วยการใช้งบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์ และไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่มันควรจะเป็น

คอลัมน์หมายเลข 7 ออกอากาศทางช่อง 7 สี รวมระยะเวลาก็ 7 ปี พอดีที่ทั้งสองคนร่วมกันตีแผ่เบื้องหลังความไม่โปร่งใสต่างๆ และร่วมกันตรวจสอบแล้วนำเสนอผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ ให้ผู้ที่คิดจะทุจริตตื่นรู้ว่าหากคุณทำไม่ดี คุณจะต้องเสียเงินหรือยกงานชิ้นนั้นให้แก่หลวง

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส+สมโภชน์ โตรักษา คู่หูต้านคอร์รัปชั่น

 

พิศิษฐ์ ในขณะดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการ สตง. และผู้ว่าการ สตง. ได้ลงตรวจพื้นที่เองกับสมโภชน์ ไม่ว่าจะเจาะถนนดูโครงสร้าง สนามฟุตซอล สะพานที่ของบประมาณสร้างหลายร้อยล้านบาท แต่ไม่มีคนใช้งานจริง

หลายๆ อย่างส่อให้เห็นการทุจริต ซึ่งสตง.มีหน้าที่ในการตรวจสอบอยู่แล้ว เพียงแต่สมัยก่อนประชาชนอาจจะยังไม่รู้ว่าเสียผลประโยชน์ เพราะถนนที่วัสดุไม่ดีพอ สนามฟุตซอลที่ไม่ได้มาตรฐานมองด้วยตาเปล่าคงไม่ทราบ

จนทั้งสองร่วมกันทำรายการเพื่อตีแผ่ให้ประชาชนทราบ และนับตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้เป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว ที่ทั้งสมโภชน์และพิศิษฐ์ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสังคมและรักษาผลประโยชน์เงินแผ่นดินให้นำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุด

สมโภชน์ยกย่องพิศิษฐ์ทุ่มสุดตัวเพื่อแผ่นดิน

สมโภชน์ย้อนเล่าถึงการได้ทำงานร่วมกับพิศิษฐ์

“ตอนนั้นคณะผู้บริหารสูงสุดของช่อง 7 บอกว่า ช่อง 7 น่าจะมีบทบาทในฐานะสื่อมวลชน ทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการทุจริต เราในฐานะสื่อมวลชนควรทำข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการทุจริต และไม่ใช่แค่ทำข่าวให้เป็นข่าวอย่างเดียว แนวทางการแก้ไขมันจะทำอย่างไร

เราก็มามองว่าบทบาทของสื่อมันทำได้ แต่ทำข่าวให้เป็นข่าวและแก้ไขปัญหาได้ด้วยนี่สิ การทำโดยลำพัง การแก้ไขปัญหาคนเดียว เฉพาะแค่สื่อมันทำไม่สำเร็จหรอก ผมไม่ใช่คนขายข่าว แต่ผมเป็นคนทำข่าว เลยคิดว่าจะทำอย่างไรดี ดีที่สุดคือต้องจับมือ จับมือกับหน่วยงานตรวจสอบ

ผมจึงเข้าไปขอทำงานร่วมกับท่าน มองเห็นว่าเรื่องของงบประมาณเงินแผ่นดินเกี่ยวข้องกับทุกส่วนราชการของภาครัฐ และหน่วยงานไหนล่ะ ก็เลยมานั่งดูข้อมูล ก็เจอว่า สตง.นั่นเอง ไปหาเลย

ตอนนั้นท่านพิศิษฐ์ ท่านรักษาการผู้ว่าการ สตง.อยู่ที่เข้าหาท่านเพราะท่านเป็นผู้บริหารสูงสุดของ สตง. คนที่ขับเคลื่อนในการทำงานก็คือผู้ว่าการ สตง.

ท่านก็แปลกใจที่สื่อมาขอทำงานด้วย เราก็บอกถึงวัตถุประสงค์ของทางช่อง 7 ผู้บริหาร และผมมีแนวทางแบบนี้ และผมอยากทำงานร่วมกับหน่วยงานของท่านมาแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของปัญหาการทุจริต แต่มีอิสระต่อกัน เราจะไม่มีมาแบบช่อง 7 จะต้องออกข่าว สตง.

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส+สมโภชน์ โตรักษา คู่หูต้านคอร์รัปชั่น

 

เราทำงานกับ สตง. หรือกับท่านผู้ว่าการ พิศิษฐ์ เนี่ย จนมาถึงปัจจุบันร่วม 7 ปี ไม่มีเรื่องของค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าจะค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าจ้าง อะไรก็ตาม ช่อง 7 ไม่มี และที่สำคัญช่อง 7 เองก็ไม่เคยจ้างเราทำข่าวนะ แต่เราทำข่าวด้วยความสุข เรามีข้อมูลร้องเรียนมา เราส่งให้ สตง. สตง.ช่วยขยาย พอผลจากที่เราทำอย่างนี้ มันเกิดความสำเร็จ ความสำเร็จตรงนี้คือการแก้ไขปัญหาการทุจริต

เดิมทีคิดว่า สตง.ทำแค่เฉพาะในส่วนของการตรวจสอบเงิน แต่ว่ามันมีอะไรมากกว่านั้นพอเราไปทำ ก็เอาความรู้ตรงนี้ถ่ายทอดให้ประชาชนรู้ ให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของ สตง.มากขึ้น มันกว้างมากกว่าที่เราคิด

ช่อง 7 ไปขอทำงานร่วมในฐานะพันธมิตรต้องขอบคุณท่าน เพราะวันนั้นพอไปขอเข้าพบ ท่านให้เข้าพบ ก็คุยกันแบบเปิดใจ ท่านบอกมาช่วยกันทำงาน ท่านต้อนรับ”

สมโภชน์ ยังเล่าอีกว่า เคยถูกฟ้องเป็นเวลา 2 ปีกว่า แต่พิศิษฐ์ไม่เคยทิ้งเขาเลย คอยช่วยเหลือให้คำปรึกษา จนในที่สุดก็หลุดข้อครหา จนทุกวันนี้ยังเก็บสำนวนนั้นเพื่อเป็นปริญญาเตือนใจตนว่า เคยผ่านจุดที่ยากลำบากในการทำข่าวตรวจสอบ

ทุกครั้งที่ลงตรวจพื้นที่กับพิศิษฐ์ ไม่ว่าจะร้อน เดินนานแค่ไหน ก็เดินได้เพราะสมโภชน์บอกว่า เคยมีครั้งหนึ่งไปลงพื้นที่อากาศร้อนมาก แต่ผู้ว่าการ สตง.ยังคงเดินตรวจสอบพื้นที่ท่ามกลางแสงแดด

“ผมเห็นเจ้าหน้าที่กางร่มให้ท่าน ท่านบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า ผมมาทำงานไม่ต้องมาอำนวยความสะดวกกับผมเยอะ ผมตากแดดเป็นเรื่องปกติ ผมมีความสุขที่ทำงาน จุดนั้นผมรู้สึกเลยว่า ผมต้องสู้และอดทนให้ได้อย่างท่าน

ท่านแข็งแรงมาก อย่างเรื่องฝายที่ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ท่านปีนลงไปดูสูงเกือบ 20 เมตร พวกผมก็เลยต้องปีนลงไปด้วย เป็นวันที่เหนื่อยมาก ก็ถามว่าจะปีนลงไปจริงๆ เหรอ ท่านบอกไม่เป็นไรไหว แล้วถามเรากลับว่า คุณน่ะไหวไหม ผมก็เลยต้องบอก ผมไหว ซึ่งท่านเป็นแรงผลักดัน แรงกระตุ้นให้กับเรา

จริงๆ ท่านมีลูกน้อง สั่งคนลงไปแทนก็ได้ แต่ท่านคิดว่าการที่ท่านลงไปไม่ใช่แค่ไปตรวจสอบ แต่มันเป็นเรื่องไปให้ความรู้แก่ลูกน้องในการเรียนรู้ เราก็จะได้ความรู้ ได้สังเกต การไปทำงานกับท่านผมได้ความรู้”

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส+สมโภชน์ โตรักษา คู่หูต้านคอร์รัปชั่น

 

พิศิษฐ์ ชื่นชม เจอนักข่าวผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน

หลังจากลงพื้นที่เสร็จ ก่อนกลับเข้าที่พัก กิจกรรมที่ทั้งคู่ชอบทำคือ เข้าวัด แทบทุกพื้นที่ที่ไปต้องไปวัดที่อยู่ละแวกนั้น หรือถ้าในหมู่บ้านมีกิจกรรมอะไรไม่ว่าจะสปาโคลนก็จะหาเวลาไปกัน

การที่ สตง.ร่วมมือกับสื่อมวลชนนำเสนอปัญหาการทุจริตตีแผ่ทางหน้าจอโทรทัศน์ ท่านอดีตผู้ว่าการ สตง.ไม่ได้มองว่า เป็นการแฉ หากแต่เป็นการให้ความรู้ ความกระจ่าง ให้ได้มีพื้นที่อธิบายที่ถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใส

“คุณสมโภชน์เข้ามา มันก็ตรงกับแนวคิด สตง.อยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงที่ผมรักษาการและมีอำนาจอย่างเต็มที่ เรามองว่าการที่จะให้สื่อเผยแพร่ ทำให้ประชาชนตื่นรู้ไปพร้อมๆ กับการทำงาน สตง. หรือว่าร่วมกับสื่อ ตรงนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะบางอย่างประชาชนอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าปัญหาที่มันเกิดขึ้นที่เขาเห็น จะไปบอกกับใคร อย่างน้อยก็อาจจะบอกสื่อรวมถึง สตง.ด้วย

เมื่อเราทำงานร่วมกับสื่อ ทีนี้แนวคิดการทำงาน พอได้คุยกับคุณสมโภชน์ เราก็เห็นถึงความตั้งใจจริง ว่าโดยบุคลิกท่าทางด้วย ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีของ สตง.ที่เราจะทำงานร่วมกับคุณสมโภชน์ การที่เราออกไปทำงานและสะท้อนการทำงานร่วมกัน ผมเห็นว่ามีนัยมีความสำคัญ ผมเลยให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เลยมีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดต่อเนื่องเลย

เรื่องอะไรก็ตามที่ประชาชนบอกมาทางสื่อ โดยเฉพาะคุณสมโภชน์ทาง สตง.ก็ถือว่าเป็นโชคดีที่ไม่ต้องไปนั่งขุดคุ้ย มีข้อมูลเข้ามา ปกติแล้วเราต้องตรวจโดยการเฝ้าระวัง เพราะเรื่องราวที่จะเข้าไปตรวจมีเยอะแยะ แต่ความผิดเหล่านั้นมันแฝงเร้นอยู่ แต่เมื่อมีคนให้ข้อมูลเบาะแสมาทางสื่อ เราก็ไปร่วมกันทำความจริงให้ปรากฏ และก็ตอบปัญหาให้สังคม

ถ้าเราทำเรื่องหนึ่งดี หลายๆ เรื่องรวมกันมันก็ดี มันไม่เฉพาะแต่เรื่องที่ทำ เรื่องที่เรายังไม่ไปทำก็อาจจะทำให้เป็นอุทาหรณ์ เป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานอื่นๆ ที่เขาจะทำในลักษณะผิดพลาดในลักษณะเดียวกัน ทำให้เกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกัน ประชาชนก็มีช่องทางที่จะให้ข้อมูลเบาะแส แล้วเขาจะเห็นปัญหาอย่างจริงจัง เพราะผมจับกระแสได้ว่าการที่ประชาชนไปร้องสื่อ ก็คือต้องการให้สื่อช่วยสะท้อนความจริงนี้ออกมา ถ้าเราสามารถสะท้อนทั้งความจริงด้วยในขณะเดียวกันทำให้ประชาชนเห็นว่าความจริงที่เราสะท้อนออกมานั้นมีผลที่จะทำให้สังคมเราดีขึ้น

เช่น การใช้จ่ายเงินที่ทำแล้วจะเสียหาย ถ้าเราไปตรวจเราก็สามารถจะระงับยับยั้ง หรือข้อมูลเบาะแสว่า เรื่องบางเรื่องที่เราไปตรวจกับคอลัมน์หมายเลข 7 พอเราสะท้อนออกไป ความจริงที่เราไปตรวจด้วย เจาะลึกเข้าไปด้วยในอำนาจหน้าที่ของ สตง. เราก็พบว่ามันมีความผิดที่มันซ่อนเอาไว้

อย่างเช่นพื้นสนามมันไม่ได้ขนาดมันผิดแบบ ซึ่งอย่างนี้ถ้าเราไม่ได้ไปตรวจมันก็อาจจะเบิกจ่ายเงินไป แต่ถ้าเราตรวจแล้วเขาไม่สามารถเบิกจ่ายเพราะว่ามันผิดแบบ พอผิดแบบมันก็เบิกรับไม่ได้ จ่ายเงินไม่ได้ ถ้ามีทางเดียวที่จะจ่ายเงินให้ ต้องทำใหม่ ทำใหม่ก็เป็นเรื่องความรับผิดชอบของผู้รับจ้างกับคนคุมงานที่ปล่อยปละละเลยแล้วก็ทำในสิ่งที่ฉ้อฉลเอาไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือบทเรียนให้กับคนที่พยายามที่จะทำผิด

พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส+สมโภชน์ โตรักษา คู่หูต้านคอร์รัปชั่น

 

ขณะเดียวกัน หน่วยงานอื่นก็จะเห็นว่าทำเสร็จครึ่งหนึ่งแล้วต้องมานั่งรื้อทำใหม่ ตรงนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้น มันเป็นความเสียหายที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง แต่ถ้าเราไม่ไปตรวจมันเป็นความเสียหายของประชาชนเจ้าของเงินแผ่นดิน เพราะงั้นผมคิดว่าเรามีอุดมการณ์ตรงนี้ตรงกัน เราก็เลยร่วมมือกันทำงาน

โชคดีอย่างหนึ่งที่ในฐานะตอนนั้นรักษาการ เลยทำแนวทางเหมือนด้านหนึ่งที่ยังมองไม่เห็นก็คือผู้บริหารระดับสูงออกไปทำงาน เพื่อที่จะให้ผู้บริหารลำดับรองลงไป เห็นถึงการทำงานว่าต้องทำกันแบบจริงจัง ทำแบบไหน ถือว่าเป็นการประกาศนโยบายข้าราชการ สตง.รู้ว่าต้องทำงานในเชิงรุกให้มาก เพื่อที่จะปกป้องรักษาประโยชน์เงินแผ่นดินไว้ให้ได้

ถือว่าเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ของ สตง.โชคดีที่เราจะไปตั้งงบประมาณเพื่อมาทำเป็นประชาสัมพันธ์ โฆษณาสั้นๆ แต่เราจะโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นจากการทำงานว่านี่คือ สตง.มีบทบาทหน้าที่แบบนี้”

พิศิษฐ์ กล่าวเสริมอีกว่า สมโภชน์มีพลังบางอย่างในตนเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งคำถาม ทุกคำถามที่ตั้งขึ้นมาล้วนแต่ตรงไปตรงมาและสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ สุดท้ายทางออกของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ เมื่อคราวที่ทั้งสองไม่ได้ทำงาน ประเด็นการคุยกันก็ยังไม่พ้นที่จะเป็นเรื่องงานอยู่ดี เสมือนว่าสิ่งที่ทำอยู่คือความสุข คือ สิ่งที่ทั้งสองไม่ได้รู้สึกว่าเป็นภาระ

ปัจจุบันพิศิษฐ์เกษียณจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.แล้ว แต่ก็ยังร่วมทำงานกับคอลัมน์หมายเลข 7 อยู่ เพราะคิดว่าเป็นผู้ตรวจสอบภาคประชาชน เพียงแค่ถอดหมวกการเป็นข้าราชการออก เหลือแต่ประชาชนเจ้าของเงินแผ่นดินคนหนึ่ง มาช่วยเฝ้าระวังว่าเขาจะนำเงินไปใช้จ่ายอะไร และทางคอลัมน์หมายเลข 7 ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยสะท้อนประโยชน์เงินแผ่นดินที่มันรั่วไหลเสียหาย ประชาชนจะได้รู้เท่าทัน

การทำงานของทั้งสองคนไปในทิศทางเดียวกันเสมอ เพราะมีอุดมการณ์เหมือนกันตั้งแต่แรกคือทำเพื่อรักษาประโยชน์ของประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้มีสิทธิในเงินของแผ่นดินอย่างทั่วถึงกัน