posttoday

อมร วาณิชวิวัฒน์ ‘รถคลาสสิก...รักเหมือนลูก’

17 มีนาคม 2561

ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์ คือ ปัจจัยที่ห้าที่หลายคนต้องมีไว้เพื่อการดำรงชีวิต

โดย ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ชีวิตของคนไทยในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์ คือ ปัจจัยที่ห้าที่หลายคนต้องมีไว้เพื่อการดำรงชีวิต

รถยนต์สำหรับบางคนอาจเป็นเพียงพาหนะในการเดินทาง แต่กับบางคนมองว่ารถยนต์มีความหมายมากกว่านั้น อย่างเช่น “อมร วาณิชวิวัฒน์” กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคนที่หลงใหลรถยนต์จำพวกรถคลาสสิก ซึ่งปัจจุบันก็ใช้รถยนต์ Jaguar XJ6 L ที่ตัวเองรักและหวงแหนเหมือนกับลูกคนหนึ่ง

อาจารย์อมร เริ่มเล่าถึงที่มาที่ไปของการหลงใหลรถจากัวร์ของอังกฤษว่า ที่ผ่านมาเคยใช้ Mercedes Benz 230E คลาสสิกเหมือนกัน เป็นรถในยุค’90 เรียกได้ว่ารถร่วมสมัย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แต่รถรุ่นนี้ยังไม่คลาสสิกเท่ากับจากัวร์ที่เป็นรถสัญชาติ
อังกฤษ

อมร วาณิชวิวัฒน์ ‘รถคลาสสิก...รักเหมือนลูก’

 

“เหตุผลที่ชอบจากัวร์ไม่มีอะไรมาก เพราะตัวเองเป็นนักเรียนอังกฤษ รถจากัวร์จะเป็นหน้าตาของอังกฤษ และยังเป็นรถประจำตำแหน่งของผู้นำอังกฤษด้วย ช่วงตอนที่ตัวเองไปเรียนที่อังกฤษ โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีเวลานั้น ก็ใช้จากัวร์เหมือนกัน เราเลยมีภาพว่าจากัวร์ดูคลาสสิกและเป็นรถผู้นำ ผู้นำใช้รถนี้มันต้องมีดีอะไรบางอย่าง”

“รถ Jaguar XJ6L เป็นรถในปี 1976 ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว เป็นรถที่มีความเร็วที่สุดในโลก ณ เวลานั้น ทำความเร็วได้ถึงประมาณ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนคันที่ใช้อยู่ได้มาจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ท่านไม่มีที่จอดรถและเลยพยายามฝากขาย ทำให้ได้มีโอกาสไปซื้อมา”

“รุ่นนี้อาจไม่ได้แพงมาก แต่หาซื้อได้ยากในสภาพที่สมบูรณ์ ถึงวันนี้ก็ใช้มาประมาณ 10 ปี ส่วนเรื่องราคา ถ้าซื้อกัน ณเวลานี้ในตลาดคิดว่าน่าจะมีเจ็ดหลักต้นๆที่สำคัญรถจากัวร์ถ้าใครมีไว้ต้องดูแลเหมือนกับเป็นลูกคนหนึ่ง เพราะจะมีอาการตรงนั้น
ตรงนี้จุกจิกตลอด อะไหล่ทุกชิ้นต้องสั่งมาจากอังกฤษ หรือสิงคโปร์ เมืองไทยแทบไม่มีแล้ว”

อมร วาณิชวิวัฒน์ ‘รถคลาสสิก...รักเหมือนลูก’

 

ระหว่างเบนซ์กับจากัวร์ให้อารมณ์ในการขับขี่ต่างกันอย่างไร? อาจารย์อมรยอมรับว่าเบนซ์เป็นรถที่มีความใหญ่และสมรรถนะดีวางใจ อะไหล่หาไม่ยาก ทั่วโลกใช้กันหมด ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้รถยี่ห้อนี้มากที่สุด ไม่น้อยไปกว่าเยอรมนี เบนซ์เป็นรถที่ใหม่กว่าจากัวร์ จากัวร์อาจจะทำความเร็วได้ไม่เท่ากับจากัวร์ แต่ส่วนตัวก็ชอบจากัวร์ เพราะมีความคลาสสิกและเป็นรถอังกฤษ

“รถเราต้องดูแลเหมือนลูกกันเลยทีเดียว นี่ก็เพิ่งไปทำสีใหม่ทั้งคัน เพราะรถมีอายุมากกว่า 40 ปีแล้ว ต้องรีบดูแล มิเช่นนั้นมันจะลามไปหมด ตามหลักการเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย ดังนั้น ถ้ามันถึงเวลาต้องบำรุงรักษาก็ต้องรีบทำ”

“เวลานี้เราตุนอะไหล่ไว้ที่บ้าน ซื้อเก็บไว้ก่อนเลย อะไหล่ที่สำคัญอย่างล้อก็ต้องรีบซื้อมาเก็บไว้ก่อน แต่เวลานี้ที่ยังหาไม่ได้คือ กระจกมองข้าง ตามหามาสองปีตามเว็บไซต์แล้วยังหาไม่ได้เลย เหตุที่ต้องหาซื้อมาก่อน เพราะถ้ามีเหตุให้ต้องซ่อมขึ้นมาจะได้มีอะไหล่เปลี่ยนได้ทันที ไม่ต้องรอให้เสียเวลา”

แม้จะชอบรถคลาสสิกมากเพียงใดแต่ชีวิตประจำวันส่วนใหญ่ อาจารย์อมร กลับไม่ได้นั่งหลังพวงมาลัยเพื่อขับรถด้วยตัวเอง

อมร วาณิชวิวัฒน์ ‘รถคลาสสิก...รักเหมือนลูก’

 

“จะมีคนขับรถให้เฉพาะวันธรรมดาและวันทำงาน แต่เสาร์และอาทิตย์จะขับเอง หากวันธรรมดาให้ไปขับรถเองจะลำบากที่พูดแบบนี้ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นคนเจ้ายศเจ้าอย่างอะไร แต่ในวันธรรมดามีงานเยอะมาก ทั้งการสอนและการประชุมที่รัฐสภา อีกทั้งวันธรรมดารถติดขับยาก และถ้าจะให้ขับรถเองก็คงทำงานไม่สะดวก กลับกันเวลามีคนขับรถให้ ก็สามารถหาข้อมูลเพื่อเตรียมการสอนและประชุมรวมไปถึงทานข้าวระหว่างอยู่บนรถได้”

“ยอมรับนะว่าการไม่ได้ขับรถเองมากนักมันก็ไม่ได้อารมณ์อย่างที่ว่า แต่ถ้าขับรถแล้วรถติดมันไม่มัน ผิดกับเสาร์อาทิตย์ที่เราจะขับเองได้ เช่น ไปต่างจังหวัดและทำธุระส่วนตัว”

ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์อมร ยังบอกอีกว่านอกจากจะใส่ใจและให้ความสำคัญกับการดูแลรถแล้ว การคัดเลือกคนขับก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จึงเหตุผลว่าทำไมรถคันนี้จะมีคนขับได้เฉพาะตนเองและคนขับรถที่ตัวเองคัดเลือกมากับมือเท่านั้น

“ทุกวันนี้รถจากัวร์ที่ใช้อยู่จะมีคนขับแค่สองคน คือ คนขับรถส่วนตัว และตัวเอง จะไม่ให้คนอื่นขับเลย เพราะใครจะมาขับรถของเรา เราต้องมีความไว้วางใจในตัวคนนั้น”

“ก่อนคนขับรถส่วนตัวจะมาขับรถของเราคันนี้ ผมจะต้องสอนเขาก่อนด้วย เพราะรถคันนี้มีความยาวและเราก็กลัวว่าเขาจะไม่ชิน คนขับรถของผมขนาดเป็นมืออาชีพแต่พอมาขับรถของผมครั้งแรกยังรู้สึกกลัวๆ อยู่บ้าง”

อมร วาณิชวิวัฒน์ ‘รถคลาสสิก...รักเหมือนลูก’

 

“คนขับรถเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องคัดเลือกให้เป็นพิเศษ เพราะคนขับรถเหมือนเพื่อน ต้องรู้ใจเราและต้องเข้ากับเราได้ และต้องเข้าใจรถคลาสสิกด้วย รายละเอียดมันเยอะมาก”

หลายคนที่หลงใหลเสน่ห์ของรถยนต์อาจจะตั้งชื่อให้กับรถของตัวเอง เช่นเดียวกับอาจารย์อมร ที่ไม่ได้ตั้งชื่อรถให้กับตัวเองโดยตรง แต่ถ้าจะตั้งชื่อก็คงให้ “เสือ” เป็นชื่อของรถลูกรักคันนี้

“ถ้าจะบอกว่าชื่อ “เสือ” ก็ได้ ก่อนที่จะได้รถจากัวร์คันนี้มาได้ไปเรียนที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) และจับสลากได้มาอยู่หมู่เสือ เราเลยรู้สึกว่าโชคดีที่มีชื่อตรงกับรถจากัวร์ที่มีสัญลักษณ์เป็นเสือพอดี”

“นับตั้งแต่ใช้รถคันนี้ ยอมรับว่ามีโอกาสดีๆ หลายอย่างในชีวิตขึ้นมา เหมือนกับรถคันนี้ถูกโฉลกกับเรามาก ดังนั้นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เราไม่ยอมขาย ทั้งๆ ที่มีคนเคยขอซื้อเป็นหลักล้าน แต่เราก็ปฏิเสธอย่างนิ่มนวล เพราะกลัวว่าเมื่อขายไปแล้วและถ้าวันหนึ่งอยากได้คืนกลับมา จะไม่มีใครขายให้ ทำให้ทุกวันนี้ไม่ยอมขาย แม้จะมีใครพยายามจะขอซื้อก็ตาม”อาจารย์อมร ทิ้งท้าย

เพียงแค่นี้ก็ทำให้พอจะเห็นได้ว่าทำไม อาจารย์อมรถึงรักและหวงรถคันนี้ประหนึ่งว่าใครจะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม แม้จะเงินมาเสนอให้ก็ตามที