posttoday

ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

08 มีนาคม 2561

8 มี.ค. เป็นวันสตรีสากล หรือ International Women’s Day เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสตรี

เรื่อง..ชุติมา สุวรรณเพิ่ม

8 มี.ค. เป็นวันสตรีสากล หรือ International Women’s Day ถือกำเนิดขึ้นมานานกว่า 100 ปีแล้ว เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสตรี  ในทุกๆ ปี เมื่อถึงวันสตรีสากล นานาประเทศจะจัดกิจกรรมฉลองวันแห่งความเสมอภาค จุดประกายให้สตรีทั่วโลก เริ่มตระหนักถึงสิทธิของตัวเองมากขึ้น

วันนี้เราได้เห็นผู้หญิงยุคใหม่ ก้าวเข้ามาทำอาชีพที่เคยเป็นพื้นที่ของผู้ชายมากขึ้น พิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงสมัยนี้ มีความสามารถรอบด้าน สอดคล้องกับสถิติจาก บริษัท แกร็บ เกี่ยวกับจำนวนพาร์ตเนอร์ หรือผู้ขับขี่แกร็บ ที่เป็นผู้หญิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยในประเทศไทยจำนวนผู้ขับขี่ที่เป็นผู้หญิง จากบริการแกร็บแท็กซี่ แกร็บคาร์ และแกร็บไบค์ เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่ง (ข้อมูลล่าสุด ม.ค. 2561)

เพื่อเป็นการต้อนรับวันสตรีสากล สองหญิงแกร่ง จะมาเปิดเผยเรื่องราวการเริ่มต้นทำอาชีพนี้ เป็นอีกการบอกเล่าส่งพลังดีๆ จากผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จ และส่งแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงหลายๆ คนในโลกใบนี้ ที่สามารถสร้างชีวิตให้ดีขึ้นได้ ด้วยพลังอันเหลือเชื่อของพวกเธอ

“พลังหญิง” เดินหน้าไปด้วยกัน

เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว กันตา อกนิษฐ์อปราชัย หรือ เปิ้ล พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บคาร์ เลือกหันมายึดอาชีพขับรถโดยสารแกร็บคาร์ เนื่องจากธุรกิจของสามี ซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัว เริ่มประสบปัญหา

จุดหักเหของชีวิตวิกฤตธุรกิจสามีทำให้ครอบครัวที่สมบูรณ์แบบต้องเจอกับบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่ ปัญหาได้ลุกลาม จนนำมาสู่ความตึงเครียดบ่อนทำลายความสุขในครอบครัว และจบลงที่การตัดสินใจครั้งสำคัญว่าจะต้องยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง และต้องเลี้ยงดูลูกทั้งสองคนให้ดีเช่นกัน

สามีทำงานและรับผิดชอบหาเลี้ยงปากท้องทั้ง 4 ชีวิต ยอมรับค่ะตอนที่รู้ว่าธุรกิจสามีล้มเหลว รายได้หลักของครอบครัวมีปัญหา ก็ตกใจมาก แต่ต้องรีบตั้งสติ เพื่อหาวิธีทางแก้ไขเรื่องนี้ให้ได้ วิธีของเปิ้ลคือดูจากสิ่งที่เรามี และความสามารถเริ่มทำอะไรได้เร็ว และจะเป็นไปได้มากที่สุด

พื้นฐานเปิ้ลสนใจในด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม จึงรู้จักแอพพลิเคชั่นแกร็บ รถยนต์เราก็มีอยู่แล้ว ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้น รับงานจากแกร็บค่ะ

ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

 เปิ้ลจำได้เลยค่ะ ตอนที่ตัดสินใจย้ายออกมาอยู่ด้วยตัวเองในวันนั้น มีเงินสดแค่ 200 บาท กับมีรถ 1 คัน ก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เงินจำนวนนี้เพิ่มขึ้นสำหรับนำมาใช้จ่ายหมุนเวียนให้ได้โดยทันที ตอนนั้นปี 2557 แกร็บเพิ่งเข้ามาเปิดในบ้านเราได้ไม่นาน จากเงินเติมน้ำมันแค่ 200 บาท เราได้ค่าโดยสารกลับมาทันที 1,000 กว่าบาทในวันแรก ก็เกิดความมั่นใจ และภาคภูมิใจ ว่าเราสามารถทำงานหาเงินได้ เราต้องเลี้ยงลูกได้

เปิ้ลสามารถทำเงินขั้นต่ำจากการขับแกร็บได้อย่างน้อย 3 หมื่นบาท/สัปดาห์ค่ะ โดยเป็นรายได้รวมจากค่าโดยสาร และเงินรางวัล หรือเงินอินเซนทีฟ ที่ทางแกร็บจัดสรรเป็นเหมือนโบนัสให้พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ ที่มีความทุ่มเทในการทำงานตามที่บริษัทกำหนดไว้ได้ และให้บริการอย่างมีคุณภาพ เช่น รับผู้โดยสารไม่ผิดเส้นทาง รถสะอาด ก็จะเก็บคะแนนไปเรื่อยๆ   

สำหรับเวลาปกติแล้วรายได้จากการขับแกร็บ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 บาทต่อการทำงานประมาณ 10 ชั่วโมง/วัน สิ่งดีที่สุดคือเปิ้ลสามารถจัดสรรเวลาในการขับแกร็บ ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจส่วนตัวได้อีกค่ะ รายได้ที่เข้ามากับอาชีพใหม่ ก็ทำให้พร้อมดูแลครอบครัวได้ดีขึ้นค่ะ”

อาชีพขับรถโดยสารซึ่งเคยเป็นที่นั่งของเพศชาย ในวันนี้เมื่อผู้หญิงเข้ามาทำบ้าง มีปัจจัยความเสี่ยงมากกว่าคนขับที่เป็นผู้ชายบ้างหรือเปล่า ผู้หญิงหน้าตาดี รูปร่างแบบบาง หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น จะมีการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าอย่างไร กันตา ตอบข้อสงสัยนี้ด้วยน้ำใจมีความมั่นอกมั่นใจ  

“เคยเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันบ้างค่ะ แต่ไม่ใช่เคสซีเรียสอะไร แกร็บมีการดูแลพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่เรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างดีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นตัวแอพพลิเคชั่น เมนู Help Center บนแอพพลิเคชั่น

ของพาร์ตเนอร์ ซึ่งเป็นผู้ขับขี่ รวมถึงช่องทางการให้ความช่วยเหลือ ทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่ามั่นใจได้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารค่ะ”

อาชีพบริการขับรถโดยสาร ควรมีใจรักในการบริการ และที่สำคัญที่สุดคือปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ค่ะ คุณสมบัติความเป็นผู้หญิงเราก็นำมาใช้ได้ดี เรามีความละเอียด และความใจเย็นอยู่แล้วนะคะ รวมถึงเวลาเจอผู้โดยสารที่เป็นผู้หญิง เขาก็เกิดความไว้วางใจเรามากกว่า

ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

ผู้โดยสารที่เป็นผู้ชายก็มักจะเซอร์ไพรส์ค่ะ ส่วนใหญ่กล่าวชื่นชม (บอกพร้อมรอยยิ้ม) ที่เราสามารถทำงานนี้ได้ เนื่องจากไม่ค่อยเห็นผู้หญิงทำงานขับรถโดยสารนะคะ”

กันตา เผยทัศนคติการทำงานในวัย 44 ปี ที่ไม่ใช่อาชีพในฝัน ในอดีตเคยทำงานประจำเป็นพนักงานต้อนรับภาคพื้นดิน (Ground Hostess) สายการบินแห่งหนึ่ง จากนั้นตัดสินใจลาออก เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และใช้ชีวิตแต่งงานเป็นแม่บ้านเต็มตัว งานหลักในช่วงนั้นก็เพื่อทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลครอบครัว

“ถ้าถามอาชีพในฝันของเปิ้ลคือแอร์โฮสเตสค่ะ เราชอบท่องเที่ยว ซึ่งการทำงานกับแกร็บ ก็ไม่ได้ทำให้ความฝันของเปิ้ลจบลงไปเลยนะคะ แต่สามารถต่อยอดความฝันได้เพราะสามารถจัดสรรเวลาเองได้ ก็จะมีเวลาจัดทริปไปได้สักวัน รวมไปถึงการแบ่งเวลามาดูแลครอบครัวได้ดีด้วยนะคะ ซึ่งเปิ้ลถือว่าทั้งงานอาชีพ ทั้งดูแลลูก เป็นสองหน้าที่ที่ผู้หญิงไม่ควรละเลย” กันตา กล่าวไว้เปี่ยมพลัง

“ลุกขึ้น” ทำสิ่งที่รัก

ผู้หญิงวันนี้ไม่ได้ทำงานแค่หลังพวงมาลัย “ไวท์” กนกวรรณ เพ็ชรภูผา พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บไบค์ ซึ่งเป็นบริการรับส่งผู้โดยสารด้วยรถมอเตอร์ไซค์ การเริ่มขับแกร็บไบค์ของผู้หญิงที่มีรอยยิ้มสดใสรายนี้ เนื่องจากธุรกิจร้านหมูกระทะของเธอและสามี ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ คนใช้จ่ายน้อยลง รายได้จากการค้าขายลดฮวบลง   

จากเจ้าของกิจการเลี้ยงดูครอบครัวและลูกน้องได้ แต่วันหนึ่งที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอยเรื่อยๆ แถมมาเจอเหตุการณ์ผีซ้ำด้ำพลอย โจรขึ้นบ้านยกเค้าไปแทบหมดเนื้อหมดตัว

“ในที่สุดก็ต้องปิดร้านไปเลยค่ะ ชีวิตก็ต้องมาคิดกันใหม่ว่าจะทำอะไรกันดี สามีเคยได้ยินว่ามีรถมอเตอร์ไซค์ก็สามารถไปขับแกร็บไบค์ได้ และมีการประกันรายได้ด้วย เขาจึงไปสมัครขับและก็มีรายได้ดีเลี้ยงครอบครัวได้ มีอิสระในการรับงาน เราก็เริ่มสนใจบ้าง สามีก็ให้กำลังใจและสนับสนุน

ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

 กลายเป็นความภาคภูมิใจว่า แม้ว่าเราเป็นผู้หญิง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหาเลี้ยงครอบครัวได้ดีเหมือนกัน ทุกวันนี้ถ้าเปิดแอพก็จะมีงานเข้ามาตลอดเวลาค่ะ”

กนกวรรณ เริ่มต้นสนทนาด้วยรอยยิ้มสดใส กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจหากมองอีกด้าน คือโอกาสในการได้ทำงานใหม่ๆ การเป็นพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บไบค์ เป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

“เราโชคดีอุ่นใจสามีเริ่มมาขับแกร็บไบค์ก่อน เรามีรถมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว เลือกทำเพราะเป็นอาชีพสุจริตมีรายได้ที่ดี รายได้เฉลี่ยใน 1 วัน จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท ต่อการทำงาน 8 ชั่วโมง มีอิสระในการรับงาน จากที่เริ่มขับรับส่งงานแมสเซนเจอร์ ตอนนี้ได้เสื้อวิน และป้ายเหลืองแล้ว สามารถรับส่งผู้โดยสารได้ด้วยค่ะ”  

ในแต่ละวันของการทำงานกลางถนน ต้องเจอกับการจราจรแออัดของกรุงเทพฯ รวมถึงมลพิษ และสภาพอากาศเลวร้าย วันที่เหน็ดเหนื่อยที่สุด รวมถึงวิธีการรับมือในแบบฉบับของเพศที่มีกำลังวังชาจำกัดกว่าเพศชาย กนกวรรณ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า

“ปีนี้คนเมืองหลวงเจอน้ำท่วมกันหลายๆ รอบนะคะ วันน้ำท่วมคือวันรถติดมากๆ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนทำให้เราเกิดความเครียดได้ง่ายๆ เลยค่ะ วิธีการแก้สิ่งแรกก็ต้องปรับสภาพจิตใจให้เย็นลง ไม่หงุดหงิดไปกับการจราจร และปัญหารอบข้าง   

วันไหนหนักมากๆ ก็เลือกปรึกษากับสามีที่คอยให้กำลังใจอยู่เสมอค่ะ บางครั้งเจอลูกค้าไม่เข้าใจการทำงานของเรา หรือต้องการคำแนะนำในเรื่องอื่นๆ ไวท์เลือกแจ้งให้ลูกค้าติดต่อ Call Center เนื่องจากให้รายละเอียดได้มากกว่า”

ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

 ทัศนคติผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์ ใครๆ ก็มองว่าสำหรับผู้หญิงอาจทำได้ไม่ดีนัก กนกวรรณ ตอบน้ำเสียงมั่นใจว่า

“อันดับแรก ก็ต้องมีความภูมิใจในสิ่งที่เราทำค่ะ และคิดไว้เสมอว่าเป้าหมายของเราคืออะไร ทุกอาชีพเป็นอาชีพที่ดี ถ้าเราทำด้วยความใส่ใจ และตั้งใจ อาชีพของไวท์เป็นพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บไบค์ ต้องบอกว่าภูมิใจมากนะคะ เพราะจากแม่บ้านธรรมดา อาชีพนี้ได้นำเราไปเจอสิ่งใหม่ๆ ช่วงแรกที่ขับอาจจะไม่ค่อยรู้เส้นทาง ก็สามารถพึ่งจีพีเอสได้ ก็เป็นงานใหม่ที่ไม่ยากเกินความสามารถ

สิ่งที่เราภาคภูมิใจในตัวเองที่สุด คือ มีเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้อีกทางค่ะ การเป็นผู้หญิงทำงานนี้ยิ่งมีข้อดี เพราะผู้โดยสารจะรู้ว่าเราไม่ใจร้อน และขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ทำให้ผู้โดยสารไว้วางใจเรามากขึ้น ไวท์ก็ต้องพัฒนาตัวเองด้วย กับการศึกษาหาข้อมูลเรื่องเส้นทางอยู่เสมอด้วยค่ะ

รวมถึงให้บริการลูกค้าด้วยใจรักในงาน ถึงแม้จะมีเครียดบ้าง เพราะผู้โดยสารที่มาเลือกใช้บริการ ก็ต้องการความรวดเร็ว แต่หลักการทำงานจะยึดถือความปลอดภัย คือสิ่งที่สำคัญที่สุดค่ะ”

ความตั้งใจเต็มเปี่ยม คือปัจจัยให้ผู้หญิงสามารถทำได้ทุกๆ อย่าง ทำงานปราศจากความกลัว มีความกล้าหาญที่จะลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเธอ เปิดโลกไปพบเจอในสิ่งใหม่ ซึ่งมีพลังยิ่งกว่าเดิม