posttoday

ยอมรับและพบแพทย์ "โรคซึมเศร้า รักษาได้"

04 มีนาคม 2561

โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ หากยอมรับและเผชิญหน้ากับมันอย่างถูกวิธี

โดย...พัชรีวรรณ มงคล

กล้องวงจรปิดเผยภาพ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค พลัดตกจากชั้น 7 กลางห้างดังย่านแจ้งวัฒนะ พร้อมจดหมายลาตาย กลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วสังคม โดยญาติเปิดเผยภายหลังว่าผู้เสียชีวิตป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

หากย้อนกลับไปดูข่าวในอดีต จะพบว่า มีบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเเละตัดสินใจจบชีวิตลงโดยการฆ่าตัวตาย เช่น เมื่อปี 2558 สิงห์ มือกีต้าร์วงสควีซแอนิมอล ผลัดตกคอนโดหรู ย่านทองหล่อ  รวมไปถึง นักร้องนำวงร็อกระดับโลก  Chester Bennington แห่ง Linkin Park ที่ปลิดชีพตัวเองโดยการเเขวนคอในบ้านพัก ซึ่งเเสดงให้เห็นว่าภาวะของผู้ป่วย ไม่ใช่แค่พบในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทุกคนทั่วโลกก็สามารถเป็นได้

เมื่อปี 2559 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณะสุข เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่า 8 แสนคนต่อปี และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 สถิติจะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 20 เท่าตัว สำหรับประเทศไทย พบว่ามีอัตราฆ่าตัวตาย เฉลี่ยทุก 2 ชั่วโมง

อินทิรา เจริญปุระ หรือ ทราย ดารา/นักแสดง เล่าว่า การที่ต้องดูแลแม่ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์และโรคซึมเศร้าควบคู่กัน ขณะที่ตัวเองต้องประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เกิดภาวะเครียดสะสมเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง PTSD (Post – Traumatric Stress Disorder) หรือความเครียดจากการเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ

"ทรายพยายามสู้กับโรคนี้ให้ถึงที่สุด ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ พยายามคิดด้านบวก ไม่คิดแง่ลบ เพราะบั่นทอนจิตใจเปล่าๆ ต้องให้กำลังใจตัวเอง"

อินทิรา บอกต่อว่า หลังจากที่หาสาเหตุเจอเเล้วก็เข้ากระบวนการรักษาของจิตแพทย์ด้วยการให้ทานยาเพื่อลดอาการและปรับความสมดุลของสารในสมอง ยาเป็นเหมือนสวิตซ์ที่ช่วยปิดความคิดได้มากขึ้น โดยมีคนรอบข้างให้กำลังใจ ช่วยลดอาการตึงเครียด ซึ่งโรคนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา

นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มักมองข้ามภาวะซึมเศร้า ทั้งๆ เป็นภัยใกล้ตัว อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยมาจากการเข้าถึงบริการทางการแพทย์

“คนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าในอดีตจะปิดกั้นตัวเอง กลัวสายตาคนรอบข้างมองว่าบ้า แต่ปัจจุบันสังคมกล้าที่จะยอมรับ ผู้ป่วยจึงกล้าที่จะเข้ารับการรักษามากขึ้น”

นพ.กัมปนาท กล่าวต่อว่า โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดจากสารในสมองหลั่งผิดปกติอย่างเดียวเท่านั้น เเต่ยังพบว่าสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้อีกด้วย ก่อนผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจึงต้องซักถามประวัติอย่างละเอียด จากนั้นวินิจฉัยหาสาเหตุที่เเท้จริง เพื่อรักษาให้ตรงจุดมากที่สุด

ทั้งนี้โรคซึมเศร้าอาจเเฝงมากับโรคอื่นที่เกี่ยวกับทางกายเรื้อรัง เช่นโรคเบาหวาน  รวมไปถึงผู้สูงอายุที่มีสารก่อความสุขลดน้อยลง ภาวะของโรคซึมเศร้าก็เเฝงมาในโรคอัลไซเมอร์ด้วยเช่นกัน การรักษา อย่างเเรกเมื่อรู้ว่ามีอาการเข้าข่าย ให้รีบไปพบจิตเเพทย์รักษาตั้งเเต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้เป็นหนักกว่าเดิม

ความรุนเเรงนั้นมีหลายระดับ ระดับที่ไม่รุนแรงไม่จำเป็นต้องพึ่งยา เเค่ออกกำลังกายหรือหากิจกรรมเพื่อคลายเครียด สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องอาศัยการบำบัดด้วยวิธีต่างๆ และกินยาควบคู่กันไป

ยอมรับและพบแพทย์  "โรคซึมเศร้า รักษาได้"

 

นพ.ชิโนรส ลี้สวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านคน ซึ่งสถิติวัดจากการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย

“โรคซึมเศร้ารักษาให้หายได้ เเต่ก็สามารถกลับมาเป็นอีกรอบได้ หากมีสภาวะความเครียด ความกดดัน ผู้ป่วยที่เคยเกิดภาวะนี้เมื่อกลับมาเป็นอีกครั้งจะสามารถสังเกตอาการของตนเองได้ เเละรักษาได้ง่ายขึ้น ญาติผู้ป่วยต้องให้ความรัก ความเข้าใจ ความใกล้ชิด เป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้น้อยลง”

นอกจากนี้จากจุดเริ่มต้นของการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ยังสามารถพัฒนาสู่การเป็นโรคอื่นๆ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจจากเม็ดเงินที่ต้องเสียไปกับค่ารักษาพยาบาล โรคซึมเศร้าจึงจัดเป็นปัญหาระดับโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศคำขวัญว่า “Depression : Let's Talk หรือ ซึมเศร้า เราคุยกันได้” ในปี 2560 เพื่อให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของโลกซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้ทุกอาชีพ ทุกกลุ่มคน สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากทุกคนรู้จักวิธีดูแลตัวเอง และระบายความเครียดอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้

สำหรับวิธีการสังเกตโรคซึมเศร้า

1. อารมณ์ซึมเศร้า หงุดหงิด ก้าวร้าว

2. ขาดความสนใจสิ่งรอบข้าง

3. สมาธิเสีย คือ ไม่ค่อยมีสมาธิเวลาทำสิ่งต่างๆ

4. รู้สึกอ่อนเพลีย

5. เชื่องช้า

6. รับประทานอาหารมากขึ้นหรือน้อยลง

7. นอนมากขึ้นหรือนอนน้อยลง

8. ตำหนิตัวเอง พบได้มากในคนเป็นโรคซึมเศร้า

9. อยากฆ่าตัวตาย หากมีการพยายามฆ่าตัวตาย ก็ตั้งข้อสันนิษฐานได้เช่นกันว่า คนนั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้า

หากพบอาการของโรคซึมเศร้า 5 ใน 9 อย่างนี้นาน 2 สัปดาห์ติดต่อกัน ให้รีบพบจิตแพทย์ทันที เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาตั้งแต่แรก สำหรับผู้ใกล้ชิด กรุณาให้กำลังใจกันด้วยคำพูดและทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ต่อสู้อยู่เดียว แต่ยังมีคุณอยู่และจะก้าวผ่านเรื่องแย่ๆ ไปด้วยกัน